Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive

คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

Home
IT Idea for Spiritization

 

ถาม   เป็นอันว่าอาจารย์ไม่เห็นด้วยกับการสอนแบบ WBT   แต่ถ้าหากสถาบันจะจัดสอนแบบนี้ล่ะครับ  อาจารย์คิดว่าจะมีวิธีการแก้ปัญหาด้านความสัมพันธ์และด้านคุณภาพได้อย่างไรครับ

 ตอบ   การแก้ปัญหาทั้งสองนี้เป็นเรื่องยากครับ   ผมไม่คิดว่าจะแก้ได้หมด  แต่มีโอกาสที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาได้บ้างเหมือนกัน

                ประการแรกก็คือ  สถาบันการศึกษาไม่ควรจัดหลักสูตร  WBT  ที่มีแต่การสอนผ่านอินเทอร์เน็ตล้วน ๆ ครับ   แต่ควรจัดควบคู่ไปกับการเรียนการสอนในชั้นบ้าง   นั่นคือเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มาพบกับอาจารย์แบบตัวต่อตัว  หรือพบในชั้นเรียน  หรือให้นักศึกษาได้มีโอกาสมาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อรู้จักกัน  ทำงานร่วมกัน  และสร้างมิตรภาพระหว่างกันด้วย   โดยวิธีนี้สถาบันการศึกษาจะช่วยให้นักศึกษาสร้างความสัมพันธ์ที่ขาดหายไปจากการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตล้วน ๆ ได้  แม้จะไม่ถึงกับทำให้นักศึกษาได้รู้จักและเป็นมิตรสหายกันสนิทเหมือนการเรียนในชั้น  แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรทำนองนี้เลย

                ประการที่สองก็คือ  สถาบันการศึกษาควรเลือกหลักสูตรที่จะจัดแบบ WBT  ให้เหมาะ  หลักสูตรที่มีการทดลองภาคสนาม  หรือการฝึกปฏิบัติมาก ๆ นั้นดูจะไม่เหมาะกับการสอนแบบนี้  เพราะอาจารย์ไม่มีโอกาสประเมินความสามารถของนักศึกษาได้มากนัก

                ประการที่สามก็คือ  สถาบันการศึกษาควรจำกัดจำนวนผู้เรียนผ่านอินเทอร์เน็ตด้วย  ไม่ใช่เปิดสอนนักศึกษาจำนวนเป็นพันเป็นหมื่นเหมือนการศึกษาทางไกลที่ทำกันอยู่ในเวลานี้   เพราะหากทำเช่นนั้นยิ่งน่าเป็นห่วงในด้านคุณภาพมากขึ้น

 ถาม   ขอถามประการสุดท้ายที่อาจารย์เพิ่งกล่าวถึงก่อนครับ  ว่าทำไมจึงน่าเป็นห่วงมากขึ้น  ในเมื่อมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช และ มหาวิทยาลัยรามคำแหงก็สอนในระบบการศึกษาทางไกลมานานแล้ว และแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีผู้เรียนในแต่ละสาขาจำนวนมาก

 ตอบ  ที่น่าเป็นห่วงก็เพราะในระบบ WBT  ที่ดีนั้น  จำเป็นที่อาจารย์จะต้องมีการโต้ตอบกับผู้เรียนทางระบบอีเมลด้วย  นั่นหมายความว่าอาจารย์จะต้องทำงานหนักขึ้นกว่าการสอนในชั้นเรียน  ต้องคอยตอบคำถามนักศึกษา  ต้องตรวจการบ้าน  และ ต้องคอยปรับเปลี่ยนบทเรียนให้ทันสมัยตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของสังคม   หากไม่ทำแบบนี้การใช้  WBT  ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากการพิมพ์เอกสารการสอนส่งออกไปให้นักศึกษาอ่านเหมือนที่ มสธ. ทำอยู่ในเวลานี้

                ดังนั้น  ถ้าหากสถาบันการศึกษารับนักศึกษาในหลักสูตร WBT  แต่ละหลักสูตรเป็นจำนวนมาก ๆ  วิธีการก็ไม่ต่างไปจากการศึกษาทางไกลแบบอื่น  แต่นักศึกษากลับจะเครียดมากขึ้นเพราะคาดหวังว่าเมื่อสื่อสารกับมาถึงอาจารย์แล้วอาจารย์จะตอบ  แต่กลับไม่ได้รับตอบเพราะอาจารย์ตอบไม่ไหว  แบบนี้นาน ๆ เข้าอาจารย์ก็บอกไม่ได้ว่านักศึกษาได้เรียนรู้จริงหรือไม่  หรือมีปัญหาอะไร ที่อาจารย์จะช่วยได้บ้าง

                อีกประการหนึ่ง  การจัดทำบทเรียนสำหรับใช้สอนทางอินเทอร์เน็ตนั้น  ควรต้องจัดทำขึ้นอย่างถูกวิธี  นั่นคือมีการบรรยาย  มีการอ้างอิงให้ค้นคว้าไปยังเว็บและบทเรียนที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ   และมีการจัดทำแบบฝึกหัดให้ทำด้วย   การทำบทเรียนแบบนี้แตกต่างไปจากการเตรียมการสอนที่อาจารย์มหาวิทยาลัยคุ้นเคย  และผมไม่คิดว่าคนที่ไม่เคยทำบทเรียนแบบนี้มาก่อนจะทำได้ทันที  นั่นหมายความว่าบทเรียนที่จัดทำขึ้นสำหรับหลักสูตร WBT  อาจจะใช้ไม่ได้เลยก็ได้  แต่นี่เป็นเพียงการคาดคะเนนะครับ  ไม่ได้บอกว่าเนื้อหาวิชาเหล่านั้นจะใช้ไม่ได้หมด

ถาม   เมื่อสักครู่นี้อาจารย์บอกว่าไม่ควรจัดการเรียนการสอนในทุกสาขาวิชา  แล้วตามหลักการนั้นควรจัดทางด้านใดบ้างละครับ

ตอบ   ผมคิดว่าวิชาที่ไม่ควรเปิดสอนแบบ WBT ก็คือวิชาที่มีการทดลองกับของจริง ๆ  เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เช่น เคมี ฟิสิกส์  วิชาเหล่านี้ถึงแม้ว่าจะมีผู้จัดทำแบบฝึกหัดให้ทดลองทำในคอมพิวเตอร์ได้  โดยเขาจัดทำเป็นโปรแกรมจำลองแบบไว้ก็จริงอยู่   แต่ในทางปฏิบัติแล้ว คุณจะทดลองแยกน้ำเป็นก๊าซออกซิเจน และ ไฮโดรเจน โดยการใช้เมาส์ลากอุปกรณ์และสารเคมีมาต่อกันมาผสมกันแล้วทดลองนั้นมันไม่เหมือนของจริง   คุณควรจะรู้จักใช้อุปกรณ์ทดลองจริงๆ  ทำการทดลองกันจริง ๆ มากกว่าทดลองแบบ simulation

                สำหรับสาขาวิชานั้น  ผมตอบไม่ได้หรอกครับว่าสาขาที่ควรเปิดสอนควรเป็นสาขาอะไร  แต่ผมไม่เห็นด้วยกับสาขาที่ต้องมีการทดลองมาก ๆ อย่างที่กล่าวไปแล้ว  ตรงนี้ผมอาจจะตอบแบบลำเอียงเข้าข้างสาขาของตนเองก็ได้นะครับ

 ถาม   สุดท้ายนี้อาจารย์มีอะไรจะแนะนำเพิ่มเติมบ้างครับ

 ตอบ   ผมเชื่อว่าเวลานี้คงมีผู้บริหารของสถาบันจำนวนมากอยากเปิดหลักสูตรที่สอนผ่าน WBT กันมากมายหลายแห่งแล้ว   ผมอยากให้ลองคิดให้ถี่ถ้วนอีกสักหน่อย  ลองถามตนเองว่า ที่อยากจะจัดหลักสูตรแบบนี้น่ะ  ท่านหวังดีต่อประเทศ  หรือหวังดีต่อกระเป๋าเงินของท่านและของสถาบันกันแน่   เท่าที่อธิบายมาแล้วคุณคงจะเห็นแล้วว่าผมไม่เชื่อเรื่องการสอนผ่าน WBT สำหรับเด็กไทย เพราะเรายังขาดปัจจัยสำคัญคือความใฝ่รู้

                ปัญหาสำคัญเฉพาะหน้าไม่ใช่การจัดการเรียนการสอนแบบ WBT หรอกครับ  แต่คือการปรับปรุงคุณภาพของหลักสูตรทุกสาขาวิชามากกว่า  เวลานี้บัณฑิตของเราที่จบมาแล้วนั้นยังทำงานตามความรู้ที่เรียนมาไม่ได้ด้วยซ้ำไป   ความจริงอย่าว่าแต่ทำงานเลยครับ  ลำพังให้พูด เขียน หรือสื่อสารเป็นภาษาไทยก็ยังทำไม่ได้เลยครับ   เมื่อบัณฑิตไทยเป็นแบบนี้  เราจะมีอนาคตของประเทศให้หวังในระยะยาวอยู่อีกหรือครับ                                                    

กลับไปหน้าที่ 1 

 

Back