Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
Seminars
Seminars

       

 

Home
IT Idea for Spiritization

<< English >>

    กรรมการสภามหาวิทยาลัยศรีปทุม

          ผมได้รับการทาบทามและแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยศรีปทุมมาหลายสมัยแล้ว ในปี 2548 นี้ ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นอุปนายกสภาด้วย ตำแหน่งกรรมการสภานี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะกรรมการทุกคนได้มีโอกาสแสดงความเห็นที่จะช่วย เกลาแต่งมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งนี้ให้มีความเป็นเลิศมากยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยศรีปทุมภายใต้การบริหารจัดการของท่านอธิการบดี อาจารย์ รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน นั้นมีชื่อเสียงเลื่องลือในด้านกีฬามานานแล้ว แต่ถึงวันนี้มหาวิทยาลัยแห่งนี้กำลังทวีความเข้มแข็งทางวิชาการมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคือได้เซ็นบันทึกช่วยจำเพื่อร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำจากต่างประเทศและในประเทศหลายแห่ง ผู้สนใจเรื่องราวของมหาวิทยาลัยนี้อาจเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.spu.ac.th
    Back to Top


    กรรมการสภาวิทยาลัยนอร์ท เชียงใหม่

           เมื่อสี่ห้าปีมาแล้ว คุณณรงค์ ชวสินธุ์ เจ้าของบริษัทสินธุโพรดักส์ซึ่งเป็นเพื่อนวิศวกรกับผมได้มาบอกเล่าให้ผมฟังว่ากำลังสร้างวิทยาลัยเอกชนสำหรับ ให้การศึกษาด้านวิศวกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ และคุณณรงค์ซึ่งในที่สุดก็เป็นอาจารย์ณรงค์ อธิการบดีของวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ก็เชิญให้ผมเป็นกรรมการสภาด้วย ผมตอบรับด้วยความยินดี เพราะผมเองสนใจในเรื่องการศึกษาสำหรับวิศวกรมานานแล้ว นอกจากนั้นผมก็มีญาติอยู่เชียงใหม่เหมือนกันจะได้ถือโอกาสไปเยี่ยมญาติเวลาเดินทางมาเชียงใหม่ด้วย

           วิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่กำลังดีวันดีคืน ท่านอธิการบดีมีแนวคิดหลายอย่างที่จะผลักดันให้วิทยาลัยเติบโตไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา ด้านวิศวกรรมที่มีความเป็นเลิศในภาคเหนือให้ได้ โดยเฉพาะเมื่อเร็ว ๆ นี้ทางวิทยาลัยได้ขยายพื้นที่ออกไปอีกกว่าเจ็ดสิบไร่ นอกจากนั้นยังลงทุนทางด้านไอทีอีกหลายสิบล้าน โดยร่วมมือกับบริษัทเมโทรซิสเต็มส์ และ บริษัทไอบีเอ็ม ใครที่สนใจอยากทราบรายละเอียดกรุณาศึกษารายละเอียดได้ที่ www.northcm.ac.th หรือถ้าหากท่านมีเวลาจะแวะไปเยี่ยมชมวิทยาลัยก็เดินไปทางไปได้ทุกเมื่อ วิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่อยู่ที่อำเภอหางดง ห่างจากตัวเมืองเพียงขับรถสิบห้านาทีเอง หากขับรถไปพอถึงบ้านถวายแล้วก็ตรงมาอีกสักหน่อยหนึ่งมองทางซ้ายมือก็จะเห็นป้ายขนาดใหญ่บอกชื่อวิทยาลัย ก็เลี้ยวเข้าไปทางถนนอีกสักเล็กน้อยก็ถึงครับ
    Back to Top


    กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ

           ความจริงแล้วผมเป็นนักสอนและนักวิจารณ์มากกว่านักวิจัย เมื่อผมเรียนปริญญาโทอยู่นั้นไม่มีใครสอนให้ผมทราบว่างานวิจัยคืออย่างไร การทำวิทยานิพนธ์ก็ทำไปอย่างนั้นเอง และเมื่อจบมาแล้วก็ตรงออกมาสอนและบริหารศูนย์คอมพิวเตอร์เลยทีเดียว
    ด้วยเหตุนี้เองผมจึงรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับเชิญให้เป็นกรรมการในสภาวิจัยแห่งชาติ สาขา เทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ หน้าที่ของกรรมการมาแต่เดิมก็คือการพิจารณาข้อเสนอขอทุนวิจัย การพิจารณาให้รางวัลงานวิจัยดีเด่น และ วิทยานิพนธ์ดีเด่น แต่ขณะนี้กรรมการกำลังพิจารณาที่จะทำงานในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น ใครสนใจเรื่องวิจัยก็สามารถติดตามได้ที่เว็บ   www.nrct.net
    Back to Top



    บรรณาธิการ สารเนคเทค

         ผมเป็นบรรณาธิการ สารเนคเทค มาตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการเนคเทค และเมื่อพ้นจากตำแหน่งมาแล้ว ผู้อำนวยการ ดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ก็ยังขอให้ผมทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการต่อไปตามเดิม หน้าที่ผมนั้นก็คือรับผิดชอบข้อเขียนในสารเนคเทค คอยตรวจสอบข้อเขียนและเขียนบทนำลงให้เป็นประจำทุกสองเดือน สารเนคเทคมีจุดมุ่งหมายที่จะประชาสัมพันธ์งานเขียนด้านไอทีและที่เกี่ยวข้องของนักวิจัยและพนักงานของเนคเทค แต่ก็เปิดโอกาสให้มิตรสหายที่สนใจด้านไอทีเขียนบทความมาลงพิมพ์ด้วยเหมือนกัน อย่างไรก็ตามมีการตรวจดูด้วยว่าเนื้อหานั้นสอดคล้องกับทิศทางของเนคเทคหรือไม่ ด้วยเหตุนี้เองเสน่ห์ของสารเนคเทคจึงอยู่ที่เป็นบทความที่ไม่ได้แปลมาจากข้อเขียนของฝรั่ง อีกทั้งยังหนักไปทางด้านงานวิจัยของพวกเราคนไทยด้วย ใครสนใจเป็นสมาชิกก็โปรดติดต่อได้ที่ คุณสมศรี โทรศัพท์ 02 564-6900 หรือดูรายละเอียดที่ http://www.nectec.or.th/prm
    Back to Top

    ประธานคณะกรรมการจัดส่งนักเรียนไทยไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก

           การที่ผมไปเกี่ยวข้องกับการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนอะไร กล่าวคือหลังจากที่เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือพีซีได้รับความนิยมกันมากขึ้นแล้ว ทางสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาวิทยาลัย ก็ได้เชิญให้ผมเข้าร่วมเป็นกรรมการจัดทำหลักสูตรด้านคอมพิวเตอร์ในระดับมัธยมศึกษา ในช่วงแรกนั้นได้พิจารณาทำตำราออกมาเพียงแค่สองเล่ม คือ คอมพิวเตอร์เบื้องต้น และ การเขียนโปรแกรมภาษาเบสิก ต่อมาจึงได้ปรับหลักสูตรใหม่อีกเป็นแปดวิชาดังที่ยังใช้กันอยู่ในขณะนี้

           ในช่วงปี 2533 ทาง สสวท. ได้รับทราบมาว่ามีการแข่งขันวิชาการนานาชาติ ในระดับมัธยมศึกษา และไทยน่าจะส่งนักเรียนไปร่วมแข่งขันกับเขาได้ วิชาการที่เปิดแข่งขันนั้นมีทางด้านฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เคมี และ คอมพิวเตอร์ การแข่งขันทางด้านคอมพิวเตอร์นั้นจัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศบัลแกเรีย และครั้งที่สองในปี 2533 นั้นกำหนดจัดที่นครมินสก์ สหภาพโซเวียตรัสเซีย โดยปกติแล้วประเทศที่ยังไม่เคยเข้าร่วมแข่งขันนั้นจู่ ๆ จะขอเข้าไปแข่งขันกับเขาไม่ได้ ต้องสมัครไปร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ก่อน ดังนั้นทาง สสวท. จึงขอให้ผมเป็นผู้สังเกตการณ์ร่วมไปกับ ดร. นงนุช วรรธนะวหะ ผู้อำนวยการฝ่ายคอมพิวเตอร์ของสสวท.

           ผมจะไม่เล่าเรื่องของการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกในที่นี้ ใครสนใจอาจจะติดตามอ่านเรื่องนี้ได้ทีหลังหากผมมีเวลาเขียน แต่ถ้าอยากจะได้รายละเอียดจริง ๆ ก็ตามอ่านได้ที่เว็บไซต์ของ สสวท. และ ของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

           เป็นอันว่าหลังจากไปสังเกตการณ์แล้วพบว่า ระดับความรู้ของเด็กที่จะแข่งขันกับเขาได้นั้น สูงกว่าระดับความรู้ เราก็ต้องมานั่งคิดกันว่าจะทำอย่างไร ถึงจะฝึกเด็กของเราให้สามารถไปแข่งขันกับเขาได้ในระดับที่ คืออย่างน้อยก็คว้าเหรียญกลับมาอวดทางเมืองไทยได้บ้าง ยิ่งได้เหรียญทองด้วยยิ่งดี คิดกันแล้วเราก็ชวน อาจารย์ ยืน ภู่วรวรรณ จาก มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ มาร่วมกันพิจารณาหาหนทางฝึกอบรมนักเรียนของเรา โดยดูจากข้อสอบเก่าทั้งที่บัลแกเรีย และ ที่มินสก์ ในที่สุดก็จัดทำหลักสูตรฝึกอบรมออกมาได้เป็นสองช่วง คือช่วงตุลาคม และ มีนาคม ส่วนนักเรียนก็ให้สอบคัดเลือกทั่วประเทศกันในช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป อาจารย์ผู้ฝึกอบรมของเรานั้นเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายแห่ง มีทั้งจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิด้า และจากเนคเทคเอง

           เมื่อได้นักเรียนที่เป็นตัวแทนประเทศรวมสี่คนแล้ว พอถึงเวลา ผมก็รับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีม อ. ยืน รับหน้าที่เป็นรองหัวหน้าทีม โดยมีอาจารย์จาก สสวท. อีกสองท่านทำหน้าที่เป็นผู้จัดการทีม และ ผู้ช่วย

           ผมรับหน้าที่นี้มาตั้งแต่พาไปแข่งขันครั้งแรกที่กรีซ มาจนกระทั่งถึงปี 2543 ที่ไปแข่งที่จีน จะยกเว้นไม่ได้ไปปีเดียวคือปี 2542 ที่ ตุรกี เพราะผมติดการประชุมคณะกรรมการ Y2K แห่งชาติ ซึ่งกำลังบังเอิญเปลี่ยนประธานจาก รองนายกฯ คุณสุวิทย์ คุณกิตติ มาเป็น รองนายกฯ ดร. ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ผมจะหนีประชุมไปตุรกีก็กลัวท่านรองนายกฯ คนใหม่จะโกรธเอา ก็เลยต้องเปลี่ยนให้อาจารย์ยืนเป็นหัวหน้าทีมไปแทนผม ปรากฏว่าได้ผลดีเพราะไทยเราได้เหรียญทองมาหนึ่งเหรียญ หลังจากชวดเชยชมเหรียญทองมาหลายปี แต่ไม่ต้องดีใจไปให้มากครับ เพราะในปีนั้นเวียดนามได้ไปสามเหรียญทอง

           หลังจากการแข่งขันที่จีนแล้ว ผมก็ตัดสินใจไม่ขอรับเป็นหัวหน้าทีมพานักเรียนไปแข่งอีก เพราะพานักเรียนไปแข่งขันแต่ละทีก็เหนื่อยตอนต้องลุ้นคะแนนการแข่งขันว่าจะออกมาดีหรือไม่ จะแพ้เวียดนามและสิงคโปร์หรือไม่ อย่างเช่นในปี 2543 นั้น นักเรียนของเราแข่งขันได้เหรียญเงินสามเหรียญ และ เหรียญทองแดงหนึ่งเหรียญ เป็นอันว่าได้เหรียญทุกคน แต่ก็ยังแพ้เวียดนามอีก เพราะเขาได้เหรียญทองมาด้วย ส่วนสิงคโปร์ได้เหรียญเงินหนึ่งเหรียญ เวลานี้ผมทำหน้าที่เป็นแต่ประธานคณะอนุกรรมการจัดส่งนักเรียนไปแข่งขัน IOI เท่านั้น

    นักเรียนที่สนใจเรื่องการแข่งขันวิชาการอาจเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.ipst.ac.th และหากสนใจจะได้รับความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ก็จะดูได้ที่ oho.ipst.ac.th
    Back to Top


    ตำแหน่งในอดีต

    •  รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
    •  ผู้อำนวยการ Technical Information Access Center (TIAC)
    •  กรรมการคณะกรรมการวิชาการ กว 536. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
    •  ประธานคณะกรรมการแผนแม่บทไอที กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
    •  ประธานคณะกรรมการจัดฝึกอบรม GIS กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ สิงแวดล้อม
    •  รองผู้อำนวยการเนคเทค
    •  คณบดี บัณฑิตวิทยาลัยระบบงานสารสนเทศ ม. อัสสัมชัญ

    อดีตรองผู้อำนวยการ สวทช. หรือ NSTDA
           ตำแหน่งอย่างเป็นทางการของผมก่อนปี 2545 คือ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ทำหน้าที่ดูแลทางด้านระบบคอมพิวเตอร์ของส่วนงานกลางของ สวทช. อีกนัยหนึ่งผมก็คือ CIO ของ สวทช. นั่นเอง แต่เป็น CIO ที่ไม่ได้ดูแลงานได้หมดทั้ง สวทช. เพราะศูนย์แห่งชาติใน สวทช. อันได้แก่ Nectec, Biotec, และ Mtec นั้น ต่างก็มีระบบคอมพิวเตอร์ของตนเอง โดยเฉพาะ Nectec นั้นมีระบบคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ และซับซ้อนมากกว่าที่ส่วนงานกลางของ สวทช. อย่างไรก็ตามผมก็ยังคงต้องเป็นผู้แทนของ สวทช. และ สามศูนย์แห่งชาติในด้านคอมพิวเตอร์อยู่ดี

           ในหน้าที่ของผมนั้น นอกจากจะต้องดูแลเรื่องระบบคอมพิวเตอร์แล้ว ยังต้องรับผิดชอบอีกหลายด้าน คือ
    •  การจัดทำระบบข้อมูลข่าวสารสำหรับ ส่วนงานกลางและระบบข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ST-NET ด้วย เรื่องนี้เป็นความท้าทายมาก เพราะข้อมูลที่จะต้องรับมาเสนอต่อผู้บริหารนั้นมาจากหลายกลุ่มด้วยกัน รูปแบบก็ต่างกัน และ เนื้อหาข้อมูลก็มีความแตกต่างกันด้วย
    •  ด้านพัฒนากำลังคน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้ทุนการศึกษาต่างๆ
    •  ด้านวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน ซึ่งเป็นความพยายามสร้างความเข้มแข็ง ทางด้านการสอนวิทยาศาสตร์ ในโรงเรียนทั่วประเทศ ตามโครงการ Science in School ในโครงการนี้มี วารสารวิทยาศาสตร์แบบออนไลน์ ให้ท่านค้นคว้าได้ด้วย
    •  สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย เป็นสถาบันเสมือนซึ่งกำลังส่งเสริมให้เกิด e-learning อย่างกว้างขวาง ใครสนใจดูรายละเอียดได้
    •  ด้านการสร้างความตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แก่บุคคลทั่วไป

           ขณะที่ผมเป็นรองผู้อำนวยการนั้น สวทช. มีสำนักงานอยู่ที่ถนนพระราม 6 และในต้นปี 2545 สวทช. ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปอยู่ที่ อุทยานวิทยาศาสตร์ ด้านหลังของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตรังสิต ส่วนผมได้ลาออกจาก สวทช. ในปลายปี 2544 งานของสวทช. มีเรื่องน่าสนใจหลายอย่าง ใครสนใจอยากเรียนรู้กิจกรรมและผลงานของ สวทช. อาจศึกษาได้จากเว็บ www.nstda.or.th
    Back to Top

    อดีตผู้อำนวยการ TIAC

           TIAC ( Technical Information Access Center ) เป็นหน่วยงานเล็ก ๆ อยู่ภายใน สวทช. หน้าที่หลักของ TIAC ก็คือการเป็นศูนย์สารสนเทศด้านงานวิจัย และ ห้องสมุดวารสาร เพื่อรับใช้นักวิจัยของสวทช. และเพื่อให้การสนับสนุน ด้านการค้นคืนสารสนเทศ และด้านวารสารแก่นักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัยของสถาบันการศึกษาต่างๆ

           ผมมารับผิดชอบเป็นผู้อำนวยการของ TIAC หลังจากที่ผู้อำนวยการคนก่อนคือ ดร. สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล ได้ลาออกไปแล้วเมื่อประมาณปลายปี 2541 งานของ TIAC ปัจจุบันดำเนินไปด้วยดีโดยฝีมือ อ. ประดิษฐา ศิริพันธ์ และพนักงานที่เข้มแข็งอีกหลายคน ใครสนใจใช้บริการก็ขอให้ลองคลิกเข้ามาดู จะสมัครเป็นสมาชิกด้วยก็ได้ โดยเข้าไปดูที่ www.tiac.or.th
    Back to Top

    ประธานคณะกรรมการวิชาการ กว 536 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

    ความจริงแล้วผมได้เป็นกรรมการวิชาการมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนี้โดยบังเอิญ กล่าวคือในช่วงที่ผมเป็นกรรมการสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์นั้น ทางสมาคมฯ ได้ส่งให้ผมไปเข้าร่วมประชุม ช่วงแรก ๆ มีการประชุมบ่อย แต่กรรมการไม่ค่อยจะมาประชุม เพราะเรื่องมาตรฐานนี้เป็นเรื่องยากมาก คนรู้ก็มีน้อย ในที่สุดที่ประชุมก็เลยตกลงเลือกให้ผมเป็นประธาน ผมคงเป็นประธานที่ไม่ค่อยได้ความนัก เพราะสามารถเรียกประชุมได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น ในที่สุดผมก็หลุดจากตำแหน่งเพราะไม่ได้เป็นกรรมการสมาคมฯอีก เรื่องไม่ได้เป็นกรรมการนี้อาจเล่าได้หลายวัน แต่ไม่เล่าดีกว่า

    เรื่องมาตรฐานทางด้านไอซีทีนี้เป็นเรื่องที่ไทยยังละเลยมาก เราควรจะเร่งรีบกำหนดมาตรฐานในด้านต่าง ๆ ออกมาให้ทันกับเหตุการณ์และความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี แต่ดูเหมือนว่างานนี้นักการเมืองจะไม่ค่อยชอบจึงไม่สนับสนุน อาจเพราะจะทำให้ขาดผลประโยชน์ไปหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ
    Back to Top

    ประธานกรรมการจัดทำแผนแม่บทไอที กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ
    ผมได้รับมอบหมายให้เป็นประธานกรรมการจัดทำแผนแม่บทไอทีของกระทรวงวิทย์ฯ ในสมัยที่ผมเป็นรองผู้อำนวยการ สวทช. งานนี้ต้องทำตามมติของคณะกรรมการไอทีแห่งชาติ ซึ่งพยายามออกข้อกำหนดให้งานไอทีทั้งหลายมีทิศทางที่ถูกต้อง ปัญหาก็คือเราดำเนินการช้าไป กว่าจะได้แผนแม่บทไอที เขาก็อนุมัติงบประมาณกันไปแล้ว เมื่อเราส่งแผนไม่ทัน เราก็ไม่ได้งบมาใช้ เรื่องนี้ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรอกครับ เพราะที่จริงก็ไม่มีหน่วยงานใดที่ได้งบประมาณไปเพราะอยู่ในช่วงที่ฟองสบู่เริ่มแตก
    การทำแผนแม่บทเป็นเรื่องสำคัญครับ ขอให้ศึกษาวิธีทำและทำแผนกันทุกแห่ง เพราะแผนจะช่วยให้เรามองเห็นทิศทางที่จะเดินได้ชัดขึ้นครับ
    Back to Top

    ประธานอนุกรรมการฝึกอบรม GIS
           ก่อนหน้าที่จะมีสำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ตั้งห้องปฏิบัติการ GIS อยู่ที่อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงฯ และได้ตั้งคณะกรรมการ GIS แห่งชาติขึ้นเพื่อประสานงานด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล การวิจัย และการทำงานร่วมกัน ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและเป็นประธานอนุกรรมการด้านการฝึกอบรม GIS ด้วย แต่ก็อีกนั่นแหละครับ ผมยอมรับว่าผมทำงานนี้ไม่ได้ดีนัก และเมื่อมองย้อนทบทวนดูก็พบว่าคณะอนุกรรมการชุดนี้ไม่ค่อยได้มีผลงานเลย
    Back to Top

    รองผู้อำนวยการเนคเทค

           ผมได้รับเชิญแกมฉุดจาก ดร. ไพรัช ธัชยพงศ์ และ ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร ให้มาเป็นรองผู้อำนวยการเนคเทคในช่วงที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัวได้ไม่กี่ปี ยังไม่มีใครรู้จัก และยังไม่ได้เป็นเป้าทั้งให้คนชมเชยและเขม่น เนคเทคเป็นศูนย์แห่งชาติในสังกัด สวทช. เมื่อผมเข้ามารับตำแหน่งนั้นเป็นช่วงที่เนคเทคกำลังต้องขยายตัวออกไปมีสำนักงานเพิ่มเติม ดังนั้นผมจึงได้รับมอบหมายให้ไปทำหน้าที่อยู่ที่อาคารไทยยิบซัม ถนนศรีอยุธยา หน้าที่หลักของผมก็คือสร้างหน่วยงานฝึกอบรมด้านไอทีให้เข้มแข็ง เรื่องนี้ผมคิดว่าทำได้ดีจนกระทั่งสามารถขยายงานออกไปได้เป็นสองชั้น งานที่สองก็คืองานให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งผมก็คิดว่าทำได้ดีพอควร เพราะเมื่อผมย้ายจากเนคเทคมาอยู่ สวทช. นั้น บรรดาบริษัทเอกชนกำลังเริ่มบ่นว่า เนคเทคไปแย่งงานให้คำปรึกษาของเขาทำ เรื่องนี้ก็จริงครับ แต่ที่เนคเทคทำนั้น ผมต้องแก้ตัวว่าเราทำแบบการกุศลนะครับ คือคิดเงินถูกเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐใช้ไอทีตามชาวโลกทัน หากไม่ทำก็จะไม่มีปัญญาทำ เพราะไม่มีเงินมากพอที่จะว่าจ้างบริษัทเอกชนมาทำให้ สำหรับงานที่สามก็คือการตั้งสำนักพิมพ์เนคเทค จัดทำสารเนคเทค และ พิมพ์หนังสือต่างๆ ออกมาจำหน่ายในราคาถูก
    Back to Top

    คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยระบบงานสารสนเทศ

           ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญนี้แปลกครับ เพราะเขามีบัณฑิตวิทยาลัยหลายหน่วยงานด้วยกัน เช่น บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรม บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการ ฯลฯ ผมเองไม่เคยคิดว่าจะมาเป็นอาจารย์ที่นี่หรอกครับ เพราะมหาวิทยาลัยอยู่ไกลบ้านผมมาก แต่เมื่อผมลาออกจากเอไอที ดร. ศรีศักดิ์ก็เชิญชวนให้ผมมาเป็นคณบดีอยู่ที่นี่ โดยกำหนดให้มาประชุมเพียงสัปดาห์ละครั้ง ๆ ละสองชั่วโมง ขอให้ผมสอนสักเทอมละหนึ่งวิชา และ ดูแลการทำโครงงานหรือสารนิพนธ์ของนักศึกษาด้วย ผมเห็นว่าดีกว่าอยู่เปล่า ๆ อีกทั้งเป็นโอกาสที่ผมจะได้อ่านหนังสือในห้องสมุดที่สั่งซื้อเล่มใหม่ ๆ เข้ามาอยู่เสมอ ผมก็เลยตอบรับ และทำงานในตำแหน่งนี้อยู่สักสี่ปี ที่ว่าทำงานก็คือเฉพาะวันเสาร์เท่านั้นครับ ส่วนวันธรรมดาผมไปทำงานเป็นผู้บริหารของบริษัท Advanced Research Group ต่อมาผมก็ลาออกเมื่อมาทำงานเป็นรองผู้อำนวยการของเนคเทค
    Back to Top