สรุปเรื่องพุทธศาสนากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
โดย พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต)
เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง ทรัพยากรมนุษย์ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่
8
วันที่ 5 มกราคม 2540
ณ โรงแรม ดิอิมเมอรัลด์ กทม.
ในการศึกษานั้นเราต้องฝึกคนให้พัฒนาปัญญา
เช่นให้รู้ความหมายของการบริโภค ว่าเรากินเพื่ออะไร เพื่อสนองความต้องการที่จะเสพรสเอร็ดอร่อย
หรือ เพื่อการแข่งขันวัดฐานะกัน หรือเพื่อเลี้ยงร่างกายให้เป็นอยู่ได้
เมื่อเราเห็นวัตถุประสงค์ชัดเจนและเข้าใจในทางที่ถูกแล้ว เราก็จะเริ่มมีปัญญาเกิดขึ้น
พฤติกรรมในการบริโภคก็จะเปลี่ยนไป นี่ก็คือการใช้ปัญญานำการทำพฤติกรรม
แล้วเราก็ไม่ต้องมีพฤติกรรมตามตัณหา
ตัวการที่ทำให้หักเหกระแสความคิดออกจากตัณหาได้ก็คือ
โยนิโสมนสิการ ทำให้เกิดปัญหารู้คุณค่าหรือประโยชน์ที่แท้จริง
แล้วทำให้เกิดคุณสมบัติใหม่อีกอย่างหนึ่ง คือความอยากประเภทที่
2 ที่ควบคู่กับปัญญา เรียกว่า ฉันทะ เป็นความอยากที่เป็นกุศล
เกื้อกูลต่อชีวิต ฉันทะต้องอาศัยปัญญา ปัญญารู้ว่าอะไรดีมีคุณค่าเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง
ฉันทะก็อยากทำให้เกิดสิ่งนั้น ถ้าไม่มีปัญญาเลยฉันทะก็เกิดไม่ได้
ต่างไปจากตัณหาซึ่งเป็นความอยากที่ไม่อาศัยปัญญา อะไรถูกตา ถูกหู
ถูกลิ้น ถูกใจ ตัณหาก็อยากได้อยากเสพสิ่งนั้น
เราอาจให้ความหมายอย่างง่าย
ๆ ได้ว่า
1. ตัณหา
คือ ความอยากในรสชาติที่เวทนาบอกเสนอ (= ความอยากที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษา)
2. ฉันทะ
คือ ความอยากในคุณค่าที่ปัญญาบอกเสนอ (=ความอยากที่เกิดจากการศึกษา)
และอาจสรุปกระบวนการแห่งพฤติกรรมมนุษย์ได้เป็นสองแบบคือ
1. (ไร้การศึกษา) : อวิชชา+ตัณหา
= พฤติกรรมสร้างทุกข์ หรือก่อปัญหา
2. (มีการศึกษา) : ปัญญา+ฉันทะ
= พฤติกรรมสลายทุกข์ หรือ แก้ปัญหา
กระบวนการที่สองเป็นแนวทางในการพัฒนามนุษย์
ทันทีที่มนุษย์รู้จักคิดก็เริ่มมีการศึกษา และเกิดปัญญาขึ้น
ทำให้เกิดมีการปรับตัว และ พฤติกรรมของมนุษย์เองด้วย ดังนั้นการศึกษาคือการพัฒนาคนให้พ้นจากการมีชีวิตภายใต้บงการของตัณหา
บนฐานของความไม่รู้คืออวิชชา ไปสู่การมีชิวิตอยู่ด้วยปัญญา ทำให้เกิดมีฉันทะที่จะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง
และทำให้เกิดความเป็นอิสระไร้ทุกข์ปราศจากปัญหา
กระบวนการสำหรับพัฒนาคนแยกออกเป็นสองขั้นตอน
คือ ขั้นนำสู่สิกขา หรือขั้นก่อนมรรค และ ขั้นไตรสิกขา
ในขั้นแรกนั้น
ควรเริ่มต้นจากสัมมาทิฐิ ซึ่งเป็นปัญญาในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะความเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย
ไม่ใช่เป็นไปเอง แล้วแต่โชค หรือเพราะการดลบันดาล สัมมาทิฐินี้จะเกิดในตัวบุคคลได้เพราะปัจจัยภายนอก
คือ ปรโตโฆษะ หรืออิทธิพลภายนอก และ ปัจจัยภายใน คือ โยนิโสมนสิการ
นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบที่เกื้อหนุนอีกหลายอย่างที่รวมแล้วเป็น
7 ตัวดังนี้]
- กัลยาณมิตตตา
(ความมีกัลยาณมิตร) มีคนที่ดีคอยกลั่นกรองชักนำไปในทางที่ดี
- ศีลสัมปทา
(ความถึงพร้อมด้วยศีล) เป็นผู้มีวินัย มีระเบียบ และพฤติกรรมที่ดี
- ฉันทสัมปทา
(ความถึงพร้อมด้วยฉันทะ) มีแรงจูงใจที่ถูกต้อง ใฝ่รู้ สร้างสรรค์
ต้องการเข้าถึงความจริง และทำสิ่งทั้งหลายให้ดีงามเป็นเลิศ
- อัตตสัมปทา
(ความทำตนให้ถึงพร้อม) ทำตนให้มีความสมบูรณ์ในศักยภาพของความเป็นมนุษย์
มีจิตสำนึกในการฝึกฝนพัฒนาตนอยู่เสมอ
- ทิฐิสัมปทา
(ความถึงพร้อมด้วยหลักการแห่งความเชื่อถือ) คือเชื่อถือในหลักการแห่งเหตุผล
- อัปปมาทสัมปทา
(ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท) คือ ความกระตือรือร้น ไม่เฉื่อยชา
มีสติ ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่พลาดโอกาส ทำให้เห็นคุณค่าของเวลา
- โยนิโสมนสิการ
(ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ) การรู้จักคิดรู้จักพิจารณาด้วยตนเอง
รู้จักสืบสาวหาเหตุปัจจัยแยกแยะให้เห็นองค์ประกอบ จับแง่ดีมาใช้ประโยชน์ได้
และรู้จักเชื่อมโยงให้เห็นองค์รวมหรือสร้างสรรค์ค์องค์ความคิดให่ได้
สำหรับในเรื่องไตรสิกขา
อันเป็นขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาบุคคลนั้น ต้องพิจารณาว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้
หรือกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกตระหนักในการที่จะต้องปฏิบัติตามหลักแห่งการฝึกฝนพัฒนา
และการศึกษานั้นสิ่งสำคัญจะต้องมีความเชื่อในโพธิ หรือ โพธิศรัทธา
คือเมื่อมนุษย์เชื่อในปัญญาที่จำให้มนุษย์เป็นพุทธะได้แล้ว เขาก็พร้อมที่จะฝึกฝนตนเอง
ส่วนการที่ประจักษ์ในโพธิหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของความแตกต่างระหว่างบุคคล
ระบบการศึกษาที่ทำให้บุคคลพัฒนาอย่างมีบูรณาการและให้มนุษย์เป็นองค์รวมที่พัฒนาอย่างมีดุลยภาพ
ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นการฝึกในด้านพฤติกรรมที่เคยชิน
เครื่องมือฝึกศีลก็คือ วินัย
สมาธิเป็นเรื่องของการฝึกในด้านจิต หรือระดับจิตใจ ได้แก่การพัฒนาคุณสมบัติต่าง
ๆ ของจิต ทั้งในด้านคุณธรรม เช่น ความเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ความเข้มแข็งมั่นคง ความเพียรพยายาม ความรับผิดชอบ ปัญญา เป็นเรื่องของการฝึกหรือพัฒนาในด้านการรู้ความจริง
เริ่มตั้งแต่ความเชื่อ ความเห็น ความรู้ ความเข้าใจ ความหยั่งรู้เหตุผล
การรู้จักวินิจฉัย ไตร่ตรอง ตรวจสอบ คิดการต่าง ๆ สร้างสรรค์
สำหรับการวัดผลการศึกษานั้น
อาจใช้วิธีตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลโดยหลักสี่ประการคือ
- ภาวิตกาย
มีการที่พัฒนาแล้ว คือ มีกายภาวนา มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพในทางที่เกื้อกูลและได้ผลดี
หรือ กินเป็น ใช้เป็น บริโภคเป็น ดูเป็น ฟังเป็น ฯลฯ
- ภาวิตศีล
มีศีลที่พัฒนาแล้ว มีพฤติกรรมทางสังคมที่พัฒนาแล้ว ไม่เบียดเบียนก่อคามเดือดร้อนแก่ผู้อื่น
ดำรงตนอยู่ในวินัย และอาชีวะที่สุจริต มีความสัมพันธ์ทางสังคมในลักษณะที่เกื้อกูล
สร้างสรรค์ และ ส่งเสริมสันติสุข นั่นคือ คบหาเป็น สังคมเป็น
พูดเป็น สื่อสารเป็น ทำเป็น
- ภาวิตจิต
มีจิตที่พัฒนาแล้ว คือมีจิตใจที่ฝึกอบรมดีแล้ว สมบูรณ์ด้วยคุณภาพจิต
ประกอบด้วยคุณธรรม เช่น ความเมตตากรุณา ความเอื้ออารี มีมุทิตา
ความเคารพอ่อนน้อม ความกตัญญูกตเวที สมบูรณ์ด้วยสมรรถภาพจิต
คือมีจิตใจเข้มแข็งมั่นคง มีความเพียรพยายาม มีอุตสาหะวิริยะ
รับผิดชอบ มีสติ มีสมาธิ สมบูรณ์ด้วยสุขภาพจิต คือจิตใจร่าเริง
เบิกบานสดชื่น หรืออีกนัยหนึ่งคือ ตั้งจิตเป็น วางใจเป็น ทำใจเป็น
- ภาวิตปัญญา
มีปัญญาที่พัฒนาแล้ว คือรู้จักคิดรู้จักพิจารณา รู้จักวินิจฉัย
รู้จักแก้ปัญหา และรู้จักจัดทำการต่าง ๆ ด้วยปัญญาที่บริสุทธิ์
เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ปราศจากอคติและแรงจูงใจเคลือบแฝง
เป็นอิสระจากการครอบงำของกิเลส เป็นอยู่ด้วยความรู้เท่าทันธรรมดาของโลกและชีวิต
เข้าถึงอิสรภาพ ปลอดทุกข์ ปราศจากปัญหา หรือ คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น
ดับทุกข์เป็น
ผู้มีครบทั้งสี่อย่างนี้โดยสมบูรณ์แล้ว
เรียกว่าเป็น "ภาวิตัตตะ" แปลว่าผู้ได้พัฒนาตนแล้ว
ได้แก่ พระอรหันต์ เป็นอเสขะ คือผู้จบการศึกษาแล้ว ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไป
|