ด็อกก์
นักสืบไซเบอร์
ตอน เปิดไฟล์ปมมรณะ
Lury Gibson เขียน กรกฏ แปล
สำนักพิมพ์ เอ็นเธอร์บุคส์ ธันวาคม 2547
ช่วงนี้ผมอ่านหนังสือนักสืบไปหลายเล่ม
สำหรับเล่มนี้ซื้อมาหลายเดือนแล้วแต่เพิ่งหยิบอ่าน และพบว่าเป็นหนังสือที่เขียนแปลกออกไปจากหนังสืออื่นๆ
กล่าวคือหน้าที่เป็นเลขคี่นั้นแสดงข้อความที่ปรากฏบนจอภาพของ "ด็อกก์"
ซึ่งเป็นนักสืบไซเบอร์ และหน้าที่เป็นเลขคู่แสดงความคิดหรือการวิเคราะห์ของด็อกก์ที่ได้จากการอ่านจอภาพ
ด็อกก์ ไม่ได้ออกไปสืบสวนคดีในสถานที่เกิดอาชญากรรม ความจริงแล้วเขาไม่ได้ออกไปไหนด้วยซ้ำไป
ตลอดเรื่องทั้งเรื่องเขานั่งอยู่หน้าจอ เคาะคำสั่งค้นหาข้อมูลที่ต้องการ
แล้วก็วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับ
เรื่องที่เป็นเนื้อหาของตอนนี้ก็คือ
มีผู้ส่งคำสั่งมาให้เขาสืบค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลในบ้านหลังหนึ่ง
ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยสามคนเป็นชายสองหญิงหนึ่ง เมื่อด็อกก์หารายละเอียดขั้นต้นเกี่ยวกับคนทั้งสามได้
ผู้ว่าจ้างก็สั่งให้ค้นต่อไป ข้อมูลที่ด็อกก์ค้นหามาได้นั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจับจ่ายใช้สอยด้วยบัตรเครดิต
และมีทั้งการซื้อของและการเดินทางของเจ้าของบัตร จากภาพของการใช้สอยนี้
ด็อกก์พยายามสร้างภาพบุคลิกของคนทั้งสามขึ้น พยายามอ่านว่าทั้งสามเป็นคนแบบไหน
และมีความสัมพันธ์กันอย่างไร นอกจากนั้นเขายังได้ข้อมูลเกี่ยวกับอดีตที่ผ่านมาด้วยทั้งจากแฟ้มประวัติอาชญากรรม
แฟ้มสำนวนคดี แม้แต่แฟ้มข้อมูลจากสถานศึกษาเดิม จากการกระตุ้นของคนจ้างทำให้ในที่สุดแล้วเรื่องเดินไปถึงจุดที่ทำให้เกิดการฆาตกรรมขึ้นสองราย
โดยด็อกก์เชื่อจากหลักฐานแวดล้อมว่าผู้ก่อคดีน่าจะเป็นใคร
ความจริงแล้วคนว่าจ้างให้ด็อกก์ค้นหาข้อมูลก็คือ หนึ่งในผู้ที่อยู่ในบ้านหลังนั้นนั่นเอง
คนผู้นั้นเพียงแต่ต้องการทำการวิจัยว่านักสืบไซเบอร์สามารถค้นหาข้อมูลอะไรได้บ้าง
แต่การนำเรื่องไปเปิดเผยก็ก่อให้เกิดความขุ่นใจแก่ด็อกก์ไม่ใช่น้อย
โดยทั่วไปแล้วเนื้อหาทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้จืดชืดมาก
สิ่งที่น่าสนใจมีสามอย่างคือ
- การบันทึกเก็บข้อมูลส่วนตัวในปัจจุบันได้กระทำกันอย่างกว้างขวาง
รายละเอียดทุกอย่างของคนทุกคนอาจได้รับการเก็บเอาไว้ในคอมพิวเตอร์หลายๆเครื่อง
และอาจมีคนที่สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาเชื่อมต่อกันได้
- ความสามารถในการสร้างโปรไฟล์
หรือ ภาพตัวตนของเจ้าของข้อมูล อันทำให้ผู้ได้รับข้อมูลสามารถทราบหรือเข้าใจบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลได้อย่างชัดเจน
- เราจะมีการปกป้องคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวได้มากน้อยเพียงใด
ผมไม่ทราบว่าพวกเราเป็นห่วงกันหรือไม่ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่ชอบซุบซิบนินทา
การได้รู้ข้อมูลส่วนตัวหรือพฤติกรรมของคนอื่นจึงกลายเป็นเรื่องที่หยิบยกมาพูดคุยกันเสมอ
แม้แต่หนังสือพิมพ์เองก็มีคอลัมน์ประเภทซุบซิบแบบนี้ทุกฉบับเหมือนกัน
(13 กรกฏาคม
48)
|