Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

       

 

Home
IT Idea for Spiritization

TQM ภาคปฏิบัติ: เทคนิคการแก้ปัญหาแบบ "สึยามา"
เรียบเรียงโดย ดร. ปริทรรศน์ พันธุ์บรรยงก์
สำนักพิมพ์ ส.ส.ท. 2546

     ความจริงผมยังอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่จบครับแต่อยากจะแนะนำให้ท่านที่เป็นครูบาอาจารย์อ่านกันให้มากๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกนึกคิดที่เป็นครูอย่างถูกต้องมากขึ้น

     หนังสือเล่มนี้เรียบเรียงโดย ดร. ปริทรรศน์ พันธ์บรรยงก์ ผู้อำนวยการศูนย์โลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC ในสังกัดของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เนื้อหาของหนังสืออาจแบ่งได้เป็นสามตอน ตอนแรกเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวอาจารย์ สึยามาเอง ตอนที่สองคือรายละเอียดเนื้อหาทางสถิติที่อาจารย์สึยามาสอน และตอนที่สามคือส่วนที่อาจารย์และนักวิชาการไทยกล่าวถึงอาจารย์สึยามา สำหรับผมเองนั้นยังอ่านตอนที่สองไม่จบครับ

     เนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับอาจารย์สึยาม่าเองนั้นน่าทึ่งมาก เพราะอาจารย์สึยาม่าได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่เกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพการผลิตรถเกรด รถแทรกเตอร์ และรถงานยี่ห้อโคมัตสุของญี่ปุ่น เริ่มจากการที่ท่านยังไม่ค่อยมีความรู้ด้านสถิติ ต้องเรียนไปศึกษาไปจนกระทั่งท่านกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพอันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นไป ความเชี่ยวชาญของท่านนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการกระตุ้นให้คิด และการผลักดันของผู้บริหารระดับสูงในสมัยที่ท่านยังเป็นพนักงานผู้น้อย ส่วนหนึ่งเกิดจากความมุมานะศึกษาของตัวอาจารย์เอง และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากความสนใจในรายละเอียดลึกๆ ในการปฏิบัติงานจนกระทั่งเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

     ผมคิดว่าเมืองไทยเราขาดองค์ประกอบทั้งสามอย่างนี้ อย่างแรก ผู้บริหารของเราก็ไม่เก่งพอที่จะสอนหรือกระตุ้นให้ผู้น้อยคิด เพราะผู้บริหารหลายคนก้าวไปสู่ตำแหน่งระดับสูงด้วยการกระโดดข้ามขั้นโดยใช้เส้นสายบ้าง ใช้วิธีการประจบประแจงเลียแข้งเลียขา หรือใช้วิธีการทางลัดด้านการเมืองบ้าง ด้วยเหตุนี้เอง ผู้บริหารที่ผู้น้อยยอมรับจึงมีน้อยลงทุกที

     อย่างที่สอง คนไทยเวลานี้ขาดความมานะพยายาม อยากจะทำแต่เรื่องง่ายๆ เมื่อไปพบเรื่องยากก็ไม่อยากจะทำเสียแล้ว ผู้ใหญ่เองก็พยายามส่งเสริมเรื่องแบบนี้ เช่น การสอบคัดเลือกเข้าเรียนในระดับมัธยมฯก็บอกว่ามันยาก ทำให้เด็กเหนื่อย เด็กเครียด เลิกเสียเถอะ จับฉลากเอาดีกว่า สอบเอ็นทรานซ์ก็เหมือนกัน พอนักเรียนกลายมาเป็นนักศึกษา ก็ไม่อยากเรียนแต่กลับอยากสอบให้ผ่าน ก็จะมาอ้อนวอนอาจารย์ให้ออกข้อสอบง่ายๆ ผมเองไปเกี่ยวข้องกับข้อสอบระดับปริญญาตรีและโทของหลายสถาบัน เห็นข้อสอบแล้วอยากร้องไห้ เช่นข้อสอบวิชาโปรแกรมมิงนั้นมีแต่ให้เขียนโปรแกรมกระจอกๆ ที่เด็กๆ เขาซ้อมมือกันเท่านั้น ผมก็ไม่รู้ว่าจะต้องบังคับให้เรียนไปทำไมในเมื่อไม่อยากเรียน และการสอบก็เป็นของเล่นๆ พออายุครบตามปีทีกำหนดก็มารับวุฒิบัตร หรือ ปริญญาบัตรไปเลยก็แล้วกัน แจกไปให้ถึงปริญญาเอกกันเลย เพราะขืนให้เรียนไปก็ไปจ้างเขาเขียนวิทยานิพนธ์อยู่ดี

     อย่างที่สาม คนไทยไม่เคยคิดอะไรที่ละเอียด คิดเป็นแต่เรื่องฉาบฉวย เข้าใจว่าติดมาจากบรรดานักการเมืองฉาบฉวยที่ทำตัวเป็นตัวอย่างเวลามีการอภิปรายในสภา เพราะดูเหมือนจะเป็นอย่างนี้ไปหมด

     ย้อนกลับมาเรื่องของอาจารย์สึยาม่ากันดีกว่า ในช่วงใกล้เกษียณนั้น อาจารย์สึยาม่า ได้รับมอบหมายให้ดูแลบริษัทฝึกอบรม และจำเป็นต้องสร้างอาจารย์ขึ้น แนวคิดในการสร้างอาจารย์ขึ้นมาเพื่อสอนวิชาต่างๆแทนอาจารย์นั้น น่าสนใจมากเลยครับ ท่านกำหนดขั้นตอนสำหรับฝึกคนเป็นอาจารย์ไว้อย่างนี้

  1. จะเป็นอาจารย์สอนวิชาอะไรจะต้องนั่งฟังอาจารย์สึยาม่าสอนอย่างน้อย 10 ครั้ง
  2. จะต้องบรรยายเนื้อหาเช่นเดียวกับการสอนจริงให้อาจารย์สึยาม่าฟังสองครั้ง โดยอาจารย์สึยาม่าจะทำตัวเป็นผู้เรียน และซักถามปัญหาต่างๆ ให้ตอบให้ได้ พร้อมกันนั้นก็จะคอยวิจารณ์การบรรยายและให้คำแนะนำอื่นๆด้วย ขั้นตอนนี้จะต้องทำ 2 ครั้ง
  3. จะต้องฝึกภาคปฏิบัติ (ทำ Workshop กรณีศึกษา เพราะเนื้อหาวิชาที่สอนเน้นการนำกรณีศึกษามาวิเคราะห์) โดยอาจารย์สึยาม่าทำตัวเป็นนักเรียน ขั้นตอนนี้จะต้องทำ 2 ครั้ง
  4. บรรยายจริงในชั้นเรียน โดยอาจารย์สึยาม่าจะนั่งสังเกตการณ์ และให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงการสอนให้ดีขึ้นต่อไป
     ผมอ่านแนวทางการฝึกอาจารย์ของอาจารย์สึยาม่าแล้ว โดยเฉพาะอ่านส่วนที่คุณนิเวศน์ สุขสม ที่ปรึกษาอาวุโสของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย เขียนเล่าให้ฟังแล้ว ผมก็มีความรู้สึกว่าช่างเป็นการฝึกอาจารย์ที่ดีเยี่ยมอย่างยิ่ง และมองเห็นจุดอ่อนในการสอนของมหาวิทยาลัยหลายๆแห่งในเวลานี้ นั่นคือเรามักจะเชื่อกันผิดๆว่า คนที่จบปริญญาเอกมาแล้วจะสอนวิชาอะไรก็ได้ (โดยเฉพาะในสายที่ตนเรียนมา) ผมจำได้ว่าเมื่อเกือบสามสิบปีมาแล้ว ตอนผมจบปริญญาเอกทางด้านวิศวกรรมโครงสร้างได้ใหม่ๆ หัวหน้าของผมมาสั่งให้ผมไปสอนวิชาการออกแบบฐานข้อมูล ตอนนั้นผมยังไม่เคยเรียนวิชาออกแบบฐานข้อมูลมาก่อน ต้องรีบหาหนังสือฐานข้อมูลมาอ่านเป็นจ้าละหวั่น แต่แม้ผมจะอ่านเข้าใจ ก็ไม่ซาบซึ้ง และไม่คิดว่าจะตอบคำถามแปลกๆ ที่นักศึกษาอาจจะถามได้ โชคดีที่ก่อนหน้าที่จะต้องสอนได้เล็กน้อย ผมได้เข้าเรียนในหลักสูตรฐานข้อมูลของบริษัทไอบีเอ็ม ซึ่งมาเปิดศูนย์ฝึกอบรมที่เอไอที และอนุญาติให้ผมเข้าไปร่วมฝึกอบรมเต็มวันสองสัปดาห์ได้ ทำให้ผมได้รับความรู้พื้นฐานมาเต็มอิ่ม แต่การสอนครั้งแรกก็ยังไม่ราบรื่นเพราะยังมีประสบการณ์ในการสอนพอเพียงที่จะเชื่อมโยงเนื้อหาให้นักศึกษาเข้าใจ

     ที่ยกเรื่องนี้มาพูดเพราะเป็นห่วงว่า หัวหน้าภาควิชาทั้งหลายจะมอบหมายให้อาจารย์ต่างๆ สอนวิชาตามใจชอบ โดยอาจารย์ไม่เคยเตรียมตัวหรือไม่เคยฝึกสอนด้านนั้นมาก่อน ถ้าอย่างนั้นผมก็เชื่อว่าการสอนก็คงจะล้มเหลวแน่นอน

     นอกจากในด้านการฝึกอาจารย์แล้ว อาจารย์สึยาม่ายังให้มารยาทในการสอนไว้ดังนี้
  1. พูดและอธิบายโดยคำนึงถึงจุดยืนของผู้เรียนเสมอ
  2. วิทยากรต้องไม่นั่งเก้าอี้ระหว่างการสอน
  3. สร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนซักถามได้โดยอิสระ
  4. อย่าตอบข้อซักถามในลักษณะเป็นการสนทนาสองต่อสองเท่านั้น
  5. อย่าแก้ตัวหรือหลบเลี่ยงเมื่อตอบคำถามไม่ได้ ให้พูดสิ่งที่ตัวเองคิดออกไปให้ชัดเจน
  6. ยกตัวอย่างในคำอธิบายให้มากๆ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงจะดีมาก
  7. สิ่งสำคัญ อย่าอธิบายโดยใช้คำพูดอย่างเดียว ให้เขียนตัวอย่างบนกระดานหรือแผ่นใสด้วย
  8. ในส่วนของเครื่องมือ อย่าโลภมากในการสอนทฤษฎีจนมากมายเกินไป
  9. ข้อสรุปของการแก้ไขปัญหา อย่าใช้ภาษาทางสถิติ แต่ให้สรุปตัวอย่างจริงด้วยข้อตัดสินที่เป็นรูปธรรมต่อเนื่องไปสู่การปฏิบัติได้
  10. รักษาเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดอย่างเคร่งครัด
     เราอาจจะไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำด้านมารยาทการสอนของอาจารย์สึยาม่าในบางข้อ อาจเป็นพราะเราคิดว่าวัฒนธรรมของไทยกับญี่ปุ่นไม่เหมือนกัน ไม่เป็นไรครับ นั่นย่อมสุดแท้แต่ความเห็นของแต่ละคน แต่ลองนำไปพิจารณาดูก็แล้วกันครับ

     หนังสือเล่มนี้มีเรื่องน่าสนใจให้ศึกษาหลายเรื่อง ลองหามาศึกษาดูนะครับ

 








Back