ตามรอยสิบปี
รหัสเทอร์โบ ...รหัสอลวน
เกียรติศักดิ์ ศรีพิมานวัฒน์
เนคเทค มกราคม 2548
หนังสือเล่มนี้ได้รับคำนิยมจาก
นพ. วิจารณ์ พานิช อดีต ผู้อำนวยการ สกว. และปัจจุบันกำลังส่งเสริมเรื่องเกี่ยวกับ
การจัดการความรู้เพื่อสังคมอยู่ว่าเป็นหนังสือที่เขียนได้ดี และแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมในการจดสิทธิบัตรซึ่ง
เป็นผลงานความคิดของนักศึกษาไทย ด้วยเหตุนี้เองผมจึงต้องหยิบหนังสือเล่มเล็ก
ๆ เล่มนี้มาอ่านด้วยความสนใจ
รหัสเทอร์โบ เป็นชื่อที่บัญญัติขึ้นจาก Turbo
Code ซึ่งเป็นวิธีการเข้ารหัสในการสื่อสารเพื่อให้สามารถส่งข่าวสารและถอดกลับมาได้ใกล้เคียงกับข่าวสารเดิมมากที่สุด
วิธีการเข้ารหัสที่สมบูรณ์ที่สุดนั้นได้รับการคิดค้นมานานแต่ไม่ประสบความสำเร็จมากเท่าที่ควร
จนกระทั่ง นักศึกษา
หนุ่มจากไทยคือ ปัญญา ฐิติมัชฌิมา ได้เดินทางไปศึกษาที่ฝรั่งเศส และค้นพบวิธีการเข้ารหัสและถอดรหัสที่สมบูรณ์มากที่สุด
จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับในวงการวิศวกรรมสื่อสารว่าเขามีความคิดอันปราดเปรื่องสามารถแก้ปัญหาที่ไม่มีใครคิดออกได้
แต่แล้วก็เกิดความผันผวนขึ้นเพราะกลายเป็นว่าความคิดของเขานั้นเมื่อนำออกเผยแพร่แล้ว
กลับกลายเป็นว่าชื่อของเขาไม่ได้ถูกนำไปจดสิทธิบัตรในฐานะเป็นผู้คิดค้นรหัสเทอร์โบนี้
ในขณะที่ผู้ที่จดได้รับส่วนแบ่งจาก
ผลประโยชน์กันไปอย่างถ้วนหน้า
รายละเอียดของรหัสเทอร์โบเป็นอย่างไร ความผันผวนเป็นอย่างไร
ดร. เกียรติศักดิ์ ได้นำมาเล่าให้ฟังอย่างย่อ ๆ
ในหนังสือเล่มนี้ นพ. วิจารณ์ กล่าวว่าผู้เขียนใช้ภาษาได้ดี เรื่องนี้ผมเห็นด้วย
เพราะผู้เขียนเข้าใจเขียนให้คนที่ไม่รู้ด้านเทคนิคอ่าน แต่ก็ต้องบอกก่อนนะครับว่าคนที่ไม่ชอบอ่านสไตล์การเขียนหนังสือแบบนี้ก็คงจะมีมากเหมือนกัน
เพราะผู้เขียนได้จับแพะชนแกะ
ด้วยการเปรียบเทียบงานรหัสเทอร์โบกับอะไรต่อมิอะไรยุ่งไปหมด ก็คงจะเหมาะกับยุคอลวนเหมือนชื่อหนังสือแหละครับ
26 มีนาคม 48
|