Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

Home
IT Idea for Spiritization

พระนครควรชม
ธรรมเกียรติ กันอริ
สำนักพิมพ์ ผู้จัดการ 2538
ราคา 150 บาท

           พจนานุกรมเกี่ยวกับ วัด วัง ถนน สะพาน และป้อม ที่ได้แนะนำไปแล้วนั้น ทำให้ผมนึกถึงหนังสือของ ธรรมเกียรติ กันอริ เล่มนี้ได้ แม้จะพิมพ์มานานแล้วแต่ก็ยังอ่านได้ไม่เบื่อ ดังนั้นผมจึงหยิบขึ้นมาอ่านเพื่อแนะนำให้ผู้สนใจเปิดอ่านเว็บไซต์ของผม รีบหาซื้อมาอ่านก่อนที่จะหาซื้อไม่ได้

           ความจริงแล้วเรื่องที่รวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้เคยพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการมาแล้ว การนำมารวมตีพิมพ์เป็นเล่มทำให้สะดวกมากขึ้นแก่การอ่าน และอ้างอิง เสียดายที่ภาพที่นำมาลงประกอบค่อนข้างจะเล็กและมืดไปสักหน่อย

           จากการที่ผมได้เคยคุยกับใครต่อใครมาหลายคน ผมพบว่าคนกรุงเทพฯ ไม่ค่อยรู้จักประวัติของสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯมากนัก คนกรุงเทพฯ จำนวนมากเป็นชาวพุทธ เคยเข้าวัดเข้าวามาก็หลายหน แต่ส่วนมากไปเข้าวัดเพื่อเผาศพหรืองานสวดพระอภิธรรมศพมากกว่าจะเข้าไปนั่งฟังเทศน์หรือปฏิบัติธรรม และผมเชื่อว่าท่านเหล่านี้ไม่ทราบประวัติของวัดเหล่านั้นหรอกครับ

           อันที่จริงก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปรู้จักประวัติของสถานที่ต่าง ๆ ในกทม. หรือ ในเมืองไทยโดยรวม แต่การรู้จักประวัติจะทำให้เราเชื่อมโยงไปสู่อดีตได้อย่างเข้าใจความหมาย เมื่อรู้แล้วก็จะเกิดสำนึกที่จะปกป้องอนุรักษ์สถานที่เหล่านั้นให้มีความมั่นคงถาวร ขณะเดียวกันก็สามารถสงวนรักษาสภาพเดิมเอาไว้ให้ศึกษาได้ หากเราไม่เข้าใจอดีต เราก็อาจจะไม่สามารถต่อเชื่อมไปสู่อนาคต และสุดท้ายก็จะไม่มีอะไรที่จะทำให้เรามีสำนึกถึงความเป็นไทยได้

           หนังสือพระนครชวนชม พยายามแนะนำประวัติความเป็นมาของสถานที่ต่าง ๆ ที่อยู่ภายในเกาะรัตนโกสินทร์ การแนะนำนั้นก็ไม่ได้เขียนทื่อ ๆ แต่เขียนเชิงวิจารณ์โดยนำเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่เขียนบทความนั้นเข้ามาผนวกกับข้อเขียนด้วย ทำให้การเขียนมีเสน่ห์ออกไปอีกแบบ เนื่องจากคนอ่านต้องใช้ความคิดไปด้วย ไม่ใช่อ่านเพลิน ๆ เหมือนหนังสือนำเที่ยวทั่วไป

           ธรรมเกียรติ ได้ค้นหาข้อมูลต่าง ๆ มาประกอบการเขียนเรื่องนี้มากทีเดียว และมีหลายเรื่องที่คนทั่วไปก็ไม่ทราบ อาทิ เรื่องการสร้างโรงเรียนสวนกุหลาบนั้น เดิมที รัชกาลที่ 5 ได้โปรดให้หลวงไพศาลศิลปศาสตร์ (นามเดิม สนั่น เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา ต่อมาได้เป็น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) เป็นผู้ไปตั้งโรงเรียนโดยอาศัยศาลาวัดของวัดราชบูรณะ แต่คุณหลวงท่านได้ทำเลยคำสั่งไป คือ ได้ยึดที่ของวัดมาตั้งเป็นโรงเรียนเสียเลยเนื่องจากไม่แน่ใจว่า เจ้านายคือเสนาบดีกระทรวงธรรมการจะอนุมัติให้ทำหรือไม่ เป็นเหตุให้เสนาบดีต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูล และทำให้ในหลวงทรงตำหนิแต่ก็มิได้ลงพระอาชญาเพราะทรงเข้าพระทัยดีว่า ท่านเป็นคนหนุ่มและต้องการทำงานที่เห็นแก่บ้านเมือง ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองแต่อย่างใด

           เรื่องนี้นักเรียน สก. อาจจะทราบมาก่อนแล้วก็ได้ แต่ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นนักเรียน สก. อย่างผมและอาจจะสำหรับท่านผู้อ่านบรรณพิจารณ์อีกหลายคนก็ได้

           เมื่อสักครู่นี้ได้อ้างว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเสมือนหนังสือนำเที่ยว นั่นก็ยังไม่เชิงนักทีเดียว เพราะธรรมเกียรติยังไม่ได้ขยายความรายละเอียดของสถานที่ต่าง ๆ เอาไว้มากนัก คงเขียนแต่เพียงสถานที่อันเป็นจุดเด่นหรือจุดหลัก ๆ เท่านั้น ส่วนที่เหลือก็เป็นเกร็ดอันหาอ่านได้ยากดังได้กล่าวมาแล้ว

           ผมไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างจับผิด จึงไม่ได้สังเกตว่าได้นำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาดไปบ้างหรือไม่ แต่ถึงมีก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก เพราะหนังสือนี้ไม่ใช่ตำราวิชาการ หากเขียนขึ้นเพื่อให้คนกรุงเทพฯได้รู้จักกรุงเทพฯ ดีขึ้น ดังนั้นจึงขอเชิญชวนให้เสาะแสวงหามาอ่านอีกสักเล่มหนึ่ง

Back