Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

Home
IT Idea for Spiritization

เมตตาภาวนา
พระอาจารย์ชนกาภิวงศ์ รจนา
พระอาจารย์คันธสาราภิวงศ์ แปล
พิมพ์แจกเมื่อปี 2541 โดยคุณประวิทย์ ธนาวิภาส

           คนไทยมีคำกล่าวติดปากว่า "เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก" และอันที่จริงอาจกล่าวได้ว่าที่คนไทยมีนิสัยเป็นคนยิ้มแย้ม ไม่คิดร้ายใครนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเมตตาธรรมที่ปลูกฝังกันมาแต่โบราณกาลด้วยอิทธิพลของพุทธศาสนานี่เอง

          แม้ว่าผมเองจะเป็นนักเรียนวัด คือวัดเทพศิรินทร์ (ตอนนั้นชื่อโรงเรียนคือ โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์จริงๆ ตอนหลังจึงมาตัดคำว่าวัดออก) แต่ก็ไม่ค่อยได้คุ้นเคยกับพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนามากนัก สมัยที่ผมเป็นนักเรียนอยู่นั้นมีคราวหนึ่งท่านอาจารย์ใหญ่ปรารภว่าควรจะให้นักเรียนไปฟังเทศน์ในพระอุโบสถ จึงนมัสการให้ท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาสมาเทศน์ แล้วให้นักเรียนเดินแถวเข้าไปนั่งฟังเทศน์ แต่บรรดานักเรียนก็พูดคุยเฮฮากันเสียงเซ็งแซ่ อาจารย์ที่คุมไปจะห้ามอย่างไรนักเรียนก็ไม่ยอมหรี่เสียงคุยลง ดังนั้นพระเดชพระคุณท่านเจ้าอาวาสก็เลยลุกจากที่นั่งกลับกุฏิ ไม่เทศน์ให้ฟัง คราวนี้แหละครับ ตะลึงเงียบไปทั้งโบสถ์เลยทีเดียว ต่อจากนั้นไม่ต้องบอกก็ได้ว่าบรรดานักเรียนก็ถูกลงโทษกันไปตามระเบียบ แล้วผมก็ไม่เห็นทางโรงเรียนพานักเรียนไปฟังเทศน์กันอีก ตกลงเราก็กลายเป็นคนใกล้เกลือกินด่าง คือไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับธรรมะเอาเลย ส่วนที่ท่านอาจารย์นำมาสอนในวิชาศีลธรรมนั้น ก็เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาไปหมด หรืออาจจะไม่ทันเข้าหูก็ได้เพราะพวกเราเป็นกลุ่มที่จัดว่าเป็นบัวใต้น้ำ

          ผมมารู้จักการแผ่เมตตา ก็เมื่อมาเป็นนิสิตวิศวะแล้วไปสมัครเข้ากลุ่มพุทธศาสตร์ ซึ่งมีการเชิญท่านผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยายธรรมให้ฟังอยู่เสมอ และเมื่อบรรยายแล้วก็มีการแผ่เมตตาในตอนท้าย นั่นแหละที่ผมเริ่มรู้ว่าคำสวดแผ่เมตตาคืออะไร แต่ก็รู้อยู่เพียงแค่นั้น จนกระทั่งเมื่อได้ศึกษามากขึ้นจึงพบว่าการแผ่เมตตานั้นเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนมากกว่าการสวดแผ่เมตตา หรือ การคิดปรารถนาให้คนอื่นเป็นสุขอย่างที่พูดกันทั่วไป อย่างไรก็ตามผมก็ยังหาตำราที่กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างละเอียดไม่ได้

          ลงท้ายผมจึงได้อ่านหนังสือเล่มนี้ซึ่งคุณประวิทย์ ธนาวิภาส พิมพ์แจก แล้วก็เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น นอกจากความเข้าใจมากขึ้นแล้ว ยังทำให้ตนเองรู้ชัดขึ้นว่าแม้แต่เรื่องที่ดูง่ายๆ นี้อันที่จริงแล้วก็มีเนื้อหาที่ลึกซึ้งอยู่เป็นอันมากทีเดียว

          เมตตานั้นเป็นหนึ่งในธรรมที่นับเนื่องในพรหมวิหารสี่ หรือ ธรรมอันเป็นเครื่องอยู่อาศัยของพรหม เมตตาคือความปรารถนาดีอย่างจริงใจ มีไมตรีจิตต่อเพื่อนมนุษย์ กรุณา คือความสงสาร อยากให้ผู้อื่นพ้นจากทุกข์ที่กำลังประสบอยู่ มุทิตา คือความพลอยยินดีในเมื่อพบเห็นผู้อื่นประสบความสุข ปราศจากความริษยาไม่พอใจ และ อุเบกขา คือการวางเฉย ในเวลาที่ไม่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้

          เมตตามีสองประเภทคือ เมตตาที่มีขอบเขตคือจำกัดตัวบุคคล และ เมตตาที่ไม่มีขอบเขตไม่จำกัดตัวบุคคล

          การเจริญเมตตาก็คือการเจริญสมถกรรมฐาน โดยมีเหล่าสัตว์ทั้งหลายในสากลโลก เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน อีกนัยหนึ่งก็คือ การเจริญเมตตาพึงตั้งจิตปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์อย่างต่อเนื่องกันไป ไม่ว่าเราจะอยู่ในอิริยาบถอะไร เป็นระยะเวลานานสักหนึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ระหว่างนั้นเมื่อเกิดความฟุ้งซ่านขึ้นให้รีบมีสติรับรู้แล้วดึงจิตให้กลับมาสู่การทำเมตตากรรมฐานต่อไป

          การเจริญเมตตากรรมฐานไม่ควรเริ่มต้นด้วยการแผ่เมตตาไปยังคนหกจำพวกคือ
          1. มิตรสหายที่สนิทสนม
          2. คนที่ไม่สนิทสนมคุ้นเคย
          3. ผู้ที่เราไม่พอใจ
          4. ศัตรูของเรา
          5. เพศตรงข้าม
          6. คนที่ล่วงลับไปแล้ว

หากเราแผ่เมตตาไปยังคนเหล่านี้ อาจจะทำให้จิตใจหวนระลึกไปถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อ งและทำให้เกิดความทุกข์ใจหรือความกำหนัด จนไม่อาจเจริญกรรมฐานต่อไปได้

          การเจริญเมตตากรรมฐานควรพิจารณาบุคคลห้าจำพวกต่อไปนี้ตามลำดับ
          1. คนที่เราเคารพนับถือ
          2. มิตรสหายที่สนิทสนม
          3. คนที่เราวางเฉย ไม่รักไม่ชัง
          4. คนที่เราไม่พอใจ
          5. ศัตรูของเรา

นั่นก็คือเมื่อเราได้แผ่เมตตาจนกระทั่งอำนาจสติของเราเข้มข้นขึ้นแล้ว การที่แผ่เมตตาไปยังบุคคลอื่นแม้ผู้ที่เราไม่พอใจ หรือ ศัตรูของเราก็จะไม่เกิดการรบกวนหรือเกิดโทสะขึ้น

          การเจริญเมตตามีอานิสงค์มาก หากเจริญอย่างถูกวิธีแล้ว แม้ศัตรูก็อาจกลับเป็นมิตรได้ ดังมีตัวอย่างให้เห็นหลายรายในหนังสือนี้ นอกจากนั้นการเจริญเมตตากรรมฐานยังทำให้ผู้นั้นบรรลุถึงองค์ฌาณได้ด้วย อย่างไรก็ตามฌาณสูงสุดที่จะบรรลุได้คือตติยฌาณเท่า

          ข้างต้นนี้ก็คือ คำบรรยายธรรมสั้นๆ ของพระอาจารย์ชนกาภิวงศ์ซึ่งเป็นเจ้าสำนักกรรมฐานเซมเย่ นครย่างกุ้ง ประเทศพม่า หนังสือที่ผมนำมาเล่าให้ฟังเล่มนี้อาจจะหาอ่านได้ยาก หากใครสนใจก็คงจะต้องติดต่อไปที่คุณประวิทย์ ธนาวิภาส เลขที่ 1856/36 ถนนเจริญนคร แขวงบางลำพูล่าง เขตคลองสาน กทม 10600 ท่านอาจจะยังมีหนังสือเหลืออยู่ก็ได้

Back