Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

Home
IT Idea for Spiritization

บ้านลาดพร้าว
วิลาศ มณีวัต
สำนักพิมพ์ดอกหญ้า 2543

          ในบรรดานักประพันธ์ที่ผมชอบนั้นผมเห็นว่าคุณวิลาศ มณีวัต เป็นผู้ที่นำเอาข่าวและเรื่องราวจากต่างประเทศมาย่อยให้นักอ่านชาวไทยได้รับทราบอย่างได้สาระและสนุกสนาน แม้จะอายุเกินสามในสี่ของศตวรรษแล้ว แต่ข้อเขียนใหม่ๆ ของท่านก็ยังสนุกสนานและน่าอ่านเหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน ใช่แล้วครับ ผมเป็นแฟนเรื่องของคุณวิลาศมาตั้งแต่ยังเด็ก สมัยนั้นผมจำได้ว่าเห็นเรื่อง ชีวิตมิใช่ดอกกุหลาบ ของ ศรีภริยาของท่านซึ่งใช้นามปากกาว่า นิตยา นาฏยะสุนทร อยู่ในตู้หนังสือที่บ้าน แถมยังมีเรื่องของหมวกเบอร์เจ็ด อันเป็นนามปากกาของคุณวิลาสเองอยู่ด้วย สมัยนั้นผมไม่สนใจอ่านนิยายหรือเรื่องการเมืองดังนั้นแม้ปัจจุบันหนังสือเก่าแก่เหล่านี้ก็ยังอยู่ในตู้ที่บ้านโดยผมไม่ได้เปิดอ่าน

          แต่ผมอ่านเรื่อง สายลม-แสงแดด ธรรมะสำหรับคนนอกวัด หนังสือชุดโฉมหน้า และ หนังสือชุดรถราง โดยไม่นับหนังสือประเภทอารมณ์ขันอีกหลายเล่ม

          คนที่ผมรู้จักบางคนบอกผมว่าหนังสือของคุณวิลาศน่าเบื่อ แต่สำหรับผมแล้วรู้สึกน่าสนใจเพราะคุณวิลาศหยิบเรื่องของคนจริงๆ มาเขียนในแง่มุมต่างๆ ดังปรากฏใน บ้านลาดพร้าว เล่มนี้

          ชื่อเรื่องนี้ได้มาจากนิวาศสถานที่คุณวิลาศ และ ครอบครัวอาศัยอยู่ตั้งแต่ปี 2505 อาจกล่าวได้ว่าเป็นบ้านแรกในย่านนี้ และตัวคุณวิลาศเองต้องวิ่งเต้นขอให้ทางการประปาฯ ต่อท่อน้ำประปามายังละแวกนี้จนสำเร็จซึ่งคุณวิลาศกล่าวว่า ดีใจราวกับถูกลอตเตอรีรางวัลที่หนึ่ง

          เรื่องราวต่างๆ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือ บ้านลาดพร้าว นั้นทางคุณอาจิณ จันทรัมพร ได้รวบรวมมาจากนิตยสารหลายเล่ม และได้นำมาจัดไว้เป็นหมวดหมู่ตามประเภทของเรื่อง เช่นในเล่ม 1 มีเรื่อง บางเสี้ยวของชีวิต, สายลม-แสงแดด, การเมือง-เรื่องสนุก, สิ่งละอันพันละน้อย, และหนังสือหัวเตียง ส่วนเล่มที่ 2 มีเรื่อง นักเขียนไทย-เทศ, รวมพลคนสุราษฎร์, ชมรมนักประพันธ์วิกสีลม, สาระ-บันเทิง, อภิปราย, แอ่วเมืองเทศ, แฟ้มข่าวประจำปักษ์, และ เรื่องสั้น

          ข้อที่น่าเสียดายอย่างฉกาจฉกรรจ์และเป็นจุดอ่อนของบรรณาธิการก็คือ การไม่ได้ข้อมูลว่าคุณวิลาศได้เขียนเรื่องแต่ละเรื่อง ไว้ในนิตยสารชื่ออะไร และ ตีพิมพ์เมื่อใด ในฐานะที่ผมเป็นผู้ชอบเขียนสารคดีคนหนึ่ง ผมพบว่าเนื้อหาที่หยิบมาเขียนเป็นสารคดีนั้นอาจจะเป็นจริงในขณะที่เขียน แต่ต่อมาก็อาจจะไม่เป็นจริง หรืออาจจะเป็นจริงแต่มีความคลี่คลาย หรือมิฉะนั้นก็มีผู้ค้นพบรายละเอียดอื่นๆ ออกมาอีกมาก ดังนั้นเรื่องที่เขียนไว้ในช่วงแรกก็อาจจะไม่ถูกต้องนัก ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือเรื่องเกี่ยวกับพระภิกษุหลายรูปในเมืองไทย ในระยะแรกท่านอาจจะปฏิบัติดีมีสมณะสารูปและจริยวัตรที่น่าเคารพยกย่อง คำสอนเล่าก็ไพเราะน่าฟัง แต่เมื่อท่านถูกกิเลสตัณหาชักนำไปเพราะตัวเองก็ยังไม่สามารถปฏิบัติธรรมให้หลุดพ้นได้จริง การประพฤติปฏิบัติก็ออกนอกลู่นอกทาง กลายเป็นข่าวในทางเสื่อมเสีย ถ้าหากบังเอิญระยะแรกมีคนที่เลื่อมใสเขียนเรื่องของท่านออกมาอย่างน่าประทับใจ แล้วต่อมาค้นพบว่าที่จริงแล้วท่านไม่ได้ดีจริงอย่างที่แสดงออก เช่นนี้เราจะยังอยากอ่านเรื่องที่เขียนในตอนแรกอยู่อีกละหรือ

          ที่เขียนมายืดยาวนี้ไม่ใช่เพราะคนที่คุณวิลาศเขียนถึงบางคนได้มีการเปลี่ยนไปในทางเสื่อมเสีย แต่เพราะเห็นว่าโดยหลักการแล้ว การนำเอารายละเอียดเกี่ยวกับการพิมพ์ในอดีตมาประกอบไว้ด้วย ย่อมจะทำให้ผู้อ่านได้ทราบข้อมูลมากขึ้น เช่นได้ทราบว่าผู้เขียนเกิดความประทับใจในผู้ที่ตนเขียนถึงนั้นเมื่อใด ในสถานการณ์ใด และสิ่งที่เขียนถึงนั้นต่อมาได้เป็นจริงหรือไม่

          เราอาจจะอ่าน บ้านลาดพร้าว ในบ้านหลังใดๆ หรือจะอ่านที่ชายหาดก็ได้เพราะหนังสือเล่มนี้ไม่ได้สร้างความเครียดเหมือนหนังสือหนักๆ ในชุดวิถีทรรศน์อีกหลายเล่ม ผมอาจจะอ่านสนุกเพราะได้รู้จักทั้งตัวตนและผลงานของคนที่คุณวิลาศเขียนถึงหลายคน อาทิ ท่านสุกิจ นิมมานเหมินท์ ท่านอาจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่านอาจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ อีกทั้งยังรู้จักสถานที่และหนังสือที่คุณวิลาศอ้างถึงอีกด้วย ดังนั้นการอ่านเรื่องเหล่านี้จึงทำให้ผมนึกไปถึงคน สถานที่ และ หนังสือที่ผมรู้จักเหล่านี้ และทำให้นึกถึงเรื่องเก่าๆ ได้อีกหลายเรื่องด้วยกัน สำหรับคนรุ่นใหม่แล้วเรื่องเหล่านี้อาจจะไม่มีความหมายเท่าใด

          เรื่องที่น่าสนใจใน บ้านลาดพร้าว ก็คือคำอภิปรายเรื่องหนังสือสองเรื่อง เรื่องแรกก็คือ นวนิยายของดอกไม้สด ซึ่งดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าผู้รวบรวมไม่ได้ระบุว่าการอภิปรายนี้เกิดขึ้นเมื่อใด ส่วนเรื่องที่สองเป็นการคุยกันเรื่องตลาดนวนิยายไทย ซึ่งคราวนี้โชคดีหน่อยที่ระบุไว้ว่าเป็นการสนทนาทางสถานีวิทยุ ท.ท.ท. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2503 คือเมื่อสี่สิบปีมาแล้ว ที่บอกว่าน่าสนใจก็เพราะคุณวิลาศนำรายละเอียดคำพูดทั้งหมดมาพิมพ์ไว้ ซึ่งแสดงว่าได้มีการอัดเทปคำบรรยายทั้งหลายเอาไว้แล้วนำมาถอดเทปให้อ่าน นับว่าเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ที่น่าชมเชยมาก ผมเชื่อว่าได้มีการอภิปรายในเรื่องวรรณกรรมต่างๆ มามากมายหลายครั้งในอดีต บางเรื่องอาจจะมีการรายงานอย่างละเอียด บางเรื่องก็อาจจะจางหรือละลายหายไปกับอากาศอย่างน่าเสียดาย ผมเห็นว่าสิ่งที่น่าสนใจก็คือความคิดอ่านและความเห็นของบรรดาผู้ที่ถือว่าเป็นนักคิดนักเขียนของไทย ดังนั้นหากได้มีการนำเอาการอภิปรายหรือความคิดอ่านเหล่านี้มาตีพิมพ์เผยแพร่กันมากๆ ก็จะทำให้ความรู้ความเข้าใจในด้านต่างๆ ของคนไทยเราขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

          ความจริงแล้วการเขียนสารคดีไม่ใช่เรื่องยาก เราอาจเขียนให้ตรงไปตรงมาไม่มีอารมณ์ คือเขียนตามสูตรสำเร็จว่าด้วยสารคดีก็ย่อมได้ แต่สารคดีเช่นนั้นย่อมไม่น่าอ่าน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือแห้งแล้ง อ่านแล้วไม่สนุก

          ในทัศนะนี้ บ้านลาดพร้าว น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการเขียนสารคดีเบาๆ ที่อ่านสนุกก็ได้ ผู้สนใจเป็นนักเขียนสารคดี น่าจะลองศึกษาดูสไตล์การเขียน การเปิดเรื่อง และการปิดเรื่องของคุณวิลาศที่มีให้เห็นหลากหลายในที่นี้ แล้วลองนำมาพิจารณาดัดแปลงเป็นแบบอย่างของตัวเองต่อไป

Back