Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

Home
IT Idea for Spiritization

Benchmarking หลักการวิเคราะห์และเปรียบเทียบความสามารถอย่างเป็นระบบ
พอล เจมส์ โรแบร์
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 2543

           การรู้เขารู้เรา นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำธุรกิจและการใช้ชีวิตในปัจจุบัน การทำธุรกิจนั้นเป็นของแน่ที่เราจะต้องรู้จักว่าเรามีดีอะไร เราเก่งอะไร และ คนอื่นเขามีดีและเก่งอย่างไร เพื่อจะได้เปรียบเทียบว่าเราจะสู้กับเขาได้ไหม หากเราเก่งอย่างหนึ่งแต่กลับพยายามไปแข่งขันในอีกด้านหนึ่งกับคนอื่นที่เขาเก่งกว่าเรามาก เราก็อาจจะมีปัญหาได้ ผมเชื่อว่าการที่เรามีปัญหาเศรษฐกิจหนักหนาสาหัสถึงปานนี้ก็เพราะว่าเราไม่ได้พยายามรู้เขารู้เรานี่เอง

          การรู้เขารู้เรา ทำได้หลายวิธี อาทิ การว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจตลาด หรือสถานการณ์การขายสินค้าของตัวเราและคู่แข่ง วิธีนี้ช่วยให้รู้แต่เฉพาะส่วนที่เป็นผลลัพธ์ภายนอกของการทำธุรกิจเท่านั้น เราอาจจะรู้ว่าคู่แข่งขายสินค้าได้มากน้อยแค่ไหน ตัวเราขายได้แค่ไหน แต่ไม่ได้ล่วงรู้ไปถึงว่าค่าใช้จ่ายในการขายของคู่แข่งเป็นอย่างไร ใช้คนกี่คน และทำงานกันอย่างไร อีกวิธีหนึ่งคือการทำจารกรรมทางอุตสาหกรรม คือหาคนไปล้วงความลับหาข้อมูลจากคู่แข่งมาให้เราทราบ วิธีนี้ก็ทำกันทั่วไปแต่ไม่ค่อยจะถูกต้องนักเพราะอาจจะไปเข้าข่ายการละเมิดความลับทางการค้าได้ อีกวิธีหนึ่งก็คือการทำ Benchmark ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบการดำเนินการระหว่างบริษัทหรือหน่วยงานต่างๆ

          หนังสือเกี่ยวกับ benchmarking มีอยู่ไม่มากนัก ที่เป็นภาษาไทยยิ่งมีน้อย เล่มหนึ่งที่กล่าวถึงเรื่องนี้ก็คือ วัดรอยเท้าช้าง แต่ก็เป็นเพียงบทความสั้นๆ เท่านั้น หากต้องการอ่านเล่มที่มีเนื้อหาครบถ้วนก็ต้องเล่มที่แต่งโดยมร. โรแบร์ เล่มนี้

          คุณพอล โจนส์ โรแบร์ มีประสบการณ์การทำงานมาตั้งแต่ปี 1969 และทำงานกับบริษัทมาหลายแห่ง เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท โรแบร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านที่ปรึกษา และฝึกอบรม ด้านระบบคุณภาพมาตรฐานอยู่ในประเทศไทย

          ในบทนำของหนังสือนี้ มร. โรแบร์แนะนำว่า "เบ็นชมาร์คเป็นเครื่องมือคุณภาพที่ช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนาผลการปฏิบัติงาน โดยการประเมินตนเองและคู่แข่งทางธุรกิจ เบ็นชมาร์คช่วยองค์กรในการวัดสินค้า บริการ และ แนวปฏิบัติ โดยเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นและองค์กรชั้นนำทั่วโลก ความรู้ในการทำเบ็นชมาร์คนี้ จะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างและดำเนินการตามแผน เพื่อเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า และกลายเป็นผู้นำที่มีการปฏิบัติงานที่ดีที่สุด"

          หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนให้อ่านเพื่อความสนุก เพราะที่จริงอ่านไม่สนุกเลย ผมต้องใช้เวลานานมากในการอ่านหนังสือเล่มนี้ให้จบเนื่องจากแต่ละหน้าเต็มไปด้วยเนื้อหาที่แน่นมาก เปรียบเสมือนกับการนำเอาหัวข้อในแผ่นใสมาเรียงต่อกันมากกว่า และที่จริงก็คงเป็นเช่นนั้น เพราะพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จึงน่าจะเป็นเอกสารประกอบการสอนด้วย

          มร. โรแบร์ เริ่มต้นด้วยการอธิบายความหมายของเบ็นชมาร์ก แล้วตามด้วยประเภทของการทำเบ็นชมาร์คซึ่งระบุว่ามีอยู่สี่อย่างคือ การเปรียบเทียบการทำงานภายในขององค์กร (แบบ Internal) การเปรียบเทียบกับคู่แข่ง (แบบ Competitive) การเปรียบเทียบเฉพาะกิจกรรมที่มีลักษณะเหมือนกัน (แบบ Functional) และการเปรียบเทียบกิจกรรมที่มีลักษณะต่างกัน (แบบ Generic)

          ต่อจากนั้น มร. โรแบร์ ได้อธิบายแบบจำลองการทำเบ็นชมาร์กของบริษัทโรแบร์ ที่ได้คิดขึ้นตามรูปแบบวัฏจักร Plan Do Check Act รวมเป็น 10 ขั้นตอน ดังนี้

  1. เลือกกระบวนการที่ต้องการทำเบ็นชมาร์ก
  2. เลือกและจัดเตรียมทีมงาน
  3. กำหนดบริษัทหรือหน่วยงานที่จะต้องการจะประเมินเปรียบเทียบ
  4. รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัทหรือหน่วยงาน
  5. วิเคราะห์ตรวจสอบว่าบริษัทหรือหน่วยงานมีความแตกต่างระหว่างจุดแข็งอย่างไรบ้าง
  6. ศึกษาระบบของบริษัทหรือหน่วยงานในขอบเขตที่กว้างมากขึ้น
  7. สื่อสารให้ทุกระดับทราบถึงสิ่งที่ค้นพบในการทำเบ็นชมาร์ก
  8. กำหนดเป้าหมายในการปฏิบัติงาน
  9. สร้างแผนการดำเนินงาน ดำเนินงานตามวิธีปฏิบัติ และ ควบคุมความก้าวหน้า
  10. ดำเนินการประเมินเปรียบเทียบซ้ำ

          จุดมุ่งหมายของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การอธิบายแนวทางการดำเนินงานทั้ง10 ขั้นตอนนี้อย่างละเอียด แต่ก็เป็นการอธิบายเป็นหัวข้อๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว ข้อที่น่าเสียดายก็คือการเขียนหัวข้อทั้งสิบนี้ไม่ค่อยจะคงเส้นคงวาเท่าใดนัก ทำให้ต้องย้อนกลับมาอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์หลายตลบ นอกจากนั้นหัวข้อย่อยในแต่ละขั้นตอนทั้งสิบขั้นนั้นก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างกว้าง อ่านแล้วก็ไม่ทราบว่าจะต้องทำอะไรบ้าง และทำอย่างไร มร. โรแบร์อาจจะแย้งว่าหนังสือเล่มนี้เพียงแต่บอกว่าเบ็นช์มาร์กทำอะไรเท่านั้น แต่สำหรับผมแล้วเห็นว่ายังไม่พอ เพราะนักบริหารไทยส่วนมากไม่เข้าใจเรื่องนี้ จำเป็นจะต้องมีแนวทางการทำเบ็นชมาร์ก และ ตัวอย่างประกอบให้เห็นชัดด้วย

          กล่าวโดยทั่วไปวิธีการทำเบ็นชมาร์กตามที่ มร. โรแบร์ นำเสนอในหนังสือนี้ก็เป็นแนวคิดในทางทฤษฎี ในขณะที่แทบจะไม่ได้หยิบยกหัวข้อสำคัญทางปฏิบัติมากล่าวเลย เช่น การประสานงานกับบริษัทที่จะร่วมกันทำเบ็นชมาร์ก แนวทางการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำเบ็นช์มาร์ก การตกลงเปิดเผยข้อมูลร่วมกัน ฯลฯ หากมร.โรแบร์จะปรับปรุงหนังสือเล่มนี้ โดยปรับปรุงด้วยการใส่พลความเข้าไปให้อ่านง่ายขึ้น ใส่รายละเอียดของกรณีศึกษาที่ไม่เป็นความลับมากนัก ก็จะทำให้เป็นหนังสือที่มีคุณประโยชน์ต่อผู้บริหารธุรกิจระดับต่างๆ มากขึ้น

Back