Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

Home
IT Idea for Spiritization

พูดลิงหลับ
ใบใผ่เขียว แปล
สำนักพิมพ์บ้านทองคำ
192 หน้า 119 บาท

          ใบไผ่เขียวเป็นนามปากกาที่ออกจะแปลก โดยเฉพาะในการแปลเรื่องจีนมาเป็นไทย สำนวนไทยออกจะคุ้นๆ จนนึกสงสัยว่าผู้แปลคือใคร แต่ในที่สุดก็เป็นที่ทราบกันว่าใบไผ่เขียวก็คือพี่น้อง น.นพรัตน์ นักแปลเรื่องกำลังภายในนั่นเอง ต้องขอแสดงความเสียใจด้วยที่ น. นพรัตน์ ผู้พี่ต้องจากไปก่อนเวลาอายุขัย และหวังว่า น. นพรัตน์ ผู้น้องจะยังคงทำงานแปลต่อไปอีกนาน

          ความจริงแล้วเรื่องที่นำชื่อเสียงมาให้แก่นามปากกา ใบไผ่เขียว ก็คือ โคตรโกง ซึ่งพิมพ์ออกมาหลายสิบครั้งแล้ว และยิ่งอ่านก็ยิ่งได้รับความรู้ อย่างไรก็ตามในคราวนี้ผมจะยังไม่วิจารณ์เรื่องโคตรโกง จะขอกล่าวถึงเรื่องพูดลิงหลับเสียก่อน

          หนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องพูดมีมากเล่มด้วยกัน แต่อาจจัดเป็นกลุ่มได้สองแบบคือ หนังสือแนะนำวาทศิลป์ หรือ การพูดให้สนุกสนานน่าฟัง หนังสือกลุ่มนี้ก็ได้แก่ของคุณทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ผู้มีชื่อเสียงทางด้านการพูดและการปรับพฤติกรรม กับหนังสือแนะนำการพูดให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ โดยเฉพาะในการทำธุรกิจ พูดลิงหลับ เป็นหนังสือที่ผสมผสานระหว่างหนังสือทั้งสอบแบบ คือมีทั้งการให้คำแนะนำวิธีการพูดให้สนุก และรวบรวมตัวอย่างการพูดที่ใช้ได้ผลจำนวนมากมาให้ศึกษา

          ความจริงคนเรานั้นมีปากสำหรับใช้พูดมาตั้งแต่เกิด จะยกเว้นก็แต่คนที่โชคร้ายมากๆ ที่บังเอิญหูพิการ จนไม่มีความสามารถที่จะพูดได้เหมือนคนอื่น ที่น่าแปลกใจก็คือ ทั้งๆ ที่พวกเราพูดเป็นมาตั้งแต่เด็ก แต่เรากลับไม่สามารถพูดได้อย่างที่ใจต้องการ ในทางตรงกันข้าม มีหลายครั้งที่การพูดของเรากลับสร้างความสับสน ยุ่งยาก และบางครั้งทำให้เราต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก หรือ อับอาย

          ผู้ประพันธ์หนังสือเล่มนี้คือ ดร.ไต้ ซึ่งได้รับปริญญาตรีทางด้านวิทยุและโทรทัศน์ในไต้หวัน ต่อมาจึงไปจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน และ ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโอเรกอง เมื่อยังหนุ่มเขาเป็นคนไม่ชอบพูด จนทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเขาเป็นคนใบ้ เมื่อเขาเข้าเรียนในวิทยาลัยศิลปศาสตร์แล้ว อาจารย์ได้ทักว่าสำเนียงพูดของเขาไม่ดี ดังนั้นเขาจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงโดยการหัดออกเสียง และหัดพูด โดยเฉพาะหัดพูดในแบบแปลก คือพูดเรื่องต่างๆ แบบสดๆ นั่งรถเมล์ผ่านอะไรก็พูดเรื่องนั้นสดๆ จนผู้โดยสารเข้าใจว่าเขาคงจะวิปลาสไปเสียแล้ว

          คำแนะนำง่ายๆ สำหรับการจะเป็นคนพูดได้สนุกสนานก็คือการรวบรวมตัวอย่างคำคม และ เรื่องขำขันต่างๆ เอาไว้ จากนั้นก็หัดเล่าเรื่องขำขันเหล่านั้นให้เพื่อนฝูงฟัง

          ตัวอย่างที่ ดร. ไต้ นำมาเล่านั้นน่าสนใจศึกษามาก โดยเฉพาะกรณีที่ไม่ต้องพูด ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้

          "คุณปู่ผมจัดงานวันเกิดปีที่เก้าสิบ ผู้คนที่มาอวยพรวันเกิดพากันชมว่า คุณปู่มีสุขภาพแข็งแรง หน้าตายิ้มแย้ม สติแจ่มใส ไม่เหมือนคนอายุเก้าสิบเลย ในจำนวนนี้ก็มีคนถามว่า เคล็ดลับของการมีอายุยืนของคุณปู่คืออะไร?"
          "ผมจะเฉลยความลับให้ฟัง" คุณปู่พูดยิ้มๆ "เมื่อหกสิบห้าปีก่อนตอนผมแต่งงาน คืนแรกวิวาห์ผมทำความตกลงกับภรรยาว่า วันหลังถ้าพวกเรามีปากเสียงกัน พอพิสูจน์ว่าใครเป็นฝ่ายขาดเหตุผล คนนั้นต้องออกไปเดินเล่นที่ลานบ้าน ปรากฏว่าหกสิบปีมานี้ทะเลาะกันทีไร ผมเป็นคนออกไปเดินเล่นที่ลานบ้าน หรือเดินทอดน่องตามถนนทุกที"

          ดร. ไต้ กล่าวว่า "พูดจริงๆ มีผู้คนมากมายรู้จัก "ทะเลาะ" แต่ไม่แน่ว่าจะรู้จัก "พูดจา" โดยเฉพาะเวลาเถียงกันหน้าดำหน้าแดง ทำไมไม่ลองนึกว่าถ้าหากพูดน้อยสักสองสามคำ จะเห็นท้องฟ้าทะเลกว้าง"

          "คนที่ยิ่งชอบทะเลาะ ความรู้สึกนึกคิดยิ่งน้อย เพราะคนที่เอาแต่พูดหรือชวนทะเลาะไม่เลิก น้อยครั้งจะใช้ความคิด ฉะนั้นเมื่อคนๆ หนึ่งชอบใช้ "ปาก" วิพากษ์วิจารณ์หรือต่อล้อต่อเถียง คงจะไม่ชอบใช้ "หู" และ น้อยครั้งจะใช้ "ใจ" ใช้ "สมอง" ขบคิดใคร่ครวญ

          หนังสือเล่มนี้ได้ชี้ให้เห็นความจริงที่น้อยคนนักจะใคร่ครวญ "จริงซี มี "แรงกดดัน" จึงเกิด "พลังหนุนส่ง" เพราะมีความคัดค้าน โต้แย้ง ด่าทอ ดูถูก ตัวเองจึงมีความก้าวหน้า เกิดความมุมานะ เพราะฉะนั้นพวกเราควรที่จะเปลี่ยนมุมมองเสียใจ "ขอบคุณคุณที่ด่าผม" "ขอบคุณคุณที่วิพากษ์ผม" เพราะการ "ตำหนิ" และ "ติเตียน" ของพวกเขา ทำให้พวกเรามีโอกาส "ทบทวนหวนนึก" "ตรวจสอบตัวเอง" บางครั้งการที่พวกเขาคอย "กระตุกขา" ทำให้พวกเราเร่งสปีดฝีเท้าเร็วขึ้นจนก้าวสู่เส้นชัย"

          แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเกี่ยวกับเรื่องพูดเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีหลายเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรม โดยเฉพาะผมชอบอ่านตอนนี้มาก…

          นักวิชาการชื่อฉีฟุกวนเคยแต่งหนังสือชื่อ "ชีวิตการเล่าเรียนของข้าพเจ้า" และพูดถึงขั้นตอนของการ "เคาะประตูวิชาความรู้"

          คุณฉีสมัครเข้ารับราชการทหาร มียศถึงนายพลทหารบก มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาแต่งเครื่องแบบนายทหารไปเยี่ยมคำนับคุณสงสือลี่ เรียนถามว่าสมควรอ่านหนังสืออะไรดี คุณสงแนะนำให้เขาอ่านหนังสือเรื่องตู๋ทงเจี้ยนหลุนของหวังฟู ซึ่งแนะวิธีการอ่านให้แตกฉาน คุณฉีตอบว่าเขาอ่านแล้ว คุณสงพูดอย่างฉุนๆ ว่า "เธอยังอ่านไม่เข้าใจ กลับไปอ่านอีก"

          ผ่านไปสักระยะหนึ่ง คุณฉีไปหาคุณสงอีก บอกว่าอ่านหนังสือตู๋ทงเจียนหลุนอีกเที่ยวหนึ่งแล้ว คุณสงจึงถามว่า "เธอได้แง่คิดอะไรบ้าง?"

          คุณฉีจึงแจกแจงส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อวิจารณ์ของผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ออกมา ยังไม่ทันพูดจบ คุณสงก็ดุว่า

          "คนอย่างเธอดูหนังสือแตกฉานได้ยังไง? ไม่ว่าเนื้อหาของหนังสือเล่มไหนๆ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทำไมเธอไม่ดูส่วนที่ดี เอาแต่คุ้ยแคะข้อเสีย อ่านหนังสือแบบนี้ ต่อให้อ่านร้อยเล่มพันเล่ม ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร

          "อ่านหนังสือต้องอ่านส่วนที่ดีก่อน แล้วค่อยวิจารณ์ข้อเสีย อย่างนี้จึงเหมือนกับทานอาหาร เมื่อผ่านการย่อยสลาย ค่อยรับสารบำรุงต่อร่างกาย ยกตัวอย่างหนังสือตู่ทงเจี้ยนหลุนตอนนั้นมีความหมายแค่ไหน ต้อนนั้นลุ่มลึกเพียงใด"

          ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ไปหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องให้ศึกษาอีกมาก ดังนั้นจึงขอแนะนำให้คุณลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่าน หากอ่านแล้วนำแนวคิดไปปฏิบัติจริงก็จะได้ประโยชน์แน่นอน อย่างไรก็ตามขออย่าได้ลืมว่า ดร. ไต้ฝากบอกไว้ว่า

          "คนพูดมากไม่แน่เสมอไปว่าจะมีสมองดี ความจริงมักเป็นตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นมีสุภาษิตบทหนึ่งว่า "พูดมากสู้พูดน้อยดีกว่า พูดน้อยยังสู้พูดดีไม่ได้"

Back