Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

Home
IT Idea for Spiritization

เปิดโลกวิทยาศาสตร์ เล่ม 1 และ 2
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
เล่ม 1 ปี 2542 ราคา 90 บาท
เล่ม 2 ปี 2543 ราคา 150 บาท

          เมื่อสมัยผมเป็นเด็กอยู่นั้น ผมชอบอ่านหนังสือประเภทเกร็ดวิทยาศาสตร์ต่างๆ มาก เพราะไม่ต้องใช้เวลาอ่านนานมากนัก อ่านแล้วสนุก และได้ความรู้ดีด้วย แน่นอนครับ นักเขียนคนโปรดของผมก็เหมือนกับของบรรดานักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีรุ่นผมทั้งหลาย คือ คุณจันตรี ศิริบุญรอด ความจริงอาจกล่าวได้ว่าผมมีหนังสือของท่านผู้นี้ครบชุด แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีผู้หยิบยืมไปแสดงนิทรรศการบ้าง ฯลฯ ไม่ช้าก็เลยกระจัดกระจายไปหมด

          การเขียนหนังสือเกี่ยวกับเกร็ดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สนุกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยความสามารถทางด้านการเขียนมาก ต้องมีจินตนาการ ต้องสามารถเชื่อมโยงความรู้เรื่องหนึ่งไปยังเรื่องอื่นๆ แล้วหยิบความรู้เหล่านั้นมาร้อยเรียงกันให้อ่านได้เพลิดเพลิน ต้องกล่าวว่าการที่ผมพอจะมีความสามารถเขียนหนังสือออกมาให้อ่านกันได้หลายเรื่องนั้น อาจได้รับอิทธิพลมาจากนักเขียนรุ่นคุณจันตรีนี่แหละครับ

          หนังสือ เปิดโลกวิทยาศาสตร์ เล่ม 1 และ 2 ที่นำมาแนะนำในที่นี้เป็นผลงานของ สวทช. อันเป็นหน่วยงานที่ผมสังกัดอยู่เอง เมื่อนำหนังสือของคนกันเองมาวิจารณ์ จะว่ากล่าวให้ดุเดือดรุนแรงนักคงจะไม่ได้ แต่ไม่ต้องวิตกหรอกครับ เพราะหนังสือสองเล่มนี้ไม่มีอะไรที่จะต้องวิจารณ์ให้ดุเดือดมากขนาดนั้น

          หนังสือทั้งสองเล่มรวบรวมสารคดีขนาดสั้นทางด้านวิทยาศาสตร์เอาไว้มากมายเป็นร้อยๆ เรื่อง แต่ละเรื่องล้วนเป็นเนื้อหาที่เราอาจจะไม่เคยคิดถึงมาก่อนเลย หนังสือแต่ละเล่มเปิดด้วยเรื่องของสิบอันดับข่าวดังทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี การจัดอันดับนี้ทาง สวทช. ได้จัดทำมานานหลายปีแล้ว และได้รับความสนใจจากนักเรียน นักศึกษา ประชาชน เข้าร่วมจัดอันดับกันปีละเป็นจำนวนไม่น้อย แม้ข่าวบางข่าวที่ได้รับการจัดอันดับจะไม่เกี่ยวกับประเทศไทยโดยตรง แต่ก็ทำให้คนไทยได้มีโอกาสทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และสนใจวิทยาศาสตร์ขึ้นมาบ้าง

          เนื้อหาและข้อมูลที่นำมาจัดทำเป็นสารคดีสั้นในหนังสือทั้งสองเล่มนี้ มาจากศูนย์แห่งชาติทั้งสามของ สวทช. ได้แก่ เอ็มเทค ไบโอเทค และ เนคเทค ผู้รวบรวมข้อมูลและจัดทำเป็นสารคดีนอกจากเจ้าหน้าที่ของทาง สวทช. แล้วก็ยังมีคุณจุมพล เหมะคีรินทร์ และ คุณสาโรจน์ เกษมสุชโชติกุล แห่งนิตยสาร Update

          ตัวอย่างน่าสนใจจากเล่มที่ 1 ได้แก่ ชุดเครื่องมือตรวจสอบพันธุ์ข้าวสำเร็จรูป เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเซลล์ผิวหนัง ไหมละลายเมดอินไทยแลนด์ ท่อไอเสียเพื่อสิ่งแวดล้อม บ้านแสงอาทิตย์- บ้านหลังใหม่ยุคไอเอ็มเอฟ ไอทีเพื่อทุกชีวิตไทยในชนบท

          แต่ก่อนนี้ผมไม่กล้ารับประทานโยเกิรต เพราะมันเขละๆ น่ากลัวท้องเสีย แต่ที่ไหนได้โยเกิรตนั้นกลับช่วยให้ผู้ป่วยอาการท้องเสียฟื้นตัวเร็วขึ้น เพราะมีคุณสมบัติทางยาเนื่องจากจุลินทรีย์ที่ใช้ในการทำโยเกิรตสามารถสร้างกรดแล็กติกในลำไส้ได้ มีผลทำให้จุลินทรีย์ที่เป็นตัวร้ายทำให้ท้องเสียนั้นถูกยับยั้งการเจริญเติบโต

          หลายท่านคงทราบว่าผมเรียนมาทางด้านวิศวกรรมโยธา และวิชาหลักทางด้านนี้ก็คือการออกแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ในเล่ม 1 นั้นมีบทความอยู่เรื่องหนึ่งคือ คอนกรีตไม่เสริมเหล็กเส้น ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมากทำให้ผมต้องรีบพลิกอ่านเป็นอันดับแรกๆ แล้วก็พบว่าเป็นการผสมเส้นใยโลหะที่มีความยาวขนาด 13 มม. และ หนาเพียง 2 มม. เข้าไป ตามเนื้อหาบอกว่าคอนกรีตชนิดนี้เหนียวมาก ทำให้ไม่ต้องใส่เหล็กเสริม และจะทำให้การก่อสร้างง่ายขึ้นเพราะไม่ต้องเสียเวลาคำนวณ ตรงนี้ผมชักจะไม่แน่ใจเพราะไม่ว่าจะใช้วัสดุอะไรก็ต้องคำนวณความแข็งแรงของสิ่งก่อสร้างนั้นอยู่ดี ไม่เชื่อก็ลองคิดถึงเรือไทแทนนิกที่คนสร้างคิดว่าไม่มีวันจมบ้างสิครับ

          เชื่อหรือไม่ครับว่า ผมเคยเขียนเรื่องกวาวเครือมานานแล้ว เขียนทั้งๆ ที่ไม่ใช่นักเคมีหรือนักเภสัชนี่แหละครับ กล่าวคือผมไปพบเรื่องที่ฝรั่งเขาเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็เลยนำมาเขียนให้เยาวชนอ่านกันเมื่อสักยี่สิบปีก่อน ในหนังสือเล่ม 1 ก็มีกล่าวถึงเรื่องนี้ในฐานะที่กวาวเครือสามารถนำมาสกัดสารสำหรับช่วยเพิ่มขนาดหน้าอกสตรีได้ เรื่องนี้ อาจารย์ วิเชียร จีรวงส์ ราชบัณฑิตทางเภสัชศาสตร์ ท่านได้รับรองว่าเป็นจริง

          นั่นเป็นเพียงตัวอย่างเพียงไม่กี่เรื่อง แต่ไม่ใช่ว่าเรื่องอื่นๆ จะไม่น่าสนใจนะครับ ความจริงทุกเรื่องในเล่ม 1 และ 2 นั้นล้วนแล้วแต่น่าสนใจ ทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่นเรื่องการพบปูมะพร้าวกลางกรุงที่เขตประเวศ ก็เป็นการเล่าเรื่องปูเสฉวนชนิดที่พวกเราคงจะไม่เคยรู้จัก ผมเคยพบเห็นปูชนิดนี้ก็ในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ได้เห็นได้อ่านคำอธิบายที่แสดงแล้วก็รู้สึกทึ่งเป็นกำลัง เพราะใครเลยจะคิดว่ามีปูที่สามารถขึ้นต้นมะพร้าวไปเก็บมะพร้าวกินได้ แถมเป็นพันธุ์เดียวกับปูเสฉวนที่ไม่มีเปลือกเสียอีก

          ผมอยู่เอไอทีมานานหลายปี แม้เมื่อออกจากเอไอทีมาแล้วก็ยังคอยสดับตรับฟังเรื่องราวของเอไอทีอยู่ จึงรู้สึกแปลกใจมากที่ได้อ่านเรื่องว่าเอไอทีนั้นได้ลงทะเบียนฝังกล่องเวลา (Time capsule) กับสมาคมกล่องเวลาสากลไว้เป็นสถาบันแรกในไทย โดยได้ฝังกล่องเวลาอันแรกเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2542 ถึงตรงนี้ ผมชักไม่แน่ใจเรื่องปี เพราะหนังสือไม่ได้ระบุปีเอาไว้อย่างแน่ชัด ผมต้องเดาเอาจากปีของการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ความบกพร่องทำนองนี้เป็นธรรมดาของการรวบรวมบทความที่เคยอ่านออกอากาศหรือเคยพิมพ์แล้วมาจัดพิมพ์ใหม่ เพราะมักจะ "หลุด" ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะมักจะมองข้ามข้อเท็จจริงว่า หนังสือที่พิมพ์ออกมานั้นอาจจะมีคนอ่านต่อเนื่องไปหลายปี หากไม่เขียนวันเดือนปีเอาไว้ให้ชัดเจนแล้ว ก็จะทำให้เรื่องนั้นขาดข้อมูลอันดีสำหรับอ้างอิงไป

          ยุคนี้เราจะได้ยินเรื่องการทดลองแปลกๆ เช่น เอายีนของหิ่งห้อยมาผสมกับเซลล์ของต้นไม้ เอา เอายีนของมนุษย์ไปผสมกับยีนของวัวเพื่อให้นมวัวมีภูมิต้านทานเหมือนของมนุษย์ และนั่นคือเรื่องราวของ GMO หรือ Genetically Modified Organisms ซึ่งกำลังได้รับความสนใจมาก ทั้งจากผู้เป็นอุตสาหกรที่นำสาร GMO ไปผลิตอาหาร และทั้งจากผู้บริโภคที่กลัวผลลัพธ์ที่มองไม่เห็นจากการรับประทานอาหารที่มีสาร GMO

          ความจริงแล้วรอบๆ ตัวเรานั้นล้วนแล้วแต่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งนั้น แต่พวกเราก็ไม่ค่อยตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หากคนไทยให้ความสนใจมากขึ้นอีกสักหน่อย เราก็คงจะมีนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งมากๆ หลายคน เราคงจะมีองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ไม่แพ้ประเทศอื่น และเราก็คงจะสามารถใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาประเทศไทยให้ยิ่งใหญ่ได

Back