Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

Home
IT Idea for Spiritization

การศึกษาไทยในสถานการณ์โลก
สัญลักษณ์ เทียนถนอม บรรณาธิการ
สำนักพิมพ์มิติใหม่ พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2543

          เมื่อแรกเกิดนั้น คนเราไม่ได้มีความรู้อะไรติดตัวมาเลย ทารกรู้แต่เพียงว่าถ้าหิวหรือไม่สบายเนื้อสบายตัวก็จะต้องแผดเสียงร้องเพื่อเรียกความสนใจให้มีผู้ใหญ่มาช่วย ความรู้ที่เรามีติดตัวกันเมื่อเป็นผู้ใหญ่นั้นล้วนแต่ได้มาจากการสั่งสมความรู้และประสบการณ์เข้าไปในสมองตั้งแต่ยังเล็ก หากการศึกษาที่จัดไว้ให้เราไม่เหมาะสม เราก็จะไม่สามารถสั่งสมความรู้เอาไว้ถึงระดับที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ และนั่นคือสถานการณ์ของคนไทยในขณะนี้

          หากเราเป็นคนที่เห็นแก่ชาติบ้านเมือง เมื่อเรามองไปรอบๆ ตัว เราจะรู้สึกเศร้าใจที่พบเห็นการโกงกินของนักการเมืองจำนวนมาก คนพวกนี้นั่งในรถที่มีตำรวจนำ แม้เวลาที่จะไปเที่ยวไนท์คลับ คนพวกนี้คิดสร้างโครงการที่จะหาเงินผลประโยชน์กระเป๋า ทั้งๆ ที่ประเทศชาติกำลังยากจน และไม่มีเงินพอเพียงที่จะจ่ายหนี้สินของประเทศ เคยคิดบ้างหรือไม่ว่าเรามีคนประเภทนี้คอยบ่อนทำลายประเทศก็เพราะระบบการศึกษาของเราไม่ได้สอนให้คนเหล่านี้มีคุณธรรม แต่ชี้โพรงให้เอาเปรียบคนที่อ่อนแอกว่า สอนให้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อนำไปแลกเป็นเงินทองมาเข้ากระเป๋า

          มองไปรอบๆ ตัวสิครับ แล้วเราจะพบว่ามีสินค้าที่คนไทยสร้างหรือผลิตได้เองน้อยมาก สินค้าที่เราใช้ล้วนเป็นของต่างชาติแต่มาผลิตในไทยโดยอาศัยแรงงานราคาถูก เรามีคนที่ชอบแต่การลักขโมย และบังอาจขโมยเพชรของผู้นำมิตรประเทศ จนในที่สุดประเทศของเราต้องสูญเสียสัมพันธไมตรีอันดีและหมดโอกาสที่จะส่งคนงานไปทำงานที่ประเทศนั้น

          หากนักการศึกษาและนักการเมืองไทยจะเอาใจใส่ในเรื่องการศึกษาอย่างจริงจังมากกว่า การคิดโครงการซื้อคอมพิวเตอร์แจกโรงเรียนทีละหลายหมื่นเครื่อง แล้ว ประเทศไทยก็คงจะไม่ยากลำบากมากขนาดนี้

          ผมแปลกใจตัวเองที่ไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่แรกพิมพ์เมื่อพ.ศ. 2538 ทั้งนี้เพราะรายละเอียดของหนังสือเล่มนี้ น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจพวกเราได้ตั้งแต่ก่อนที่เศรษฐกิจจะเสื่อมถอย จนทำให้ประเทศชาติอับจน ไม่มีทางแก้ไขอย่างในขณะนี้

          หนังสือเล่มนี้นำคำบรรยายของนักคิดและนักการศึกษาชั้นนำหกท่านมาให้อ่านอย่างสะใจ เริ่มจาก ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ศาสตราจารย์ นพ. อารี วัลยะเสวี ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ดร. วิชัย ตันศิริ ศาสตราจารย์ ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต และ ศาสตราจารย์ นพ. ประเวศ วะสี

          ดร. เอกวิทย์ ท่านกล่าวไว้ตั้งแต่ก่อนเศรษฐกิจมีปัญหาว่า "…โลกนี้รวมกันเป็นหนึ่งเดียวในเรื่องเศรษฐกิจ หมายความว่า ทรัพยากรที่ใดในโลกนี้ จะต้องขุดเอาขึ้นมาใช้กันก่อน เพื่อความจำเริญทางเศรษฐกิจก่อน….ความจำเริญทางเศรษฐกิจที่จะเลี้ยงคน มันมีจุดว่า ใครใคร่รวย รวย ใครใคร่จนช่าง…มัน

          "ดังนั้นจึงมีการเอารัดเอาเปรียบเป็นระบบ ในนามของบริษัทข้ามชาติ ในนามของบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศที่เอาเปรียบ คนเล็กคนน้อยก็มี เอาเปรียบกันอย่างเป็นระบบ

          "ดังนั้น ศีลธรรมจรรยา เมตตาธรรมทั้งหลาย น้อยๆ หน่อย ช้าก่อนอย่าเพิ่งพูดมาก ข้ากำลังจะได้อำนาจและเงินตรงนี้ การเมืองก็ได้กระโดดผสมโรง เพราะฉะนั้นโลกาภิวัตน์ไร้พรมแดน คือการเอาเปรียบข้ามพรมแดนได้ ทรัพยากรในโลกนี้ ใครจะเอาไปใช้อยู่ที่ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีที่จะเอาไปใช้ อยู่ที่เงินทุนที่จะเอาไปใช้ อยู่ที่ความสามารถในการจัดการที่จะเอาไปใช้ ใครมือยาวสาวได้สาวเอา ขนานแท้และดั้งเดิม แต่ว่าในระดับโลกก็คือ ความหมายในโลกาภิวัตน์"

          ด้วยเหตุนี้เองเศรษฐกิจประเทศไทยถึงล่มจม และบริษัทต่างประเทศกำลังเข้ามาเขมือบ ท่านชี้ว่า "คนไทยที่ดี ต้องเป็นคนที่รู้ทั้งสองอย่าง หนึ่งคือเข้าใจโลกสมัยใหม่ ทันโลก เป็นภาษาอังกฤษ เป็นคอมพิวเตอร์ พร้อมกันนั้นเราต้องรู้ว่าเราเป็นใคร มีรากเหง้าพื้นเพมาอย่างไร ประเด็นมันอยู่ที่ว่าโลกสมัยใหม่ไฮเทค แล้วก็โลกาภิวัตน์นี่นะ เขาไม่แคร์อะไรทั้งสิ้น คนไม่รู้อะไรเลยเขาก็ไม่ว่า เหตุผลที่มาที่ไป เชื่อมโยงอะไรกันมาก็ไม่จำเป็นต้องรู้ ขอให้กดปุ่มให้ถูกได้สตางค์ใช้เท่านั้นเอง ขอให้ปรับตัวให้ถูกก็จะดำรงอยู่ได้ อย่าไปคิดหาเหตุผล หาปรัชญา อย่าหาตรรกะ ไม่สำคัญทั้งนั้น"

          เรื่องที่ท่านเอกวิทย์พูดยังมีอีกมาก แต่คราวนี้เรามาฟังท่านอาจารย์หมออารีดูบ้าง เรื่องที่ท่านหยิบมาพูดก็คือประเด็นเรื่องการเปลี่ยนรูปแบบของการสอน เพราะท่านรู้สึกว่าวิธีการสอนในปัจจุบันนั้นไม่ถูกต้อง ท่านบอกว่า "บทบาทของครูนี่ก็ต้องเปลี่ยน จากการเป็นคนป้อนข้อมูลอย่างเดียว มาเป็นผู้คอยตั้งประเด็น ให้เด็กเกิดความสนใจ มีฉันทะ อยากจะรู้ อยากรู้โน่น อยากรู้นี่ และจะต้องเป็นไปด้วยความสุข คล้ายๆ กับว่าเขามีส่วนร่วม"

          โดยที่ท่านเป็นคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านจึงเน้นในเรื่องการศึกษาของแพทย์เป็นพิเศษ และชี้ว่าการสอนแพทย์ให้รู้แต่เพียงเรื่องโรคนั้นยังไม่พอเพียง ต้องทำให้แพทย์เข้าใจปัจจัยที่เกี่วข้องกับสุขภาพทั้งหมด ต้องรู้ทั้งชีววิทยา จิตวิทยา สังคมวิทยา และข้อเท็จจริงทางเศรษฐศาสตร์ด้วย ท่านกล่าวว่า "ปัญญาคือ สามารถเอาก้อนของความรู้นี่ มาเกี่ยวเนื่อง มาโยงกัน มาโยงกันว่า เหตุปัจจัย เหตุปัจจัย เหตุปัจจัย มันถึงเกิดปัญญา แล้วปัญญานี่แหละนำมาสู่การแก้ปัญหา มีความรู้อย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ถึงจะแก้ก็แก้ในปัญหาที่ไม่สมบูรณ์"

          ท่านเสริมว่าการเรียนรู้ต้องเปลี่ยนไปว่า "…จะให้นักศึกษาเข้าใจก็ต้องนำปัญหามาศึกษา ให้เขาเรียนจากปัญหา นี่ย้อนกลับไปสู่ปัจจัยต่างๆ อันนี้ ยกตัวอย่างเพื่อจะได้เห็นภาพของการเรียนรู้

          "แล้วอันที่สองที่เป็นเหตุให้เราไม่มีทางเลือกเป็นอื่นเลย ก็คือสังคมของการเรียนรู้นี่ มันเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ มันจะไม่สามารถที่จะใช้สมองไปจดจำอะไรได้ เพราะฉะนั้นจะต้องเปลี่ยนลักษณะของการท่องจำมาเป็นการสร้างทักษะในการหยิบจับข้อมูลตรงไหน ที่ใด ข้อมูลอะไรที่สำคัญกว่าอะไร เอามาใช้"

          ท่านอาจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ต้องการชี้ว่าปัญหาของการศึกษาของไทยอยู่ที่ระบบ และจะต้องแก้ระบบอย่างฉลาดโดยอาศัยเอกชนเข้าช่วย "…ความคิดของผมที่มองการศึกษาในปัจจุบัน ว่าต้องเพิ่มคุณภาพให้ได้ ต้องทำให้โรงเรียนเข้มแข็งให้ได้ จะต้องพัฒนาครูยกระดับให้ได้ แล้วเปลี่ยนบทบาทการบริหาร โดยส่วนกลางทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดการสนับสนุนและการประสานงาน การปฏิบัติการใดๆ เป็นการเสร็จสิ้นสุดในระดับโรงเรียน หรือระบบโรงเรียนให้มากที่สุด"

          "เราขาดมาตรการส่งเสริมสนับสนุนอาชีพครู ถ้าไม่ทำตรงนี้ไม่มีทางแก้ ถือถ้าไม่กระจายอำนาจก็ไม่มีทางแก้"

          ท่านอาจารย์ เล่าถึงการพัฒนามหาวิทยาลัยสุรนารีค่อนข้างยาวโดยเน้นว่า "ผมอยากจะสร้างเชิงคุณภาพ โดยตั้งเป้าหมายเลยว่า อยากเห็นคนไทยรุ่นใหม่ที่มีความเป็นคนไทย แต่อยู่ร่วมโลกกับคนอื่นได้ รู้เรารู้เขา เราอยากจะเห็นนักเทคโนโลยี นักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ละทิ้งศิลปวัฒนธรรม เราอยากจะเห็นนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี ที่ไม่เป็นแต่เพียงผู้เสพ แต่เป็นผู้สร้างด้วย เพราะในการสอนของเราในส่วนมากให้เป็นผู้เสพหรือเป็นผู้บริโภคของที่สั่งจากนอก"

          นั่นเป็นความจริงที่สุด เพราะการที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเราไปไม่ถึงดวงดาวนั้นส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเราไม่เคยสอนให้เด็กของเรามีความคิดสร้างสรรค์ ไม่สอนให้ออกแบบ ไม่สอนให้ใช้มือ จนกระทั่งวิศวกรรุ่นใหม่ของเราก็ใช้มือไม่เป็น เอาแต่จะคิดนั่งโต๊ะในห้องติดแอร์เท่านั้น

          ดร. วิชัย ตันศิริ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ กล่าวเน้นในเรื่องของการศึกษาของชุมชน โดยกล่าวว่า "การศึกษาชุมชนนั้นเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาให้ชุมชนดีขึ้น ให้ยั่งยืน ไม่ได้มองเอกัตบุคคลอย่างนั้น แต่บุคคลต้องเป็นเอกัตบุคคล แต่มองว่าบุคคลเป็นสมาชิกของชุมชน

          "เอกัตบุคคลเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ถ้าเอกัตบุคคลไม่พัฒนา ชุมชนก็ไม่พัฒนา ในทำนองเดียวกัน ชุมชนไม่พัฒนาเอกัตบุคคลก็ไม่ได้รับการพัฒนา มันเป็นส่วนซึ่งกันและกัน"

          คำอธิบายนี้คงจะทำให้เรามองเห็นได้ชัดว่า เกิดอะไรขึ้นกับคนไทย คือระบบการศึกษาของเราแย่ไปหมดทุกด้าน เริ่มจากครูผู้สอนดังที่ ท่านอาจารย์ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ได้กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า "…ครูของเราไม่มีวิธีการหาความรู้ ปัญหาหลักมันอยู่ตรงนี้แหละ ครูสอนหนังสือ ครูไม่ได้สอนวิธีการหาความรู้ของเขา ครูสอนหนังสือไม่ได้สอนของจริง หนังสือแน่นอน คนก็สรุปเอามาจากหนังสือ แต่เราต้องรู้ว่า วิธีที่เขาสรุปมานั่นเป็นวิธีการอย่างไร มันถึงจะได้สอนเด็กตามนั้นได้"

          ท่านอาจารย์ ดร. สิปปนนท์ ได้สรุปว่า "สภาพของสังคมที่เปลี่ยนจากสังคมหนึ่งไปสู่สังคมหนึ่ง มันก็เป็นธรรมดาของการเปลี่ยนแปลง เราจะต้องค้นหาความพอดีของตัวเราให้ได้ ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนั้น

          "หลักๆ ก็มีอยู่สามอย่างคือ หนึ่งต้องให้คนเรียนรู้ตามศักยภาพของเขาให้เต็มความสามารถ
          "สองต้องพยายามเกื้อหนุนให้มีครอบครัวที่อบอุ่น มีสังคมที่เข้มแข็ง
          "สามต้องมีกำลังคนที่เป็นปึกแผ่น ใหญ่พอที่จะสืบเนื่องต่อเรื่องเป็นอย่างอื่นได้"

          ท่านสุดท้ายคือ ศ. นพ. ประเวศ วะสี นั้นได้นำสาระเรื่องยุทธศาสตร์ทางปัญญาแห่งชาติมาเสนอ โดยท่านได้กล่าวว่า ความเข้มแข็งทางปัญญาแห่งชาติเกิดจากลักษณะ 5 ประการ คือ

  • สติปัญญาของคนทั้งหมด
  • โครงสร้างทางสมอง
  • กระบวนการเรียนรู้ที่สร้างความเข้มแข็งทางปัญญา
  • การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
  • ความสามารถในการสร้างความรู้ใหม่"
          จากระบบปัญญาแห่งชาติข้างต้นนี้ ท่านอาจารย์ได้ชี้ให้เห็นยุทธศาสตร์ทางปัญญา 8 ประการคือ
  • ยุทธศาสตร์ทางญาณวิทยา
  • ยุทธศาสตร์ครอบครัว
  • ยุทธศาสตร์เครือข่ายการเรียนรู้ของชุมชน
  • ยุทธศาสตร์ปฏิรูปการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษา
  • ยุทธศาสตร์การเรียนรู้ในองค์กรและบทบาทของกองทัพ
  • ยุทธศาสตร์สื่อสารมวลชน
  • ยุทธศาสตร์การวิจัย
  • ยุทธศาสตร์การจัดการเพื่อความเข้มแข็งทางปัญญา"

          แนวความคิดของท่านอาจารย์หมอประเวศนั้นมีความลึกซึ้งมาก และได้พิจารณาองค์ประกอบต่างๆ ขึ้นมาเป็นยุทธศาสตร์อย่างรอบคอบและถี่ถ้วน สมควรที่จะต้องศึกษาอย่างละเอียด

          สาระต่างๆ ที่ผู้รวบรวมได้นำมาอัดไว้ในหนังสือเล่มนี้ต้องกล่าวว่ามีค่ายิ่งกว่าราคาของหนังสือ นอกจากนั้นยิ่งเราอ่านบ่อยครั้งเท่าใด เราก็ยิ่งมีความเข้าใจในโลกรอบตัวเรามากขึ้น ในด้านหนึ่งเราอาจจะรู้สึกเศร้าที่เห็นประเทศไทยตกต่ำทางด้านการศึกษา เพราะความโง่เขลาของผู้บริหารการศึกษา ที่ไม่ได้เปิดหูเปิดตามองความเป็นไปของโลก แต่อีกด้านหนึ่งเราก็ต้องภูมิใจที่เมืองไทย ยังมีนักปราชญ์ทางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่อยู่อีกหลายท่าน และท่านได้ถ่ายทอดเรื่องความคิดอันล้ำค่าให้เราได้ศึกษาดังมีส่วนหนึ่งปรากฎในหนังสือเล่มนี้

Back