Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

Home
IT Idea for Spiritization

เพลินเพื่อรู้
ศ. ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ผู้บันทึกประสบการณ์
บริษัท พี เพรส จำกัด 2542      174 หน้า ราคา 120 บาท

          คำว่า เพลิน ในหนังสือที่อาจารย์ชัยอนันต์เขียนในช่วงสองปีนี้เป็นคำพิเศษที่อาจารย์คิดขึ้นเองจากคำว่า Play + Learn จึงกลายเป็น Plearn หรือคือเพลินนั่นเอง

          เหตุผลที่คิดคำนี้ขึ้นก็เพราะอาจารย์มองเห็นว่าการเรียนทุกวันนี้เป็นเรื่องน่าเบื่อ หากจะทำไม่ให้น่าเบื่อก็ต้องเปลี่ยนเป็นการเล่น และคนไทยก็ใช้คำว่าเล่นในเรื่องมากมายหลายอย่าง เช่น เล่นสแตมป์ เล่นการเมือง คำว่าเล่นที่ใช้กันอยู่นั้นความจริงแล้วเป็นเรื่องที่จริงจังมาก ด้วยเหตุนี้เมื่อนำเอาคำว่าเล่นมาใช้กับการเรียนก็จะเหมาะกว่า และจะทำให้เพลิดเพลินได้

          แนวคิดของอาจารย์ชัยอนันต์นั้นน่าสนใจมาก และอาจจะเป็นแนวทางที่จะช่วยปฏิวัติให้การเรียนรู้ของเด็กไทยได้ผลดีมากขึ้น ลงท้ายคนไทยก็คงจะเก่งมากขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็เป็นได้

          หนังสือนี้เปิดด้วยการบอกเล่าความปรารถนาของอาจารย์ว่าต้องการปรับเปลี่ยนกระบวนการศึกษาให้เป็นกิจกรรมที่เด็กๆ มีความสุข เพลิดเพลิน แทนที่จะเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความทุกข์ ความเครียด ความเบื่อหน่าย อาจารย์เห็นว่าการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้นั้น มีประเด็นพิจารณาสามประเด็นคือ ทำไมจึงต้องมีการปฏิรูปการเรียนรู้ อะไรเป็นเรื่องที่ต้องปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และ จะทำอย่างไรจึงจะปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ให้สำเร็จได้ตามเป้าหมาย ผมคิดว่าอาจารย์ถามประเด็นเหล่านี้ได้ถูกแล้ว แต่ก็ยังเหลืออีกคำถามหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญเหมือนกัน นั่นก็คือ ใครจะเป็นผู้ดำเนินการปฏิรูป

          อาจารย์ชัยอนันต์เห็นว่า สาเหตุที่ทำให้เราต้องปฏิรูปการเรียนรู้ก็เพราะมีอุปสรรคและข้อจำกัดของระบบการศึกษา 10 ประการคือ

  • ระบบการศึกษาปัจจุบันแบ่งเด็กเป็นระดับต่างๆ ไม่ได้คละกัน
  • หลักสูตรและตำราที่ใช้บังคับทั่วประเทศมีลักษณะเป็นระบบรวมศูนย์
  • มีการจัดแบ่งเวลาโดยอาศัยตารางการสอนรายวิชาสลับกันไป
  • มีการวัดและประเมินผลโดยเน้นการสอบตัวความรู้มากกว่าที่จะนำทักษะการรู้และทักษะชีวิตมาพิจารณาด้วย
  • เป็นระบบที่มุ่งสู่การคัดบุคคลจำนวนน้อยเข้าสู่ชั้นสูงของการศึกษา คือมีฐานกว้างแต่ปลายแคบ
  • การจัดแบ่งตัวความรู้ มีการกระจายตัวออก ขาดการเชื่อมโยงและบูรณาการ
  • ใช้ระยะเวลายาวนานคือ 12 ปี และอีก 4 ปี ในมหาวิทยาลัย
  • เน้นกระบวนการสอนแบบสั่งมากจนเกินไปและไม่เข้าใจว่ากระบวนการเรียนรู้แบบเด็กเป็นศูนย์กลาง คืออะไร จะทำได้อย่างไร ในเรื่องใดบ้าง การสอนน่าเบื่อไม่สนุกเพลิดเพลิน
  • ผู้สำเร็จการศึกษามีคุณภาพและความสามารถต่ำ
  • ขาดความเข้าใจในความหมายของคำว่า "ยุทธศาสตร์"

          อาจารย์ชัยอนันต์ได้อธิบายต่อไปว่า "การรู้ของมนุษย์เรามีหลายขั้นตอน หลายระดับ และในระยะเวลาหนึ่งการรั้วความรู้ต่างๆ มาจากการสอน การแนะ การทำให้เห็น การมีประสบการณ์โดยตรงโดยไม่มีการสอน ไม่มีการแนะ การดูแบบอย่างและเอาอย่าง ดังนั้น การสอน (teaching) จึงเป็นวิธีการหนึ่งในหลายๆ วิธีที่มนุษย์เราใช้ในการรู้ เพื่อเข้าถึงตัวความรู้ การสอนจึงเป็นส่วนหนึ่งของการรู้ (knowing)"

          อาจารย์เห็นว่าการรู้กับความรู้นั้นไม่เหมือนกันทีเดียว แต่เกี่ยวกันเสริมกัน และต้องมีอยู่ควบคู่กันไปเสมอ แนวคิดของอาจารย์ในลักษณะนี้คล้ายกับที่ท่านอาจารย์ดร.สิปปนนท์ เกตุทัตเคยเสนอเป็นความเห็นไว้ว่า เราควรแยกระหว่างองค์ความรู้กับกระบวนการหาความรู้ออกจากกัน และต้องให้ความสำคัญต่อกระบวนการหาความรู้มากกว่าองค์ความรู้

          เรื่องที่กำลังกล่าวถึงนี้ค่อนข้างซับซ้อน และหนักไปทางด้านทฤษฎี ผมเองเห็นพ้องกับอาจารย์ชัยอนันต์มากกว่า เพราะเห็นว่าทั้งการหาความรู้และองค์ความรู้จะต้องไปด้วยกัน

          ในการเสาะแสวงหาความรู้นั้น อาจารย์ชัยอนันต์เห็นว่าทั้งครูและเด็กจะต้องมีทักษะสำคัญสามอย่างคือ

  • ทักษะทางภาษา (ทั้งไทยและอังกฤษ)
  • ทักษะทางการคิด
  • ทักษะทางการใช้คอมพิวเตอร์

          ในด้านการปฏิรูปการศึกษาให้เด็กเรียนได้ด้วยความเพลิดเพลินนั้น อาจารย์ชัยอนันต์ให้ความเห็นว่า "การเรียนรู้ที่เพลิดเพลิน เหมือนกับการจุดไฟ และเมื่อไฟติดแล้ว ความเพลิดเพลินก็เหมือนลมที่พัดไม่ให้ไฟมอดดับ เพราะไฟนั้นติดในหัวใจเด็กแล้ว แต่การเรียนรู้ที่น่าเบื่อนั้นเหมือนกับ การเติมน้ำลงในแก้วหรือในถัง ความรู้ที่ครูเติมให้เด็กจนเต็มล้นปรี่ออกมา ย่อมสู้ไฟที่ลุกอยู่ตลอดไม่ได้" และ "การเรียนรู้ที่เพลิดเพลิน คือ การเปิดโอกาสให้เด็ก คิดเอง สร้างเอง โดยมีครูร่วมชี้แนะ" อีกนัยหนึ่งก็คือใช้หลักการ Constructionism ซึ่ง เซย์มัวร์ พาเพิรต อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาแห่งเอ็มไอทีเป็นผู้คิดขึ้น และทาง โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ได้นำหลักการนี้มาฝึกอบรมให้อาจารย์ของโรงเรียนนำไปใช้กับเด็กๆ

          ภาคสองของหนังสือเล่มนี้จึงเป็นการเล่าประสบการณ์ของการนำแนวคิดใหม่นี้มาใช้ที่โรงเรียน โดยอาจารย์รวม 8 ท่านได้มาถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้สึกในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนจากวิธีเดิมมาเป็นการสอนให้นักเรียนคิด และ ทำด้วยตนเอง ประสบการณ์แต่ละเรื่องนั้นน่าสนใจมาก มีทั้งการสอนภาษาอังกฤษให้นักเรียนสนุก แต่ก็ล้มเหลวเพราะนักเรียนไม่สามารถจำคำศัพท์อะไรได้มากนัก นี่แสดงให้เห็นว่าการนำแนวคิดใหม่ๆ มาใช้นั้นจำเป็นจะต้องศึกษาให้เข้าใจ และอาจจะต้องลงมือทดลองว่าใช้ได้จริงหรือไม่ การสอนเรื่องต่างๆ ไม่ได้ล้มเหลวไปหมด เพราะส่วนมากก็ทำให้เด็กได้รับความเพลิดเพลินตรงตามที่อาจารย์ชัยอนันต์อยากเห็น

          กล่าวโดยรวม ผมเห็นว่าหนังสือเล่มนี้น่าอ่านมาก เราจะได้เห็นความพยายามของอาจารย์ชัยอนันต์ ที่ปัจจุบันหันมาใช้ชีวิตคิดค้นหาแนวทางที่จะปรับปรุงสถานศึกษาเก่าของท่าน ให้สามารถผลิตนักเรียนที่มีความสามารถ และทำอะไรๆ เป็นจริงๆ ผมคิดว่าพวกเราต้องเอาใจช่วยท่าน และถึงผมจะไม่ได้มาจากวชิราวุธ ผมก็อยากเห็นโรงเรียนแห่งนี้ เป็นโรงเรียนตัวอย่างในด้านการเรียนรู้อย่างเพลิดเพลิน สำหรับเด็กๆ ในอนาคต

Back