เมืองนิยม : เมืองของไทย คือบ้านของเรา
ศ. ดร. เอนก เหล่าธรรทัศน์ เขียน
ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง มหาวิทยาลัยรังสิต 2559
ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปเดินชมเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบ่อยมาก. แต่ละครั้งที่ไปถึงแต่ละเมือง ก็ได้มีโอกาสไปพบท่านเจ้าเมือง คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือถ้าท่านไม่อยู่ ท่านก็มอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ต้อนรับแทน. การไปเยี่ยมแต่ละเมืองนั้น ผมไม่ได้ไปในฐานะนักท่องเที่ยว แต่ไปนฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสอบทานว่าแต่ละจังหวัดได้ดำเนินการต่างๆอย่างถูกต้องเรียบร้อยดีหรือไม่. ในช่วงเวลานั้นผมจึงได้รับรู้การปฏิบัติงานของจังหวัดต่างๆ ค่อนข้างมาก. ในการพบปะแต่ละครั้ง ผมก็ได้รับข่าวสารที่เป็นประโยชน์แต่ทว่าน่าแปลกใจว่า ท่านเจ้าเมืองและรองเจ้าเมืองเหล่านี้ ไม่สามารถจะพัฒนาจังหวัดที่ท่านเป็นอยู่ให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างที่ท่านคิดฝันเลย. ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะระบบบริหารที่เป็นอยู่ในปัจจุบันล้วนแล้วแต่เป็นการสั่งการมาจากกรมต่างๆในส่วนกลางแทบทั้งสิ้น. งบประมาณที่แต่ละจังหวัดได้รับสำหรับใช้จ่ายนั้นมีน้อยมากที่เป็นเรื่องการพัฒนาจังหวัด. งบประมาณส่วนใหญ่คือ งบใช้สอยสำหรับสำนักงานจังหวัด ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสำนักงานของผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น. จังหวัดมีงบประมาณพิเศษสำหรับการแก้ปัญหาภัยพิบัติและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ. แต่ผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่สามารถใช้งบประมาณก้อนนี้ในการป้องกันภัยพิบัติล่วงหน้า. ผู้ว่าฯ ต้องรอให้ภัยพิบัติเกิดก่อน จึงจะใช้งบประมาณก้อนนี้ได้. นอกจากนั้นแล้ว ในยุคที่มีการเลือกตั้งก่อนหน้าจะมี คสช นั้น งบประมาณที่กำหนดให้ใช้เพื่อการพัฒนากลุ่มจังหวัดยังถูก สส ในจังหวัดใช้อำนาจข่มขู่เอาไปปู้ยี่ปู้ยำเกือบทั้งหมดด้วย.
เรื่องเหล่านี้ ผมจะเล่าอย่างไรก็ไม่มีวันทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายๆ ต้องอาศัยปรมาจารย์ด้านนี้ อย่าง ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ช่วยอธิบาย ดังปรากฏเป็นเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้.
แนวคิดหลักของ ดร. เอนก ก็คือ การบริหารเมืองต้องเปลี่ยนไปจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง โดยต้องเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจังหวัดไปเป็นการบริหารเชิงพื้นที่โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดควรจะมาจากการเลือกตั้ง และ มีอำนาจ (พร้อมงบประมาณ) ที่จะพัฒนาจังหวัดของตนได้อย่างอิสระ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีกรอบบางอย่าง เช่น การมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการประชุมมอบหมายแนวคิดให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด และติดตามการดำเนินงานทุกเดือน เสมือนหนึ่งที่นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ครม ทุกสัปดาห์นั่นเอง.
ความจริงแล้ว หนังสือเล่มนี้ได้เสนอแนะแนวคิดที่เป็นทางเลือกไว้หลายทาง แต่ละทางที่เสนอไว้อาจวกวนบ้าง เพราะเรื่องที่นำมาลงนั้น เป็นเรื่องที่ ดร เอนกไปบรรยายต่างวาระกันหลายแห่ง. ผมจะไม่สรุปแนวทางเหล่านี้ในที่นี้ เพราะอยากให้ท่านที่สนใจไปหาอ่านเอาเอง.
เรื่องที่ผมอยากเห็นก็คือ การบริหารประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงไปให้ความสำคัญต่อเมืองหรือจังหวัดต่างๆ เพื่อให้พ่อเมือง, เจ้าเมือง, หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถขับเคลื่อนงานทั้งหมดของจังหวัดได้เอง ไม่ใช่เป็นแต่เพียงผู้ประสานงานคนของกรมที่เข้าไปอยู่ในจังหวัดเท่านั้น. ถ้าหากเราเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้อย่างที่ ดร เอนก เสนอแนะ จะทำให้เมืองหรือจังหวัดต่างๆ ของไทย เจริญผิดหูผิดตากว่าในปัจจุบันไปได้อีกหลายเท่านั่นเทียว. นอกจากนั้น ยังจะทำให้คนในแต่ละจังหวัดมีความภาคภูมิใจ รักท้องถิ่น และอยู่สร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองได้มากขึ้น.
ผมไม่แน่ใจว่า มหาวิทยาลัยรังสิต ได้กระจายหนังสือเล่มนี้ไปวางในร้านจำหน่ายหนังสือที่ไหนบ้าง. ถ้าท่านหาอ่านไม่ได้ ก็อาจติดต่อไปที่ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต โทรศัพท์ 02 938 8826.
|