Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

Home
IT Idea for Spiritization

ธรรมเพื่อความสวัสดี
พระธรรมนิพนธ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก


            เวลาที่เราอ่านหนังสือธรรมะแล้วไม่ค่อยเข้าใจนั้น ปัญหาอาจจะเกิดจากการใช้ศัพท์บาลีในภาษาไทย. ผมพบว่าธรรมะทั่วๆ ไปที่เราได้เรียนมาแต่เด็ก เช่น เบ็ญจศีล, ธรรมเป็นโลกบาล (หิริ, โอตตัปปะ), เมตตา, กรุณา เหล่านี้ สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก. แต่การศึกษาพระพุทธศาสนาในระดับที่ลึกซึ้งมากยิ่งกว่านี้มักจะมีปัญหาสำคัญอยู่ที่คำศัพท์. คนไทยนำคำศัพท์จำนวนมากในภาษาบาลีมาใช้เป็นคำทั่วๆไปในชีวิตประจำวัน เช่น สงสาร, วัฏ, ปฏิบัติ, ธาตุ, สามเณร, โยคี, อารมณ์, อุตตริ. ปรากฏว่าความหมายของคำหลายคำที่นำมาใช้นั้น ได้เปลี่ยนแปลงไปจากความหมายแท้ๆในทางศาสนา. ดังนั้น เมื่อเราได้ฟังธรรม หรือ อ่านหนังสือธรรมะแล้วพบคำเหล่านี้ เราก็อาจจะคิดว่ามีความหมายเดียวกันกับที่ใช้ในภาษาไทย ทำให้ความเข้าใจหลักธรรมนั้นคลาดเคลื่อนไปจากหลักธรรมที่พระพุทธองค์สอน. คิดดูแล้ว บางทีฝรั่งที่สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาและอ่านตำราภาษาอังกฤษปนภาษาบาลี อาจจะเข้าใจเรื่องราวพร้อมความหมายของพระพุทธศาสนาได้ง่ายกว่าและมากกว่าคนไทย เนื่องจากไม่ต้องสับสนระหว่างคำที่ใช้ในความหมายทั่วไปกับคำที่ใช้ตามหลักธรรม.

            สมเด็จพระญาณสังวรฯ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่องต่างๆเอาไว้มากมาย ดังที่ได้มีผู้รวบรวมพิมพ์เผยแพร่มาโดยตลอดแล้ว. ธรรมนิพนธ์ของพระองค์ท่านนั้นน่าสนใจในเชิงความรู้ที่ลึกซึ้งมาก แต่กระนั้นก็ไม่ยากเกินกว่าจะเข้าใจตามได้. ที่เป็นเช่นนี้เพราะพระองค์ท่านได้ทรงให้ความหมายของคำภาษาบาลีเอาไว้เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจตรงกัน.

            หนังสือเรื่อง ธรรมเพื่อความสวัสดี ชีวิตนี้สำคัญนัก เล่มนี้ได้รวมพระนิพนธ์ของสมเด็จพระญาณสังวรฯ เอาไว้หลายเรื่องด้วยกัน. พระนิพนธ์แต่ละเรื่องได้ให้ความหมายของคำต่างๆ ให้ผู้อ่านเข้าใจลึกซึ้งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้ได้รับรสพระธรรมอันลึกซึ้งมากขึ้นด้วย. ขอยกตัวอย่างเช่น เวลาเราสวดพระพุทธมนต์ เช่นบท อิติปิโส จบแล้ว พระท่านสอนให้เราแผ่เมตตา โดยเริ่มที่แผ่เมตตาให้ตนเองก่อน แล้วจึงแผ่เมตตาให้แก่สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนร่วมโลก. คำถามคือ แผ่เมตตาด้วยการท่องบทสวดแค่นั้นพอแล้ว หรือยังจะต้องทำอะไรอีก. ในเรื่องนี้ สมเด็จพระสังฆราช ได้ทรงให้แนวคิดว่า

           “ผู้ได้รับผลกรรมที่ร้ายแรง มีปรากฏให้รู้ให้เห็นอยู่เป็นอันมาก ยังให้เกิดความสลดสังเวชยิ่งนักแก่ผู้รู้ผู้เห็น

            อันความสลดหดหู่เศร้างหมองใจ แม้จะเกิดด้วยจิตมีเมตตา แต่ก็ไม่ใช่ความถูกต้องดีงาม ความถูกต้องอยู่ที่ความมีจิตใจสงบสบายผ่องใสเยือกเย็น

            ฉะนั้น จึงไม่ควรยินดีพอใจในจิตที่เศร้าหมองด้วยความรู้สึกเมตตาสงสารด้วยคิดว่าตนเป็นผู้มีเมตตา ผู้มีปัญญาไม่พึงยินดีในลักษณะจิตเช่นนั้น

           “ ผู้ใดมีจิตที่สงบสบาย ผ่องใสเยือกเย็นอยู่ได้ แม้เมื่อพบกับผู้เผชิญกรรมร้ายแรงทุกข์ทรมานหนักหนา มิได้แสดงว่าผู้นั้นเป็นผู้ปราศจากเมตตา

           “ ความเมตตาตนเองอย่างถูกต้อง มีความสำคัญมิได้น้อยกว่าความเมตตาทั้งหลายอื่น

           “ ความเมตตาตนเอง คือความระวังรักษาจิตของตนให้มีความสุขสงบ ความผ่องใสไกลจากความทุกข์ความร้อนอันเกิดจากอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง.”

            หนังสือเล่มนี้หนาไม่มาก แต่บรรจุไปด้วยคำอธิบายเรื่องต่างๆ ที่ลึกซึ้งและมีคุณค่าต่อการที่จะมีชีวิตเพื่อความสวัสดีมากทีเดียว. ผมขอเชิญชวนให้เพื่อนๆ หาหนังสือเล่มนี้และหนังสือเล่มอื่นๆ ของพระองค์ท่านมาศึกษาเพื่อใช้เป็นหลักปฏิบัติสำหรับก้าวไปสู่ความเป็นผู้มีสติรักษาตนให้มีธรรมะทุกอิริยาบถโดยทั่วกัน.

 

 

Back