Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

Home
IT Idea for Spiritization

ส่องทางภาวนา พระราชสุเมธาจารย์ แปลและเรียบเรียงโดย ธมฺมาทินฺนโท ภิกขุ
ครรชิต มาลัยวงศ์


            หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือแปลและเรียบเรียงจากเรื่อง Mindfulness: The Path to the Deathless ซึ่งเป็นธรรมบรรยายที่หลวงพ่อสุเมโธ แสดงไว้นานแล้ว. หลวงพ่อสุเมโธเกิด ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๗๗ ที่ซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา ต่อมาท่านได้เดินทางมายังประเทศไทยและอุปสมบทที่หนองคายในปี ๒๕๑๐ จากนั้นได้ไปเป็นศิษย์หลวงปู่ชาที่วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี. ท่านได้ศึกษาปฏิบัติอยู่กับหลวงปู่ชานาน ๑๐ ปี จึงได้รับเชิญจากประธานมูลนิธิสงฆ์แห่งประเทศอังกฤษให้ไปประเทศอังกฤษ. ต่อจากนั้นหลวงปู่ชาได้สนับสนุนให้ท่านตั้งสำนักสงฆ์ และ วัดในประเทศอังกฤษ. เรื่องราวเหล่านี้ท่านได้เคยเล่าไว้แล้วในหนังสือเล่มอื่น.

           สำหรับหนังสือเล่มนี้ ได้รวบรวมคำสอนของท่านเอาไว้หลายเรื่องโดยเรียบเรียงเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนการปฏิบัติ, ความหมายของสมาธิภาวนา, การทำอานาปานสติภาวนา, การบริกรรมพุทโธ, การเจริญสติกับสิ่งธรรมดาสามัญ, การพิจารณานิวรณ์, ความว่าง และ การเฝ้าระวังภายใน. คำสอนของท่านเป็นแบบง่ายๆ แต่ตรงกับความคิดและพฤติกรรมของคนตะวันตก ซึ่ง หลายเรื่องนั้นตรงกับความคิดของคนไทยยุคใหม่ด้วย. ตรงนี้ทำให้เรื่องที่ท่านสอนนั้นมีมุมมองที่แตกต่างไปจากมุมมองที่พระอาจารย์ไทยหลายท่านสอนอยู่.

           ท่านสุเมโธ บอกเราว่า “...ความไม่เที่ยงเป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งได้อย่างชัดเจน ด้วยการเปืดใจออกเพื่อเฝ้าดู และ ระลึกรู้ถึงสภาวะที่สิ่งทั้งหลายเป็นอยู่ตามจริง. ความไม่เที่ยงไม่ใช่เรื่องของการคิดวิเคราะห์สิ่งต่างๆโดยการด่วนสรุปว่าสิ่งทั้งหลายควรต้องมีแนวทางที่ตายตัว. แต่เมื่อไม่เป็นดังนั้น ก็พยายามหาทางคิดให้ออกว่า ทำไมมันถึงไม่เป็นไปตามที่เราคิดว่ามันควรจะเป็น. สำหรับการปฏิบัติเพื่อให้เห็นตามที่เป็นจริงนั้น ต้องไม่พยายามวิเคราะห์เอาเอง หรือแม้แต่พยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งทั้งหลายให้ตรงตามความอยากของเรา. การปฏิบัติแบบนี้ ให้เพียงเฝ้าสังเกตอย่างอดทน จนเห็นว่าสิ่งใดเกิดขึ้นสิ่งนั้นย่อมดับไป ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม.”

           “...การมีสติรู้เท่าทัน และ การตื่นตัว ไม่ใช่เรื่องของการเข้าไปเป็นสภาวะนั้น แต่เป็นการรู้อยู่กับสภาวะนั้น. ดังนั้น ขอให้เราเฝ้าสังเกตสภาวะตามที่เป็นจริงในขณะปัจจุบัน. แทนที่จะดิ้นรนทำอะไรบางอย่างในขณะนี้ เพื่อจะได้กลายไปเป็นผู้มีสติรู้เท่าทันในอนาคต ให้สังเกตร่างกายตามที่เป็นอยู่จริงๆ ซึ่งกำลังนั่งอยู่ในขณะนี้. มันล้วนแต่เป็นของธรรมชาติไม่ใช่หรือ? ร่างกายของมนุษย์เป็นสมบัติของผืนโลก จำเป็นต้องได้รับการหล่อเลี้ยงจากสิ่งที่เกิดจากผืนโลก. เราไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่บนอากาศได้ หรือ นำอาหารมาจากดาวอังคารดาวศุกร์ได้. ต้องบริโภคสิ่งที่มีชีวิตและเจริญเติบโตบนโลกนี้.”

            “ในการปฏิบัติธรรม เรายังต้องสังเกตความไม่น่าพึงพอใจ จากความรู้สึกรู้ทางประสาทสัมผัสนี้ด้วย. ให้ลองสังเกตในชีวิตจริงของเราเอง ที่เราคาดหวังจะได้รับความรู้สึกพึงพอใจ จากสิ่งเสพบริโภค หรือจากการได้เสพบริโภค. เรามีสิทธิได้รับความพอใจ หรือ อาจเป็นความยินดีเพียงชั่วคราวเท่านั้นเอง. มีความสุดได้เพียงชั่วครู่ จากนั้นก็ต้องแปรเปลี่ยนไป. ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจาก ไม่มีลักษณะที่ยืนยันแสดงให้เห็ฯได้เลยว่า สภาพที่รับรู้ทางประสาทสัมผัส มีคุณสมบัติที่เอาแน่นอนได้ หรือมีแก่นสารสาระที่ยั่งยืนคงทน.”

            “วิธีฝึกก็คือ ไม่ว่าจะล้มเหลว หรือใจจะเริ่มคิดฟุ้งซ่านไปอีกกี่ครั้ง ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ. ให้สังเกตเพียงแต่ว่า ฟุ้งซ่านอยู่ หรือ กำลังคิดอะไรอยู่ หรือไม่อยากจะยุ่งยากลำบากกับคำบริกรรม “พุทโธ” โดยคิดว่า “ไม่อยากจะปฏิบัติแบบนั้น เพียงอยากจะนั่งที่นี่เฉยๆ ให้ผ่อนคลาย ไม่อยากออกเรี่ยวแรงอะไรทั้งนั้น ไม่อยากรู้สึกว่าต้องทำอะไร” หรือจะมีเรื่องอื่นๆมากมายในใจขณะนี้ ทีค่อย ๆ ทยอยเกิดขึ้นให้รับรู้ ก็ให้เพียงแต่สังเกตตามนั้น. สังเกตว่ามีอารมณ์แบบไหนอยู่ในใจขณะนี้ โดยไม่ต้องไปตำหนิติเตียนวิพากษ์วิจารณ์หรือท้อแท้หมดกำลังใจ. เพียงแต่ให้สังเกตอย่างสงบและเยือกเย็น. ถึงจะสงบก็ตาม ถึงจะหดหู่หรือง่วงเหงาหาวนอนก็ตาม ถึงจะคิดไม่รู้จักหยุดจักหย่อนอยู่ตลอดเวลานี้ก็ตาม หรือ ถึงจะมีสมาธิได้ก็ตาม ก็เพียงแต่ให้รู้ไว้เท่านั้น.”

           “การเจริญสติในแบบวิปัสสนาภาวนา คือการเปิดใจยอมรับ ไม่พุ่งเป้าหมายไปที่จุดเดียวเท่านั้นอีกต่อไป. แต่ให้สังเกตอย่างลึกซึ้งชัดเจน พร้อมทั้งพิจารณาสภาวะทั้งหลายที่ผ่านมาผ่านไป และ ความเงียบสงบของจิตขณะที่มีความว่างอยู่. การปฏิบัติแบบนี้จึงเกี่ยวเนื่องกับการปล่อยวางอารมณ์ ไม่ยึดติดกับอารมณ์ไหนเป็นพิเศษ. สังเกตแต่เพียงว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นย่อมดับไป. การปฏิบัติแบบนี้คือการฝึกสมาธิเพื่อการรู้เห็นที่แจ่มแจ้ง หรือ การเจริญวิปัสสนา.”

           หนังสือเล่มนี้มีขนาด ๑๖ หน้ายก หนาเพียง ๑๑๒ หน้าเท่านั้น แต่ไม่มีขาย. หากใครสนใจคงจะต้องสอบถามไปที่วัดป่านานาชาติ, ตำบลบุ่งหวาย, อำเภอวารินชำราบ. จังหวัดอุบลราชธานี ๓๔๓๑๐.

 

 

Back