Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

Home
IT Idea for Spiritization

จีนเป็ง
ครรชิต มาลัยวงศ์


            เมื่อผมเป็นเด็กจนกระทั่งโตเป็นหนุ่มแล้วนั้น ผมก็ได้เห็นชื่อของ จีนเป็ง ในหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยครั้งมาก. จากหนังสือพิมพ์เหล่านั้น ผมได้รู้จักแต่เพียงว่าเขาเป็นหัวหน้าของกลุ่มกองโจรจีนที่สู้รบอยู่ทางภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะที่สะเดา และ เบตง. เมื่อสิบกว่าปีก่อน ในช่วงที่ยังไม่เกิดปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้นั้น ผมเคยไปเที่ยวเบตง และ ได้ไปดูอุโมงค์ที่นักรบจีนขุดลงในในเนินเขาเพื่อใช้เป็นฐานบัญชาการในแบบเดียวกับที่ผมเคยเห็นที่นอกกรุงโฮจิมินห์. ตอนนั้น ผมก็นึกถึงชื่อจีนเป็งขึ้นมาได้เหมือนกัน และคิดไปว่าเขาคงจะเป็นหัวหน้านักรบที่อาศัยสถานที่นี้บัญชาการ.

            เมื่อผมมาพบหนังสือชื่อ จีนเป็ง ซึ่งแปลและเรียบเรียงโดย ธันว์รวี ผมจึงไม่รีรอที่จะซื้อหนังสือนี้มาอ่าน. หนังสือนี้มีชื่อรองว่า “ประวัติศาสตร์คู่ขนาน เรื่องเล่าเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา” เขียนโดยจีนเป็งเองเมื่อปี ๒๕๔๖. ธันว์รวีแปลเมื่อปี ๒๕๔๗ แต่สำนักพิมพ์ ๖ ตุลารำลึก ได้นำมาพิมพ์ในปี ๒๕๕๗. จึนเป็ง อธิบายว่า เขาเขียนหนังสือเล่มนี้โดยอาศัยอ้างอิงจากเอกสารต่างๆเกี่ยวกับการประกาศภาวะฉุกเฉินในมลายาที่เก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุคิว และ ห้องสมุดโรดส์เฮ้าส์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด รวมทั้งจากความทรงจำของเขาเองในฐานะที่เขาได้เกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายามาตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง. การที่เขาได้เข้าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่สมัยก่อนที่ญี่ปุ่นบุกมลายา, ช่วงที่ญี่ปุ่นยึดครอง, ช่วงที่อังกฤษกลับเข้ามาปกครองเป็นเจ้าอาณานิคม, และ ช่วงที่อังกฤษยอมให้มลายาได้รับเอกราชเป็นประเทศมาเลเซียนั้น ทำให้เขาได้พบเห็นเรื่องราวต่างๆ มากมาย แต่การบันทึกเป็นเอกสารและการนำมาเขียนเป็นประวัติศาสตร์ของมาเลเซียนั้นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง. ด้วยเหตุนี้เองเขาจึงต้องศึกษาเอกสารเหล่านั้น แล้วเขียนรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เขาพบเห็นขึ้นมาใหม่.

           จีนเป็งอธิบายว่า “...หนังสือนี้ไม่ใช่ประวัติของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ผมเองก็ไม่อยากอ้างว่าหนังสือเล่มนี้ประมวลเรื่องราวในช่วงการประกาศภาวะฉุกเฉินไว้ค่อนข้างครบถ้วน หากแต่เป็นเพียงบันทึกการเดินทางของชายคนหนึ่งที่เลือกเดินบนเส้นทางที่แตกต่างเพื่อสานฝันที่มีต่อประเทศของตน”

           อันที่จริงแล้วการเขียนหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้น ในช่วงต้นปี ๒๕๔๓ เมื่อ เอียน วอร์ด นักเขียนของหนังสือพิมพ์ เดอะเดลี่เทเลกราฟ ในกรุงลอนดอน ได้ติดต่อกับจีนเป็งเพื่อขอทราบรายละเอียดและข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินการของจีนเป็งในอดีต. การสนทนากันทำให้เกิดโครงการเขียนหนังสือเล่มนี้ และ ผู้เป็นนักเขียนและบรรณาธิการก็คือ นอร์มา มิราฟลอร์ ผู้เป็นภรรยาของวอร์ด. จีนเป็งได้สรุปในคำนำของเขาว่า “ผมได้ต่อสู้ในศึกสงครามสองครั้ง และป่าเขาคือบ้านของผมนานหลายปี หนังสือเล่มนี้มิได้ทำขึ้นเพื่อเป็นการโอ้อวดหรือขอขมาแต่อย่างใด หากเป็ฯคำเชิญชวนเพื่อให้เข้าใจว่าความเชื่อก่อรูปได้อย่างไร ความขัดแย้งเริ่มต้นและดำรงอยู่ได้อย่างไร นอกจากนี้ยังให้แง่คิดว่าสามารถบรรลุสันติภาพได้อย่างไรด้วย.”

            จีนเป็ง เป็นนามจัดตั้งของ อ๋องบุนหัว ซึ่งเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ ที่เมืองสิเดียวัน รัฐเปรัก. ครอบครัวของเขาประกอบอาชีพช่างซ่อมจักรยานและเครื่องยนต์. เขาเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน และ เป็นผู้สนับสนุนกลุ่มชาวจีนในการต่อต้านญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาขับไล่อังกฤษและยึดครองมลายา. เขาได้ศึกษาแนวคิดลัทธิมารกซ์อย่างจริงจัง และ ได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ในปี ๒๔๘๓ โดยใช้ชื่อจัดตั้งว่า จีนเป็ง หรือ เฉินผิง ในภาษาจีนกลาง. จากนั้นเขาก็ตัดสินใจหนีออกจากบ้านไปใช้ชีวิตเป็นนักปฏิวัติเมื่อมีอายุเพียง ๑๖ ปี. ระหว่างที่เขาเข้าร่วมกับกองกำลังในชนบทท้องถิ่นนั้น บรรดานักปฏิวัติระดับหัวหน้าขึ้นไปก็มีอันถูกจับกุมตัวหรือถูกฆ่าตาย ทำให้เขาก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับหัวหน้า และได้มีโอกาสเข้าร่วมกับฝ่ายอังกฤษที่ต้องการกลับเข้ามาขับไล่ญี่ปุ่นและยึดครองมลายาอีกครั้ง. การร่วมมือนี้ เป็นเพียงการพยายามช่วยเหลือลักลอบนำคนของอังกฤษขึ้นฝั่งจากเรือดำน้ำและหลบหลีกด่านของญี่ปุ่นไปฝังตัวลึกในป่าทึบ, การจัดหาข่าวและการซุกซ่อนอาวุธ. งานที่ทางอังกฤษมุ่งหวังจะทำจริงในช่วงสงครามคือการยกพลขึ้นบกเพื่อเข้าขับไล่ทหารญี่ปุ่น. แต่งานนี้ก็ไม่ได้ทำ เพราะญี่ปุ่นยอมแพ้เสียก่อน. หลังจากนั้น จีนเป็งและสหายหลายคนก็ได้รับเหรียญกล้าหาญ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่เขาไม่ไปรับ.

            ระหว่างที่ช่วยอังกฤษในการต่อต้านญี่ปุ่นนั้น จุดมุ่งหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าของจีนเป็งและสหายทั้งมวลก็คือการทำให้มลายาเป็นเอกราชจากอังกฤษ และแน่นอนว่าจะต้องเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์. ดังนั้นช่วงที่เป็นญาติดีกับอังกฤษจึงมีสั้นมาก เพราะจีนเป็งก็ต้องเร่งระดมผู้สนับสนุนมาจัดตั้งเป็นกองกำลังทั่วประเทศเพื่อรอเวลาเข้ายึดการปกครองจากอังกฤษ. แนวคิดและความพยายามของจีนเป็งนั้นมุ่งไปที่การใช้อาวุธเข้าต่อสู้ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะกลุ่มกองกำลังมีจำนวนคนน้อย ด้อยทั้งอาวุธ และ เงินทุน. ดังนั้น การต่อสู้จึงล้มเหลว และ จีนเป็งรวมทั้งกรรมการพรรคจึงตกลงเปลี่ยนวิธีที่จะหันไปใช้วิธีการต่อสู้ทางการเมือง. จีนเป็งเดินทางไปเวียตนามในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ยที่สหรัฐอเมริกาถือเป็นการจุดชนวนให้อเมริกาเข้าสู่สงครามเวียตนาม. ต่อมาเขาก็เดินทางไปจีนเพื่อพบผู้นำจีนในช่วงก่อนเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม. จีนเป็งได้รับคำมั่นจากเติ้งเสี่ยวผิงว่าจะช่วยให้เงินอุดหนุนในการกลับมาสู้รบใหม่. แต่ช่วงนั้น พรรคคอมมิวนิสต์มลายาก็เริ่มแตกสลายและเกิดปัญหา ดังนั้นการพยายามกลับมาสู้รบใหม่จึงไม่ประสบความสำเร็จอีก. การสู้รบครั้งใหม่นี้ ได้เข้ามาเกี่ยวพันกับพื้นที่ทางภาคใต้ของไทย ดังที่เราได้ยินชื่อเรียกกลุ่มโจรจีนว่า จคม. หรือ โจรก่อการร้ายคอมมิวนิสต์. ในที่สุดแล้ว กลุ่ม จคม ก็พบว่าตนเองตกอยู่ภายในสถานการณ์ที่ไม่มีทางชนะ เพราะทางหนึ่งก็คือมาเลเซียที่รุกขึ้นมาจากทางด้านใต้ และ ทางการไทยที่ปราบลงมาจากด้านบน. ดังนั้นในที่สุดจึงมีการเจรจาเพื่อยุติปัญหาต่างๆ โดยไทยยินยอมให้กลุ่ม จคม พำนักอยู่ในประเทศไทยได้ เพราะกลุ่มเหล่านี้เป็นคนเชื้อสายจีนที่ทางมาเลเซียไม่ต้อนรับ. มาเลเซีย ประกาศว่าจะยอมรับให้คนเหล่านี้กลับประเทศได้ต่อเมื่อยอมลงนามรับสารภาพผิดก่อน. แน่นอน จีนเป็งและสหายไม่ยอมทำเช่นนั้น เพราะพวกเขาถือว่า การต่อสู้ของเขานั้นเป็นเรื่องของอุดมการณ์ไม่ใช่การก่อการร้าย. ที่สุดแล้ว ทางการไทยก็อนุญาตให้กลุ่มคนเหล่านี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในหมู่บ้าน สันติสุข ๑, ๒, ๓ และ ๔ ซึ่งต่อมาได้รับประราชทานนามว่า หมู่บ้านจุฬาภรณ์ ๙, ๑๐, ๑๑ และ ๑๒.

           จีนเป็ง พำนักอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้มีโอกาสกลับไปยังบ้านเกิดที่มาเลเซียอีกเลย. เขาถึงแก่กรรมเมื่อ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๖ และ มีพิธีศพที่วัดธาตุทอง ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๒ กันยายน ตามด้วย พิธีฌาปนกิจในวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๖.

           ผมพบว่าบันทึกการเดินทางของจีนเป็งได้ทำให้ผมทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆมากมาย ทั้งที่เกิดในประเทศและในต่างประเทศ. ผมได้เข้าใจท่าทีและวิธีการทำงานของประเทศตะวันตกและประเทศจีนในอดีตหลายเรื่องด้วยกัน. เรื่องราวเหล่านี้ทำให้ผมเข้าใจเรื่องราวในประวัติศาสตร์ได้หลายส่วนด้วยกัน. อันที่จริงแล้ว การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมพบความจริงที่น่าตกใจว่า ประวัติศาสตร์ที่บันทึกอย่างเป็นทางการในหลายๆ เรื่องนั้น อาจจะไม่ถูกต้อง และอาจไม่มีทางทราบเลยว่าเรื่องราวที่แท้จริงเป็นอย่างไร. นอกเสียจาก จะมีคนอย่างจีนเป็งที่กล้าจะเขียนบันทึกบอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เหล่านั้นออกมาได้อย่างซื่อตรงและกล้าหาญ.

 

 

Back