การประพฤติผิดจรรยาวิชาชีพวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้จัดพิมพ์หนังสือชื่อ จรรยาวิชาชีพวิจัยและแนวทางปฏิบัติ ออกมาเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2554. หนังสือนี้มีขนาด 16 หน้ายก และ หนาเพียง 80 หน้าเท่านั้น. ภายในเล่มบรรจุไว้ด้วยหัวข้อจรรยาวิชาชีพวิจัยและแนวทางปฏิบัติที่ดีเอาไว้มากมาย.
หนังสือนี้เริ่มต้นด้วยการให้คำนิยามต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากคำด้วยกัน. ขอยกตัวอย่างเพียงสองคำ คือ...
การวิจัย (Research) หมายถึง การศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ความจริง อย่างมีระบบ ตามระเบียบแบบแผนและวิธีการวิจัยที่เป็นที่ยอมรับในแต่ละศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ใหม่ที่ตอบคำถามหรือปัญหาที่ตนสนใจ หรือได้ข้อค้นพบใหม่ หรือแนวทางปฏิบัติใหม่ ที่ใช้แก้ปัญหา ปรับปรุง และ พัฒนากิจกรรมต่างๆ หรือเพื่อการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ หรือ เพื่อนำไปตั้งกฎ ทฤษฎี ที่อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้อย่างน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับทางวิชาการและวิชาชีพของประชาคมวิจัย.
จรรยาวิชาชีพวิจัย (Research code of conduct) หมายถึง ประมวลหลักความประพฤติปฏิบัติที่แสดงถึงมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standards of work performance) และ ความมีจริยธรรมการวิจัย (Research ethics) เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียง และ ฐานะของความเป็นนักวิจัยในสาขาวิชาชีพของตน
ต่อจากนั้นเป็นบทต่างๆ คือ จรรยาวิชาชีพของนักวิจัยและนวทางปฏิบัติ, จรรยาวิชาชีพในการทำวิจัย และ แนวทางปฏิบัติ, แนวทางปฏิบัติของนักวิจัยต่อผู้อื่นและหน่วยงาน, แนวทางปฏิบัติของบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย และ การประพฤติผิดจรรยาวิชาชีพวิจัย.
เมื่อดูเนื้อหาแล้วจะพบว่ามีเรื่องสำคัญอยุ่ห้าส่วน คือ เรื่องของนักวิจัยเอง, การทำวิจัย, การปฏิบัติต่อผู้อื่น, การปฏิบัติของหน่วยงาน และ สุดท้ายคือการประพฤติผิด. แนวทางปฏิบัติในแต่ละบทมีมากด้วยกัน และ อาจเป็นไปได้ว่านักวิจัยไทยจำนวนมากไม่ได้รู้มาก่อน. ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะ ในเนื้อหาวิชาการทำวิจัยที่ปรากฏอยู่ในหลักสูตรทุกระดับปริญญาของมหาวิทยาลัยทั้งหลายนั้น ไม่ได้มีเรื่องนี้อยู่ด้วย. การสอนวิชาว่าด้วยการทำวิจัย ก็เน้นแต่เรื่องของประเภทงานวิจัย, การตั้งสมมุติฐาน, การเก็บตัวอย่าง, การคำนวณสถิติ, ฯลฯ. นักศึกษาก็เรียนเนื้อหาไปอย่างนั้นเอง และ ส่วนใหญ่แม้จะสอบวิชานี้ผ่านแล้วก็ยังไม่รู้เรื่องงานวิจัยอยู่ดี. ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่จะกล่าวว่า นักวิจัยไทยจำนวนมากเวลานี้ยังขาดจริยธรรมในการทำวิจัย.
ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะผู้เขียนได้อ่านและประเมินทั้งข้อเสนองานวิจัย, รายงานความก้าวหน้างานวิจัย รวมทั้งรายงานวิจัย มามากมาย. นอกจากนั้น ยังได้รับฟังและให้ข้อเสนอแนะการทำวิจัยแก่นักวิจัยจำนวนมาก เพื่อให้นักวิจัยทำงานได้อย่างถูกต้องและมีจริยธรรมการวิจัย. ผู้เขียนพบว่า นักวิจัยหน้าใหม่ๆในช่วงหลังๆ นี้ ไม่ได้มีความเป็นนักวิจัยมืออาชีพ. การเขียนเอกสารต่างๆ ก็อ่านไม่รู้เรื่อง, การอ้างอิงก็คัดลอกกันต่อๆมาโดยไม่ได้อ่านต้นฉบับเอกสารเอง, การจัดทำรายงานความก้าวหน้าก็ไม่เปิดเผยรายละเอียดที่จำเป็นต้องให้ผู้ประเมินทราบว่านักวิจัยดำเนินการไปอย่างถูกต้อง. ด้วยเหตุนี้เอง การที่ผู้บริหารประเทศกำลังปฏิรูประบบวิจัย และ พยายามจะให้เกิดงานวิจัยเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาสินค้าต่างๆนั้น น่าจะเป็นความพยายามที่สูญเปล่า.
การที่งานวิจัยของไทยไม่มีคุณภาพหรือไม่ก้าวหน้าพอที่จะนำไปใช้หรือเอาไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเพื่อการแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้นั้น มีสาเหตุมากมายหลายอย่าง คือ
- นักวิจัยหน้าใหม่ส่วนใหญ่เป็นนักวิจัยที่ inbreeding คือ เรียนรู้จากอาจารย์ที่มีความรู้จำกัด (เพราะทำวิจัยมาจำกัดและน้อย) และ เมื่อจบการศึกษาไปแล้วก็ไปสอนด้วยความรู้ที่จำกัดยิ่งขึ้น.
- นักวิจัยไม่ทราบปัญหาหลักๆของประเทศ จึงไม่สามารถทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ.
- นักวิจัยเกิดในช่วงเป็นนักศึกษา และได้หัวข้อวิทยานิพนธ์ที่คับแคบ เช่น การวางแผนไอทีของบริษัท XYZ, กลยุทธ์การขายของบริษัท ABC, การทำแอปพลิเกชั่นสำหรับสอนวิชา DEF, สมรรถนะของผู้บริหารเขตการศึกษา กขค, เส้นทางลอจิสติกส์ในจังหวัด กกก, เมื่อทำได้เพียงแค่เนื้อหาเล็กๆ เหล่านี้ จะไปคาดหวังให้มหาวิทยาลัยมีงานวิจัยที่แก้ไขปัญหาระดับประเทศ, ระดับโลก หรือ สร้างองค์ความรู้ให้แก่สาขานั้นๆ ได้อย่างไร?
- อาจารย์ที่ปรึกษาไม่มีเวลาพอที่จะกำกับดูแลให้นักศึกษาทำวิจัยอย่างถูกต้อง. นักศึกษาก็มักจะไปจ้างบุคคลอื่นทำวิจัยให้ หรือ แม้กระทั่งเขียนเป็นเล่ม รวมทั้งทำแฟ้มนำเสนอมาให้ใช้ในการสอบปากเปล่าด้วยซ้ำไป.
- นักวิจัยส่วนมากไม่ถนัดในการเขียนรายงานวิจัยที่อ่านแล้วรู้เรื่อง เพราะความสามารถในการเขียนของนักศึกษาถูกทำลายไปตั้งแต่เป็นนักเรียนชั้นประถมแล้ว.
ความจริงเราสามารถกล่าวถึงปัญหาการทำวิจัยของนักวิจัยไทยได้อีกมากมาย แต่จะขอหยุดไว้เพียงแค่นี้. เรื่องที่อยากฝากก็คือ ขอให้นักศึกษาและนักวิจัยมีจริยธรรมในการทำวิจัยอย่างจริงจังมากขึ้น. ท่านพุทธทาสพูดกับคนไทยเสมอว่า ศีลธรรมจงกลับมา ฉันใด ผู้เขียนก็อยากพูดกับนักวิจัยว่า จริยธรรมวิจัยจงกลับมา ฉันนั้น.
ในการศึกษาเรื่องจริยธรรมวิชาชีพวิจัยนี้ ถ้าหากท่านหาหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ ก็อาจจะสืบค้นเรื่องนี้จากเว็บไซต์ของสภาวิจัยได้เพราะสภาวิจัยแห่งชาติได้เผยแพร่เรื่องนี้อยู่นานแล้ว.
|