Seminars
 
IT Idea for Spiritization

 การฝึกสติ

         ผมเป็นคนที่มีปัญหาเรื่องหลง ๆ ลืม ๆ อยู่เป็นประจำ   บางครั้งวางกำหนดการประชุมไว้ในห้องหนึ่งแผ่นเพื่อจะเตรียมนำไปเข้าประชุม   พอได้เวลาเข้าประชุมก็เดินไปเข้าห้องประชุมเลย  ไม่ได้หยิบกำหนดการประชุมไปด้วย   นั่นคือลืมหยิบไปด้วยทั้ง ๆ ที่บอกตัวเองไว้ล่วงหน้าแล้วว่าอย่าลืม    บางครั้งก็ไม่ลืมที่จะหยิบ  แต่ลืมไปว่าเอาไปวางไว้ที่ไหน  เป็นอันว่าต้องไปเข้าประชุมมือเปล่าอีกเหมือนกัน    เพื่อกันไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องนี้  ผมจึงต้องสั่งให้เลขาเตรียมเอกสารให้ก่อนไปประชุม  แต่ก็เกิดเรื่องได้อีกเหมือนกันคือบางครั้งเลขาของผมเองก็ยุ่งอยู่กับการรับโทรศัพท์หรืองานอื่น ๆ จนลืมหยิบเอกสารการประชุมส่งให้ผม

            ปัญหาเรื่องการหลง ๆ ลืม ๆ นี้เป็นธรรมชาติของคนส่วนมาก   อีกนัยหนึ่งก็คือเป็นปัญหาเรื่องการขาดสตินั่นเอง

            มีเรื่องเล่าของนิกายเซ็นเรื่องหนึ่งที่ชี้ให้เห็นความหมายของสติได้ดี   เรื่องมีอยู่ว่า  ท่านอาจารย์เซ็นผู้หนึ่งได้ปฏิบัติธรรม ฝึกสมาธิ  และขบคิดใคร่ครวญปัญหาธรรม (โกอันจนคิดว่าตนเองเข้าใจธรรมะเป็นอย่างดีแล้ว   วันหนึ่งท่านจึงได้เดินทางไปหาท่านอาจารย์เซ็นผู้เฒ่าอีกท่านหนึ่งเพื่อจะได้สนทนาธรรมกัน   เมื่อท่านไปกราบท่านอาจารย์เซ็นผู้เฒ่าแล้ว   ท่านอาจารย์เฒ่าก็ถามว่า  เมื่อตอนที่ท่านเข้ามาในห้องนั้นได้วางร่มไว้ทางด้านซ้ายมือหรือขวามือของรองเท้า   ท่านอาจารย์เซ็นผู้เดินทางมาเยี่ยมเยือนตอบไม่ได้และตระหนักทันทีว่าท่านยังขาดสติอยู่  จึงรีบกราบลาท่านอาจารย์เฒ่าเพื่อกลับไปฝึกสติต่อไป

            คนไทยจำนวนมากก็ได้รับการสั่งสอนให้ฝึกสติเป็นประจำอยู่แล้ว  แต่พวกเรามักจะไปเน้นการฝึกสติระหว่างการเข้าปฏิบัติธรรมในวัด  หรือระหว่างการไปฝึกวิปัสสนากรรมฐาน   โดยเฉพาะก็คือการฝึกสติปัฏฐาน   น่าเสียดายที่หลายคนฝึกสติเฉพาะในช่วงที่เข้ากรรมฐานเท่านั้น  ไม่ได้ฝึกสติเป็นประจำทั้ง ๆ ที่พระสูตรเรื่องมหาสติปัฏฐานนั้นหากอ่านให้ดีแล้วก็จะพบว่าเป็นเรื่องของการฝึกสติในชีวิตประจำวันนี่เอง

            เมื่อเป็นเช่นนี้ผมจึงเห็นว่าการสอนของพระในนิกายเซ็นนั้นเน้นเรื่องการฝึกสติในชีวิตประจำวันมากยิ่งกว่าทางนิกายเถรวาทของเรา  

            อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะนำมากล่าวถึงก็คือหนังสือเรื่อง  ปาฏิหารย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ

            หนังสือเล่มนี้ท่านผู้แต่งเป็นพระภิกษุชาวเวียดนาม ชื่อ ติช นัท ฮันต์   ท่านผู้นี้นิพนธ์หนังสือไว้หลายเล่ม  และมีผู้แปลเป็นภาษาไทยไว้หลายเล่มแล้วเช่นกัน  เล่มที่กล่าวถึงชื่อมานี้ท่านได้แต่งไว้ตั้งแต่สมัยที่ยังมีสงครามเวียดนามอยู่ และท่านต้องยุ่งเกี่ยวกับการสั่งสอนชาวเวียดนามให้คลายจากความระทมทุกข์

            เคล็ดลับของการตื่นอยู่เสมอก็คือการมีสติทุกอิริยาบถนั่นเอง  

            อีกนัยหนึ่งการที่เราหลง ๆ ลืม ๆ จำไม่ได้ว่าทำอะไรไปบ้าง  จำไม่ได้ว่าวางกระดาษเอกสารไว้ที่ไหน   วางร่มไว้ที่ไหน  ก็คือการที่เราอยู่ในความหลับใหล  ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองบ้าง  ไม่รู้ว่าตนเองทำอะไร  พูดอะไร  คิดอะไร  และนั่นทำให้เกิดปัญหาอันใหญ่หลวงแก่ตนเอง

            การป้องกันความหลงลืมของตนเองนั้นทำได้หลายวิธี  เช่น การจัดระบบงานของตนเองให้เป็นระเบียบ  หนังสือเข้าที่ยังไม่ได้อ่านพิจารณา  หนังสือที่สั่งการแล้ว  หนังสือที่จะต้องตอบ  หนังสือเชิญประชุม  รายงานการประชุม ฯลฯ เหล่านี้หากจัดให้เป็นระบบได้แล้ว  เราก็ไม่ต้องพะวงว่านำเอกสารเรื่องนั้น ๆ ไปวางไว้ที่ไหน  หากต้องการหาเมื่อใดก็สามารถค้นหาได้ง่ายขึ้นโดยการระลึกว่าได้ทำอะไรกับเอกสารนั้นบ้างแล้วหรือไม่  จากนั้นก็ค้นหาจากกลุ่มเอกสารที่จัดระบบไว้ได้ทันที

            อีกวิธีหนึ่งก็คือการทำรายการตรวจสอบ หรือ Check List  ที่สำคัญ ๆ ของตนเองไว้  ยกตัวอย่างเช่น ในการที่จะต้องเดินทางไปตรวจเยี่ยมสาขา  เราจะต้องนำสิ่งใดไปบ้าง ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง  เราก็จัดเตรียมรายการไว้ล่วงหน้า  เมื่อถึงเวลาก็ตรวจว่าได้นำสิ่งที่ต้องการไปให้ครบถ้วน

            อย่างไรก็ตาม  แม้จะทำงานอย่างมีระบบก็แล้ว  จัดเอกสารอย่างมีระบบก็แล้ว  เราก็ยังอาจจะมีอาการหลงลืมได้อีกเหมือนกัน  นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้ใส่ใจกับงานเฉพาะหน้า  เช่นทำงานอย่างหนึ่งอยู่แท้ ๆ แต่กลับไปคิดถึงงานอื่น หรือนึกถึงนัดหมายอื่น ๆ  ดังนั้นสติจึงไม่ได้จับอยู่กับงานที่กำลังทำอยู่   เมื่อเอาเอกสารไปวางไว้ ณ จุดที่ไม่ควรจะวางโดยตัวเองไม่รู้ตัวเสียแล้ว  เมื่อต้องการจะได้เอกสารมาพิจารณาอีกก็จำไม่ได้ว่านำไปวางไว้ที่ไหน

            วิธีแก้ไขปัญหานี้ก็คือจะต้องพยายามเอาใจใส่กับงานที่ทำอยู่ตลอดเวลา  อย่าพยายามทำงานหลายงานพร้อมกัน   คำแนะนำนี้ค่อนข้างจะปฏิบัติได้ยาก  เพราะทุกวันนี้มีเครื่องมือที่ช่วยให้เราขาดสติได้หลายอย่าง   ขณะทำงานเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่และมีผู้โทรศัพท์เข้ามา  เราก็จำเป็นจะต้องรับโทรศัพท์   นั่นจะทำให้เราเผลอและขาดสติไปจากงานที่ทำอยู่ไปชั่วขณะ   เมื่อเราตอบโทรศัพท์แล้วเราอาจจะครุ่นคิดถึงเรื่องที่พูดทางโทรศัพท์จนลืมเรื่องที่กำลังทำอยู่เฉพาะหน้าก็ได้   เพื่อแก้ปัญหานี้  ขอแนะนำให้ท่านมีกระดาษหรือสมุดจดโน้ตวางไว้ใกล้มือ  เมื่อรับโทรศัพท์แล้วให้พิจารณาว่าเป็นเรื่องสำคัญหรือไม่  หากสำคัญก็ให้รีบสนทนาและบันทึกการสนทนานั้นไว้คร่าว ๆ  เพื่อไม่ให้ลืมเรื่องสำคัญนั้น   หากไม่สำคัญมากนักแต่จำเป็นจะต้องสนทนาด้วยก็ให้ถามหมายเลขโทรศัพท์แล้วจดไว้เพื่อจะได้เรียกกลับไปสนทนาเรื่องนี้ในภายหลัง  จากนั้นก็หันกลับมาสนใจเรื่องที่ยังค้างอยู่โดยสติที่จดจ่อกับเรื่องเดิมนั้นยังไม่ทันขาดหายไปมากนัก

            การฝึกฝนสติให้จดจ่อกับงานต่าง ๆ ที่ทำอยู่นั้นเป็นเรื่องจำเป็นมาก  ทุกวันนี้พวกเราหลายคนอาจจะเสียนิสัย หรือถ้าจะพูดให้ถูกก็คือสร้างนิสัยผิด ๆ มาตั้งแต่เด็ก  นั่นก็คือเปิดเพลงฟังไปด้วยอ่านตำราไปด้วย  หรือเปิดโทรทัศน์พร้อมกับทำการบ้าน  การทำเช่นนี้นักจิตวิทยาบอกว่าดีเป็นการผ่อนคลาย  แต่ผมว่าไม่ดีเพราะทำให้ตัวเราเองไม่ค่อยมีสมาธิกับงานที่กำลังทำอยู่   ผลงานที่ทำไม่ค่อยมีคุณภาพ  หากเป็นการอ่านตำราก็จะจำเนื้อหาไม่ใคร่ได้   ดังนั้นจึงขอแนะนำว่าอย่าสร้างนิสัยในอันที่จะทำให้ขาดสติเช่นนี้  หากต้องการฟังเพลงก็ไม่ต้องทำอย่างอื่น  ให้ตั้งหน้าตั้งตาฟังเพลงให้ซาบซึ้งถึงสุนทรียรสของเพลงนั้นโดยไม่ต้องทำงานอื่นควบคู่ไปเลย

            การฝึกฝนสตินั้นเป็นเรื่องไม่ยาก  แต่ก็ทำไม่ได้ง่ายนัก  ผู้ที่สนใจฝึกสติอย่างจริงจังควรจะศึกษาจากตำรับตำราทางพุทธศาสนาที่มีอยู่มากเล่มด้วยกัน   อย่าไปมองว่าคร่ำครึ  เพราะอันที่จริงแล้วพุทธศาสนานั้นสอนเรื่องชีวิต  และการใช้ชีวิตให้คุ้มค่า  หากท่านจะไปศึกษาเมื่ออายุมากแล้วท่านจะเสียดายที่ไม่ได้รู้จักใช้ชีวิตให้คุ้มค่ามาก่อน

 

Back