Seminars
 
IT Idea for Spiritization

 เรียนรู้และสนุกกับการฟัง

     การฟังคำบรรยายเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เราได้รับข้อมูลข่าวสาร และ เกิดความคิดขึ้นมากมายหลายอย่าง คนไทยคุ้นเคยกับการฟังเรื่องต่าง ๆ มาแต่โบราณกาลจนทำให้การสื่อสารด้วยการพูดเป็นวัฒนธรรมของไทยมานานแล้ว ส่วนการอ่านหนังสือนั้นเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งจะแพร่หลายออกไปกว้างขวางขึ้นในสมัยเมื่อร้อยปีเศษมานี้เอง และคนไทยจำนวนมากก็ยังอ่านหนังสือกันน้อย ที่เป็นเช่นนี้เข้าใจว่าเป็นเพราะคนไทยในอดีตไม่ค่อยมีโอกาสได้อ่านหนังสือกันมากนัก จึงไม่มีวัฒนธรรมในการอ่าน ความจริงอยากจะบอกว่าคนไทยไม่มียีนที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน แต่นักชีววิทยาคงจะค้านแน่ ๆ อย่างไรก็ตามแม้คนไทยจะคุ้นเคยกับการฟังมามาก ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดการฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียดได้ไม่น้อยทีเดียว ดังนั้นเราควรจะเรียนรู้วิธีการฟังที่จะทำให้ได้ข้อเท็จจริงมาก ๆ และก่อประโยชน์แก่ตนเองในภายหน้าได้มากขึ้น

     การฟังคำบรรยายที่เหมาะสมนั้น สมควรที่ผู้ฟังจะต้องเตรียมตัว เตรียมใจ และ เตรียมเครื่องมือให้พร้อม ขั้นตอนที่เหมาะสมมีดังนี้

  1. เลือกนั่งในจุดที่จะเห็นผู้บรรยาย และ ข้อความที่จะฉายประกอบได้ชัดเจน
  2. เตรียมกระดาษ ปากกา (อาจมีหลายสี) ไว้ให้พร้อม ผู้ที่ชอบดินสอก็ควรหามาหลาย ๆ แท่ง และควรนำกบเหลาดินสอมาด้วย
  3. ระงับการพูดคุยกัน นอกจากถามรายละเอียดที่ได้ยินไม่ถนัดหรือไม่เข้าใจกับเพื่อนที่นั่งข้าง ๆ แต่ควรจะให้สั้น และไม่รบกวนผู้อื่น ควรทราบด้วยว่าระหว่างที่เราพูดนั้นหูของเราจะไม่ได้ยินเสียงผู้บรรยาย และ จะจับใจความต่อไม่ได้
  4. หากมีโทรศัพท์มือถือก็ควรจะปิดเสียก่อนการที่ปล่อยให้โทรศัพท์เกิดเสียงดังเวลามีผู้บรรยายนั้น นอกจากเป็นการไม่แสดงความเคารพผู้บรรยายแล้ว ยังเป็นการก่อกวนสมาธิของเพื่อน ๆ และทำให้ตัวเราฟังคำบรรยายไม่ได้ครบถ้วนด้วย
  5. พิจารณาหัวเรื่องที่ผู้บรรยายประกาศล่วงหน้าว่าจะพูด ทดลองคาดคะเนว่า ผู้บรรยายจะพูดเรื่องอะไร เราสนใจอยากรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องที่จะได้ฟังบ้าง ให้จดหัวข้อคำบรรยายลงบนกระดาษ และ จดเรื่องที่คาดคะเนหรืออยากจะฟังตามลงไป
  6. ฟังคำบรรยาย คิดตาม และจดประเด็นหลัก ๆ ที่ได้ยินไม่ต้องจดรายละเอียดทั้งหมดแต่ควรเชื่อมโยงรายละเอียดที่เป็นเรื่องเดียวกันเข้าด้วยกัน
  7. บันทึกเรื่องใหม่ที่ได้ยิน คำศัพท์ที่ไม่ทราบความหมาย ชื่อเว็บไซต์ที่น่าสนใจ
  8. ตั้งคำถามแย้ง และ คำถามที่ต้องการให้ผู้บรรยายอธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จากนั้นขอโอกาสให้ผู้บรรยายตอบคำถามเมื่อผู้บรรยายตอบแล้ว ให้จดลงบนกระดาษ
  9. เปรียบเทียบเรื่องที่ได้ฟัง กับเรื่องที่คาดคะเนว่าจะได้ยิน พิจารณาตัดสินว่าได้รับทราบเรื่องมาพอเพียงหรือไม่ หากไม่ได้รับและยังติดใจอยู่ก็ให้ไปศึกษาค้นคว้าต่อ หรือจะสอบถามกับผู้รู้ในภายหลังก็ได้
  10. เก็บบันทึกที่จัดทำขึ้นไว้ให้เป็นแฟ้มบันทึกผลงาน ก่อนเก็บให้เติมรายละเอียดที่ควรจะมี เช่น วันที่ฟัง สถานที่ฟัง ชื่อผู้บรรยาย ฯลฯ

     เพื่อให้ผู้ที่สนใจปรับปรุงตัวเองในด้านการฟังให้ได้ผล หรือมีประสิทธิผลมากขึ้น ผมได้จัดทำแบบฟอร์มสำหรับบันทึกคำบรรยายมาไว้ให้นำไปใช้ หรือจะลองแค่ศึกษาแล้วนำแนวคิดกลับไปทำแบบฟอร์มของคุณเองก็ได้ การมีแบบฟอร์มนั้นช่วยให้เราจับประเด็นแนวคิดได้ดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถเก็บเรื่องที่ได้รับฟังให้เป็นประโยชน์ต่อไปในภายหน้าได้ด้วย

Back