Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive

คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

 

Home
IT Idea for Spiritization

คำทักทาย ณ วันที่ 29 เมษายน 2550

สวัสดีครับ

        เดือนเมษายนที่ผ่านมานี้อุณหภูมิบ้านเราร้านระอุอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ได้ข่าวว่าหลายจังหวัดเช่น จังหวัดตากนั้นอุณหภูมิเกิน 40 องศาเซลเชียสด้วยซ้ำไป หลายปีมาแล้วผมมีโอกาสไปนครหลวงของอินเดีย คือ กรุงนิวเดลี ในช่วงฤดูร้อน อากาศที่นั่นร้อนกว่า 40 องศาครับ และในช่วงกลางวันผมไม่สามารถจะทนความร้อนขณะออกจากรถยนต์ที่มีเครื่องปรับอากาศเพียงเพื่อจะเดินเข้าไปสู่อาคารสำนักงานได้เลย ชาวภารตะเขาอยู่ได้เพราะเขาคุ้นเคยกับอากาศที่ร้อนมาก ๆ และหนาวมาก ๆ แล้ว แต่พวกคนไทยเราไม่เคยชินจึงไปอยู่อย่างเขาไม่ได้

        พูดถึงอินเดียแล้ว ต้องบอกว่าเป็นประเทศที่น่าสนใจมาก ประการแรกก็คือในฐานะที่เป็นประเทศที่กำลังมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจและวิชาการอย่างรวดเร็ว ประการที่สองก็คือในฐานะที่มีอะไรสุดโต่งหลากหลาย รวยก็รวยสุดขีด จนก็จนสุดขีด เราจะเห็นความแตกต่างกันระหว่างสองขั้วได้อย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้เองจึงกล่าวกันว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะต้องมาตรัสรู้ที่ชมพูทวีปนี้เอง ทั้งนี้เพื่อจะได้ประดิษฐานทางสายกลางที่ไม่หลุดไปสู่ความสุดโต่งด้านใดด้านหนึ่ง

        ผมขอแนะนำว่าถ้าหากท่านมีเวลา ท่านควรจะเดินทางไปเที่ยวอินเดียเพื่อจะได้เห็นและรู้สึกให้ประจักษ์ด้วยตัวเองว่าที่นั่นมีอะไรบ้าง

        แต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ ผมไม่ได้ไปอินเดียหรอกครับ ผมไปไกลกว่านั้นคือไปอเมริกา คราวนี้ผมบินตรงไปเข้าลอสแองเจลิส ค้างคืนหนึ่งคืนที่โรงแรมเรดิสสัน แล้วนั่งเครื่องบินต่อไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก่อนนั่งรถชัตเติลไปยังอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งก็คือที่ตั้งของสุสานอาร์ลิงตันที่มีชื่อเสียงเพราะใครต่อใครที่เป็นใหญ่เป็นโตนั้น สุดท้ายก็ต้องเดินทางไปอยู่ที่นี่ ในทำนองเดียวกันกับที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของไทยนั้นสุดท้ายก็เดินทางไปยังเมรุหลวงที่วัดเทพศิรินทราวาสนั่นเอง

        ผมมาเรียนในหลักสูตรเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ครับ เนื้อหาหลักสูตรเป็นอย่างไรไม่จำเป็นต้องเล่า เอาเป็นว่า เมื่อมีเวลาว่างหนึ่งวันก่อนจะกลับ ผมก็นั่งรถไฟใต้ดิน หรือ เมโทร ไปยังสถานีสมิธโซเนียน เพื่อไปชมพิพิธภัณฑ์ของเขาอีกครั้ง ที่พูดเช่นนี้เพราะผมเคยมาเที่ยวดูชมหลายครั้งแล้ว แต่ไม่เคยดูได้หมดสักที เวลาผมมาดูทีไรก็นึกอิจฉาคนอเมริกันทุกทีไปที่สะสมศิลปวัตถุและของดี ๆ เอาไว้ให้เยาวชนของเขาได้ศึกษาหาความรู้ ที่สำคัญก็คือพิพิธภัณฑ์ทุกแห่งของเขามีคนมาเที่ยวชมมากมายครับ แน่นอนว่าพวกที่เป็นนักท่องเที่ยวก็มี แต่ที่น่าปลื้มใจแทนก็คือนักเรียนนั่งรถโรงเรียนมากันคันละหลายสิบคน รวมแล้วรถโรงเรียนที่จอดรอมีเป็นร้อย ๆ คัน ส่วนผู้ใหญ่ที่มาเองก็มีไม่น้อยกว่าเด็ก และบางคนก็พาลูกหลานมาดูเองด้วย

        ความจริงแล้วศิลปวัตถุชิ้นงาม ๆ ของเราก็มีมากครับ และกระจายกันอยู่ทั่วไปในประเทศ เพียงแต่เราไม่ค่อยได้ปลูกฝังความสนใจในเรื่องนี้ให้แก่เยาวชนของเราเท่าใดนัก พวกเราเองก็ไม่ใคร่ได้พาลูกหลานไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์เท่าใดนัก เวลาผมไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดต่าง ๆ ของไทยนั้น แต่ละครั้งมีคนมาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ไม่เกินจำนวนนิ้วมือ เมื่อคนมาน้อย คนเฝ้าเองก็ไม่สนุก ไม่กระตือรือร้น คงเฝ้าไปตามหน้าที่อย่างนั้นเอง เมื่อไรหนอคนไทยจึงจะขวนขวายหาความรู้และเข้าไปค้นคว้าเรื่องต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑ์มากขึ้น

        พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของไทยเรานั้นต่างจากพิพิธภัณฑ์ในอเมริกาและอังกฤษอยู่อย่างหนึ่ง คือห้ามถ่ายรูป แต่ของที่อื่นนั้นเขายอมให้ถ่ายครับ ที่เจ็บปวดก็คือพิพิธภัณฑ์ของเรานั้นห้ามถ่ายรูป แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีรูปโปสต์การ์ด, สไลด์, หรือ ซีดี ขายให้นักท่องเที่ยวนำรูปไปศึกษา เรื่องนี้คงต้องเสนอท่านอารักษ์ สังหิตกุล ผู้เป็นอธิบดี กรมศิลปากร สักหน่อยแล้วละครับ

        พิพิธภัณฑ์นั้นเป็นแหล่งสำหรับเรียนรู้ครับ ไม่ใช่สถานที่ตั้งแสดงสิ่งของ ดังนั้นพิพิธภัณฑ์ต้องสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้โดยวิธีต่าง ๆ เช่น การยอมให้ถ่ายภาพ, การมีภาพจำลองหรือภาพถ่าย, หนังสือ หรือ ซีดี ขาย และถ้าจะให้ดีก็ควรจัดให้มีห้องสมุดเอาไว้ให้ค้นคว้าด้วยในที่เดียวกัน เป็นที่น่ายินดีที่ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ผ่านมานั้น ผมได้เห็นหนังสือเกี่ยวกับศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติประจำจังหวัดต่าง ๆ ของไทยหลายเล่มด้วยกัน หนังสือเหล่านี้แหละครับที่ควรส่งไปขายยังห้องจำหน่ายหนังสือทุกพิพิธภัณฑ์ และจัดไว้ให้ประชาชนได้เข้ามาค้นคว้าในห้องสมุดของพิพิธภัณฑ์ด้วย

        เรื่องพิพิธภัณฑ์นี้ผมรู้สึกเสียดายเหมือนกัน เพราะผมไปเที่ยวชมมาหลายแห่งหลายประเทศ สำหรับของไทยเราเองผมก็เคยไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ชาวบ้านมาหลายแห่งเหมือนกัน แต่ไม่เคยเก็บรวบรวมภาพและเขียนบันทึกสิ่งที่เห็นออกมาสักครั้งเดียว ครั้นจะเริ่มทำตอนนี้ก็ไม่มีเวลาและโอกาสที่จะกลับไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์เหล่านั้นอีกแล้ว รูปภาพสมัยก่อนที่เป็นฟิล์มก็กระจัดกระจายหายไปหมด น่าเบื่อตัวเองครับที่ไม่รู้จักทำอะไรให้เป็นระบบ

        ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ผมไปบรรยายเป็นชิ้นเป็นอันเรื่องเดียว คือ เรื่อง การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับรัฐธรรมนูญ เป็นการบรรยายในงานเปิดบ้านราชบัณฑิตยสถานเมื่อวันที่ 27 เมษายนนี้เองครับ ดังนั้นผมก็เลยนำเอา Presentation มาให้อ่านกันครับ

        สวัสดีครับ.

 

 

ครรชิต มาลัยวงศ์

 

Back