Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive

คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

       

 

Home
IT Idea for Spiritization

คำทักทาย ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2549

สวัสดีครับ

        ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ ผมมีกิจธุระต้องเดินทางร่วมกับผู้เข้าร่วมสัมมนา Mini MIPS รุ่นที่สองไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อฟังคำบรรยายและดูงานหลายแห่ง จึงขอถือโอกาสนี้เล่าสิ่งที่พบเห็นมาให้ทราบ

        ประเทศญี่ปุ่นนั้นถึงแม้จะมีปัญหาเศรษฐกิจจนกระทั่งไม่มีการให้ดอกเบี้ยเงินฝากมานานร่วมสิบปีแล้ว และถึงแม้ว่าบริษัทจำนวนมากจะปิดกิจการ และ ผู้คนจำนวนมากต้องตกงาน แต่ในภาพใหญ่แล้วก็ยังคงดีอยู่ เงินทองก็ยังคงเดินสะพัดเหมือนยามปกติ อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นไม่มีบ่อน้ำมันของตัวเอง ดังนั้นจึงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงมากขึ้นเหมือนกับประเทศไทย กล่าวกันว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงทำให้กิจการสามประเภทต้องย่ำแย่จนถึงปิดกิจการ อย่างแรกก็คือปั๊มน้ำมัน เพราะคนมาเติมน้ำมันน้อยลง อย่างที่สองก็คือบริษัทขนส่งขนาดเล็กซึ่งต้องใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในการหารายได้ และ อย่างที่สามก็คือ กิจการประมง ซึ่งก็ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปริมาณมหาศาลเหมือนกัน ความจริงแล้วบ้านเราก็ได้รับผลกระทบคล้าย ๆ กันนี่แหละ เมื่อเร็ว ๆ นี้ยังมีข่าวว่าเรือประมงไทยออกไปจับปลาไม่ได้เพราะไม่คุ้มทุน คิดดูแล้วน่าใจหายนะครับ เพราะถ้าไม่เรือประมงไม่ออกไปจับปลาแล้ว อาหารทะเลก็คงจะแพงขึ้นและอาจจะดำเนินกิจการต่อไม่ได้ และแน่นอนผลกระทบอย่างอื่นก็คงจะเกิดตามมา

        เมืองที่เราไปฟังคำบรรยายก็คือเมืองคิตะคิวชู ซึ่งแต่เดิมได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งมลพิษทางอากาศ เมืองนี้ความจริงเป็นเมืองอุตสาหกรรมแห่งแรกของญี่ปุ่นทีเดียวแหละครับ อย่างเช่นกิจการถลุงเหล็กกล้าก็เกิดที่เมืองนี้ก่อนเมืองอื่น ๆ แต่ในยุคแรก ๆ นั้นญี่ปุ่นก็ยังไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมนัก ดังนั้นบรรดานายทุนอุตสาหกรรมทั้งหลายก็ไม่สนใจที่จะป้องกันมลพิษ อย่างเช่นที่เมืองมินามะตะก็มีการปล่อยปรอททิ้งลงไปในน้ำ ปรอทก็ปนเปื้อนในสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เมื่อปลากินเข้าไปก็ไปสะสมอยู่ในตัวปลา และเมื่อคนจับปลามากินก็ได้รับพิษปรอทไปด้วย ส่วนที่คิตะคิวชูนั้นมลพิษมาจากควันและเขม่าจากปล่องควันในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งพ่นออกมาทั้งวันทั้งคืน จนกระทั่งชาวเมืองกลายเป็นโรคหืดหอบ และโรคภูมิแพ้จนเป็นที่รู้จักทั้งประเทศ นอกจากนั้นเวลาซักผ้าแล้วนำมาตากแดดไม่ช้าผ้าที่ซักสะอาดก็จะเปื้อนเขม่าที่ลอยมาในอากาศจนผ้าดำไปหมด

        อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้เมืองคิตะคิวชูไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว เพราะเมื่อสี่สิบปีมานี้บรรดาแม่บ้านในเมืองคิตะคิวชูได้ร่วมกันรณรงค์ให้ผู้บริหารของเมืองแก้ปัญหามลพิษ และผู้บริหารก็ตอบสนองโดยจัดตั้งโครงการ Eco-town ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษ ในช่วงเวลาสี่ศตวรรษที่ผ่านมาสิ่งแวดล้อมของเมืองคิตะคิวชูได้เปลี่ยนไป บรรยากาศที่มืดมนด้วยควันดำ บัดนี้สว่างไสว แลเห็นท้องฟ้าสีครามสดใส ส่วนน้ำที่เคยสกปรกมีสีดำไปทั่วอ่าวและทะเล บัดนี้ก็ได้กลายสภาพเป็นอ่าวที่สะอาดสะอ้าน แลเห็นคนมานั่งตกปลากันอย่างมีความสุข (ยกเว้นปลา ซึ่งแม้จะมีความสุขจากน้ำสะอาด แต่คงไม่มีความสุขถ้าไปงับเอาเบ็ดเข้า)

        มาคิตะคิวชูคราวนี้ เราไปชมโรงงานสองแห่งครับคือ โรงงานเครื่องสุขภัณฑ์โตโต้ และ โรงงานผลิตรถยนต์โตโยต้า สำหรับแห่งที่สามก็คือไปชมโครงการ Eco-town ที่ผมกล่าวถึงไปเมื่อสักครู่นี้ และเมื่อจบการดูงานที่นี่แล้ว เราก็ไปแวะที่โตเกียว เพื่อชมพิพิธภัณฑ์สินค้าและเหตุการณ์ในอนาคตของบริษัทแพนาโซนิกก่อนที่จะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ครับ

        อากาศที่คิตะคิวชูและโตเกียวกำลังเย็นสบายครับ ช่วงเวลาเกือบสัปดาห์ที่อยู่ญี่ปุ่นนั้น มีฝนตกปรอย ๆ เพียงวันเดียวคือวันที่เดินทางกลับเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องบอกว่าโชคดีที่ลมฟ้าอากาศเป็นใจให้มาศึกษาหาความรู้ได้เต็มที่ครับ

        เมื่อได้เห็นสิ่งดี ๆ แล้ว ก็อดไม่ได้ต้องนำมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งขอเชิญไปคลิกอ่านได้เลยครับ

 

 

ครรชิต มาลัยวงศ์

 

Back