Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive

คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

       

 

Home
IT Idea for Spiritization

คำทักทาย ณ วันที่ 20 มีนาคม 2549

สวัสดีครับ

          เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ ผมไปเวียตนามเสียหลายวันเพื่อไปสอนการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบอุตสาหกรรมครับ หัวข้อจริง ๆ ที่ทางเวียตนามกำหนดมาก็คือ Software Development Methodologies แต่เนื้อหาสำหรับหัวเรื่องอย่างนี้ไม่มีอะไรน่าสนใจครับ ต้องลงรายละเอียดไปสู่วิธีการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบอุตสาหกรรมจริง ๆ ไม่ใช่การเขียนโปรแกรมเหมือนที่นิสิตนักศึกษาเรียนในมหาวิทยาลัย สำหรับหลายคนที่สงสัยว่าแตกต่างกันอย่างไรนั้น ผมขอตอบง่าย ๆ ครับว่า สมัยที่เราเป็นนักเรียนนั้นเราเรียนการเขียนเรียงความมาแล้วใช่ไหมครับ แต่การแต่งนิยายนั้นแตกต่างไปจากการเขียนเรียงความส่งอาจารย์ครับ ต้องเรียนวิธีเขียนกันใหม่

          เมื่อสองปีก่อนนั้นผมไปสอนวิชานี้มาทีหนึ่งแล้ว แต่ครั้งนั้นไม่ได้เตรียมเนื้อหาดีนัก การไปครั้งนี้ผมจึงเตรียมเนื้อหาไปใหม่หมด คราวนี้ผสมผสานความรู้ทั้งทางด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์, CMMI,และ PMBOK กันครบเครื่องทีเดียว แต่เอาเข้าจริงก็สอนไม่ได้หมดหรอกครับ เพราะติดขัดเรื่องนักเรียนยังเด็ก ๆ มากอยู่ มีประสบการณ์น้อย ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาได้หมด จึงต้องข้ามบางตอนที่ยากเกินไป

          เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพแล้ว มีคนถามผมว่าที่เวียตนามนั้นเขาก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว เรื่องนี้ผมตอบไม่ได้ครับ เพราะใช้เวลาสอนทั้งวัน ตื่นเช้ารับประทานอาหารเช้าแล้วก็ต้องไปสอน ไปถึงสถานที่แล้วก็ต้องขึ้นบันไดไปถึงสำนักงานที่อยู่ชั้น 5 เพราะเขาไม่มีลิฟต์ใช้ ขึ้นไปแล้วก็ไม่อยากลงมาครับ พอสอนเสร็จก็กลับโรงแรมเลย ความจริงเพื่อนของผมที่ฮานอยนั้นมีหลายคน แต่ผมไม่มีเวลาจะโทรศัพท์ไปคุยหรือไปเยี่ยมเขาครับ ก็เลยไม่มีข้อมูลมาตอบให้เพื่อน ๆ คนไทยทราบ

          ฮานอยนั้นผมไปมาหลายครั้งหลายหนจนจำไม่ได้ว่ากี่ครั้ง แต่สองปีหลังนี้ฮานอยเปลี่ยนไปมากครับ มีซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่บนเส้นทางจากสนามบินเข้าเมือง มีอาคารที่พักอาศัยและคอนโดมิเนียมเกิดใหม่มากมาย และที่มากที่สุดก็คือรถจักรยานยนต์ครับ

          การใช้รถจักรยานยนต์ที่นี่ไม่มีระเบียบเลยครับ เขาขับขี่กันตามสบาย นึกจะปาดหน้าก็ทำทันที นึกจะแซงก็แซง นึกจะตัดหน้าก็วิ่งรถออกไปตัดหน้าเขาทันทีเช่นกัน หรือบางครั้งก็ขับเสียบเข้ามาระหว่างรถยนต์ที่แล่นอยู่ก็ทำได้ทั้งนั้น แต่ความที่ขับขี่กันไม่เร็วนักก็เลยไม่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงแต่อย่างใด นักเรียนของผมเคยพาผมนั่งซ้อนท้ายไปไหนมาไหนเหมือนกันครับ ระหว่างนั่งอยู่หวาดเสียวดี แต่ไม่มีอันตรายอะไร ทีแรกผมนึกว่านั่งซ้อนท้ายแล้วจะตัวเหม็นเหมือนเวลานั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ในกรุงเทพฯ แต่เปล่าหรอกครับ จักรยานยนต์ที่นี่ไม่ได้ปล่อยควันดำร้ายกาจเหมือนนักขับขี่จักรยานยนต์ในกรุงเทพเลยครับ

          อากาศที่ฮานอยเย็นครับ แต่ไม่ถึงกับหนาว ท้องฟ้าครึ้มไปด้วยเมฆที่ปกคลุมเมืองตลอดวันตลอดคืน เช้ามืดบางวันมีฝนตกเป็นฝอยพอทำให้ถนนเปียกแต่พอรุ่งสาง ฝนก็หยุด เมื่อวันจันทร์ที่ 13 ซึ่งผมสอนเป็นวันสุดท้ายก่อนกลับกรุงเทพฯ นั้น ความดันอากาศสูงจากเมืองจีนแผ่ลงมาถึงฮานอยอีกครั้ง ทำให้อุณหภูมิลดต่ำลงไปอีก แต่ความหนาวเย็นก็ดีกว่าความร้อนของอุณหภูมิการเมืองที่กำลังแผดเผาคนทั้งเมืองไทยอยู่ในเวลานี้

          ผมไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหน เพราะที่ฮานอยนั้นผมไปเที่ยวมาเกือบทั่วแล้ว สถานที่ซึ่งผมอยากไปเที่ยวชมก็คือทางบริเวณที่อยู่ไกลออกไป เช่น เดียน เบียน ฟู หรือ เมืองเว้ แต่ผมก็ไม่มีเวลาจะไปไกลได้ขนาดนั้น

          ความจริงผมมีเพื่อนเรียนหนังสือเป็นคนเวียตนามมาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาโท เมื่อผมเป็นอาจารย์ก็มีลูกศิษย์เป็นคนเวียตนามมากมาย ผมเคยคิดว่าคนไทยน่าจะเป็นพันธมิตรกับคนเวียตนามเพื่อช่วยกันพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้คนไทยส่วนมากไปเห็นคนเวียตนามเป็นคู่แข่งเสียแล้ว ผมว่าถ้าหากเราร่วมมือกันเราจะสามารถสร้างสรรค์งานดี ๆ ได้อีกมาก ผมคิดว่าพวกเราทั้งสองชาติต่างก็มีความเข้มแข็งและจุดอ่อนไปคนละด้าน หากเราช่วยกันอาจจะเสริมจุดแข็งของกันและกันได้แล้วชีวิตของพวกเราทั้งสองชาติก็คงจะไม่ต้องประสาทเสีย เพราะคอยหวาดระแวงกันตลอดเวลาหรอกครับ

          ไม่รู้ว่าเหมือนกันเมื่อใดคนทั้งโลกจะเป็นมิตรปราศจากความหวาดระแวงแคลงใจกัน และช่วยกันจรรโลงให้โลกนี้ดีขึ้น เพราะอย่าว่าแต่ระหว่างคนต่างเชื้อชาติเลยครับ แม้แต่คนไทยด้วยกันยังไม่สามารถจะเป็นมิตรกันได้เลย

          สำหรับช่วงนี้ผมไม่ค่อยมีอะไรมานำเสนอมากนักเพราะมัวแต่ยุ่งอยู่กับการสอน จึงขอนำเสนอเรื่องสักสองเรื่อง คือ เรื่องข้อต่อขากรรไกรยึดติดซึ่งเป็นการบรรยายของ ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง ใจนุช จงรักษ์ ภาคีสมาชิกในสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน และเรื่องน่าสนใจอื่น ๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่นำมาคุยกันเป็นการเพิ่มพูนความรู้ก็แล้วกันครับ

สวัสดีครับ

 

 

ครรชิต มาลัยวงศ์

 

Back