Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive

คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

       

 

Home
IT Idea for Spiritization

คำทักทาย ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2548

สวัสดีปีใหม่ครับ

        ในวารดิถีขึ้นปีใหม่ 2549 นี้ ผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย ช่วยดลบันดาลให้ญาติสนิทมิตรสหาย ศิษย์เก่า ศิษย์ใหม่ รวมทั้งท่านผู้อ่านทุกท่าน ประสบแต่ความสุขความเจริญ มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง ปราศจากทุกข์โศกโรคภัยทั้งปวงเทอญ

        ในคราวนี้ผมมีอะไรมาฝากให้คิดหลายเรื่อง ทำให้เกริ่นนำคราวนี้อาจจะยาวสักหน่อยครับ

        เรื่องแรกเป็นเรื่องสำคัญทีเดียวครับ กล่าวคือช่วงนี้เป็นช่วงที่เรานิยมตั้งความปรารถนาที่จะลด ละ เลิก นิสัยที่ไม่ดี และ หันไปพัฒนาอุปนิสัยดี ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชีวิต ดังนั้นผมจึงขอเชิญชวนท่านผู้อ่านให้ย้อนกลับไปพิจารณาตัวเองว่าในรอบปี 2548 นี้ เราได้ทำสิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อสังคม และต่อประเทศชาติบ้าง หากลด ละ เลิก ได้ก็ควรจะทำเสีย ผมเองพิจารณาตนเองแล้วก็เห็นว่ามีอยู่หลายเรื่องที่ต้องลดละ ทำให้ต้องรีบบันทึกจดเป็นข้อๆ เพื่อเตือนใจว่า วันหน้าอย่าได้ทำอีก เรื่องหนึ่งที่ขอยกมาให้ฟังก็คือ การไม่มีสติกำกับ ทุกวันนี้ผมเดือดร้อนเรื่องทำเอกสารหายเป็นประจำ ความจริงไม่ได้หายไปไหนไกลหรอกครับ แต่เป็นเพราะไม่เก็บเข้าที่ เอาไปตั้งไว้กองโน้นบ้าง กองนี้บ้าง เวลาเก็บก็ไม่ได้ตั้งสติ ครั้นพอจำเป็นต้องใช้ก็ต้องเสียเวลารื้อค้น ทางแก้ที่จด ๆ เอาไว้คือจะต้องนำหลักการ 5 ส. มาใช้ พร้อมกับมีสติมากขึ้น

        เรื่องที่สอง ก็คือผมอยากชักชวนให้พวกเราใช้แนวคิดที่สตีเฟน โควีย์ นำมาเขียนเป็นเรื่อง First Thing First กันให้มากๆ ครับ ข้อนี้ความจริงก็เป็นนิสัยเสียของผมอีกเหมือนกัน คือไม่ได้ทำเรื่องที่ควรจะทำให้เสร็จก่อน ผลก็คือมีงานคั่งค้างหลายอย่าง ถึงตรงนี้แล้วพอจะคุ้นๆ ไหมครับว่า เรื่อง "การทำงานไม่คั่งค้าง" นั่นเป็นมงคลข้อหนึ่งใน 38 ข้อที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว ก็การที่เราทำงานที่จำเป็นก่อน งานนั้นก็จะเสร็จก่อน ไม่คั่งค้างให้กลุ้มอกกลุ้มใจ และไม่จำเป็นต้องไปเร่งรีบทำทีหลัง เมื่อลงมือทำก่อนตามความจำเป็นก็ทำให้เรามีเวลาพิจารณาหาทางทำงานนั้นให้ดีที่สุดได้ด้วย เรื่องนี้จึงอยากฝากไว้ด้วยเหมือนกันครับ

        เรื่องที่สาม ก็คือความไม่ประมาท พูดถึงเรื่องนี้ก็คงคุ้นๆ อีกแล้ว เพราะเป็นปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า โดยที่เรื่องนี้เป็นคำพูดสุดท้ายของพระองค์ท่าน ดังนั้นจึงมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งที่เราจะต้องใส่ใจครับ ที่พระองค์ท่านทรงสอนเราเป็นครั้งสุดท้ายว่าอย่าประมาทนั้น ท่านอาจจะทรงมุ่งหมายว่าชีวิตของพวกเราทุกคนสั้นนัก ให้รีบศึกษาปฏิบัติธรรมเข้าจะได้เข้าใจชีวิตและความเป็นจริงของโลก แต่เราก็สามารถขยายความต่อไปได้ถึงเรื่องอื่นๆ เช่น ถ้าหากท่านขับรถก็อย่าประมาทครับ ทุกสัปดาห์ควรดูว่าน้ำในหม้อน้ำรถพร่องไปหรือไม่ มีตะกอนหรือไม่ ดูว่ายางล้อรถนั้นแบนไปบ้างหรือไม่ ไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเบรกยังดีอยู่หรือไม่ เมื่อใกล้ฤดูฝนก็ให้ดูว่าที่ปัดน้ำฝนยังดีอยู่หรือไม่ (หรือดูว่าถูกขโมยไปหรือไม่ เรื่องนี้ผมก็เคยโดนมาแล้วครับ) ถ้าหากรถสภาพดีก็เป็นเรื่องที่ทำให้เราเบาใจได้มาก ครั้นเมื่อขับรถออกจากบ้านหรือที่ทำงานก็ต้องพิจารณาว่าสถานที่จะไปนั้นอยู่ห่างแค่ไหน น้ำมันในรถพอเพียงหรือไม่ การจราจรจะติดขัดหรือไม่หากเห็นว่าการจราจรอาจจะมีปัญหา ก็ควรเข้าห้องสุขาลดภาระน้ำในตัวให้พร่องไปเสียบ้าง จะได้ไม่ต้องเกิดความทุกข์ถ้าหากต้องนั่งอยู่ในรถนานๆ

        ที่พูดมาข้างต้นนี้ ความจริงก็คือเรื่องของความเสี่ยงนั่นเองครับ ความเสี่ยงมีองค์ประกอบสองอย่าง คือ ตัวเหตุการณ์อันเป็นความยุ่งยากจริง ๆ ที่เรานำมาเรียกว่าความเสี่ยง กับการเปิดโอกาสให้เหตุการณ์ที่ยุ่งยากนั้นเกิดขึ้น ยกตัวอย่างคือ ความเสี่ยงที่รถของเราจะหายเพราะถูกโจรกรรม มีองค์ประกอบสองอย่างคือ มีผู้จ้องจะขโมยรถของเราจริง กับการที่เราไปเปิดโอกาสให้เขาขโมยรถของเราได้ง่ายๆ ดังนั้นเราต้องตัดหรือลดโอกาสที่จะมีผู้มาขโมยรถของเราให้น้อยที่สุด ถ้าจะไม่ให้มีการขโมยรถเราได้เลย เราก็ต้องไม่มีรถ หรือไม่ขับรถ ซึ่งก็คงเป็นไปไม่ได้สำหรับผู้ที่มีรถอยู่แล้ว ดังนั้นก็ต้องใช้วิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น การล็อครถ การจอดรถในที่ที่ปลอดภัย หรือมีผู้ดูแล ฯลฯ การพิจารณาความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นและลดความเสี่ยงลงนั้นก็คือการไม่ประมาทนั่นเอง การพิจารณานี้ถ้าหัดทำเป็นประจำแล้วก็ไม่ต้องใช้เวลานานครับ เพียงมองปราดเดียวก็สามารถบอกตัวเองได้ว่าควรจะทำอย่างไร ข้อสำคัญคือต้องมีสติกำกับ

        เรื่องต่อมาเกี่ยวกับยุคความรู้ครับ เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้ไปบรรยายให้กำลังใจพนักงานกลุ่มหนึ่งของบริษัทฟัง วันนั้นผมเน้นเรื่องความรู้ และผมตั้งคำถามว่า ในแต่ละวันพวกเขาได้เรียนรู้เรื่องสำคัญสำหรับชีวิตสักหนึ่งเรื่องหรือไม่ หรือสามารถจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นสักหนึ่งหรือสองคำหรือไม่ ผมอธิบายว่าคนเรานั้นเกิดมาเพื่อจะเรียนรู้ เมื่อเป็นทารกเราก็ต้องเรียนเพื่อจะได้รู้เรื่องราวต่างๆ เพื่อให้สื่อสารความต้องการได้ พอโตขึ้นเราก็ต้องเรียนอย่างจริงจังจนกระทั่งถึงขั้นรู้วิธีประกอบอาชีพ ครั้นพอทำงานแล้วเราก็ยังหยุดเรียนไม่ได้ ต้องเรียนรู้วิธีการทำงานที่จะดียิ่งขึ้นไปเรื่อย ดังนั้นผมจึงบอกว่าพวกเราใช้คำผิดไปสองคำครับ นั่นก็คือไปพูดว่าเรียนจบปริญญา หรือ สำเร็จการศึกษา เพราะที่จริงแล้วการเรียนไม่ได้จบที่ได้ปริญญา และเรียนอย่างไรก็ไม่สำเร็จครับ ความจริงการที่เราได้ปริญญานั้นเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการเรียนรู้ชีวิตต่างหาก ดังนั้นเรื่องนี้คงจะต้องฝากไว้อีกครับว่า ในปีใหม่นี้ท่านต้องตั้งเป้าว่าอยากจะเรียนรู้อะไรมากขึ้น

        เรื่องต่อมาคือการ "เอาจริง" ทุกวันนี้ผมรู้สึกว่าคนไทยไม่ค่อยจริงจังกับเรื่องสำคัญๆ เท่าที่ควร นักศึกษาทุกวันนี้ก็ไม่จริงจังกับการเรียน แต่รู้สึกจริงจังกับการได้คะแนน คืออยากได้คะแนนเยี่ยมๆ แต่ไม่ได้เรียนอย่างจริงจังให้ตนเองมีความรู้ พอไปทำงานก็ไม่ได้จริงจังกับการทำงาน แต่จริงจังกับเงินเดือน คืออยากได้เงินเดือนสูงๆ โดยไม่ต้องทำงานหนัก แถมไม่อยากเรียนรู้งานเพื่อให้ตนเองก้าวหน้าด้วย นักการเมืองทั้งหลายก็ไม่จริงจังกับการบริหารประเทศ แต่จริงจังกับการที่จะขึ้นเงินเดือนตัวเองบ้าง ฉ้อราษฎร์บังหลวงบ้าง ผมจึงอยากจะเสนอว่าพวกเราคงจะต้องเปลี่ยนนิสัยจากการทำอะไรเหยาะแหยะ ฉาบฉวย เป็นการทำงานแบบจริงจังให้มากขึ้น การทำงานจริงจังนั้นไม่ใช่ซีเรียสนะครับ แต่เป็นการตั้งใจทำงานให้บรรลุผลพร้อมกับการเรียนรู้งานเพื่อหาทางปรับปรุงการทำงานในอนาคตด้วย ผมเห็นว่าที่ประเทศไทยเราสู้ประเทศอื่นๆ ไม่ได้นั้นส่วนใหญ่ก็เป็นเพราะขาดความจริงจังนี่แหละครับ

        ที่ผมนำเรื่องต่างๆ มาเขียนหลายเรื่องในคราวนี้ก็เพราะเห็นว่าเป็นช่วงปีใหม่ และเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ปรับปรุงตัวเองให้มีนิสัยที่ดีขึ้น และเพื่อให้ตัวเองมีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ดังนั้นข้อเขียนคราวนี้จึงยาวไปหน่อย แต่ก็หวังว่าคงจะให้ข้อคิดแก่ท่านผู้อ่านได้บ้างไม่มากก็น้อย

        สวัสดีปีใหม่อีกครั้งครับ

 

 

ครรชิต มาลัยวงศ์

 

Back