Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive

คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

       

 

Home
IT Idea for Spiritization

คำทักทาย ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2548

สวัสดีครับ

ลมฟ้าอากาศในเมืองไทยช่วงนี้คงจะทำให้คนซึมเศร้ากันหลายคน และอาจจะเป็นสาเหตุทางอ้อมที่ทำให้เกิดเรื่องน่าเศร้าหลายเรื่องด้วยกัน เรื่องเศร้าจริง ๆ ก็คือเรื่องบำนาญ สส. ซึ่งผมเคยพูดไปแล้วว่าเป็นเรื่องอัปยศที่สุดของการเมืองไทยนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา อย่างไรก็ตามยุคนี้เป็นยุคเสื่อมเสียแล้ว เราจะไปคาดหวังอะไรจากบรรดาผู้แทนราษฎรดิบ ๆ สุก ๆ ได้ เมื่อมีอำนาจก็หาประโยชน์กันเข้าไป คงมีวันหนึ่งที่จะได้รับกรรมตามสนองโดยถ้วนหน้า

ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายในงาน ทักษิณวิชาการ 48 อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นงานของท่านนายกฯ นะครับ แต่เป็นงานของมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งอยู่ในตัวเมืองสงขลาโน่น มหาวิทยาลัยแห่งนี้ผมนั่งรถผ่านนับไม่ถ้วน แต่ไม่เคยเข้าไปชมภายในเลย สถานที่ตั้งก็สวยงามครับ คืออยู่ใกล้เขารูปช้างซึ่งเดี๋ยวนี้มองไม่ใคร่จะเห็นเป็นรูปช้างแล้ว เพราะตามริมถนนใหญ่มีอาคารพาณิชย์ใหญ่ ๆ ตั้งบังเสียหมด ทราบมาว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้มีเนื้อที่ราว 130 กว่าไร่ ไม่ใหญ่โตนัก อยู่ใกล้ใจกลางเมืองและมีอาณาเขตติดกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา น่าเสียดายที่จะย้ายไปอยู่ที่พัทลุงซึ่งมีเนื้อที่กว้างขวางกว่าสามพันไร่ บริเวณที่ตั้งใหม่นี้ผมเคยนั่งรถผ่านเหมือนกัน บริเวณเป็นที่ราบแบนๆ ไม่มีภูเขาเหมือนสถานที่ปัจจุบัน

งานทักษิณวิชาการนี้ ทางผู้จัดกำหนดทิศทางว่า "สั่งสมภูมิปัญญา พัฒนาชุมชน" และมีวัตถุประสงค์ที่จะ เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ สร้างความเชื่อมั่นในผลงานของมหาวิทยาลัย สื่อสารกับชุมชน ให้นักเรียนที่มาชมงานได้ทราบศักยภาพ ขยายตลาดแรงงาน และส่งเสริมกิจกรรมนอกหลักสูตร วันที่ผมมาบรรยายนั้นเป็นวันเปิดงานพอดี ในช่วงเช้าผู้มาทำพิธีเปิดคือ นายสมพร ใช้บางยาง ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งได้กล่าวปาฐกถานำเรื่อง “บทบาทของมหาวิทยาลัยทักษิณ กับการสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนจังหวัดสงขลา

ท่านผู้ว่าฯได้กล่าวว่า "แต่ก่อนถือกันว่ามหาวิทยาลัยเป็นแหล่งวิชาการ เพื่อให้นักศึกษามาเรียนเอาปริญญา คนนอกไม่ต้องมายุ่ง มหาวิทยาลัยเองก็บอกว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อสังคม แต่ทว่าต่างคนต่างอยู่ไม่มีการสัมพันธ์กันมากนัก เวลานี้น่าจะมีการใช้ประโยชน์ และมาทำงานร่วมกันมากขึ้น

เมื่อมีการปรับปรุงจังหวัดเพื่อบูรณาการตามแนวคิดของท่านนายกรัฐมนตรี ก็ทำให้มหาวิทยาลัยกับหน่วยงานราชการมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น มีการสร้างแนวทางให้นำวิชาการมาผนวกกับการปฏิบัติ ซึ่งผมเองก็ได้ริเริ่มเรื่องนี้มาตั้งแต่ครั้งอยู่ปัตตานีแล้ว

"ในเรื่องการปฏิบัติร่วมกันนั้น ต้องคิดว่าทำอย่างไรจะได้คุยกัน ต้องคิดกันว่าจะออกไปสู่สังคมได้อย่างไร ในภาพรวมแล้วเรายังไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ หน่วยงานเองก็ไม่สนใจวิชาการ ไปติดกับกรอบการปฏิบัติงานของตนเองเท่านั้น ควรให้มหาวิทยาลัยในจังหวัดมาคิดร่วมกัน มาพบกัน มาทำยุทธศาสตร์จังหวัดร่วมกัน จะทำให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดกันได้มากขึ้น

ในส่วนของพี่น้องประชาชน โอกาสเข้าไปใช้มหาวิทยาลัยคงจะยาก ต้องเอาสื่อมาช่วย ต้องปรับแนวคิดให้ประชาชนเห็นว่ามหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ภาควิชาการอย่างนี้ต้องเข้าใจประชาชน ต้องคิดว่าจะทำอะไรให้ชาวบ้านได้ ต้องไปหาเขา จะรอให้เขามาหาเราไม่ได้ ทุกคนต้องมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคม ความจริงมหาวิทยาลัยต่างๆก็อาจจะคิดเรื่องนี้ไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ

เราต้องพยายามทำวิจัยที่มีประโยชน์ต่อชุมชน เช่น ยางพารา ก็อาจทำวิจัยร่วมกับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณต้องพยายามใช้จุดเด่นที่เรามีอยู่แล้ว เช่น สถาบันทักษิณคดีศึกษา นำเรื่องเหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ช่วยเหลือสังคมได้

เรื่องที่เราต้องรับผิดชอบโดยตรงก็คือ การพัฒนาคน หากเราเอาวิชาการที่เรารู้ไปช่วยเขาให้มีความรู้มากขึ้น ก็จะทำให้คนฉลาดขึ้น สังคมก็จะมีคุณภาพมากขึ้น ผมขอให้จัดกิจกรรมย่อยๆ ที่มีประโยชน์อย่างนี้มากขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้มารับทราบสิ่งดีๆ ของมหาวิทยาลัย"

หลังจากที่ท่านผู้ว่าปาฐกถาจบแล้ว ผมก็รับเชิญขึ้นไปบรรยายเรื่อง "สังคมการเรียนรู้ในยุคไอทีกับการสร้างคุณภาพองค์กร" ผมจะนำเอา Presentation ของผมมาลงไว้ให้ศึกษาในคราวหน้า คราวนี้ขอนำเรื่องที่ไปบรรยายที่ม.นเรศวรมาให้ศึกษากันก่อน

ในช่วงนี้ผมมีงานประชุมค่อนข้างมาก ทำให้พลาดโอกาสไปร่วมงานหลายงานด้วยกัน อย่างเช่น งาน ICT Expo ที่ผ่านมาผมก็ไม่ได้ไป และเมื่อไม่เห็นงานก็เลยของดการวิจารณ์ไปด้วย

มีนักศึกษาเคยเขียนอีเมลมาถามผมว่า อ่านเรื่องที่ผมบ่นแล้วก็สงสัยว่าทำไมต้องไปเข้าประชุมกันมากนัก และในที่ประชุมเขาทำอะไรกันบ้าง

ผมตอบไปว่า การประชุมมีหลายอย่างครับ การประชุมในหน่วยงานบางแห่งเช่น ราชบัณฑิตยสถานนั้นเป็นข้อบังคับตามกฎหมาย ในฐานะราชบัณฑิต ผมต้องไปเข้าประชุมเสนอความคิดเห็น หากไม่ไปก็ถือว่าผิดครับ

วัตถุประสงค์ของการประชุมมีหลายอย่างด้วยกันเช่น

  1. ประชุมเพื่อแจ้งข่าวสารให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับทราบ
  2. ประชุมเพื่อมอบหมายงาน
  3. ประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ
  4. ประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าของงาน
  5. ประชุมเพื่อร่วมกันรับฟังข้อมูลแล้วตัดสินใจ

ปัจจุบันนี้ผมได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารระดับสูงของหน่วยงาน ดังนั้นการประชุมจึงมักจะมีวัตถุประสงค์ครบทั้งห้าข้อ ถ้าเป็นคณะกรรมการระดับรองลงมา บางครั้งก็เป็นการประชุมเพื่อติดตามงานและสั่งงาน

ผู้บริหารหลายคนไม่ชอบการประชุม โดยเฉพาะเมื่อมีคนเข้าประชุมหลายคนก็อาจจะพูดนอกเรื่องไปสู่เนื้อหาอื่น ๆ ทำให้ต้องใช้เวลาประชุมมากเกินไป อย่างเช่นเวลานี้ผมเป็นประธานกรรมการอยู่ชุดหนึ่งซึ่งมีกรรมการเป็นรุ่นพี่อาวุโส ท่านผู้นี้ชอบเล่าเรื่องต่างๆ สมัยเป็นนิสิตนักศึกษาทั้งที่เกี่ยวกับท่านเองและเกี่ยวกับอาจารย์ ท่านเหล่าบ่อยเสียจนกลายเป็นเรื่องเล่าซ้ำๆ แต่ก็ไม่มีใครพูดห้ามแกเสียที ในฐานะเป็นประธาน ผมรอจังหวะนิดหนึ่ง พอเห็นว่าแกเล่าไปถึงตอนที่ผมน่าจะหยุดแกได้ ผมก็บอกที่ประชุมให้พิจารณาวาระต่อไปไปเลย ผมเองเห็นว่าประธานที่ประชุมจะต้องนำการประชุมเป็นจึงจะทำให้การประชุมไหลลื่นและไม่เสียเวลานานมากเกินไป ประธานจะต้องสามารถตัดบท หรือดึงให้คนที่กำลังพูดพล่ามกลับมาสู่ประเด็นได้ นอกจากนั้นบางครั้งยังต้องพยายามประสานความสามัคคีระหว่างกรรมการด้วยกันเองด้วย เนื่องจากบางครั้งอาจมีความเห็นขัดแย้งกันจนถึงขึ้นเสียงหรือมีปากเสียงกันได้ เรื่องเหล่านี้ต้องศึกษาและฝึกฝนจึงจะทำได้ดีครับ

แม้ว่าผมจะต้องเข้าประชุมมากครั้งด้วยกัน แต่ผมก็สนุกกับการได้เรียนรู้นิสัยใจคอของคนจากการประชุม ได้ทราบทัศนคติ และ วิธีการพูด วิธีการต่อรอง รวมทั้งวิธีคิดของผู้เข้าร่วมประชุมด้วย เรื่องเหล่านี้มีประโยชน์และนำไปใช้ในช่วงเวลาอื่นได้ด้วย สรุปแล้ว เราสามารถเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ได้ตลอดเวลาจริง ๆ ครับ

ครรชิต

19 สิงหาคม 2548

 

Back