Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive

คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

Home
IT Idea for Spiritization

คำทักทาย ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2546

สวัสดีครับ
     ในรอบเดือนเศษที่ผ่านมามีเรื่องที่น่าสนใจมากด้วยกันครับ
     แรกสุดก็คือการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นกรรมการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นเพื่ออำนวยการและบริหารงานตามพระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 25434 ผมเองก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านไอซีทีจากภาคเอกชนในคณะกรรมการชุดนี้ด้วย ขณะที่ผมเขียนคำทักทายนี้คณะกรรมการเพิ่งประชุมไปแล้วสามครั้ง ได้ศึกษาว่าบทบาทของกรรมการควรเป็นอย่างไร และได้กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการขึ้นมารวม 5 คณะ
  • คณะอนุกรรมการด้านนโยบายและแผน
  • คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย
  • คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมและสนับสนุน
  • คณะอนุกรรมการด้านกำกับดูแล
  • คณะอนุกรรมการด้านความมั่นคงปลอดภัย

     ในช่วงนี้ขอให้ข้อมูลแค่นี้ก่อน ถ้าหากท่านผู้ใดมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร และต้องการแนะนำอะไรให้ผมนำเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปเสนอต่อคณะกรรมการให้พิจารณาบ้าง ก็กรุณาส่งความคิดเห็นมาที่ผมได้ครับ

    ต่อมาก็คือการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ หรือ SIPA ซึ่งทางท่านรัฐมนตรีกระทรวงไอซีที ได้ชวนคุณมนู อรดีดลเชษฐ์ อดีต ผู้บริหารบริษัทดาต้าแมทมานั่งทำงานเป็นผู้บริหารสำนักงานแห่งนี้ SIPA เป็นองค์การมหาชนครับ นั่นหมายความว่าเป็นหน่วยงานของรัฐที่ควรจะทำงานในเชิงรุกและแตกต่างไปจากหน่วยงานราชการทั่วไป เวลานี้ก็มีองค์การประเภทนี้อยู่หลายแห่งแล้ว ปัญหาก็คือองค์การเหล่านี้ในทางปฏิบัติแล้วยังคงต้องทำงานตามกฎระเบียบราชการหลายเรื่องด้วยกัน ดังนั้นการที่จะให้ทำงานเชิงรุกได้เร็ว ๆ นั้นก็คงจะไม่ได้ ผมก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการขั้นต้นเพื่อดำเนินการให้สำนักงานนี้เกิดเป็นรูปเป็นร่างและทำงานได้เร็ว ๆ ด้วยคนหนึ่ง ใครอยากให้สำนักงานนี้ช่วยเหลือส่งเสริมงานซอฟต์แวร์อย่างไรก็ส่งข่าวมาบอกผมได้เหมือนกันครับ

    ช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีงานสัมมนาเล็ก ๆ ที่จัดโดยชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ ซึ่งอยู่ที่อยุธยาโน่น ผมเป็นกรรมการชมรมนี้มาตั้งแต่เริ่มตั้งซึ่งก็จวนจะยี่สิบปีแล้ว จึงไปช่วยบรรยายเรื่องการเขียนกับ e-Learning ให้ผู้เข้าสัมมนาฟัง อยุธยาเป็นเมืองหลวงเก่าที่มีที่น่าเที่ยวอยู่มากเหลือเกินครับ แต่คนเที่ยวก็จะต้องรักศิลปะ เข้าใจความงามทางพุทธศิลป์ และ ชื่นชอบวัฒนธรรมไทยด้วย แต่ไม่ต้องถึงกับรักชาติแล้วโกรธที่พม่ามาย่ำยีหรอกครับ นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดนานมาแล้ว และที่วัดต่าง ๆ ในอยุธยายับเยินไปนั้น ไม่ใช่เพราะฝีมือกองทหารพม่าทั้งหมดหรอกครับ แต่เพราะฝีมือคนไทยด้วยกันนี่แหละที่ไปขุดค้นเจดีย์เพื่อหาสมบัติ และ นำพระพุทธรูปมาหลอมเอาทองคำไป

    เมื่อเดือนตุลาคม ก็มีการจัดประชุมวิชาการด้านวิทยาการและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่ห้องประชุมธำรง บัวศรี มหาวิทยาลัยบูรพา ที่บางแสนโน่น การประชุมนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า NCSEC2003 เป็นการประชุมวิชาการที่จัดทุกปี ปีที่แล้วมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครจัดที่พัทยา ปีนี้มาจัดที่บางแสน และปีหน้าจะไปจัดที่สงขลาครับ

   โดยทั่วไปแล้วงานนี้เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยของอาจารย์ และงานวิทยานิพนธ์ ของนักศึกษาทางด้านคอมพิวเตอร์ และแต่ละปีก็มีผู้มานำเสนอและฟังคำบรรยายประมาณเกือบสองร้อยคน ในช่วงวันสุดท้ายกรรมการจัดการประชุมซึ่งผมก็บังเอิญเป็น General Chair ของที่ประชุม ก็ตกลงกันว่าปีหน้านี้จะขอให้อาจารย์ทางด้านไอทีส่งผลงานมานำเสนอด้วย เพราะที่ผ่านมามีแต่ทางด้านวิชาการล้วน ๆ อยากทราบว่าทางด้านไอทีมีผลงานอะไรกันบ้าง ถึงตรงนี้แล้วก็ขอเชิญชวนท่านอาจารย์และนักศึกษาทั้งหลายที่กำลังทำวิจัยอยู่ให้เตรียมส่งบทความมานำเสนอในการประชุม NCSEC2004 ที่สงขลาได้แล้ว

    ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้มีงานสัมมนาทางด้านไอซีทีมากมาย ผมไม่สามารถแบ่งภาคตัวเองไปเข้าฟังการสัมมนาได้ทุกเรื่อง แต่อยากจะกล่าวถึงสัมมนาเรื่องเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนองค์กรที่ทางไอบีเอ็มได้จัดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 21 พฤศจิกายน ชื่อของสัมมนาก็คือ Re-Inventing the Enterprise. ผู้เป็นวิทยากรมีทั้งคุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการของไอบีเอ็มเอง คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารเอเซีย จำกัด (มหาชน) และ คุณวิชิต ญาณอมร ที่ปรึกษาฝ่ายระบบสารสนเทศและเทคโนโลยี จาก บริษัทเงินทุนธนชาติ จำกัด (มหาชน) เนื้อหาที่นำมาเสนอนั้นต้องกล่าวว่าน่าสนใจมากเพราะเป็นเรื่องที่บริษัททั้งสามแห่งดังกล่าวได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ องค์กร และความคิดในการดำเนินงานด้านไอซีทีอย่างไรบ้าง จนกระทั่งสามารถเติบโตก้าวหน้าต่อไปได้ด้วยความมั่นใจ ผมคิดว่าหน่วยงานต่าง ๆ ในภาครัฐและเอกชนของเราก็จำเป็นต้องสนใจในเรื่องทำนองนี้ให้มากขึ้น หลายหน่วยจะต้องแก้ไขปรับปรุงการทำงานใหม่ อีกหลายหน่วยจะต้องคิดวิธีการใช้ไอซีทีให้เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น และ อีกหลายหน่วยจะต้องหาทางปรับเปลี่ยนความคิดความเห็นของบุคลากรในหน่วยงานให้เข้าใจเรื่องเทคโนโลยีและการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

    ในภาพรวมแล้ว สิ่งที่ผมต้องการจะเรียนให้ท่านทราบก็คือ เราต้องถามตัวเองทุกวัน ว่าเราได้ทำอะไรให้ตัวเองและหน่วยงานเจริญก้าวหน้ามากขึ้นบ้างหรือไม่ หากไม่ได้ทำอะไรเลยก็น่าเสียดายมาก เพราะเท่ากับว่าเราได้ปล่อยให้หน่วยงานอื่นและคนอื่นเขาได้ก้าวผ่านเราไปเรียบร้อยแล้ว

ครรชิต มาลัยวงศ์   
1 ธันวาคม 2546  

 

Back