Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive

คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

Home
IT Idea for Spiritization

คำทักทาย ณ วันที่ 17 มีนาคม 2546

สวัสดีครับ

                ฤดูกาลผันเปลี่ยนหมุนเวียนไปรวดเร็วเหลือเกินครับ  เราเพิ่งจะผ่านปีใหม่มาหยก ๆ   เราเพิ่งพบวิกฤติการณ์ไข้หวัดนกมาชนิดที่หลายคนยังไม่ทันจะเริ่มกลับมากินไก่อีกครั้ง  แล้ววันนี้ไทยเราก็เริ่มย่างเข้าสู่ฤดูร้อนอีกครั้ง  แต่เป็นฤดูร้อนที่แปลกเพราะมีกระแสลมเย็นพัดผ่านเข้ามาเป็นระยะ ๆ ทำให้เกิดฝนตกลงมาประปรายแบบที่เรียกว่าฝนชะช่อมะม่วง   ท่านอาจารย์สุธรรม อารีกุล อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เล่าให้ฟังว่า  ถ้าหากฝนมีปริมาณน้อยยอดมะม่วงจะมีเพลี้ยเกาะและไม่ติดลูก  แต่ถ้าหากฝนตกหนักมากสักหน่อย  น้ำฝนจะชะเพลี้ยเหล่านี้ไปหมด  และต้นมะม่วงจะให้ผลดี

                ที่กล่าวมานี้ก็เป็นความรู้อันเป็นภูมิปัญญาและวิทยาศาสตร์ของไทย   เราต้องรีบเร่งช่วยกันค้นคว้าเก็บความรู้เหล่านี้เอาไว้ให้เป็นระบบเพื่อถ่ายทอดลงไปสู่คนไทยในอนาคต   เวลานี้เป็นเรื่องดีที่เราเริ่มเห็นความสำคัญของสารสนเทศและความรู้กันมากขึ้นแล้ว   แต่จำนวนผู้สนใจยังน้อยไป  และเยาวชนไทยเองก็ยังสนใจน้อยเกินไป 

                ผมจึงอยากจะเชิญชวนมิตรสหายที่สนใจอ่านเว็บของผมให้ช่วยกันแก้ไขจุดอ่อนของคนไทยในด้านนี้  นั่นคือช่วยกันผลักดันให้เยาวชนไทยมีความใฝ่รู้มากขึ้น  รักทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น  ไม่จ้องแต่จะทำลายสินทรัพย์ที่ติดมากับพื้นแผ่นดินไทยให้หมดไปอย่างที่ทำกันอยู่เวลานี้   นอกจากนั้นก็ อยากให้สนใจเรียนรู้ในเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและประเทศชาติมากขึ้น  ศึกษาศาสนาที่ตนเองนับถือให้ลึกซึ้งมากขึ้น  มีคุณธรรม และ ศีลธรรมมากขึ้น   พวกเราคงไม่อยากให้ประเทศไทยอันเป็นที่รักของเราต้องตกต่ำในสายตาของชาวโลก   แต่ถ้าหากวิถีชีวิตของคนไทยยังคงเป็นอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้  เราก็คงไม่มีวันที่จะเห็นประเทศไทยรุ่งเรืองเหมือนประเทศอื่น ๆ ได้  

                ในช่วงครึ่งเดือนที่ผ่านมา  ผมมัวยุ่งอยู่กับการสะสางงานจึงไม่มีเวลาไปร่วมงานที่น่าสนใจหลายงานด้วยกัน  เช่นการเปิดสาขาสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติที่ภูเก็ตเมื่อวันที่ 1 มีนาคม  หรือการจัดงานสมัชชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งที่ 3 ที่อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 16 มีนาคม   งานแรกนั้นต้องบอกว่าเสียดายครับเพราะผมเป็นกรรมการบริหารของสำนักงานนี้จึงควรไปร่วมด้วย   ส่วนงานที่สองนั้นผมก็เสียดายเหมือนกัน แต่ไม่ได้เสียดายที่ไม่ได้ไปร่วมนะครับ   ผมเสียดายเงินค่าจัดมากกว่าครับเพราะงานนี้ใช้งบประมาณไป 14 ล้านบาทเพียงเพื่อจัดงานวันเดียวเท่านั้น  แล้วงานนี้ก็จะเหมือนงานสมัชชาที่เคยจัดมาแล้ว  นั่นก็คือลงท้ายก็จะได้หนังสือสรุปเรื่องที่พูดกันมาหนึ่งเล่ม  จากนั้นก็นำไปวางไว้บนหิ้งอีกหนึ่งเล่ม  เพราะเรื่องที่สรุป ๆ กันก็เป็นเรื่องที่รู้อยู่แล้วทั้งนั้น

                ผมคิดว่าเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี่เรายังเดินไม่ค่อยจะถูกทาง  การตั้งให้เป็นกระทรวงนั้นโดยหลักการแล้วน่าจะเป็นการจัดให้มีหน่วยงานสำหรับสนับสนุน  แต่ไป ๆ มา ๆ กระทรวงก็หันมาเล่นบทบาทควบคุมมากกว่าส่งเสริม  มิหนำซ้ำการดำเนินการยังพลั้งพลาด  ก่อให้เกิดปัญหาตามมาดังเช่นกรณีของการสร้างเขื่อนราศีไศล และ การก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่องครักษ์   ซึ่งทั้งสองกรณีได้ทำให้เกิดการประท้วงอย่างยืดยาวต่อมา   แทนที่จะคิดกันว่าวิทยาศาสตร์ไทยจะไปทางไหน  ควรจะสัมมนาว่ากระทรวงวิทย์ฯ  และ สวทช. น่าจะไปทางไหนมากกว่า

                เท่าที่ผ่านมารู้สึกว่า สวทช. จะชอบจัดงานแบบนี้  แต่ในอนาคตน่าจะลองเปลี่ยนมาจัดสมัชชาแบบ Webcast ดูบ้าง  หรือไม่ก็เปิด Web Board ให้แลกเปลี่ยนทัศนะกันเป็นกลุ่ม ๆ  เงินทองก็ไม่ต้องเสียมากนัก  อีกทั้งยังจะได้ความคิดจากคนไทยกว้างขวางมากขึ้นไปอีก

                สำหรับในเว็บของผมช่วงครึ่งเดือนมีนาคมนี้  ผมมีแต่เรื่องหนังสือมาให้อ่านสองเล่ม  ส่วนเรื่องอื่น ๆ ที่เตรียมไว้นั้นยังไม่สมบูรณ์จึงยังนำมาให้อ่านไม่ได้ครับ  ขอผัดไปเป็นคราวหน้าก็แล้วกัน

พบกันในเมษานะครับ
สวัสดีครับ
ครรชิต มาลัยวงศ์
17 มีนาคม 2004  

 

 

Back