Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

Home
IT Idea for Spiritization

เยี่ยมชม Tokyo University of Technology

ดร. ครรชิต มาลัยวงศ์

        ช่วงแปดนาฬิกาของ วันที่ 22 กรกฎาคม 2551 คณะผู้บริหารจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคล ล้านนา (มี อธิการบดีเป็นหัวหน้าคณะ รองอธิการบดี คณบดี และ อาจารย์หลายคน รวมทั้ง ผมในฐานะกรรมการสภาวิชาการ และ ดร. อนรรฆ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรี ซึ่งเป็นอดีตนักศึกษาปริญญาตรี, โท, และ เอก จากประเทศญี่ปุ่น รับเป็นผู้ประสานงานและล่าม) ได้ออกจากโรงแรม Toyoko Inn ในย่าน Akabane แล้วนั่งรถไฟจากสถานีแห่งนี้ไปต่อรถไฟที่ชินจูกุไปยังสถานี Hachioji แล้วต่อรถไฟอีกสองสถานีไปยัง Hachioji – minamino กว่าจะมาถึงก็ใช้เวลาเดินทางชั่วโมงเศษแล้ว ใกล้กับสถานีรถไฟแห่งนี้มีศูนย์การค้าเล็ก ๆ ซึ่งพวกเราเดินหลบแดดเข้าไปใช้บริการห้องน้ำกัน แล้วก็เดินออกจากอาคารข้ามถนนไปที่สี่แยก ซึ่งมีป้ายจอดรถบริการของมหาวิทยาลัย Tokyo University of Technology และขณะนั้นมีนักศึกษามายืนรออยู่หลายสิบคนแล้ว พวกเรารออยู่ไม่นานก็มีรถบัสบริการคันใหญ่รับพวกเราไปยังมหาวิทยาลัย

        จากที่จอดรถบัส เราต้องเดินอ้อมอาคารบริเวณที่จอดรถบัส ไปยังอาคารสำนักงานอธิการบดี เมื่อเดินพ้นเหลี่ยมอาคารมาก็พบว่า ภูมิทัศน์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้สวยงามมาก มีทั้งเนินลาดซึ่งออกแบบเป็นทางเดิน และทางน้ำไหลลดหลั่นอยู่ตรงกลางสนามหญ้า และมีทางเดินมีหลังคาพลาสติกคลุมฝนแต่ไม่สามารถบังแดดจากอาคารที่เราเพิ่งลงจากรถบัส มุ่งหน้าไปยังอาคาร Katayanagi Research Laboratory ซึ่งออกแบบได้สง่างามมาก อาคารหลักเป็นอาคารคอนกรีตสูง 18 ชั้นอยู่ตรงกลาง มีปีกขยายออกไปทั้งสองข้างแต่ละด้านสูงในราวหกชั้น ปีกทั้งสองนี้มีผังเป็นแนวครึ่งวงกลมโอบอุ้มลานขนาดใหญ่เอาไว้ อาคารส่วนปีกนี้ด้านล่างสุดก่อเป็นเสาคอนกรีตเรียงรายทั้งด้านหน้าและหลังอาคารเพื่อรองรับส่วนที่เป็นสำนักงานด้านบนสองชั้น ด้านหน้าเป็นลานกว้าง

        ทางเดินที่มีหลังคาคลุมนั้นอยู่ตรงริมขอบของ สนามหญ้าที่ปลูกไม้ใบและไม้ดอกพร้อมกับตกแต่งพุ่มเป็นแถวเป็นแนวอย่างงดงาม ตรงกลางสนามแห่งนี้เป็นทางเดินระหว่างอาคารกลุ่มบนกับกลุ่มล่าง ด้านข้างของสนามมีประติมากรรมที่งดงามและเป็นสัญลักษณ์สำคัญของที่นี่ คือ ฝูงม้าจำนวนสิบตัวกำลังแสดงท่าทางวิ่งผาดโผนตามกันอยู่ ฝูงม้าเหล่านี้หล่อด้วยโลหะบรอนซ์สีน้ำตาลมันวาวขนาดเท่าม้าจริง ๆ

        เราเดินไปที่สำนักงานอธิการบดีก่อน ที่ด้านล่างมีคุณ Miyakashi ผู้ประสานงานทางญี่ปุ่นมาต้อนรับแล้วพาพวกเราขึ้นไปยังห้องประชุมชั้นบน ที่นี่มีโมเดลรูปหล่อม้าสิบตัวที่อยู่ด้านล่างวางไว้ให้ชมด้วย ตามกำหนดนั้นเราจะมีการพบปะสนทนากับอธิการบดีของ TUT ในช่วงบ่ายสองโมงเย็น แต่เรามาถึงในช่วงสาย ๆ ทางมหาวิทยาลัยก็เลยจัดอาจารย์และนักเรียนไทยสามคน ให้พาพวกเราแยกกันเป็นกลุ่มเพื่อพาไปชม Lab ต่าง ๆ จากนั้นเราจะต้องไปรับประทานอาหารที่อาคารโรงอาหารเอง แล้วจึงกลับมาพบกันที่ห้องประชุมก่อนที่จะเริ่มประชุมอย่างเป็นทางการ การเยี่ยมชมนี้ทางญี่ปุ่นขอให้คณะของเราแบ่งเป็นสามกลุ่ม และแนะนำว่าขณะนี้ทางญี่ป่นอากาศร้อนมาก ท่านอธิการบดีจึงมีนโยบายให้อาจารย์และเจ้าหน้าที่แต่งตัวตามสบาย ไม่ต้องใส่สูท และไม่ต้องผูกเนคไท เพื่อจะได้เป็นการประหยัดพลังงานไปด้วย ผมคิดว่านี่เป็นการแสดงออกถึงการพยายามประหยัดพลังงานจริง ๆ คือไม่ได้พูดอย่างเดียว แต่มีการสร้างแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมด้วย

        คุณมิยาคาชิ พากลุ่มของผมซึ่งมีท่านอธิการบดีไชยงรวมอยู่ด้วยไปยังอาคาร Katayanagi Research Lab เพื่อดูงานวิจัยของนักศึกษาทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ อาคารแห่งนี้สร้างได้สวยงามดังกล่าวมาแล้ว เมื่อเข้าไปข้างในอาคารก็เห็นเป็นห้องโถงใหญ่ พื้นปูหินแกรนิตสีเทาอมชมพู ส่วนหนึ่งของพื้นห้องโถง เขานำเอาภาพถ่ายจากดาวเทียมของโลกมาวาดไว้บนพื้นเป็นภาพวงกลมสองภาพ แสดงให้เห็นลักษณะภูมิทัศน์ของโลกเมื่อมองจากอวกาศ ส่วนฝาผนังอีกด้านหนึ่งเป็นภาพสลักรอยบนหิน แต่ผมไม่ได้เข้าไปดูใกล้ๆ ว่ามีลักษณะอย่างไร

        ห้อง Lab แรกก็คือห้องปฏิบัติการด้าน RFID ซึ่งเขาแนะนำโครงการนักศึกษาให้เราดูสองเรื่อง เรื่องแรกเป็นการติด RFID กับขวดน้ำ และ อาหาร แล้วนำไว้ในตู้เย็น เขาติดเครื่องอ่าน RFID ไว้ในตู้เย็นด้วย เมื่อนำเอาขวดที่มีแถบ RFID ออกไป ระบบก็จะบันทึกการเคลื่อนไหว และ แสดงให้ดูบนหน้าจอ งานแบบนี้ไม่ใช่งานใหม่เอี่ยม แต่เป็นงานที่มีผู้กล่าวถึงมานานแล้ว เช่น ระหว่างเรากลับบ้าน เราอาจจะโทรศัพท์ไปเช็คกับคอมพิวเตอร์ก็ได้ว่าเราจะต้องแวะซื้ออะไรกลับบ้านบ้าง งานนี้ดูเหมือนเป็นงานง่าย ๆ และมองไม่เห็นประโยชน์มากนัก แต่ความจริงแล้วเป็นงานที่ช่วยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เพราะบางครั้งเราอาจจะลืมไปตรวจดูของในตู้เย็นว่าจะต้องซื้ออะไรกลับบ้านบ้าง การตรวจสอบผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือ ทางโทรศัพท์มือถือ จะช่วยให้เราไม่ต้องกลับบ้านไปเปิดตู้เย็นดูแล้วกลับออกไปซื้อของที่ต้องการ RFID หรือ Radio Frequency Identification นั้น มีสองแบบ คือ แบบ Passive และ Active เป็นชิปเล็ก ๆ ที่สามารถส่งคลื่นวิทยุบอกเครื่องรับให้รู้หมายเลขประจำตัว (Identification number) ที่บันทึกเอาไว้ในชิปได้ สำหรับแบบที่ทางนักศึกษานำมาใช้นั้นคือแบบ Passive หมายความว่าเป็นแบบที่ไม่มีพลังงานในตัว แต่จะอาศัยพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเครื่องตรวจรับ แล้วเกิดกระแสไฟฟ้าไหลไป activate ชิป ให้ส่งสัญญาณวิทยุไปยังเครื่องรับ สัญญาณนี้ไม่แรงมากนัก สามารถส่งไปได้ใกล้ๆ เช่นประมาณ 1 เมตร ส่วน RFID ประเภท Active จะมีขนาดใหญ่กว่า และต้องมีแหล่งพลังงานให้สามารถส่งคลื่นวิทยุแจ้งหมายเลขตัวเองออกไปได้

        อีกงานหนึ่งก็คือ การนำเอาเสื้อผ้าลักษณะต่าง ๆ ลงใส่ในเครื่องซักผ้า เสื้อผ้าต่าง ๆ นั้นเขามีข้อกำหนดว่าจะต้องซักอย่างไร ซักมือ หรือซักเครื่อง หากเรานำเสื้อผ้าที่ต้องซักด้วยมือลงในเครื่องซักผ้าแล้ว เครื่องจะเตือนให้ทราบ ผมถามว่าเขาเอา RFID ติดที่ไหนบนเสื้อ เขาตอบว่าแค่สอดเข้าไปในกระเป๋าเสื้อ ผมถามต่อว่าแล้วเขาเอาเครื่องอ่านไว้ที่ไหนของเครื่องซัก เขาตอบว่าไม่ได้ไว้ในเครื่องซักหรอก แต่ไว้ที่ข้างนอกที่วางเสื้อผ้านั่นแหละ คือขณะนี้เขาเพียงแต่กำลังพิสูจน์ว่ามันทำงานได้ ยังไม่ได้พยายามจะนำไปใช้งานจริง งานวิจัยแบบนี้มีคุณค่าในทางปฏิบัติ เพราะเราจะต้องคิดต่อไปว่า ต่อไปจะเอา RFID ติดที่ไหน เช่น ที่กระดุมเสื้อ (ซึ่งต้องเลือกว่าเป็นกระดุมที่ไม่ขาดง่าย และต้องคิดว่าจะเอาเครื่องอ่าน RFID ไว้ที่ไหน เช่นที่ฝาเครื่องซักผ้าดีหรือไม่ เครื่องอ่านจะได้รับผลกระทบจากไอน้ำ, น้ำ หรือ ความร้อนหรือไม่

        Lab ต่อมาเป็น Lab หุ่นยนต์ ซึ่งที่นี่เขาแสดงหุ่นยนต์เตะฟุตบอล โดยใช้กล้องจับการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ แล้วมีโปรแกรมบังคับให้หุ่นยนต์เลื่อนพาฟุตบอลเข้าประตู งานวิจัยนี้ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะเวลานี้มีการแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอลกันอยู่เสมอ ๆ อยู่แล้ว เรื่องหุ่นยนต์นี้ทางมหาวิทยาลัยของไทยก็ค้นคว้ากันมาก ขณะที่เรามาเยี่ยมชมญี่ปุ่นอยู่นี้ ก็มีนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยในระดับโลกด้วย งานวิจัยทางด้านหุ่นยนต์นั้นต้องใช้องค์ความรู้หลายเรื่องมาก นอกจากหุ่นยนต์เตะฟุตบอลแล้ว ก็มีรถอัตโนมัติ ซึ่งที่นี่ทำเป็นเหมือนรถเข็นแต่ติดอุปกรณ์ให้ถีบได้เหมือนรถจักรยาน และมีคันบังคับสำหรับควบคุมรถเอาไว้ด้วย เรื่องหุ่นยนต์นี้ต้องใช้องค์ความรู้หลายด้าน และทางราชมงคลล้านนาก็ควรวิจัยให้จริงจังมากขึ้นเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับบรรดาผู้ป่วยที่ปรารถนาจะใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ คือช่วยตัวเองได้ระดับหนึ่ง

        Lab ต่อมาเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับ Semantic Search ซึ่ง นักศึกษาปริญญาเอกของเขาแสดงการใช้โปรแกรมค้นหาคำใดคำหนึ่ง (ผมลอง key คำว่า Internet 2 เข้าไป) จากนั้น คอมพิวเตอร์ก็แสดงกราฟแสดง keyword ต่าง ๆ พร้อมกับแสดงเส้นแสดงความสัมพันธ์เชื่อมโยง Keyword โดยที่ keyword ที่อยู่ใกล้กับคำ Internet มากที่สุด จะอยู่ใกล้มากที่สุด ส่วน keyword อื่น ๆ จะอยู่ไกลออกไป

        ผมเชื่อว่างานนี้ก็คืองานที่เรียกว่า Ontology นั่นเอง แต่เมื่อพูดถึงคำนี้ ทางทางญี่ปุ่นกลับไม่เข้าใจ ผมก็เลยไม่ได้อธิบายต่อ

        ต่อจากนั้นเขาก็พาพวกเราเดินชมห้องเรียนต่าง ๆ โดยเฉพาะห้องเรียนขนาด 600 ที่นั่ง ซึ่งเป็นห้องที่ทำพื้นลาดเอียงจากด้านหลังห้องไปยังเวทีด้านหน้าของห้อง ขณะที่อาจารย์สอนอยู่นั้นจะมีการบันทึกการสอนของอาจารย์เก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ และ นักศึกษาอาจจะมาขอสำเนาไปศึกษาได้ทันทีที่เรียนจบ (เรื่องนี้ก็คล้าย ๆ กับที่หลายมหาวิทยาลัยของไทยได้ทำไปแล้ว) งานส่วนนี้ทาง TUT เรียกว่าเป็นงาน Content Technology ของมหาวิทยาลัย

        ห้องปฏิบัติการอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาพาเราไปดูก็คือห้องปฏิบัติการด้าน BioNanoTechnology เห็นชื่อก็พอทราบแล้วว่ารวมเทคโนโลยีสำคัญคือ ด้านชีวภาพ และ นาโนเทคโนโลยีมาบูรณาการกัน ในห้องปฏิบัติการแห่งนี้มีเครื่องมือสำคัญก็คือ จุลทรรศน์อิเล็กตรอน สองเครื่องด้วยกัน เครื่องแรกเป็นเครื่อง Field Emission Scanning Electron Microscope มีความพิเศษคือสามารถสะแกนภาพที่ส่องได้ ถึง 0.6 นาโนเมตร การที่กล้องแบบนี้สามารถเห็นภาพที่เล็กมากขนาดอะตอมได้นั้น มาจากการที่เขาใช้ลำอิเล็กตรอนปฐมภูมิฉายเข้าไปที่พื้นผิวของตัวอย่าง การกระทำของลำอิเล็กตรอนทำให้เกิดพลังงานขนาดต่ำจากอิเล็กตรอนทุติยภูมิเกิดขึ้น กล้องมีตัววัดพลังงานแล้วนำไปสร้างเป็นภาพในแบบสามมิติได้ ปกติแล้วจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบอื่นไม่สามารถจะสะแกนภาพแบบนี้ คือได้แต่มองผ่านทะลุวัตถุไปเท่านั้น ภาพที่เขาถ่ายจากกล้องมาให้เราชมก็คือ Carbon nanotube ซึ่งเป็นผลึกคาร์บอนที่จัดเรียงตัวแบบพิเศษมาก คือเป็นท่อกลวง ๆ มีหน้าตัดเป็นรูปหกเหลี่ยม แต่มีขนาดเล็กมาก กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนเครื่อง นี้เป็นความภูมิใจของเขา เพราะมีเพียง 3 เครื่องในโลกเท่านั้น

        กล้องจุลทรรศน์เครื่องที่สอง เป็นเครื่องชนิด TEM (Transmission Electron Microscope) ที่มี 20 เครื่องในโลก และมีความสามารถเพิ่มเติมคือ สามารถดูการกระจาย (distribution) ของพลังงานในวัสดุที่กำลังส่องได้ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบนี้ทำงานด้วยการใช้ลำอิเล็กตรอนที่มีโวลเตจสูงยิงเข้าไปที่ผิวของวัตถุที่ต้องการดูซึ่งต้องเตรียมมาเป็นพิเศษให้บางมาก อิเล็กตรอนบางตัวจะทะลุตัวอย่างวัตถุไป แล้วถูกขยายด้วยเลนส์ของกล้องทำให้เกิดเป็นภาพขึ้น

        อุปกรณ์สำคัญอีกอย่างก็คือ Photoelectron Spectrometer ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์แสงหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และนิยมใช้ในการวิเคราะห์แยกประเภทของสสาร Electron Beam Lithography เป็นระบบ

        อุปกรณ์สำคัญที่เล่ามานี้เป็นผลิตผลของบริษัทญี่ปุ่นชื่อ JEOL ซึ่งเริ่มต้นคิดค้นและผลิตกล้องจุลทรรศน์มาตั้งแต่ปี 2491 คือหลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามใหม่ ๆ และบริษัทนี้ก็เติบโตเรื่อยมาจนเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการผลิตภัณฑ์แบบนี้

        เขาพาเราขึ้นไปชั้นบนสุด ซึ่งเป็นห้องโถงกว้างขวาง ปูพรมผืนใหญ่ ฝาผนังวาดภาพขนาดใหญ่เป็นรูปเหมือนโบสถ์ในเวนิส และวิหารขนาดใหญ่ ผนังอีกสองด้านเป็นหน้าต่างกระจกซึ่งมองลงมาเห็นภูมิทัศน์ที่งดงามข้างล่าง แลเห็นชัดเจนว่า ด้านนอกมหาวิทยาลัยมีเนินเขาเล็ก ๆ และป่าล้อมรอบ มองออกไปไกล ๆ ทางด้านหลังก็เห็นหอพักนักศึกษาซึ่งต้องใช้เวลาเดินในราว 15 นาทีจึงจะมาถึงมหาวิทยาลัย

        ต่อจากนั้นเราก็เดินไปยังอาคารโรงอาหารซึ่งมีสองชั้น ขณะนั้นเที่ยงเศษแล้ว เราพอจะมีนั่งพอเพียงสำหรับกลุ่มย่อยของเรา ที่นี่เป็นคาเฟทีเรีย มีครัวให้สั่งอาหารและไปยกมากินเอง กินเสร็จก็ต้องยกถาดไปเก็บ ผมกับอาจารย์สามคนสั่งราเมนน้ำมากิน ส่วนอาจารย์อีกหลายคนกินข้าวราดหน้าหมูทอด เมื่อรับประทานเสร็จเราก็เปลี่ยนไปนั่งกินกาแฟและไอศครีมที่อีกฟากหนึ่งของอาคาร โดยสั่งจากร้าน Subway เมื่อกินเสร็จแล้วเราก็เดินกลับไปที่ห้องประชุม อาคารสำนักงานอธิการบดี

        เมื่อคืนนี้อาจารย์ของราชมงคล มี อ. เรไร, อ. ยุพเยาว์, อ.จตุฤทธิ์ มานั่งคุยกับผมว่าจะเตรียมตัวนำเสนออย่างไรดี ผมก็ให้คำแนะนำไปว่า ในการมาสร้างความร่วมมือนั้นต้องพิจารณาในแบบเสมอภาค คือ มีอะไรที่เรารอยากได้จากเขา ก็ต้องแลกในสิ่งที่เขาอยากได้จากเรา ทาง อ. ยุพเยาว์ก็รับไปพิจารณาปรับแก้รายละเอียด และ แนวทางการนำเสนอให้สอดคล้องกับที่ผมแนะนำ

        เมื่อถึงเวลาบ่ายสองโมงเศษ อธิการบดี ของ TUT ก็เข้ามาแนะนำตัว จากนั้นเราก็เริ่มประชุมหารือกันเกี่ยวกับความร่วมมือ โดย คุณมิยากาชิ กล่าวว่าเมื่อเช้าได้พาชาวคณะราชมงคลล้านนาไปเที่ยวชมห้องปฏิบัติการมาแล้ว ช่วงนี้จะเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการ เริ่มต้นด้วยการเชิญอธิการบดี คารูเอะ ฮิชาโตะ เป็นผู้กล่าวต้อนรับ

        ท่านอธิการบดี ฮิชาโตะ กล่าว ท่านเพิ่งเข้ารับตำแหน่งแหน่งเป็นอธิการบดีเมื่อเดือนมิถุนายนนี้เอง ก่อนหน้านี้ท่านเป็นรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัย ในด้านวิชาการนั้นท่านทำงานทางด้าน Bio-electronic ซึ่งเป็นสาขาที่ใหม่มาก และ เน้นการวิจัยด้าน Biosensor เมื่อ 20 ปีมาแล้วมีการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง Biosensor ครั้งแรกของโลก และเราอาจจะแปลกใจเพราะเป็นการจัดประชุมที่กรุงเทพฯ ท่านเองก็มาเสนอบทความในคราวนั้นจากการเชิญของพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ การประชุมนี้จัดทุกสองปี และเพิ่งจัดครั้งที่สิบไปที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ตัวท่านเองเคยไปประเทศไทยรวมสองครั้งด้วยกัน และโดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าคนไทยมีสัมมาคารวะ ประเทศสวยงาม และยังนับถือศาสนาพุทธ ทำให้เชื่อมต่อกับญี่ปุ่นได้ง่าย ทำให้ท่านคุ้นเคยกับคนไทยมาก

        สำหรับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีโตเกียวนั้น ก่อตั้งมาเป็นปีที่ 22 ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก นั่นคือจะสร้างอีกสองคณะ คณะหนึ่งจะอยู่ใกล้สนามบินฮาเนดะ (สนามบินเดิมก่อนที่จะสร้างสนามบินนาริตะ แต่ปัจจุบันก็ยังใช้อยู่)

        คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) ที่เราจะคุยกันวันนี้นั้นเป็นคณะที่ unique ไม่เหมือนคณะชื่อเดียวกันในมหาวิทยาลัยอื่น เพราะเมื่อ 7 ปีมาแล้ว ได้เริ่มดำเนินการสอนระบบปฏิบัติการ Linux ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง แล้วยังเน้นด้าน Open Source Software (ซอฟต์แวร์ซึ่งผู้เขียน ยินดีเปิดเผยรายละเอียด และนำเข้ากองกลางให้คนอื่น ๆ นำไปใช้หรือ พัฒนาต่อ ซอฟต์แวร์บางอย่างก็ให้เปล่า ไม่คิดมูลค่า แต่ซอฟต์แวร์บางอย่างที่ทำสำเร็จอย่างดีแล้ว ก็มีผู้ทำขึ้นแล้วนำมาให้ใช้เหมือนกัน แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าใช้แล้วชอบใจ ขอให้ช่วยกรุณาโอนเงินมาให้ผู้พัฒนาสัก 30 เหรียญ หรือราว ๆ นั้น พวกเรามักจะคิดว่า Open source software เป็นของฟรี ความจริงไม่ใช่ แต่ก็เกือบจะให้เปล่า) ทางคณะได้เปิดสอนเรื่อง Linux และ Open source software ให้แก่คนทั่วไปรับทราบจนมีชื่อเสียง คณะนี้แบ่งออกเป็นห้าสาขาคือ

  • Programming หรือ การเขียนโปรแกรม
  • Content หรือ ด้านเนื้อหา
  • Animation and Game หรือ การสร้างภาพเคลื่อนไหวในคอมพิวเตอร์ และ การโปรแกรมเกม
  • Robot หรือ หุ่นยนต์
  • Bionics
  • Mobile Network
  • Internal Service Course

        การรับเด็กเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนั้น ขณะนี้มีวิธีการสอบแบบใหม่ ๆ หลายแบบ แต่ก่อนนี้ทั้งญี่ปุ่นรับนักศึกษาได้หนึ่งล้านสองแสนคน ขณะนี้เหลือเพียงแปดแสนคนเท่านั้น เมื่อนักเรียนมีจำนวนน้อยลง แต่ละมหาวิทยาลัยก็ต้องพยายามพลิกแพลงหาทางให้มีนักเรียนมาเรียนในมหาวิทยาลัยมากขึ้น อย่างไรก็ตามทาง TUT ยังไม่มีปัญหาในด้านนี้

        ในด้านวิชาการคอมพิวเตอร์นั้น ความจริงก็ไม่ใช่สาขาที่น่าสนใจนัก ทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถป้อนบัณฑิตให้แก่อุตสาหกรรมได้ TUT จึงต้องพยายามสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั่วโลก คิดค้นวิธีที่จะทำให้นักเรียนกลับมาสนใจ TUT เองก็ได้ลงทุนด้านนี้ไปมาก มีการตั้งรางวัลปีละสองรางวัลให้แก่เด็ก CS โดยใช้ชื่อรางวัลตามชื่อผู้ก่อตั้งคือ Katayanagi

        หลังจากท่านอธิการบดีฮิชาโตะ กล่าวแนะนำเสร็จ ท่านอธิการบดีไชยง ก็กล่าวแนะนำตัว และบอกว่าการมาเยี่ยมเยือนคราวนี้ก็เป็นครั้งที่สองแล้ว ขอขอบคุณที่ทาง TUT ต้อนรับพวกเราอย่างดีทุกครั้ง พวกเราสนใจ TUT เพราะมีวัฒนธรรมที่คล้ายกับราชมงคลล้านนาหลายอย่าง คือ มีอาจารย์ที่โอบอ้อมอารี และ มีสัมมาคารวะ มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีสิ่งที่น่าสนใจทางวิชาการหลายอย่าง ดังนั้นจึงได้เชิญผู้บริหารและที่ปรึกษามาดู และหวังว่าท่านอธิการบดีของ TUT และ ผู้บริหารคงจะให้เกียรติเดินทางไปเยี่ยมชมราชมงคลล้านนาบ้าง

        ต่อจากนั้น ดร. ยุพเยาว์ ได้นำเสนอเรื่องราวของราชมงคลล้านนาให้ทาง TUT ได้ทราบบ้าง และ บอกว่าเราสนใจจะส่งอาจารย์มาเรียนที่นี่

        อธิการบดี ฮิชาโตะ กล่าวว่ายินดีรับอาจารย์ของราชมงคลล้านนามาเรียนในหลักสูตรต่าง ๆ ของ TUT ทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในสาขาที่มหาวิทยาลัยเปิดสอน

        (ในช่วงนี้ได้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการรับอาจารย์เข้ามาเรียนเลย เพราะทางราชมงคลล้านนามีทุนอยู่แล้ว ในที่สุดได้สรุปว่าจะต้องเริ่มต้นด้วยการทำ MOU กันก่อน จากนั้นก็อาศัยแนวทางนี้ในการเดินหน้าต่อ)

        อธิการบดี ฮิชาโตะ กล่าวว่า ท่านกำลังเร่งสร้างวิทยาเขตใหม่เพื่อรองรับสองคณะคือ Medical Technology and Science และ School of Design วิทยาเขตแห่งใหม่จะให้มีห้องเรียนขนาดใหญ่ 600 คน มีพื้นที่สำหรับใช้สอนและประชุมนานาชาติ, มี Internet Lounge, ออกจากห้องก็เป็น สวน, มีที่จัดนิทรรศการ, มีห้องสมุดที่โล่งสบาย การก่อสร้างจะเป็นสามระยะ ระยะแรกสร้างอาคารและเนื้อที่ 55,000 ตารางเมตร ระยะที่สองสร้างอีก 33,000 ตารางเมตร และระยะที่สาม จะสร้าง Arena ใต้ดินอีก 1 หมื่นตารางเมตร ซึ่งอยากให้เสร็จเร็ว ๆ

        ต่อมาในช่วงเวลา 16.20 น. พวกเราเริ่มสนทนากับทาง TUT เกี่ยวกับหลักสูตร Computer Science อาจารย์วินิจ ถามเป็นคนแรกว่า ทาง TUT มองอนาคตเกี่ยวกับ CS ในช่วง 15 ปีข้างหน้าอย่างไรบ้าง ในประเด็นนี้ทาง TUT ตอบว่า เมื่อพิจารณาจากแง่มุมของการให้รางวัล Katayanagi แล้ว เห็นว่าในอนาคต CS จะเป็นศาสตร์ของคนทุกสาขา คนทุกคนต้องรู้จักวิทยาการคอมพิวเตอร์ สำหรับทางด้าน TUT นั้น สาขาวิชา Robotics ก็ย้ายมาอยู่กับ CS แล้ว ต่อไปในอนาคต เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ก็ต้องมีอุปกรณ์ไอทีฝังอยู่ข้างใน คือไอทีและ CS นั้นซึมซับฝังอยู่ในทุกเรื่อง เทคโนโลยีทางด้านนี้ก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ แต่คนที่ไม่เรียนจะไม่สนใจด้านนี้ เขาคิดว่าประเทศไทยก็คงจะเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนสนใจเล่นเกมมาก แต่ไม่สนใจคิดจะเรียนการสร้างเกม หรือ ไม่สนใจว่าจะ upgrade เกมได้อย่างไร สมัยนี้คนกำลังสนใจใช้ blog กันมาก ทำให้มีผู้นำข้อมูลข่าวสารส่วนตัวไปใช้ในด้านธุรกิจมากขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ใคร ๆ ก็ให้บริการ Internet service กันมากขึ้น แต่ทำอย่างไรจะให้เด็กสนใจเรียนมากขึ้น

        อาจารย์ถามตอบว่า ทาง TUT บริหารการนำศาสตร์ใหม่ ๆ มาใช้อย่างไร บริหารทรัพยากร, อาจารย์, และ นักศึกษาอย่างไร เพราะทาง TUT มีทั้งหลักสูตรเก่าและหลักสูตรใหม่

        TUT ตอบว่า ใน TUT นั้นมีส่วนที่เป็นวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัย ทางด้านมหาวิทยาลัยนั้นมีกระทรวงศึกษากำกับดูแล การปรับเปลี่ยนจากสาขาหนึ่งเป็นอีกสาขาหนึ่งนั้นต้องรับอาจารย์ใหม่หมด โดยคัดเลือกคนที่เก่งมาทำงาน การจะทำให้คนเก่าทำงานร่วมกับคนใหม่ได้นั้น เป็นปัญหาของ Leadership ส่วนทางด้านวิทยาลัยนั้นค่อนข้างยืดหยุ่น คือ สามารถสร้างวิชาต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการของคนได้ ถ้าสาขาใดไม่น่าสนใจ เราก็เปิดสาขาใหม่คือมีลักษณะ Dynamics มาก

        ผมถามว่า ในอนาคตรูปแบบการเขียนโปรแกรมจะเปลี่ยนไป เช่นใช้ Web Service และ Service Oriented Architecture หรือ SOA อยากทราบว่าทาง TUT มีวิธีการรับมืออย่างไร

        TUT ตอบว่า เรื่องนี้เป็นคำถามสำคัญมาก ขอพูดในฐานะเป็น Software Engineer ตอนนี้คนในมหาวิทยาลัยกับในอุตสาหกรรมมีระดับการศึกษาแตกต่างกันมาก สาเหตุเป็นเพราะมีการแข่งขันสูง การสอนหรือฝึกอบรมในบริษัทก็ลำบากมากขึ้น ปัจจุบันนี้มีระบบสารสนเทศเพียงไม่กี่โครงการที่มี Quality of Service และ สามารถส่งมอบผ่านเกณฑ์ที่กำหนด เท่าที่เป็นอยู่เวลานี้เอกชนเตรียมโครงการมาให้ทางมหาวิทยาลัยช่วยทำ และมีการร่วมมือกันมากขึ้น ส่วนปัญหาสำคัญก็คือ ภาษาเก่า ๆ จะสอนกันอย่างไร เรื่องนี้มหาวิทยาลัยคุยกับทางผู้ประกอบการว่าเขาต้องการอะไร เพราะเป็นเรื่องที่ทางผู้ประกอบการก็วิตกเหมือนกัน ส่วนทางด้าน TUT นั้น ในปี 1 นั้นเราสอน Java 4 หน่วย ส่วนปี 2 ก็สอนภาษา C อีก 4 หน่วยเหมือนกัน การแก้ปัญหาของเราก็คือ เรียน Java เป็นพื้นฐาน และเวลาสอนก็เน้นการประยุกต์ ส่วนเวลาที่นักศึกษาจะนำไปใช้งานจริง นักศึกษาต้องพิจารณาว่าทำไมต้องใช้ภาษานี้ และจะใช้เพื่ออะไร

        ผมถามต่อว่า เวลานี้มี Open Source Software ใช้กันมาก อยากทราบว่าทาง TUT พิจารณาเรื่องนี้อย่างไร TUT ตอบว่า สิ่งที่สำคัญคือ Middleware พวกที่ใช้ Mobile phone ใช้กันมาก สำหรับทางด้าน Business software นั้นใช้ไม่ได้ ต้องใช้ Tool สร้างโปรแกรมใหม่ เราก็ต้องสอนให้นักศึกษาทำแบบนี้ เพื่อที่จะได้นำความรู้ไปใช้ในบริษัทได้จริง

        ผมถามเรื่อง Embedded software ว่าเขาสอนหรือเปล่า เขาตอบว่าเรื่องนี้สำคัญ และมีการสอนเหมือนกัน แต่ไม่ได้เน้นเป็นพิเศษ

        หลังจากนั้นชาวคณะราชมงคลก็อำลากลับเมื่อราว 16.45 น.

        


Home | Back