ประเทศที่มีคนช่างคิด ช่างเขียน ช่างออกแบบ และผลิตผลงานทางด้านวรรณกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม สถาปัตยกรรม รวมไปถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และ งานกราฟิกส์ ออกมามาก ๆ นั้นล้วนหวงแหนสิ่งที่ตนได้ผลิตขึ้น เหตุผลสำคัญก็เพื่อจะได้มีรายได้และผลกำไรจากผลงานของตนมาก ๆ หากคิดอะไรออกมาแล้วจำหน่ายได้น้อย เพราะคนอื่นนำผลงานไปผลิตขายโดยไม่ต้องลงทุนอะไรเลยแบบนี้ เจ้าของผลงานก็ได้แต่ชอกช้ำ
ด้วยเหตุนี้ประเทศต่าง ๆ จึงมีกฎหมายคุ้มครองผลงานทำนองนี้ และเรียกการคุ้มครองนี้ว่า copyright ซึ่งแปลตามตัวว่า สิทธิ์ในการทำซ้ำ หรือ สิทธิ์ในการก็อปปี อีกนัยหนึ่งก็คือเจ้าของผลงานเป็นผู้เดียวที่มีสิทธิ์ในการทำซ้ำ (ทำซ้ำเป็นภาษากฎหมาย ความหมายก็คือผลิตออกไปมาก ๆ ) สำหรับนำไปจำหน่าย และถ้าไม่ทำซ้ำเองจะมอบสิทธิ์ให้ใครไปทำซ้ำเป็นการชั่วคราวก็ได้โดยเจ้าของผลงานยังมีสิทธิ์นี้เต็มบริบูรณ์อยู่ นอกจากนั้นยังอาจจะโอนสิทธิ์นี้ให้ใครไปเลยก็ยังได้ด้วย
ไทยเรามีกฎหมายนี้เหมือนกันแต่ไปบัญญัติคำว่า copyright ว่าเป็น ลิขสิทธิ์ ทำให้เข้าใจยาก เพราะ ลิขสิทธิ์ นั้นแปลตามตัวอักษรว่าสิทธิ์ในการเขียน ดังนั้นเวลานึกถึงคำว่า ลิขสิทธิ์ ต้องไม่นึกว่าเป็นสิทธิ์ในการเขียน ต้องนึกเสมอว่าเป็นสิทธิ์ในการทำซ้ำ
การไปซื้อผลงานที่มีลิขสิทธิ์ใด ๆ อย่างเช่นโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ ไม่ได้ทำให้คนซื้อมีสิทธิ์ในการทำซ้ำ ดังนั้นคนที่ไปซื้อโปรแกรมคนอื่นเขามาก็อปปีบนแผ่นซีดีขายจึงละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของผลงานตัวจริง หรือการไปขอก็อปปีโปรแกรมของผู้อื่นที่เขาซื้อมาใช้เฉพาะตัวของเขาเพื่อนำมาใช้บ้างนั้นก็เป็นการผิดกฎหมายด้วยเหมือนกัน ผู้ที่ไปนำโปรแกรมของคนอื่นมาบรรจุในฮาร์ดดิสก์ของตนนั้นต้องระวังให้มากเพราะกำลังทำผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ควรตรวจสอบว่าโปรแกรมนั้นเจ้าของซึ่งเป็นผู้เขียนขึ้นนั้นเขายอมให้ใช้แบบเปิดกว้างหรือไม่ บริษัทซอฟต์แวร์หลายแห่งเขาจ้างสำนักงานทนายความคอยตรวจสอบอยู่ หากใครไปละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของเขาแล้วละก็ ระวังจะต้องเสียค่าปรับแพง แถมยังเสียชื่อเสียงอีกด้วย