Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

Home
IT Idea for Spiritization

เรื่อง ไอซีทีกับประชาธิปไตย

ผู้เขียน ดร. ครรชิต มาลัยวงศ์
(เรื่องนี้เขียนเมื่อเดือนมกราคม 2550 จำไม่ได้ว่านำลงให้อ่านในเว็บหรือยัง แต่เห็นว่าตอนนี้กำลังเหมาะสมกับสถานการณ์ดี ก็เลยนำมาลงให้อ่านกัน)

        "อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรครับเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการตั้งคนนอกเข้ามาทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการ" ลูกศิษย์คนหนึ่งของผมถามขึ้น

        "ผมไม่มีความคิดเห็นในเรื่องนี้หรอกครับ เพราะเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องเขาจะคิดว่าอะไรดีหรือไม่ดี ผมไม่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญก็เลยไม่ได้คิด" ผมตอบ

        "ระยะนี้มีการแสดงความคิดเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญควรมีแนวทางไปทางไหน และมีข่าวว่าควรลดจำนวนสส. และ จำนวนองค์กรอิสระลง ไม่ทราบว่าอาจารย์เห็นด้วยไหมครับ"

        "การลดจำนวนสส. ลงไปนั้นผมเห็นว่าต้องลองพิจารณาข้อดีข้อเสีย แต่ผมเห็นว่านิสัยคนไทยนั้น พอมีผู้เสนออะไรขึ้นมา ก็จะมีผู้โจมตีข้อเสนออย่างเอาเป็นเอาตาย อ้างว่าคนเสนอไม่รู้เรื่องบ้าง คือพยายามทำให้เห็นว่าตนเป็นฝ่ายที่คิดถูกต้องแต่ผู้เดียว คนอื่น ๆ คิดผิดหมด" ผมอธิบายเพราะรู้สึกว่าคนไทยไม่ค่อยยอมรับฟังความเห็นคนอื่น

        "อาจารย์คิดว่าประชาธิปไตยเหมาะกับเมืองไทยไหมครับ" นี่เป็นคำถามสุดยอดจริง ๆ

        "เป็นคำถามที่น่าสนใจ ผมเองก็สงสัยมานานแล้วว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบการปกครองที่เหมาะกับเมืองไทยแน่ละหรือ เพราะไม่ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับ ไม่ว่าจะเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากี่หน การปกครองของไทยก็ยังย่ำอยู่กับที่ นักการเมืองไทยก็ยังคงคิดอยู่อย่างเดียวว่าจะใช้ตำแหน่งหน้าที่หาผลประโยชน์ให้ตนเองได้อย่างไร ไม่เคยคิดว่าจะทำให้คนไทยฉลาดขึ้นหรือทำให้ประเทศไทยก้าวหน้ามากขึ้นได้อย่างไร เมื่อมีการเลือก สส. ใหม่ครั้งใด ดูเหมือนว่าเรื่องที่ยกมาพิจารณาเรื่องแรก ๆ ของสภาก็คือการขึ้นเงินเดือนให้ตนเอง และ ยังพิจารณาต่อไปอีกว่าจะต้องให้บำนาญไปจนกระทั่งตาย ไม่เคยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนไหนเลยที่บอกว่าจะพยายามทำให้ประเทศก้าวหน้าทางด้านการศึกษาได้อย่างไร และเท่าที่ผมมีโอกาสรู้จักกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาหลายคน ผมไม่เคยได้ยินเขาพูดเลยว่า เขาต้องการที่จะบริหารประเทศให้เจริญขึ้น มีแต่คุยว่าเป็นกรรมาธิการชุดนั้นชุดนี้ ซึ่งก็ไม่เคยมีรายละเอียดเผยแพร่ว่าทำงานได้ผลอะไรบ้าง"

        "แล้วอาจารย์จะเสนอระบอบการปกครองแบบไหนครับ" ลูกศิษย์ของผมถามต่อ

        "ต้องขยายความก่อนครับ ว่าผมไม่เชื่อระบอบประชาธิปไตยแบบมีการเลือกตั้ง แต่ผมเชื่อในประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม นั่นก็คือไม่ต้องมี สมาชิกรัฐสภาอีกต่อไปเลย คือเป็นไปไม่ได้หรอกครับที่ประชาธิปไตยจริง ๆ จะเกิดขึ้นได้เพราะมีการเลือกตั้ง ประวัติศาสตร์การเมืองไทยพิสูจน์เรื่องนี้อยู่แล้ว" ผมอธิบายเพิ่มเติม เพราะกลัวว่าเขาจะคิดว่าผมสนใจในระบอบการปกครองแบบอื่น

        "ทำไมอาจารย์ถึงคิดว่าไม่ต้องมี สส. อีกล่ะครับ แล้วการบริหารประเทศจะทำอย่างไรครับ ถ้าไม่มีสส. อีกแล้ว"

        "ผมเห็นว่า สส. ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ครับ แต่ผมพบว่า สส. และ สว. บางคนรู้แต่เรื่องหาประโยชน์เข้าตนเอง และรู้เรื่องประเทศไทยน้อยกว่าคนต่างประเทศเสียอีก ยิ่งความจำเป็นที่จะต้องแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ด้วยแล้วยิ่งไม่มีคนไหนตระหนักถึงความสำคัญเลย ทุกวันนี้ความสามารถในการแข่งขันของไทยตกต่ำไปทุกปีแล้ว"

        "อาจารย์คิดว่าเราจะต้องทำอย่างไรจึงจะเกิดประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วมล่ะครับ" ลูกศิษย์ของผมซักไซ้อย่างสงสัย

        "ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องพยายามเป็นประเทศแรกที่ใช้ไอซีทีมาช่วยให้เกิดการปกครองแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ลืมได้เลยครับเรื่องจำนวน สส. เพราะไม่มีความจำเป็นอีกแล้ว และ สส. กลายเป็นตัวอย่างของประวัติศาสตร์ที่ล้มเหลว สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำก็คือ จัดให้มีระบบไอซีทีที่เอื้อประโยชน์ให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครองได้อย่างแท้จริง"

        "ผมคิดว่าไอซีทีทำได้แค่บางส่วน คือการออกเสียง แต่ไอซีทีทำหน้าที่บริหารประเทศไม่ได้" ลูกศิษย์ของผมแย้งขึ้น

        "จริงของคุณ เรายังคงต้องการคนกลุ่มหนึ่งสำหรับทำหน้าที่ต่าง ๆ ในด้านการนำเสนอกฎหมาย การรับแนวทางที่ประชาชนต้องการไปปฏิบัติ และ การตรวจสอบการปฏิบัติ ในเมื่อโลกกำลังก้าวไปสู่สังคมความรู้ ดังนั้นคนกลุ่มนี้ควรเป็นคนที่มีความรู้อย่างแท้จริง ผมจึงเสนอให้ใช้ผู้ทรงความรู้แบบเดียวกับที่มีการเลือกคนเข้าไปนั่งในสภานิติบัญญัติทุกวันนี้ นั่นคือให้แต่งตั้งกลุ่มบุคคลต่อไปนี้เข้ามานั่งทำหน้าที่นิติบัญญัติ คือ ปลัดกระทรวง, อธิบดีทุกกรม, อธิการบดีทุกมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน, ศาสตราจารย์ทุกคน, นายกสมาคมวิชาชีพทุกสมาคม, ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด, นายพลเอกทุกเหล่าทัพรวมทั้งตำรวจด้วย, นายก อบจ., นายกเทศบาลทุกแห่ง, ประธานหอการค้าจังหวัด, ผู้ประกอบวิชาชีพที่ก้าวสู่ตำแหน่งวุฒิวิศวกร, วุฒิสถาปนิก, และนักวิชาชีพทุกสาขาที่ขึ้นไปสู่จุดสูงสุดแล้ว บุคคลเหล่านี้กว่าจะไต่เต้าขึ้นมาทำหน้าที่ของตนได้จะต้องฝ่าฟันและพัฒนาตนเองมานานมาก ดังนั้นอายุอาจจะค่อนข้างมาก ถ้าหากเราต้องการได้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำหน้าที่นี้ด้วย ก็อาจจะต้องสอบคัดเลือกบัณฑิตระดับปริญญาตรีจากทุกมหาวิทยาลัยมาเสริมด้วย แห่งละหนึ่งคน และสอบแบบจอหงวนของจีนในสมัยโบราณไงล่ะครับ" ผมอธิบาย

        "รวมแล้วจำนวนหลายพันคนแน่เลย อาจารย์จะใช้ที่ไหนประชุมล่ะครับ สนามกีฬาหรือครับ"

        "ไม่ต้องครับ เราไม่ต้องจัดประชุมให้คนเหล่านี้มาพบกันหรอกครับ เราเพียงแต่ใช้ระบบไอซีทีในการนำเสนอกฎหมาย การประชาพิจารณ์ การอภิปราย และ การลงมติว่าจะรับกฎหมายนั้นหรือไม่ ต่อจากนั้นทุกคนซึ่งทำหน้าที่นิติบัญญัตินี้แหละก็ต้องนำเรื่องที่ตนลงมติไปปฏิบัติ"

        "แล้วจะควบคุมตรวจสอบอย่างไรล่ะครับ" ลูกศิษย์ของผมถาม

        "ต้องอาศัยระบบไอซีทีอีกแหละครับ คือรัฐต้องมีหน่วยตรวจสอบภายในและภายนอก การดำเนินงานทุกอย่างต้องจัดเก็บในฐานข้อมูล และมีระบบสารสนเทศสำหรับทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานทั้งหมดว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่"

        "ฟังดูก็ดีนะครับ ว่าแต่ว่าทุกวันนี้กระทรวงต่าง ๆ เขาต้องมีวิสัยทัศน์ มีทิศทาง มีแผน และมีคนกล่าวกันว่า ปลัดกระทรวงทำงานเชิงยุทธศาสตร์ไม่ได้หรอกครับ ต้องอาศัยรัฐมนตรีเป็นคนกำหนดก่อน เช่นตอนเข้ารับตำแหน่งเป็นรัฐบาลใหม่ ๆ ก็ต้องมีการแถลงนโยบาย อะไรทำนองนี้ ก็ถ้าอาจารย์บอกว่าไม่ต้องมีรัฐมนตรีแล้วการทำงานของไทยจะไปได้ดีหรือครับ" ลูกศิษย์ของผมยังข้องใจ

        "จริง ๆ แล้ว รัฐมนตรีในอดีตก็แทบจะไม่ได้ทำงานเชิงยุทธศาสตร์หรอกครับ ส่วนมากทำเป็นแค่ เปิดประชุม รับแขก แจกของ ไปวัน ๆ เท่านั้น ผมเคยฟังมาว่าในรัฐบาลบางชุด รัฐมนตรีก็ให้ที่ปรึกษาไปตั้งโครงการใหญ่ ๆ แล้วมอบหมายให้หน่วยงานรับไปทำเพื่อหาเงินเข้าพรรคบ้าง เข้ากระเป๋าพวกตัวเองบ้าง ดังนั้นอย่าคิดว่าไม่มีรัฐมนตรีแล้วประเทศชาติจะล่มจมนะครับ"

        "ถ้าไม่มีรัฐมนตรี ก็ไม่มีนายกรัฐมนตรี แล้วจะให้ใครเป็นผู้นำทางการเมืองของไทยล่ะครับ เวลาไปประชุมกับผู้นำต่างประเทศจะให้ใครไปครับ" ลูกศิษย์ของผมยังไม่วายข้องใจ

        "ผมคิดว่า ถ้าจำเป็นจริง ๆ ก็อาจจะต้องไปจ้างบริษัทฮอนด้า พัฒนาหุ่นยนต์แบบ Asimo ที่มีรูปร่างเท่าคนไทยสักตัวหนึ่ง พยายามเลือกออกแบบใบหน้าที่ดูแล้วรู้สึกว่าใจดี, มีความซื่อสัตย์ แต่เฉลียวฉลาด จากนั้นก็บรรจุฐานความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยลงไปในหน่วยความจำให้หมด พร้อมกับสร้างให้มีความสามารถในการฟังและการพูดภาษาได้ทุกภาษา เมื่อสร้างได้แล้วเราก็จะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่สำหรับส่งไปประชุมกับผู้นำอื่น ๆ ทั่วโลก ทำแบบนี้เราก็ไม่ต้องกลัวว่านายกฯ คนนี้จะคอร์รัปชั่นด้วย"

        "แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากแฮกเกอร์และไวรัสเหมือนกันนะครับ" ลูกศิษย์ของผมเตือน

        "ใช่....." ผมยังไม่ทันตอบได้ครบถ้วนกระบวนความก็สะดุ้งเพราะได้ยินเสียงพนักงานขับรถของผมร้องเรียก ว่าขับรถมาจอดอยู่ที่หน้าบ้านตั้งนานแล้วแต่ผมมัวนั่งหลับและฝันเพลินเสียนี่

        


Home | Back