Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

Home
IT Idea for Spiritization

CIO กับการรับมืออุบัติภัย

ครรชิต มาลัยวงศ์
15 กุมภาพันธ์ 2550


        การเกิดอุบัติภัยร้ายแรงเช่นคลื่นยักษ์สึนามิ, เพลิงไหม้จนอาคารถล่ม, เฮอริเคนแคทรีนา ที่ถล่มนิวออร์ลีนส์, หรือ พายุหิมะหนาหลายฟุต อย่างที่เพิ่งเกิดเร็วๆนี้ ทำให้เกิดปัญหาที่ทำให้ผู้บริหารหน่วยงานโดยเฉพาะ CIO จะต้องคิดค่อนข้างมาก แต่ที่สำคัญก็คือเราจะใช้ไอซีทีในการช่วยป้องกันปัญหาและบรรเทาภัยพิบัติเหล่านี้ได้อย่างไร

        เมื่อเกือบยี่สิบปีมาแล้ว AIT ได้ริเริ่มจัดตั้ง Asian Disaster Preparedness Center (ADPC) ขึ้น ช่วงนั้นผมทำงานอยู่ที่ AIT ก็สนใจเรื่องนี้ และได้ไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญว่าศูนย์แบบนี้มีไว้ทำอะไร เขาตอบว่าเพื่อการเตรียมพร้อมรับมือกับอุบัติภัยรูปแบบต่างๆ วิธีการก็คือศึกษารูปแบบของอุบัติภัยทั้งที่เกิดโดยธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น จากนั้นก็พิจารณาว่าจะต้องจัดเตรียมกำลังคน เครื่องมือ พาหนะ และ ทรัพยากรต่างๆอย่างไรบ้าง กับการรับมือกับอุบัติภัยเหล่านี้ ที่สำคัญที่สุดก็คือการจัดเตรียมศูนย์ปฏิบัติการ (War Room) สำหรับใช้ในการสั่งการเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นจริงๆ ต่อมา ADPC ได้แยกตัวออกมาตั้งเป็นอิสระ และแทบจะไม่มีคนไทยรู้จักเลยทั้งๆ ที่มีคนไทยคนหนึ่ง คือ ดร. สุวิทย์ ยอดมณี เป็นผู้อำนวยการก่อนที่จะมารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกีฬาในรัฐบาลชุด พลเอกสุรยุทธ์

        ศูนย์ปฏิบัติการนี้ในยามที่ยังไม่เกิดอุบัติภัย ก็จะใช้ในการซักซ้อมและจำลองแบบอุบัติภัยต่างๆ เป็นการเตรียมเจ้าหน้าที่ให้รู้จักวิธีการบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น การจำลองแบบนั้นเขาใช้ระบบคอมพิวเตอร์สร้างสถานการณ์จำลองขึ้นมาเพื่อใช้ในการฝึก โดยสถานการณ์ที่ว่านี้มีทั้งในรูปแบบของแผ่นดินไหว เพลิงไหม้ น้ำท่วม ฯลฯ

        สำหรับการสั่งการนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้อำนวยการแก้ไขปัญหาเป็นศูนย์กลาง และมีระบบข้อมูลต่างๆ อย่างพร้อมเพรียง ข้อมูลสำคัญได้แก่ ทรัพยากรและแหล่งที่จะจัดสรรทรัพยากรให้ เช่น เครื่องบินปีกหมุน เครื่องบิน เรือท้องแบน เรือเร็ว รถบรรทุก รถเกรด รถแบ๊คโฮ กำลังคนที่มีความรู้ความชำนาญในด้านต่างๆ พร้อมสถานที่ติดต่อ สถานที่สำคัญเช่น โรงพยาบาล สถานีอนามัย สถานีตำรวจ โรงเรียน วัด เส้นทางคมนาคมแบบต่างๆ และที่ขาดไม่ได้ก็คือแผนที่อย่างละเอียด รวมทั้งพิมพ์เขียวของอาคารต่างๆ

        ย้อนกลับไปสมัยที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวันเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้มีความพยายามจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแห่งชาติขึ้นครั้งหนึ่งในสำนักนายกรัฐมนตรี ช่วงนั้นท่านนายกชาติชายประสบปัญหาเรื่องพายุเกย์มาก จึงดำริให้มีศูนย์อำนวยการป้องกันและสั่งการเพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติภัยเหล่านี้ ความดำริของท่านทำให้มีการว่าจ้างบริษัทโบอิ้งมาดำเนินการวางแผนแม่บทสำหรับจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแห่งชาติขึ้น บริษัทโบอิ้งที่ว่านี้เป็นอีกกิ่งหนึ่งของบริษัทโบอิ้งที่สร้างเครื่องบินนั่นแหละครับ แต่เป็นกิ่งที่ทำงานด้านการให้คำปรึกษาด้านไอที ผลของการวางแผนนำไปสู่การจัดหาระบบคอมพิวเตอร์และเตรียมกำลังคนไว้ชุดใหญ่ แต่ก็น่าเสียดายที่เรื่องที่ท่านได้ดำริขึ้นนั้นไม่เกิดขึ้น เพราะการปฏิวัติทำให้ท่านต้องพ้นตำแหน่งไป และศูนย์ปฏิบัติการแห่งชาติก็ได้สลายตามท่านไปด้วย

        กลับมาถึงวันนี้ อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เคยสั่งการให้สร้างศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ขึ้น โดยมีแนวคิดว่าศูนย์นี้จะต้องป้อนข้อมูลทางด้านการเงินและการบริหารงานประเทศให้นายกรัฐมนตรีรู้ตลอดเวลา และศูนย์นี้จะต้องเชื่อมต่อกับศูนย์ปฏิบัติการระดับกระทรวง ระดับกรม และระดับจังหวัด เวลานี้นายกรัฐมนตรีทักษิณ ก็ต้องนิราศร้างไปอยู่ต่างประเทศ ก็เลยมีคำถามว่า ศูนย์ปฏิบัติการนี้จะยังทำหน้าที่ได้ตามแนวคิดเดิมหรือไม่ หรือกลายเป็นความโล่งอกของหน่วยงานต่างๆที่เคยถูกสั่งให้ดำเนินการมาก่อน

        ผมเองมีความเห็นว่า ศูนย์ปฏิบัติการเหล่านี้น่าจะยังคงอยู่ และรัฐบาลควรดำเนินการสนับสนุนให้ศูนย์ปฏิบัติการนี้ ทำงานทางด้านป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยต่างๆ นอกเหนือจากการเสนอรายงานและข้อมูลต่างๆ แก่ท่านนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

        แต่เรื่องนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ คำตอบคงอยู่ที่บรรดา CIO ของกรมและกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอุบัติภัย จะต้องนั่งคุยกันว่าจะจัดทำระบบฐานข้อมูลสำคัญๆอย่างที่ผมกล่าวมาถึงข้างต้นได้อย่างไร

        แผนที่เป็นเรื่องแรกที่จะต้องรีบหาทางพัฒนาให้มีความทันสมัยที่สุด ทุกวันนี้การจัดทำแผนที่เป็นหน้าที่ของกรมแผนที่ทหาร แต่กรมนี้ก็ไม่ได้รับงบประมาณมามากพอที่จะปรับปรุงแผนที่ซึ่งกรมผลิตขึ้นให้มีความทันสมัยได้ทันทุกปี เท่าที่คำนวณดูจากงบประมาณที่ได้รับ เชื่อว่ากว่าจะปรับปรุงแผนที่ทั้งประเทศได้ต้องใช้เวลาถึง 20 ปี นั่นหมายความว่าพอปรับปรุงเสร็จ แผนที่ที่ปรับปรุงปีนี้ก็จะล้าสมัยไปอีก 20 ปีทันที

        เมื่อมีการตรารัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งถูกยกเลิกไปนั้น ได้มีการกำหนดว่าจะต้องตั้งกรมแผนที่ฝ่ายพลเรือนขึ้น ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องตลก เพราะการกำหนดเช่นนั้นไม่ได้มีพื้นฐานมาจากความต้องการที่แท้จริง ยิ่งได้ข่าวว่าท่านรัฐมนตรีจะพยายามส่งเสริมให้ตั้งกรมนี้ขึ้นมาจริงๆ ผมยิ่งหนักใจ เพราะงานหลักๆ ที่เขาทำกันได้ระดับก้าวหน้าทันโลกนั้นอยู่ที่กรมแผนที่ทหารอยู่แล้ว และนั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่รัฐบาลชุดก่อนไม่ได้พยายามผลักดันเรื่องนี้เท่าใดนัก

        งานด้านแผนที่และ GIS หรือ Geographic Information System เป็นเรื่องที่สำคัญมาก อาจกล่าวได้ว่าการรู้จักอ่านแผนที่ และ เขียนแผนที่หยาบๆ ของบริเวณต่าง ๆ ได้เป็นความรู้ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในยุคนี้ ยิ่งเวลานี้กูเกิลก็มีภาพถ่ายจากดาวเทียมให้เราดาวน์โหลดมาศึกษาได้แล้ว เรายิ่งต้องหันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น

        รัฐบาลยุคก่อนเคยผลักดันให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องอ่านแผนที่และใช้ GIS เป็น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่ขาดก็คือแผนที่ฐานและข้อมูลพื้นดินที่ถูกต้อง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือขาดโครงสร้างหลักของระบบแผนที่และ GIS หากงานนี้ไม่ได้รับการสนับสนุน หรือสนับสนุนแต่มีนอกมีใน มีการชักเปอร์เซ็นต์แบบฉ้อฉลไปเสียแล้ว เราก็จะขาดข้อมูลเกี่ยวกับประเทศของเราไปอย่างน่าเสียดาย

        CIO ของหน่วยงานต่างๆ จำเป็นต้องจัดทำแผนที่รูปแบบต่างๆ เก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานตลอดเวลา เช่น แผนที่บริเวณที่ตั้งหน่วยงานและอาคารสำนักงาน แผนผังแบบแปลนของอาคารทุกหลังรวมถึงรายละเอียดของโครงสร้างอาคาร แผนที่และแผนผังเหล่านี้จะต้องเรียกออกมาดูได้ทันที และที่สำคัญจะต้องเรียกดูได้ไม่ว่าจากภายในหน่วยงานหรือภายนอกหน่วยงาน เพราะหากบริเวณสำนักงานได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติแล้วก็จะต้องเรียกค้นรายละเอียดมาดูได้ แน่นอนที่สุดว่าแผนที่ทางภูมิศาสตร์นี้จะต้องมีข้อมูลที่จำเป็นครบถ้วน เพื่อให้สามารถตัดสินใจในการป้องกันและบรรเทาภัยต่างๆได้

        แผนที่แบบต่อไปก็คือ แผนที่การปฏิบัติงานของหน่วยงานเอง แผนที่แบบนี้ค่อนข้างมีลักษณะเป็นนามธรรม เช่น แผนที่โครงสร้างการตัดสินใจและความรับผิดชอบขององค์กร ที่เรียกว่า โครงสร้างองค์กร ซึ่งจะต้องจัดทำขึ้นควบคู่ไปกับระบบบุคลากร เพื่อให้ตรวจสอบตำแหน่งงานและหน้าที่ของทุกคนได้ แผนที่ทางเดินข้อมูลและสารสนเทศ หรือ Workflow ซึ่งจะช่วยให้เห็นลำดับขั้นตอนของการทำงานต่างๆ ตลอดจนรู้ว่าเอกสารต่างๆ มีทางเดินผ่านจากที่ใดไปที่ใดบ้าง แผนที่เหล่านี้จะช่วยให้ CIO สามารถกู้ระบบงานกลับมาได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดปัญหา อีกทั้งยังสามารถจะตรวจสอบรายชื่อบุคลากรต่างๆได้อย่างรวดเร็วด้วย

        ปัญหาสำคัญของเราเวลานี้ก็คือ เรามีความรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากแผนที่น้อยเกินไป ผมไม่ทราบว่ากระทรวงศึกษาธิการได้ยกเลิกการสอนเรื่องภูมิศาสตร์ไปแล้วหรือเปล่า ถ้ายกเลิกไปแล้วก็ควรนำกลับมาสอนใหม่ แต่ถ้ายังไม่เลิกก็ควรพัฒนาให้เป็นการสอนแบบใหม่ คือสอนเรื่อง GIS และจัดหาซอฟต์แวร์ด้าน GIS มาให้แก่โรงเรียนทุกแห่ง นอกจากนั้นยังควรให้แต่ละโรงเรียนนั่นแหละทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูล GIS สำหรับช่วยเหลืองานป้องกันอุบัติภัยไปด้วยอีกแรงหนึ่ง

        เนื้อหาที่นำเสนอในคราวนี้ ต้องบอกว่าสับสนปนเปกันมากครับ เพราะผมนำเอาบทความที่เคยลงนิตยสาร CIO มาแก้ไขปรับปรุงใหม่ ระหว่างปรับปรุงก็เกิดความคิดใหม่ๆงอกขึ้นมา ก็เลยนำมารวมกันไว้ด้วย


Home | Back