ในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2549 ระหว่างที่ผมไปพักที่โรงแรมมาริออตต์ คอร์ตยาร์ด ที่เมืองชาร์ลอตต์ รัฐนอร์ทแคโรไลนาเพื่อเข้าร่วมใน CMMI Workshop นั้น ได้มีโอกาสอ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับ และมีเรื่องน่าสนใจที่ผมจดบันทึกมาให้อ่านดังนี้
เครื่องสะแกนระเบิดของเหลว
คงจำได้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ ทางประเทศอังกฤษได้จับผู้ต้องสงสัยหลายคนในข้อหาว่าวางแผนจะระเบิดเครื่องบินด้วยระเบิดของเหลว ผลก็คือทำให้ท่าอากาศยานต่างๆ ต้องเข้มงวดการนำครีม, เจล, และ ของเหลวขึ้นเครื่องบิน ซึ่งในเมืองไทยก็เข้มงวดเหมือนกัน แต่กับเที่ยวบินที่จะบินเข้าไปยังสหรัฐอเมริกา จนถึงมีการเปิดกระเป่าตรวจอย่างจริงจัง ส่วนการบินไปยังที่อื่นๆ ยังไม่ได้ตรวจอย่างเข้มงวดนัก สำหรับที่สหรัฐอเมริกาเองนั้น เมื่อผมบินจากนิวยอร์กไปชาร์ลอตต์ก็ไม่เห็นจะเข้มงวดเท่าใด คงใช้สะแกนเนอร์ตรวจสอบกระเป๋าที่ถือขึ้นเครื่องบินเท่านั้น ข้อควรระวังก็คือพยายามหยิบสิ่งของที่เป็นโลหะออกจากตัวให้หมด อย่าให้เครื่องสะแกนตัวเราร้องเอะอะขึ้นมาว่าเจอะโลหะเป็นอันขาด มิฉะนั้นจะยุ่งยากมาก อย่างไรก็ตามสะแกนเนอร์คงจะมองไม่เห็นตะขอของยกทรงแน่ๆ เพราะผู้หญิงทุกคนก็เดินผ่านไปได้สบายๆ ไม่ต้องใช้ชุดโนบรา
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 49 มีข่าวว่า ทางการสหรัฐฯ กำลังพิจารณาจะใช้เครื่องเอ็กซเรย์สามมิติสำหรับสะแกนกระเป๋า เพราะเครื่องสะแกนที่ใช้อยู่เป็นแบบสองมิติ ทำให้พิจารณาสิ่งของที่อยู่ในกระเป๋าได้ไม่ชัด บางทีเห็นมีดเป็นดินสอไปก็มี เครื่องสะแกนชนิดนี้จะช่วยให้พนักงานมองเห็นสิ่งของต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น และช่วยตรวจสอบอาวุธที่แอบซุกซ่อนขึ้นไปได้ เครื่องสะแกนแบบใหม่นี้มีขนาดไม่ใหญ่ไปกว่าเดิมและต้องใช้เงินปรับปรุงเครื่องที่มีอยู่แล้วในราวชุดละ 3 ถึง 8 ล้านบาท ความจริงเครื่องสะแกนแบบนี้ก็มีใช้ทางการแพทย์มานานแล้ว แต่เพิ่งเริ่มมาใช้ในสนามบินหลายแห่งในยุโรป, ในศาล, และ ในสถานทูตหลายแห่ง อย่างไรก็ตามทางการสหรัฐฯ ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะใช้เครื่องแบบนี้หรือไม่ เพราะขณะนี้ก็กำลังรอเครื่องสะแกนแบบใหม่ซึ่งต้องรออีกสองปีกว่าจะพัฒนาเสร็จ เครื่องแบบใหม่นั้นจะมีราคาถึงเครื่องละ 16 ล้านบาท แต่สามารถตรวจสอบหาระเบิดได้โดยอัตโนมัติเพราะเครื่องจะร้องทันทีถ้าตรวจพบระเบิด
ดิสนีย์จะส่งเสริมอาหารอนามัย
เมื่อผมเดินเข้าไปในร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ดต่างๆ ผมไม่ประหลาดใจเลยที่คนอเมริกันจำนวนมากมีรูปร่างอ้วนใหญ่กว่าที่ควร สิ่งที่ผมเห็นก็คือขนมกินเล่นที่มีขายนั้นล้วนแล้วแต่เป็นประเภทที่เพิ่มไขมันและน้ำตาลทั้งสิ้น ขนมที่มีประโยชน์จริงๆ มีน้อยมาก (เอ...แต่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าขนมที่มีประโยชน์นั้นมีจริงหรือเปล่า เพราะขึ้นชื่อว่าขนม ก็มักจะเป็นส่วนเกินที่ไม่จำเป็นทั้งนั้น)
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 49 มีข่าวว่า บริษัท วอลท์ ดิสนีย์ เจ้าของสวนสนุกลือชื่อระดับโลก ประกาศว่าจะต้องปรับปรุงเรื่องอาหารสำหรับเด็กๆ เสียใหม่ โดยจะให้ผู้ที่ขายอาหารและเครื่องดื่มโดยใช้ใบอนุญาตหรือสัญลักษณ์ต่างๆ ของดิสนีย์ ทั้งหมดต้องจำกัดแคลอรี, ไขมัน, ไขมันอิ่มตัว, และน้ำตาลลงให้เหมาะสม
สวนสนุกดิสนีย์แลนด์นั้นได้ชื่อว่าเป็นแหล่งของอาหารขยะมานานแล้ว และเด็กๆ ก็ชอบที่จะไปซื้ออาหารและขนมที่นี่เสียด้วย จากการสำรวจของบริษัทไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ พบว่ามีผู้เข้ามาในสวนสนุก Theme Park ในปี 2548 ถึง 60 ล้านคน และแต่ละคนจะใช้เงินซื้ออาหาร, ขนม และเครื่องดื่ม คนละ 400 - 500 บาทต่อวัน นับเป็นรายได้อันดับสองรองจากการใช้เงินซื้อบริการเครื่องเล่น
เมื่อมีข่าวนี้ออกมาก็มีคนวิจารณ์ว่า การที่ดิสนีย์ทำอย่างนี้ไม่ใช่เพราะรักเด็กๆหรอก แต่กลัวถูกฟ้องต่างหาก เพราะคนมาที่ดิสนีย์ก็เพราะอยากกินอาหารขยะนี่แหละ อย่างไรก็ตามก็มีคนบอกว่าการที่ทำอย่างน้อยก็เป็นการแสดงความรับผิดชอบของดิสนีย์นั่นแหละ
การใช้อินเทอร์เน็ตของเยาวชนอเมริกัน
เมื่อก่อนนี้ถ้าหากเราเห็นใครพูดคนเดียว เราก็มักจะขำและนึกในใจว่าคนๆ นี้ถ้าจะไม่เต็มบาทเสียแล้ว แต่ทุกวันนี้ไม่ว่าเราไปที่ไหนจะเห็นคนพูดอยู่คนเดียวเป็นประจำ บางทีอยู่ในห้องส้วมก็พูดเสียงดังลั่นโดยไม่สนใจคนอื่น ปัจจุบันนี้เราไม่ได้แปลกใจเรื่องนี้แล้วเพราะว่าเราทราบว่าคนเหล่านี้กำลังพูดโทรศัพท์มือถือกับคู่สนทนาซึ่งอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ
ผมเคยคิดว่าคนไทยสมัยนี้พูดมากกว่าแต่ก่อน และนึกสงสัยต่อไปว่าน่าจะพูดเรื่องไร้สาระกันมากๆ ด้วย
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2549 ผมอ่านพบว่า มีการสำรวจเด็กอเมริกันวัยรุ่นซึ่งมีอายุระหว่าง 13 - 18 ปี จำนวน 1,000 คน ระหว่างวันที่ 18 - 21 กันยายนนี้เอง ผู้สำรวจคือกลุ่มแฮรริสันเปิดเผยว่า เยาวชนเหล่านี้ใช้อินเทอร์เน็ตสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง มากกว่าปีที่แล้วซึ่งใช้เพียง 18 ชั่วโมง
นอกจากนั้นผลการสำรวจยังแสดงว่า 88% ใช้เวลาฟังดนตรีมากกว่าหรือเท่าๆ กับปีก่อน, 68% ใช้เวลาสื่อสารกับเพื่อนทางอีเมลมากกว่าหรือเท่าๆ กับปีก่อน, 75% ใช้เวลาออกไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูงมากกว่าหรือเท่าๆ กับปีก่อน, และมีเพียง 10% เท่านั้นที่ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว หรือ อ่านหนังสือเพื่อความเพลิดเพลินมากกว่าหรือเท่ากับปีก่อน
ผู้สำรวจจึงสรุปว่า สหรัฐกำลังอยู่ในยุคที่เยาวชนอเมริกันฟังเพลง, สื่อสารกับคนอื่น, และ ใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นกว่าปีก่อน
ยังไม่ทราบเหมือนกันว่านักทำโพลล์ต่างๆ สนใจจะลองสำรวจเรื่องสำคัญเหล่านี้หรือไม่ เห็นแต่ทำโพลล์เรื่องไร้สาระอยู่เสมอ
เครื่องส่องเส้นโลหิต
ผมพยายามทำตามคำแนะนำของแพทย์คือไปตรวจสุขภาพปีละสองครั้ง. แต่ที่ไม่ได้ทำคือไม่ได้นำตัวเลขเหล่านี้มาบันทึกเป็นสถิติว่า แต่ละครั้งปริมาณน้ำตาล, คอเลสตอรอล, ไขมันดี, ไขมันเลว, ไตรกลีเซอไลน์, กรดยูริก ฯลฯ เพิ่มขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร. คิดแล้วก็น่าเสียดายครับ. ผมไม่ได้จำเหมือนกันว่าในแต่ละปี หรือ ครึ่งปีที่ผมไปหาหมอนั้น ผมมีพฤติกรรมการกิน, การดื่ม, และ การใช้ชีวิตอย่างไร. ผลก็คือผมไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่า สุขภาพของผมเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกินการดื่มอย่างไรบ้าง การไม่ได้จดรายละเอียดเหล่านี้ทำให้ชีวิตของผมไม่สามารถก้าวไปสู่ระดับที่มีวุฒิภาวะสูงครับ การมีวุฒิภาวะสูงนั้นจะต้องอาศัยหลักการสถิติในการจัดการ และ ผมเริ่มเห็นแล้วว่าการที่ไม่ได้จัดสถิติไว้นั้นเป็นอุปสรรคในการปรับปรุงชีวิตให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอ
เหตุการณ์อย่างหนึ่งที่ผมต้องประสบระหว่างไปตรวจสุขภาพก็คือการถูกเจาะเลือด. พนักงานเทคนิคการแพทย์มีปัญหาในการหาเส้นเลือดของผมเหมือนกันเพราะผมมีรูปร่างท้วม. บางครั้งพนักงานต้องเจาะหลายทีกว่าจะเจอะเส้นเลือด ซึ่งแน่นอนครับว่าจะต้องเจ็บ
มาอเมริกาคราวนี้ผมเลยได้เห็นข่าวว่ามีผู้ประดิษฐ์เครื่องส่องหาเส้นโลหิตสำหรับเจาะเลือดเพื่อให้คนไข้ไม่ต้องเจ็บตัวมากนัก. อุปกรณ์นี้เรียกว่า VeinViewer เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท Luminetx Corp. ในเมมฟิส รัฐเทนเนสซี. อุปกรณ์ประกอบด้วยเสาใหญ่ประกอบติดอยู่บนฐานล้อเลื่อน และมีแขนที่สามารถฉายรังสีอินฟราเรดและแสงสีเขียวสำหรับใช้เป็นพื้นหลังลงมาบนแขนของคนไข้ เมื่อรังสีอินฟราเรดส่องมากระทบกับเส้นเลือด จะทำให้เฮโมโกลบินดูดซับแสงอินฟราเรด ส่วนเนื้อเยื่ออื่นๆ จะสะท้อนรังสีกลับออกมา ทำให้มองเห็นเส้นเลือดเป็นสีเทาเข้มปรากฏบนพื้นสีเขียว
เจ้าเครื่องส่องหาเส้นเลือดนี้ราคาเกือบล้านบาทซึ่งค่อนข้างจะสูงมาก ดังนั้นโรงพยาบาลที่คิดเงินแค่ 30 บาทในไทยก็คงจะยังคงให้พนักงานเทคนิคการแพทย์หรือพยาบาลคลำหาเส้นเลือดต่อไปตามเดิมแหละครับ
อเมริกามีประชากร 300 ล้านคน
ผมจำมาตลอดเวลาว่าสหรัฐอเมริกามีประชากรประมาณ 200 ล้านคน ผมลืมคิดไปว่าประชากรทั้งหลายล้วนมีลูกมีหลานเพิ่มขึ้นและยังมีคนที่เข้าเมืองมาทำงานในอเมริกาทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายอีกมากมายด้วย ดังนั้นในวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา ผมจึงแปลกใจที่อ่านข่าวพบว่าสหรัฐอเมริกากำลังจะมีประชากรถึงหลัก 300 ล้านแล้วในวันที่ 19 ตุลาคม
สหรัฐอเมริกามีประชากร 100 ล้านคนเมื่อปีค.ศ. 1915 คือเมื่อราว 90 ปีมาแล้ว และมีประชากร 200 ล้านคนในปี 1967 ในปี 1915 นั้น ชาวอเมริกันคิดว่าเป็นเครื่องหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจและอำนาจของประเทศ ในปี 1967 ประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน ก็ยังกล่าวคำปราศรัยในวันที่มีประชากรเพิ่มเป็นสองร้อยล้านคนด้วย แต่ในปีนี้มีแต่เพียงคอลัมน์เล็กๆ สองคอลัมน์เท่านั้นที่กล่าวถึงเรื่องนี้
อาจเป็นได้ว่าทางการยังไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่เหมือนกัน เพราะถ้าหากอัตราการเพิ่มประชากร รวมทั้งที่เกิดใหม่จากชาวอเมริกันเอง ทั้งที่เกิดใหม่จากผู้อพยพทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย และรวมทั้งผู้อพยพเข้าประเทศมาด้วยแล้ว, ในปี ค.ศ. 2050 ประชากรสหรัฐจะเพิ่มเป็นห้าร้อยล้านคน และจะเกินหลักพันล้านคนก่อนปี ค.ศ. 2100
ลำพังถ้าหากพิจารณาอัตราการเกิดของเด็กอเมริกันเอง ปีหนึ่งๆก็มีเพิ่มไม่มากนัก แต่หลายปีมานี้รัฐบาลมีนโยบายรับผู้อพยพเข้าประเทศมากขึ้น พวกเราหลายคนคงจะได้เห็นเว็บไซต์ประกาศเชิญชวนให้สมัครรับวีซ่าเข้าประเทศอย่างถาวรของสหรัฐอเมริกามาแล้ว และคนไทยหลายคนก็ได้รับโอกาสนั้น ดังนั้นจำนวนอัตราการเพิ่มประชากรในสหรัฐอเมริกาเมื่อทศวรรษที่แล้วจึงเพิ่มเป็น 13% ต่อปี อัตราเพิ่มขนาดนี้ไม่น้อยเลยครับ
กระแสตอบรับการเพิ่มประชากรนี้มีทั้งบวกและลบ ฝ่ายที่เห็นว่าควรให้เพิ่มนั้นมองว่าเป็นเพราะอเมริกายังต้องการแรงงาน และมีเนื้อที่ทำมาหากินอีกมาก, ไม่มีปัญหาอะไรที่จะให้ประชากรเพิ่มมากขึ้นอีก แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนั้นมองว่า เวลานี้การใช้ชีวิตก็ลำบากมากอยู่แล้ว, การจราจรก็ติดขัด, การใช้พลังงานก็ฟุ่มเฟือยมาก, หากมีประชากรเพิ่มมากขึ้น ความลำบากนี้ก็จะยิ่งเพิ่มแบบทวีคูณ และประเทศจะอยู่ไม่ได้ ผมอ่านข่าวแล้วก็เห็นด้วย เวลาผมไปไหนมาไหนก็ยังเห็นพวกไม่มีบ้านอยู่ตามเมืองต่างๆ ซึ่งเมื่อถึงฤดูหนาวแล้ว ชีวิตของพวกเขาก็เหมือนกับตกนรกเย็นนั่นแหละ ผมเชื่อว่าจำนวนผู้ไร้บ้านนั้นคงจะเพิ่มเป็นสัดส่วนเดียวกันกับจำนวนประชากรเหมือนกัน แต่เรื่องนี้ไม่มีข้อพิสูจน์
ผมคิดว่ารัฐบาลไทยชุดที่แล้ว รวมทั้งบรรดาข้าราชการลิ่วล้อไม่ได้นึกถึงประชาชนอย่างแท้จริงหรอกครับ การจัดให้รักษาโรคทุกอย่างได้ในราคา 30 บาท เป็นเรื่องที่ดีก็จริงอยู่ แต่ไม่ได้คิดกระบวนการที่ถูกต้อง และทำให้เกิดการบิดเบือนได้ นั่นคือผู้ที่ควรได้ประโยชน์อย่างแท้จริงอาจจะไม่ได้รับ เมื่อนายกฯ ปรารภขึ้นมาว่าไทยเราต้องสนใจเรื่องการจัดการความรู้ ก็มีผู้รีบด่วนคิดโครงการต่างๆ เพื่อตอบสนองเรื่องนี้กันเป็นการใหญ่ โครงการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีเบื้องหลังเป็นผลตอบแทนมหาศาล แต่ในเวลาเดียวกันกลับไม่มีใครคิดถึงการให้บริการที่ประชากรไทยทั้งประเทศควรได้รับ
ถึงเวลาแล้วหรือยังครับที่รัฐบาลจะต้องหันมาพิจารณาบริการระดับพื้นฐานให้แก่ประชาชนชาวไทยอย่างทั่วถึง และดูแลให้ได้รับบริการนั้นเต็มเม็ดเต็มหน่วยโดยไม่มีการหายหกตกหล่น
สถิติน่าสนใจของสหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกามีเขตเลือกตั้งที่เรียกว่า Congressional District อยู่ 436 เขต (รวม District of Columbia ด้วย) ในนสพ USA Today ฉบับวันที่ 17 ตุลาคม 49 ได้ลงสถิติเกี่ยวกับคนในเขตเหล่านี้ไว้หลายเรื่อง แต่ผมขอหยิบมาเฉพาะสถิติที่น่าสนใจมาให้ลองศึกษาดู แต่ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจค่าเฉลี่ยที่เรียกว่า median ก่อน median หมายถึงค่าเฉลี่ย ที่มีจำนวนข้อมูลที่มีค่าสูงกว่านี้ เท่ากับจำนวนข้อมูลที่มีค่าน้อยกว่านี้ เช่น 25 เป็น มีเดียนของข้อมูล 23, 2, 30, 60 และ 25
เริ่มที่ข้อมูลเกี่ยวกับอายุประชากร เขตที่ประชากรมีค่ามีเดียนสูงสุดคือ ฟลอริดา 13 ซึ่งค่าก็คือ 46.5 ส่วนต่ำสุดคือ ยูท่าห์ 3 ซึ่งข้อมูลคือ 26.3 ค่าเฉลี่ยนี้หมายความว่าประชากรในฟลอริดา 13 (ความจริงในเขตอื่นๆ อีก 6 เขต ก็มีค่ามีเดียนสูงทั้งนั้น) เป็นประชากรสูงอายุมากกว่าในเขตอื่นๆ
ต่อมาเป็นข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ เขตที่มีค่ามีเดียนเงินเดือนรวมของครอบครัวสูงสุด ได้แก่ เวอร์จิเนีย 11 ซึ่งมีค่ามีเดียนเป็น $94,786 หรือในราวเกือบห้าล้านบาท ส่วนที่มีค่ามีเดียนต่ำสุดคือ เขตนิวยอร์ค 16 ซึ่งมีค่ามีเดียนเป็น $19,018 หรือในราว แปดแสนบาท
ข้อมูลชุดสุดท้ายคือจำนวนครอบครัวที่มีเงินรายได้มากกว่า 8 ล้านบาท ปรากฏว่า นิวยอร์ค 14 มีถึง 46,541 ครอบครัว ส่วนที่น้อยที่สุดคือ เทกซัส 20 มีเพียง 633 ครอบครัว
สำหรับข้อมูลอย่างรายได้ที่กล่าวมานี้ ถ้าเป็นเมืองไทยจะนับเป็นครอบครัวไม่ได้ ต้องนับเป็นครอบครัว เพราะเคยได้ยินว่าตระกูลที่มีอิทธิพลที่สุดของไทยมีเพียงไม่กี่ตระกูลเท่านั้น จริงเท็จอย่างไรไม่เคยนับครับ
รางวัล World Food Prize
รางวัล World Food Prize นั้นถือกันว่าเป็นรางวัลเทียบเท่ารางวัลโนเบลทางด้านการเกษตร และมีมูลค่าถึง $250,000 หรือราว 10 ล้านบาท ผู้ตั้งรางวัลนี้ก็คือ Norman Borlaug ผู้ได้รับรางวัลโนเบลทางด้านสันติภาพเมื่อปี 1970 และได้สมญาว่าเป็นบิดาแห่งการปฏิวัติเขียว ซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่องมานับตั้งแต่ราวปี 1940 รางวัลนี้มอบให้แก่ผู้ที่มีผลงานโดดเด่นในด้านการเพิ่มคุณภาพและปริมาณอาหารของโลก
ผู้ได้รับรางวัล World Food Prize ประจำปี 2006 นี้ เป็นนักวิทยาศาสตร์สามคนที่ช่วยเปลี่ยนแปลงที่ราบสูงเซอร์ราโดของบราซิล ซึ่งมีขนาดใหญ่เท่าๆกับยุโรปตะวันตก ให้กลายเป็นดินแดนเกษตรที่มีผลผลิตสูง นับเป็นครั้งแรกที่มีการให้รางวัลแก่นักวิทยาศาสตร์สามรายในปีเดียว ผู้ได้รับรางวัลนี้คือ เอ. โคลิน แมคคลัง นักวิชาการเกษตรชาวอเมริกัน และ นักวิชาการเกษตรชาวบราซิลอีกสองคนคือ อลิสสัน เพาไลเนลลี (Alysson Paolinelli) และ เอ็ดสัน โลบาโต (Edson Lobato)
การเปลี่ยนที่ราบสูงเซอร์ราโดให้กลายเป็นแหล่งเพาะปลูกเป็นงานสำคัญทางด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร เพราะทำให้การผลิตถั่วเหลืองของบราซิลในปี 2006 เทียบเท่ากับ 66% ของผลผลิตสหรัฐอเมริกาในปี 2005 นับตั้งแต่ปี 2513 เนื้อที่ราว 50% ของที่ราบสูงเซอร์ราโดที่กว้างขวางราว 1.2 ตารางไมล์ ได้แปรสภาพเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และไร่นา ก่อนหน้านี้ที่ราบสูงแห่งนี้มีแต่ทุ่งวัชพืชและพุ่มไม้ ดินที่อยู่บริเวณนี้ถูกน้ำชะล้างธาตุอาหารออกไปนานนับล้านๆปี จนกระทั่งกลายเป็นดินกรดและไม่มีธาตุอาหารเหลือ ห้าสิบกว่าปีมาแล้ว แมคคลังได้พิจารณาหาทางที่จะช่วยเหลือดินและต่อสู้กับพิษของอลูมิเนียมที่เกิดจากดินซึ่งมีความเป็นกรดสูง แมคคลังแสดงว่า การใช้ปูนขาว, ธาตุอาหารและปุ๋ยในเซอร์ราโด ซึ่งแต่ละปีมีฝนตกปริมาณมากและพื้นที่ก็เป็นที่ราบ จะช่วยให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่าเดิม200 - 300 เท่า
ในช่วงแรกที่แมคคลังเข้าไปพัฒนาพื้นที่นั้น ยังไม่มีถนนเข้าไปถึงเซอร์ราโด ช่วงนั้น เพาไลเนลลี เป็นปลัดกระทรวงเกษตรของรัฐ ไมนัส เกราอิส ได้ร่วมมือพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นฟาร์มด้วยการให้ทุนสนับสนุนชาวนาอย่างต่อเนื่องจนได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของบราซิลในปี 2517
สำหรับโลบาโตเองนั้น เขาเป็นวิศวกรเกษตรผู้ทำงานอย่างต่อเนื่องในพื้นที่เซอร์ราโดมานานกว่า 30 ปี เพื่อช่วยปรับปรุงและจัดการดินให้มีคุณภาพมากขึ้น
ผลของการทำงานของบุคคลทั้งสามทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของบราซิลเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่านับตั้งแต่ปี 2513 ถึง 2543 อย่างไรก็ตามผลิตผลหลักของเซอร์ราโด ก็คือถั่วเหลือง ด้วยเหตุนี้เอง นักวิจารณ์หลายคนจึงเห็นว่าการปรับปรุงพื้นที่ราบสูงเซอร์ราโดที่ทั้งสามคนทำอยู่นั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป ประโยชน์ส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับคนเพียงหยิบมือที่เป็นเจ้าของที่ดินเท่านั้น