Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

Home
IT Idea for Spiritization

ไปอเมริกาแสวงหาวุฒิภาวะ

ครรชิต มาลัยวงศ์


        เดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้นผมต้องเดินทางไกลหน่อย คือไปถึงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อบินต่อไปเข้าร่วมประชุมปฏิบัติการของสถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (SEI) ที่เมืองชาร์ลอตต์ รัฐนอรธแคโรไลนา ซึ่งอยู่ลงไปทางใต้ของนิวยอร์ก อีกต่อหนึ่ง ไปอเมริกาคราวนี้ผมเลือกบินตรงจากกรุงเทพไปยังนิวยอร์กโดยเที่ยวบิน TG 790 ซึ่งใช้เวลาบินเกือบ 17 ชั่วโมง เรียกว่านั่งกันแบบยาวเลยครับ ความจริงยังมีวิธีอื่นที่จะบินได้อีก คือ บินโดยสายการบินไทยไปลงที่ลอสแองเจลิส แล้วต่อเครื่องบินของสายการบินอเมริกันไปยังนิวยอร์ก แต่วิธีนี้ผมต้องไปลงที่ลอสแองเจลิสก่อน ที่ผมไม่ชอบก็คือที่แอลเอนั้นมีผู้โดยสารเข้าประเทศมากเหลือเกิน ต้องรอผ่านการตรวจคนเข้าเมืองนานมากจนน่าเบื่อ และการตรวจของศุลการักษ์ก็ยุ่งยากและคิวยาวมาก จากนั้นยังต้องขนกระเป๋าส่งไปยังช่องส่งต่อไปยังเครื่องบินในประเทศอีก ก่อนหน้าที่สายการบินไทยจะบินตรงมายังนิวยอร์ก ผมต้องบินมาที่แอลเอเป็นประจำ และบางครั้งก็ตกเครื่อง คือผู้โดยสารมีมากจนผ่านช่องตรวจคนเข้าเมืองไปต่อเครื่องอีกสายการบินหนึ่งไม่ทัน

        ผมและภรรยาบินไปนิวยอร์กในคืนวันที่ 10 ตุลาคมซึ่งฝนตกหนักมาตั้งแต่เย็น รถราติดขัดไปทั้งกรุง ทั้งทางด่วนและถนนด้านล่างมีแต่รถยนต์แออัดไปหมด ถนนหลายสายถูกน้ำท่วม ผมกะว่าจะออกจากบ้านไปขึ้นทางด่วนก่อนหน้าเวลาเครื่องบินออกสักสามชั่วโมง แต่เมื่อเห็นรถยนต์บนถนนยังแออัด ผมจึงต้องเปลี่ยนใจออกจากบ้านเร็วขึ้นเป็นสามชั่วโมงครึ่ง นับว่าผมตัดสินใจถูก เพราะแม้รถจะติดและผมขึ้นทางด่วนจากถนนพระรามหก มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิโดยใช้เวลาเพียงสี่สิบนาที แต่หลังจากนั้นก็มีฝนตกหนักลงมาอีกระยะหนึ่ง หากผมออกจากบ้านตามกำหนดก็อาจจะเจอะปัญหาน้ำท่วมถนนพระรามหกก็ได้ ที่สนามบินนั้นบริเวณสำหรับจอดรถรับส่งแออัดมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการไม่มีระเบียบที่ดีในการจอดรถ และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะการตัดสินใจรวมอาคารสนามบินในประเทศและนอกประเทศไว้รวมกันนั่นแหละ สมัยที่ยังไม่ย้ายมานั้น ดอนเมืองมีที่จอดรถรับส่งสายการบินภายในสองชั้นซึ่งก็แน่นตลอดเวลา และที่อาคารไปต่างประเทศก็ยังมีถึงสองอาคาร ขนาดนั้นรถยนต์ก็ยังแน่นมาก เมื่อมาที่ใหม่ ถึงแม้จะกำหนดให้รถบัสจอดด้านนอกออกมา และให้รถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์รับจ้างเข้าไปจอดใกล้ตัวอาคารได้ รถยนต์ก็ยังแออัดมากดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

        เดินทางไกลรวดเดียวนานสิบหกชั่วโมงอย่างนี้ผมตัดสินใจซื้อบัตรโดยสารชั้นธุรกิจ ซึ่งจุดเช็คอินก็คือแถวที่หนึ่ง ที่นี่เขาจัดบริเวณไว้เป็นพิเศษมากจริงๆ เคาวน์เตอร์เช็คอินมีมาก และแต่ละจุดก็มีเก้าอี้ให้นั่งพัก และมีเก้าอี้หมู่ให้คนนั่งรอได้ด้วย การเช็คอินที่สุวรรณภูมินี่ไม่ต้องตรวจกระเป๋าก่อน คือขนกระเป๋าเข้าไปเช็คอินได้ทันที เมื่อได้บัตรโดยสารแล้วก็เดินไปซื้อ Airport Tax และเดินเข้าไปช่องตรวจหนังสือเดินทางได้ทันที จากนั้นเมื่อเดินเข้าประตูทางด้านหลัง ตม. แล้ว ก็มีบันไดให้เดินลงไปสู่บริเวณที่เป็น Lounge สำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจและชั้นหนึ่งของสายการบินไทยทันที

        Lounge ที่นี่กว้างขวาง แต่ผมตัดสินใจทันทีว่าไม่ชอบ เพราะการออกแบบนั้นทำเหมือนเป็นระเบียงที่มีทางเดินอยู่ตรงกลาง ทางขวามือเป็นเนื้อที่แคบๆ ตั้งเก้าอี้ชุดนั่งเป็นกลุ่มๆ เรียงแถวได้เพียงสองสามคน ส่วนทางซ้ายมือเป็นเนื้อที่ซึ่งตั้งเก้าอี้ชุดได้มากกว่าและหันหน้าไปทางส่วนในของอาคาร ทางด้านซ้ายมือนั้นมองเห็นกระจกโค้งของอาคารซึ่งระหว่างที่ผมนั่งอยู่ก็ได้เห็นฝนตกกระหน่ำถูกกระจกได้ถนัดถนี่แต่เราเดินไปถึงกระจกไม่ได้เพราะบริเวณที่ตั้งเลานจ์นั้นมีลักษณะเหมือนเป็นชั้นลอย และมีที่ว่างระหว่างชั้นที่เป็นเลานจ์กับกระจก เนื้อที่ส่วนที่อยู่ใกล้แนวกระจกโค้งด้านนี้เขาตั้งโต๊ะสูงและเก้าอี้สูงเหมือนที่นั่งในบาร์ให้นั่งด้วย เนื้อที่ทั้งหมดทางด้านซ้ายมือนั้นแบ่งเป็นส่วนๆ มีส่วนที่เป็นห้องน้ำ และส่วนที่เป็นบริเวณวางอาหารว่างและเครื่องดื่มให้ผู้ที่มีสิทธิ์ใช้เลานจ์มาเลือกหยิบไปได้ตามสบาย ส่วนทางขวามือนั้น มีส่วนหนึ่งเป็นห้องสำหรับวางกระเป๋า ซึ่งผมเชื่อว่าไม่มีใครกล้าวางไว้เพราะอาจมีคนหยิบฉวยไปได้โดยง่ายเนื่องจากเป็นทางเดินดังกล่าวแล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นห้องที่กั้นเป็นคอกตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ให้บริการจำนวนเป็นสิบชุด อีกห้องหนึ่งตั้งเก้าอี้นอนไว้หลายตัว และมีผู้โดยสารมานอนพักอยู่เหมือนกัน

        ที่ผมไม่ชอบเลานจ์ลักษณะนี้ก็เพราะคนพลุกพล่านมาก ไม่ค่อยมีความสงบเท่าใดนัก ผมเชื่อว่าหลายคนก็คงคิดแบบเดียวกันนี่แหละครับ

        ผมลองตรวจสอบคลื่นไวร์เลสส์ดูก็พบว่าใช้ได้ดี ความเร็วก็สูงครับ ผมจึงถือโอกาสทำงานไปพักใหญ่ก่อนเดินไปยังประตู C4 ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก การเข้าเลานจ์นั้นมีปัญหาเล็กน้อยคือไม่ได้เห็นนารายณ์กวนเกษียรสมุทร และไม่ได้เห็นร้านค้าทั้งหลาย เพราะเส้นทางจากเลานจ์ไปยังเกต C4 นั้นผ่านร้านปลอดภาษีเพียงร้านเดียว ผมไม่ได้เข้าไปดูว่ามีอะไรขายบ้าง แต่เมื่อมองจากข้างนอกก็เห็นสินค้ามาตรฐานทั้งเหล้า ไวน์ น้ำหอม เครื่องสำอาง ฯลฯ

        ก่อนถึงเกตก็ต้องผ่านเครื่องตรวจ CTX ซึ่งก็ประสิทธิภาพดีจริงเพราะภรรยาของผมลืมหยิบกรรไกรเล็กๆขนาดหนึ่งนิ้วออกจากกระเป๋า ซึ่งเครื่องก็มองเห็น ทำให้ต้องหยิบทิ้งไป จากนั้นก็ต้องไปให้พนักงานของบริษัท Chubb เปิดกระเป๋าถือตรวจอีก เราเชื่อตามข่าวหนังสือพิมพ์ว่าเขายินยอมให้นำครีมทาตัวขึ้นเครื่องได้แล้ว แต่พนักงานไม่ยอม ผมก็เลยต้องเอาใส่กระเป๋าถือที่ติดตัวมาฝากโหลดเข้าเครื่องแทน

        ก่อนเดินทาง เราเห็นข่าวเรื่องกระเป๋าเดินทางตกค้างที่สนามบินสุวรรณภูมิจำนวนหลายพันใบ ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท เราก็เลยเตรียมเสื้อผ้าไว้ในกระเป๋าถือขึ้นเครื่องด้วย แต่ในที่สุดก็ไร้ปัญหาครับ เมื่อเราไปถึงนิวยอร์กก็ได้รับกระเป๋าที่โหลดขึ้นเครื่องมาครบถ้วน

        เที่ยวบินนาน 16 ชั่วโมงเศษนี้ เขามีนักบินสองชุด แต่พนักงานในเครื่องดูเหมือนจะมีชุดเดียว ซึ่งก็คงจะเหนื่อยมากด้วย แต่เมื่อมาถึงแล้วจะได้พักสามวัน ก่อนที่จะเริ่มทำงานใหม่

        เครื่องบินออกจากสนามบินเวลาหลังตีหนึ่งซึ่งล่าช้าไปกว่ากำหนดเล็กน้อยแต่ก็เป็นเรื่องปกติ และบินไกลๆ อย่างนี้เขาสามารถทำเวลาให้ถึงที่หมายตามกำหนดได้โดยไม่ยากนัก หลังจากเครื่องบินไต่ไปถึงระดับที่กำหนดแล้วพนักงานก็เริ่มให้บริการอาหารซึ่งไม่ทราบว่าจะเรียกเป็นมื้ออะไร เพราะถ้าคิดตามเวลาเมืองไทยก็เกือบตีสองแล้ว

        เมื่อเดือนกันยายนผมบินไปเมลเบิร์น และ เดือนตุลาคมนี้บินมานิวยอร์ก เรื่องที่อยากจะกล่าวถึงก่อนก็คือ เครื่องมือสำหรับรับประทานอาหารในที่นั่งชั้นธุรกิจของเครื่องบินสายการบินไทยนั้นดูสวยดีครับ แต่ใช้ไม่สะดวกเลย เพราะออกแบบผิดครับ โดยเฉพาะซ่อมนั้นออกแบบให้ด้ามจับส่วนที่ควรจะแบนกลับหนา ไม่ทราบว่าคนซื้อมาเคยทดลองใช้ก่อนตัดสินใจซื้อหรือเปล่า เรียกว่าเป็นการทำงานที่ไม่มีวุฒิภาวะตามหลัก CMMI เลยก็ว่าได้

        หลังอาหารแล้วผมก็หลับไปบนเก้าอี้พิเศษที่ปรับเอนจนเกือบกลายเป็นเตียงนอนได้ แต่พอถึงเวลาเกือบ 9 น. ตามเวลาไทย (ขอใช้เวลาไทยไปก่อนครับ) เขาก็ปลุกเราขึ้นมารับประทานอาหารมื้อที่สอง

        และให้บริการอาหารมื้อที่สามอีกครั้งเวลา 15.15 น. พอถึง 17.15 ก็มีเสียงประกาศว่าเรากำลังเข้าเขตน่านฟ้าอเมริกัน ขอให้ผู้โดยสารนั่งอยู่กับที่ อย่าเดินไปออกันหน้าห้องน้ำ จากนั้นอีกไม่ช้าเครื่องบินก็ร่อนลงที่สนามบินจอห์น เอฟ. เคนเนดี เวลา 17.50 น. ซึ่งตรงกับเวลา 6.50 น. ของวันที่ 11 ตุลาคม ตามเวลาเขตตะวันออกของสหรัฐอเมริกา รวมเวลาบินประมาณ 16.45 ชั่วโมง

        ที่สนามบิน JFK ช่วงเช้านั้นยังไม่แออัดมากนัก ก่อนหน้าเครื่องบินที่เรานั่งจะมาถึงนั้นมีเพียงสายการบินของอิสราเอลเท่านั้นที่มาถึง สังเกตได้จากผู้โดยสารที่รอการตรวจคนเข้าเมืองที่มีแต่ชาวยิวทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้เองเราจึงใช้เวลารอไม่นานนักก็ได้รับการตรวจลงตราเข้าอเมริกาโดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้พูดกับผมเลยสักคำเดียว ต่อจากนั้นผมก็ต้องเสียเงินไป 3 เหรียญเพื่อดึงรถเข็นกระเป๋าออกจากราง แล้วไปรอกระเป๋าอย่างกระวนกระวายว่าจะได้รับหรือไม่ แต่รออยู่เพียงสิบนาทีก็ได้รับกระเป๋าเรียบร้อยดี ไม่มีใบไหนหายหกตกหล่น ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่สนามบินสุวรรณภูมิมาในที่นี้ด้วย

        คุณองอาจ และคุณบุษบา ศิริอมรเทพ กรุณามารับผมและภรรยาไปพักที่บ้านซึ่งอยู่ที่ลองไอซ์แลนด์ ซึ่งผมจะพักอยู่ที่นี่อีกหลายวันก่อนจะบินไปยังชาร์ลอตต์

        สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศใหญ่ดังนั้นจึงเกิดเหตุการณ์แปลกๆ อยู่เสมอ คราวหนึ่งผมบินมาลงที่แอลเอ พอเข้าพักที่โรงแรมก็ได้ดูข่าวการระเบิดอาคารที่โอกลาโฮมา มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก แต่ตำรวจก็สามารถจับคนร้ายที่วางระเบิดได้ในอีกสองสามวันต่อมา อีกคราวหนึ่งกำลังบินมาต่อเครื่องที่ชิคาโกเพื่อต่อไปแอลเอ ก็พอดีเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่เบย์แอเรีย ทำให้สะพานบิ๊กเบย์และทางด่วนเสียหายหนัก แต่ช่วงที่ผมไปอยู่ที่เบอรกเล่ย์ครึ่งปีนั้นไม่เกิดเหตุการณ์พิสดารอะไร อย่างไรก็ตามมาคราวนี้ก็เกิดเหตุการณ์ที่กลายเป็นข่าวใหญ่อยู่เรื่องหนึ่ง นั่นก็คือเครื่องบินเล็กชนอาคารอพาร์ตเมนต์สูงห้าสิบชั้นในแมนฮัตตัน และตอนแรกเห็นว่าที่มีข่าวปรากฏทางโทรทัศน์นั้นหลายคนคิดว่าถูกผู้ก่อการร้ายเล่นงานเหมือนกับกรณี 911 อีกแล้ว แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าไม่ใช่การก่อการร้าย แต่เป็นอุบัติเหตุที่ไม่น่าจะเกิด

        ผู้ที่ขับเครื่องบินเล็กมาชนอาคารก็คือ นาย โครี ไลเดล ซึ่งเป็นผู้เล่นเบสบอลล์ในตำแหน่ง Pitcher ของทีมแยงกี้ นายโครี ไลเดล ผู้นี้มีอายุ 34 ปี มีลูกชายอายุ 6 ขวบ และเป็นนักบินเครื่องบินเล็กมาได้ 8 เดือน ข่าวโทรทัศน์อ้างถึงคำพูดของเขาว่า การขับเครื่องบินนั้นปลอดภัย 99 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 1 เปอร์เซ็นต์ที่มีปัญหานั้นก็สามารถนำเครื่องบินร่อนลงได้อย่างปลอดภัย แต่น่าเสียดายที่เขาอยู่ในกลุ่มเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมากที่ไม่สามารถจะรอดชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้ได้ และโชคดีที่ช่วงที่เครื่องบินของเขามีปัญหาจนบินเข้าไปชนอาคารสูงนั้น ไม่มีใครอยู่ในห้องที่ถูกชนจึงไม่มีคนอื่นเสียชีวิต ต่อมามีนักบินเครื่องบินเล็กคนหนึ่งเขียนบทความไปลงหนังสือพิมพ์แสดงความเห็นว่า นายไลเดลน่าจะไม่มีประสบการณ์มากพอในการบิน ถึงแม้ว่าเขาจะพาครูฝึกไปด้วย แต่ครูฝึกก็มีอายุไม่ถึงสามสิบปี ประสบการณ์ก็น้อย ยิ่งบินเข้าไปในแมนฮัตตัน ใกล้กับสนามบินลาการ์เดียซึ่งเป็นน่านฟ้าที่ห้ามเครื่องบินเล็กด้วยแล้ว พวกเขาอาจจะตกใจจนมัวแต่มองแผนที่อยู่ กว่าจะรู้ตัวก็ชนอาคารเข้าให้แล้ว

        นอกจากเรื่องเครื่องบินเล็กชนซึ่งตอนแรกเป็นข่าวใหญ่ทางโทรทัศน์แล้ว ก็เกิดปัญหาภัยธรรมชาติคือ มีพายุหิมะถล่มเมืองบัฟฟาโล ทางเหนือของรัฐนิวยอร์ก ทำให้ต้องปิดถนนสายหลักไปสองวัน ต่อมาก็เกิดปัญหาเรื่องน้ำท่วมที่เทกซัส และแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 6.6 ริกเตอร์ที่ฮาวาย

        ผมจะขอข้ามไปเล่าเรื่องราวที่ชาร์ลอตต์ต่อไปเลยก็แล้วกันครับ เพราะนั่นก็คือวัตถุประสงค์ที่เดินทางมาสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้

        ชาร์ลอตต์เป็นเมืองที่อยู่ในรัฐนอร์ทแคโรไลน่า และอยู่ใต้นิวยอร์คไปอีก ผมใช้เวลานั่งเครื่องบิน US Air จากสนามบินลาการ์เดียนานเกือบสองชั่วโมงก็ไปถึงสนามบินชาร์ลอตต์ซึ่งเป็นฮับของสายการบิน US Air เมื่อได้รับกระเป๋าแล้วผมก็นั่งแทกซีไปยังโรงแรม Courtyard Mariott ที่อยู่บนถนนสาย 3 ตัดกับถนน Tryon

        นอกจากผมแล้ว คนไทยที่มาเข้า Workshop ครั้งนี้ก็คือ คุณพิมพ์พร หาญชาญเลิศ เจ้าหน้าที่ของเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย หรือ Software Park Thailand ซึ่งมาถึงโรงแรมก่อนผมแล้ว คุณพิมพ์พร เป็น Candidate Lead Appraiser ซึ่งรอการเลื่อนชั้นเป็น Lead Appraiser อยู่ ส่วนอีกคนหนึ่งคือ คุณธัชนันท์ หรือ คุณบ๊วย จากบริษัท Extreme ซึ่งได้รับการเลื่อนเป็น Lead Appraiser แล้ว

        Workshop ครั้งนี้ทางสถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering Institute) แห่ง มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน ได้กำหนดให้ Authorized Instructor และ Lead Appraiser รวมทั้ง Candidate Lead Appraiser มาเข้าร่วมโดยไม่คิดเงิน ที่ต้องมาเข้าร่วมก็เพราะเมื่อเดือนสิงหาคมทางสถาบันได้ประกาศ CMMI เวอร์ชัน 1.2 สำหรับใช้แทนเวอร์ชันเก่า และผู้ประเมินรวมทั้งอาจารย์ทั้งหมดต้องเรียนรู้เรื่องเวอร์ชันใหม่ให้เข้าใจ และต้องผ่านเงื่อนไขสามข้อจึงจะสามารถประเมินหรือสอน CMMI เวอร์ชันใหม่ได้ เงื่อนไขข้อแรกก็คือทุกคนต้องเรียนเวอร์ชันใหม่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตก่อน เงื่อนไขข้อที่สองต้องสอบความรู้เวอร์ชันใหม่ และ เงื่อนไขที่สามต้องมาเข้าฝึกอบรมเนื้อหาด้วยตัวเอง (Face-to-face)

        ผมผ่านเงื่อนไขมาแล้วสองข้อ คงเหลือข้อสุดท้าย ถ้าไม่มาก็ไม่มีสิทธิ์ประเมินหรือสอนต่อไปได้ ส่วนคุณพิมพ์พรและคุณธัชนันท์นั้นผ่านเพียงข้อแรกเท่านั้น มาครั้งนี้จึงต้องมาสอบด้วย

        ความจริงแล้ว ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่จำเป็นต้องทำแต่ผมยังไม่ได้เตรียมตัวมา นั่นก็คือทางสถาบันได้พบว่า การประเมินบริษัทให้ได้วุฒิภาวะระดับสูงที่ผ่านมานั้น มีจำนวนมากไม่ถูกต้อง ซึ่งแสดงว่าผู้ประเมินไม่เข้าใจแนวคิดเรื่องบริษัทที่มีวุฒิภาวะสูง ดังนั้นสถาบันจึงได้ลองสำรวจผู้ประเมินหลายร้อยคน และได้ทราบความเห็นว่า กว่าสามในสี่คิดว่าการประเมินบริษัทที่มีวุฒิภาวะระดับสูงนั้นไม่น่าจะถูกต้องเหมือนกัน และควรจะจัดสอบรับรองผู้ประเมินที่ต้องการประเมินบริษัทเข้าสู่ระดับวุฒิภาวะสูง (High maturity organization) ดังนั้นทางสถาบันจึงจัดให้มีการสอบประเมินขึ้น และเป็นการสอบแบบปากเปล่านานหนึ่งชั่วโมงด้วย

        ผมทราบดีว่ายังมีประสบการณ์ด้านนี้น้อย จึงยังไม่สมัครเข้าสอบ ขอใช้เวลาศึกษาตั้งหลักก่อนครับ ดังนั้นมาครั้งนี้จึงเพียงแต่พาตัวเองมาแสดงตัวกับทางสถาบันเท่านั้น

        Workshop ครั้งนี้มีเนื้อหาให้เรียนรู้มากทีเดียวครับ ส่วนหนึ่งเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในโมเดลใหม่ซึ่งที่จริงคนที่มาเข้าเวิรกชอปส่วนใหญ่ก็ได้เรียนทางออนไลน์ไปแล้ว แต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่ทางสถาบันนำมาอธิบายให้กระจ่าง รวมทั้งอธิบายเครื่องมือใหม่ๆ สำหรับใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างสถาบันกับผู้ประเมินและอาจารย์ด้วย เนื้อหาทางวิชาการอื่นๆ ก็มีอีกมากเหมือนกันครับ แต่ผมขออนุญาตไม่นำมาเล่าในที่นี้

        สิ่งที่อยากจะเล่าก็คือ โมเดล CMMI นั้นเป็นกรอบสำหรับการสร้างองค์กรให้มีวุฒิภาวะความสามารถสูงขึ้น องค์กรซึ่งเหมาะจะใช้ CMMI ได้แก่องค์กรที่ทำหน้าที่พัฒนาซอฟต์แวร์, ระบบอิเล็กทรอนิกส์, และอุตสาหกรรมต่างๆ ในเวิรกชอปครั้งนี้ ทางสถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ได้ประกาศว่ากำลังพัฒนา CMMI สำหรับใช้กับงานบริการอยู่ และคิดว่าปีหน้าก็คงจะนำออกมาใช้ได้

        โมเดล CMMI มีส่วนประกอบสามอย่าง ส่วนแรกคือส่วนสำหรับใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการทำงานขององค์กร, ส่วนที่สองคือส่วนที่เป็นเนื้อหาสำหรับใช้ในการประเมินผลการนำโมเดลไปใช้ และส่วนที่สามคือส่วนที่ใช้สอนการนำโมเดลไปใช้และสอนการประเมิน

        เมื่อครั้งผมทำงานที่สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผมได้รับปากว่าจะช่วยซอฟต์แวร์พาร์กในด้านการผลักดันให้บริษัทซอฟต์แวร์ของไทยใช้ CMMI ในการปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น และผมก็เข้าเรียนในหลักสูตรต่าง ๆ จนได้รับอนุญาต (authorization) ให้เป็นอาจารย์ และ ผู้ประเมิน CMMI แล้ว หน้าที่นี้เองที่ทำให้ผมต้องมาชาร์ลอตต์ในครั้งนี้ และ ในเวิรกชอปครั้งนี้ผมก็ได้รับทราบต่อไปว่า เหตุผลที่ทางสถาบันตัดสินใจเปลี่ยนจากการอนุญาตมาเป็นการรับรองผู้ประเมินวุฒิภาวะความสามารถระดับสูงนั้น เป็นเพราะมีการทำผิดจริยธรรมกันมาก นั่นคือการประเมินองค์กรเข้าสู่ระดับวุฒิภาวะความสามารถสูงนั้นไม่ค่อยน่าเชื่อถือ เพื่อนผมคนหนึ่งบอกว่า บางบริษัทจัดตั้งวันนี้แล้วก็ประกาศในวันนี้เหมือนกันว่าได้วุฒิภาวะความสามารถระดับสูงสุดคือระดับ 5 แล้ว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ในการบรรยายของผู้เชี่ยวชาญของสถาบันก็เช่นกัน บอกว่า บริษัทที่ไต่จากระดับ 2 หรือ 3 ไปถึงระดับ 5 ในระยะเวลาที่น้อยกว่า 18 เดือนนั้นอยู่ในข่ายน่าสงสัยว่าจะประเมินอย่างไม่ถูกต้อง

        อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้บรรยายยกขึ้นมาก็คือ กรณีที่ บริษัทที่ปรึกษาจัดทำ template ให้บริษัทที่ตนให้คำปรึกษาใช้ รวมทั้งบริษัทให้คำปรึกษาในการอนุวัติโมเดล CMMI เสร็จแล้วก็ประเมินการใช้นั้นเอง ซึ่งนับว่าผิดอย่างแรง เพราะเป็นการทำให้เกิด Conflict of Interest ซึ่งหากเปรียบไปก็เหมือนกับปัญหาที่เกิดกับนายกฯนักไอซีทีของเรานั่นเอง

        คำว่า Conflict of Interest นั้น ผู้บรรยายของสถาบันอธิบายว่า ผู้เกี่ยวข้องยังไม่จำเป็นต้องทำอะไรผิดนะครับ เพียงแค่ว่าเกิดสถานการณ์ที่เป็น Conflict of Interest เท่านั้น ก็ถือว่าไม่สุจริตแล้ว ผมฟังแล้วก็คิดในใจว่า ถ้าผู้บรรยายรู้เรื่องเกี่ยวกับนักการเมืองในรัฐบาลชุดเก่าของไทยละก็คงจะหาตัวอย่างมาประกอบได้มากมายทีเดียว

        ผมฟังคำบรรยายต่างๆ หลายเรื่องแล้วก็รู้สึกดีใจที่ไม่ได้สมัครมาสอบปากเปล่าคราวนี้ เพราะการจะสอบปากเปล่านั้นต้องเตรียมตัวให้ดีก่อนโดยเฉพาะเรื่องพฤติกรรมของบริษัทหรือองค์กรที่มีวุฒิภาวะระดับสูง และผมเองก็ยังไม่เคยเห็นมีบริษัทไทยที่ทำงานถึงขั้นมีวุฒิภาวะระดับสูงนี้เลยสักแห่งเดียว เจ้าหน้าที่ของสถาบันบอกเล่าว่า มีผู้สมัครสอบมา 80 คน แต่ทางสถาบันเลือกให้สอบปากเปล่าที่ชาร์ลอตต์เพียง 24 คน และจากผลการสอบจะนำไปพิจารณาวางหลักเกณฑ์ในการสอบข้อเขียนและสอบปากเปล่าต่อไปก่อน

        เป็นอันว่าผมใช้เวลานั่งฟังคำบรรยายและร่วมในเวิรกชอปที่ชาร์ลอตต์รวมทั้งหมด 4 วัน จากนั้นพอวันศุกร์เย็นผมก็นั่งเครื่องบินกลับมาที่นิวยอร์กใหม่ ผมอยู่ที่นิวยอร์กต่ออีกห้าวันแล้วก็นั่งเครื่องบินกลับมาลงที่สุวรรณภูมิครับ

        ผมนั่งเครื่องบินจากสนามบิน JFK ในช่วงกลางวัน ตามกำหนดการนั้นเครื่องบินต้องออกเที่ยงวัน ทั้งๆที่ผู้โดยสารและเครื่องบินพร้อมแล้ว แต่กว่าจะได้รับอนุญาตให้บินขึ้นได้ก็ล่าช้ากว่ากำหนดไปร่วมชั่วโมง เครื่องบินใช้เส้นทางบินขึ้นเหนือผ่านแคนาดา ผ่านบริเวณขั้วโลก แล้วลงมายังมงโกลเลีย ผ่านจีน บริเวณเมืองเฉินตู แล้วเข้าสู่ประเทศลาว ก่อนตรงเข้าสู่กรุงเทพฯ

        ที่สนามบินนั้น บริการด้านการตรวจคนเข้าเมืองก็รวดเร็วดีมาก ทั้งๆที่มีผู้คนลงจากเครื่องบินสายต่างๆมากมาย ปัญหาอยู่ที่ต้องรอกระเป๋าเดินทางนานมาก ความจริงกระเป๋าเริ่มไหลออกมาไม่ช้าหลังจากที่ผมมารอ แต่ทั้งๆที่กระเป๋าผมและของผู้โดยสารอีกหลายคนติดป้าย Priority แต่กลับมาช้ากว่าของผู้โดยสารอื่นๆ อีกมาก เหตุการณ์เช่นนี้เกิดเป็นประจำ ผมก็เลยไม่ทราบเหมือนกันว่าทางการบินไทยจะไปติดป้ายนี้ไว้ทำไมหากไม่สามารถทำให้กระเป๋าออกมาเร็วได้เหมือนที่ป้ายกำกับ หลังรับกระเป๋าแล้ว เมื่อเดินผ่านโต๊ะของศุลการักษ์และออกนอกห้องมาแล้ว ก็พบกับผู้คนกลุ่มใหญ่เหมือนเดิมเมื่อครั้งก่อนไม่มีผิด หลายคนพยายามชูป้ายชื่อ ป้ายโรงแรม และส่งเสียงเรียกกันวุ่นวาย ตรงนี้เป็นจุดอ่อนที่น่าเบื่อหน่ายที่สุดครับสำหรับสนามบินใหม่ เพราะถ้าหากคุณเป็นนักเดินทางหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าประเทศ และมีผู้นัดมาพบที่สนามบินเพื่อรับเข้ากรุงเทพฯละก็ ผมว่าคุณต้องเหนื่อยแน่ๆ ครับกว่าจะหาคนที่คุณนัดหมายมาพบ

        ผมกลับมาถึงเย็นวันศุกร์ครับ และเป็นวันที่การจราจรเข้าเมืองคับคั่งมากที่สุดวันหนึ่ง จากสนามบินโดยทางด่วนควรถึงบ้านผมในเวลา 45 นาที แต่วันที่กลับนั้นต้องใช้เวลานานเกือบสองชั่วโมงทีเดียวครับ

        ผมนำเรื่องการผ่านสนามบินสุวรรณภูมิมาเล่าให้ฟังในคราวนี้ เพราะเมื่อไปเมลเบิร์นเดือนก่อน ผมออกจากสนามบินดอนเมือง และกลับมาพบเหตุการณ์แปลกๆที่สุวรรณภูมิ ซึ่งผมเขียนเล่าไปว่าเมื่อได้บินขึ้นจากสุวรรณภูมิเมื่อใดจะมาเล่าให้ฟัง นั่นคือเหตุผลที่รวมเรื่องสุวรรณภูมิไว้ในเรื่องไปอเมริกาครั้งนี้ด้วยครับ


Home | Back