Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

Home
IT Idea for Spiritization

วัดไหล่หิน


        โดยที่ผมเป็นคนกรุงเทพฯ ผมจึงเพิ่งได้ยินชื่อวัดแปลก ๆ นี้เมื่อไม่นานมานี้เอง โดยเฉพาะคือได้อ่านจากหนังสือแนะนำจังหวัดลำปางของ"นายรอบรู้"ที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดี นายรอบรู้เล่าว่าวัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ มีพระวิหารที่มีศิลปะสวยงามน่าชม และอยู่ใกล้ถนนสาย 11 ซึ่งเป็นถนนสายหลักระหว่างจังหวัดลำปางกับเชียงใหม่ ผมเคยขับรถไปกลับระหว่างลำปางกับเชียงใหม่หลายหนแต่ก็ไม่เคยสังเกตว่ามีวัดนี้อยู่บนเส้นทางเลย เมื่อปลายปีที่แล้วผมมาพักผ่อนที่เชียงใหม่และขับรถมาลำปาง จึงได้สังเกตเห็นป้ายชื่อวัดไหล่หินตรงที่กลับรถสำหรับแยกเข้าอำเภอเกาะคา ผมตั้งใจว่าระหว่างขับรถกลับจะแวะเข้าไปชมสักหน่อย แต่พอถึงเวลาขับรถกลับ ผมมองหาป้ายไม่พบ ก็เลยไม่ได้มีโอกาสเลี้ยวรถเข้าไปด มาเชียงใหม่อีกทีตอนต้นพฤษภาคมนี้ผมก็เลยตั้งใจว่าจะมาเที่ยวชมวัดนี้สักครั้ง

        จริงๆ แล้ววัดนี้ไม่ได้อยู่บนถนนซูเปอร์ไฮเวย์ระหว่าง ลำปาง-เชียงใหม่ หรอกครับ เพราะต้องขับรถไปทางเกาะคาอีกหลายกิโลเมตรทีเดียว แต่ขับมาไกลปานนั้นก็คุ้มกับเวลาและน้ำมันครับ

        วัดไหล่หินที่ผมว่าชื่อแปลกนั้นความจริงก็ไม่ได้มีชื่อแปลกอะไรหรอกครับ เพราะวัดต่างจังหวัดก็มักจะใช้ชื่อตามตำบลหรือหมู่บ้านเพื่อให้สังเกตและจดจำได้ง่ายๆ เพียงแต่ชื่อหมู่บ้านนี้ออกจะแปลกหูสักหน่อยผมก็เลยบอกว่าแปลก วัดนี้ถ้าจะเรียกให้เต็มก็คือ วัดไหล่หินหลวง หรือ ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า วัดเสลารัตนปัพพตาราม ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็ก ๆ ในท้องที่หมู่ที่ 2 ตำบลไหล่หิน อ. เกาะคา จังหวัดลำปาง ห่างจากที่ว่าการอำเภอเกาะคาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 6 กม. เศษ มีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ และตามประวัติบ่งว่าสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 218ซึ่งนานกว่าสองพันสามร้อยปีมาแล้ว!

        วัดนี้มีประวัติยืนยาวกว่าประวัติของดินแดนสยามได้อย่างไรนั้นเป็นเรื่องของตำนานครับ ประวัติของวัดที่อยู่ในเอกสารที่วัดนี้พิมพ์แจกนั้นเขาเขียนไว้อย่างนี้ว่า เมื่อปี 218 นั้น พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช แห่งอินเดีย ได้พบพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองราชคฤห์ พระองค์ทรงเกิดศรัทธาปสาทะแรงกล้า ต้องการสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในที่ต่างๆ อย่างกว้างขวาง จึงทรงมอบพระบรมสารีริกธาตุให้พระเถระสององค์ คือ พระกุมารกัสสปะ และ พระเมฆิยะเถระ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรทุกช้างมาจากประเทศอินเดียเพื่อไปบรรจุไว้ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง แต่เมื่อขบวนช้างรอนแรมมาถึงบริเวณเนินเขานี้ ขบวนช้างนั้นก็หยุดเดิน ไม่ว่าจะขับไสอย่างไรก็ไม่ยอมเดินทางต่อ พระเถระซึ่งเป็นพระอรหันต์จึงได้ปรึกษาหารือกันแล้วให้สร้างพระเจดีย์สูง ๔ ศอกขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนหนึ่งไว้เป็นอนุสรณ์ พร้อมกันนั้นพระเถระก็พยากรณ์ว่าต่อไปสถานที่นี้จักรุ่งเรืองเป็นวัดสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่อไป หลังจากนั้นขบวนช้างก็เดินทางต่อไปยังวัดพระธาตุลำปางหลวง ตำนานนี้จริงแท้อย่างไรก็คงยากที่จะพิสูจน์เสียแล้ว

        ประวัติที่มีหลักฐานปรากฏมากขึ้นคือเมื่อราว พ.ศ. 2181 ที่วัดนี้มีพระภิกษุสามเณรมาบวชเรียนกันมาก มีเณรน้อยองค์หนึ่งเดินทางจากลำพูนมาอยู่ที่วัดนี้ เณรองค์นี้ชอบใช้ผ้าจีวรสีคล้ำ และไม่ชอบท่องบ่น เล่าเรียน เขียนอ่านตามคำสั่งของสมภารเจ้าวัด วัน ๆ หนึ่งก็ชอบปลีกตัวอยู่คนเดียว แม้พระอาจารย์จะให้ใบลานจารึกมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์มหาพลไปท่อง เณรน้อยก็ไม่สนใจ วันหนึ่งท่านอาจารย์จึงสั่งให้ไปแสดงธรรมให้ชาวบ้านฟัง เณรน้อยนั้นก็กราบพระแล้วเอาใบลานผูกนั้นวางไว้หน้าพระประธาน ส่วนตนเองก็ขึ้นไปแสดงธรรมปากเปล่าโดยข้อความนั้นตรงกับคำในใบลานตลอดทั้งกัณฑ์ไม่ผิดเพี้ยน ต่อมาท่านสมภารก็ให้เอาใบลานมาตัดเชือกออกทุกผูกแล้วกองกันเป็นกองเดียว จากนั้นก็ให้สามเณรจัดเรียงใบลานเหล่านั้นให้ถูกต้องตามเนื้อหา ซึ่งเณรน้อยก็สามารถทำได้ในเวลาไม่ถึงชั่วโมง ทำให้มีผู้เลื่อมใสในตัวสามเณรน้อยองค์นี้มาก

        ต่อมาในพ.ศ. 2193 ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุมีฉายาว่า "มหาเกสรปัญโญภิกษ" และคนทั่วไปมักจะเรียกชื่อท่านว่าครูบามหาป่า ต่อมาท่านก็ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดไหล่หินและช่วยทำความเจริญให้แก่มากยิ่งขึ้นไปอีก ท่านเป็นนักปฏิบัติและมีความรู้ในธรรมะแตกฉาน วันหนึ่งๆ สามารถแต่งและเขียน (จาร) ธรรมได้เป็นจำนวนมาก การปฏิบัติของท่านถึงระดับสามารถเหาะไปบิณฑบาตในหมู่บ้านไกลๆ เช่น ไทยใหญ่ในแคว้นเชียงตุงได้ เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงที่เลื่อมใสท่านได้ถามว่าท่านจำพรรษาอยู่ที่ใด แต่ท่านก็ตอบเป็นปริศนาว่าท่านอยู่วัด "ขบ บ่ แตก" ท่านเจ้าฟ้าได้ให้เสนาค้นหาวัดชื่อนี้ตลอดแว่นแคว้นก็หาไม่พบ ต่อมาเจ้าฟ้าจึงให้เสนานำมะพร้าวลูกหนึ่งมาปอกเปลือกและขูดกะลาจนเกลี้ยง จากนั้นให้ผ่าเป็นสองซีก ซีกหนึ่งเจ้าฟ้าเก็บไว้ อีกซีกหนึ่งถวายให้ท่านมหาเกสรฯ เมื่อท่านมารับบาตรในตอนเช้า >พร้อมกับนมัสการว่า "ขออาราธนาพระคุณเจ้าฉันเนื้อมะพร้าวแล้วเก็บกะลาไว้ด้วย ข้าพเจ้าจะไปรับเอากะลาทีหลัง"

        ต่อจากนั้นเจ้าฟ้าเชียงตุงก็ให้บริวารออกเสาะหาวัดของพระเถระด้วยศรัทธาแรงกล้า จนเวลาผ่านไป 7 เดือนจึงมีเสนากลุ่มหนึ่งเดินทางมาถึงวัดไหล่หิน และได้นมัสการพระคุณเจ้าพร้อมกับถามถึงกะลาที่เจ้าฟ้าเชียงตุงถวายให้ พระเถระก็นำกะลาซีกนั้นมาให้ดู เสนากลุ่มนั้นจึงกลับไปกราบทูลเจ้าฟ้าเชียงตุงให้ทราบว่าพระเถระอยู่ที่วัดไหล่หิน เจ้าฟ้าเชียงตุงก็พาข้าทาสบริวารมายังวัดไหล่หิน และช่วยกันสร้างพระวิหาร และ บูรณะพระธาตุเจดีย์ที่มีมาตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 218 นั้น

        โบราณสถานสำคัญในวัดนี้ก็คือพระวิหารซึ่งเป็นศิลปะล้านนาที่แปลกกว่าที่อื่นๆ พระวิหารนี้มีกำแพงก่ออิฐถือปูนล้อมโดยรอบ และกำแพงด้านหน้าพระวิหารก่อซุ้มประตูสวยงามสำหรับเดินเข้าไปสู่ลานด้านใน ประตูนี้เรียกว่าประตูโขงซึ่งแม้จะชำรุดไปบ้างแล้วแต่ก็ยังงดงาม ซุ้มประตูนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเถระมหาป่า และมาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งในปี 2477 รวมแล้วก็กว่าเจ็ดสิบปีแล้ว ยอดซุ้มประตูโขงทำเป็นรูปมงกุฎ โดยรอบปั้นเป็นรูปสัตว์สารพัดชนิดในอิริยาบถต่าง ๆ แบบธรรมชาติ สลับกับลวดลายไทย นับเป็นศิลปะปูนปั้นที่แปลกตามาก ในทัศนะของผมนั้นเห็นว่างามแปลกตาไปอีกแบบหนึ่งต่างจากศิลปะปูนปั้นอันเป็นฝีมือลือชื่อของช่างเพชรบุรี

        เมื่อเดินเข้าไปก็ได้เห็นพระวิหารที่มีความกว้าง 5 เมตร ยาว 9 เมตร หน้าบันเป็นลวดลายไม้แกะสลักงดงาม ฝีมือช่างล้านนาอาจจะแปลกตาสำหรับคนกรุงเทพฯ อย่างผมมากทีเดียว น่าเสียดายที่ความเก่าแก่ของผลงานเริ่มส่งผลให้เห็นความผุกร่อนอย่างน่าเป็นห่วง

        ทางขวามือของเราเป็นศาลาเล็ก ๆ ซึ่งดูแปลกเพราะดูเหมือนด้านหน้าจะต่ำกว่าด้านหลังทำให้แลดูเหมือนศาลากำลังทรุด แต่เมื่อดูเสาก็ยังเห็นตั้งตรงเป็นปกติ ด้านหลังวิหารมีพระธาตุขนาดเล็กก่ออิฐถือปูนอยู่องค์หนึ่ง บนของรอบองค์พระธาตุปั้นเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ หลายชนิด

        ในวัดนี้มีพิพิธภัณฑ์ที่เก็บของเก่าอยู่แห่งหนึ่ง เป็นอาคารก่ออิฐมั่นคงถาวร เจ้าหน้าที่ของวัดได้เอื้อเฟื้อหากุญแจมาเปิดให้เข้าไปชมภายใน ซึ่งมีของเก่าตั้งแต่สมัยครั้งครูบามหาป่า เช่น เตียงนอน และเครื่องใช้อื่น ๆ นอกจากนั้นก็เป็นเครื่องใช้พื้นบ้าน พระพุทธรูปบูชาและพระเครื่องเก่า ที่แปลกตาคือ ตาลปัตรที่สามารถหุบได้ ลักษณะเหมือนพัดพับที่คลี่ออกมาเป็นรูปวงกลมได้ ที่นี่มีเอกสารใบลานที่กล่าวกันว่าเก่าแก่มากที่สุดในประเทศด้วย การจัดของยังไม่ค่อยเรียบร้อยดีนัก เพราะสถานที่คับแคบมากกว่าของที่จะนำมาตั้งแสดง ผมเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ก็คงจะเป็นอาสาสมัคร การทำบันทึก หรือ คำอธิบายจึงอาจจะไม่สมบูรณ์มากนัก

        แม้ว่าวัดนี้จะอยู่ค่อนข้างไกลจากตัวเมืองลำปางบ้างแต่ก็น่าจะไปเที่ยวชมถ้าหากมีเวลาครับ


Home | Back