Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

Home
IT Idea for Spiritization

วัดสวนดอก

ดร. ครรชิต มาลัยวงศ์
25 กุมภาพันธ์ 49

               วัดสวนดอก หรือ วัดบุปผารามเป็นวัดเก่าแก่สร้างในอุทยานดอกไม้ในรัชสมัยของพระเจ้ากือนาธรรมิกราช ในราชวงศ์มังรายเมื่อราวปี พ.ศ. ๑๙๑๔ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระสุมนเถระอัญเชิญมาจากเมืองสุโขทัย ต่อมาวัดได้ชำรุดทรุดโทรมและร้างไป จนกระทั่งพระเจ้ากาวิละได้กู้อิสรภาพเมืองเชียงใหม่สำเร็จจึงได้ทำนุบำรุงวัดนี้ใหม่อีกครั้ง ต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๐ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงย้ายพระอนุสาวรีย์ (กู่) ของเจ้านายในสกุล ณ เชียงใหม่ มาประดิษฐานที่วัดนี้ และต่อมาในปี ๒๔๗๕ ครูบาศรีวิชัยได้มาบูรณะวัดและสร้างวิหารหลวงขึ้น

                ผมเคยมานมัสการพระเจ้าเก้าตื้อที่วัดสวนดอกครั้งแรกเมื่อสี่สิบปีมาแล้ว หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีโอกาสเข้ามานมัสการท่านอีก ได้แต่นั่งรถผ่านวัดไปนับครั้งไม่ถ้วน เพราะวัดสวนดอกนี้อยู่บนถนนสุเทพซึ่งอยู่ด้านหลังของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผมต้องผ่านถนนสายนี้แทบทุกครั้งที่ขึ้นไปทำธุระที่เชียงใหม่ มาคราวนี้ผมจึงตั้งใจว่าหากมีเวลาก็จะมาเดินชมสถาปัตยกรรมและกู่ในวัดนี้อีกสักครั้ง

               การเที่ยวชมวัดนั้น หากมาแบบนักท่องเที่ยวต่างประเทศก็นั่งรถบัสมาจอด แล้วก็ลงจากรถมาเดินดูว่าในวัดมีอะไรบ้าง มัคคุเทศก์ก็พูดๆ อธิบายให้นักท่องเที่ยวฟังบ้าง ไม่ทันฟังบ้างแล้วก็กลับไปขึ้นรถเพื่อนั่งไปชมสถานที่อื่นต่อไป แต่ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยก็มักจะมาไหว้พระ อธิษฐานบ้าง เสี่ยงเซียมซีบ้าง หากมีเวลาก็ชำเลืองดูโน่นดูนี่แล้วก็กลับ รวมแล้วไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันกลับไป นอกจากบางคนที่ถ่ายภาพกลับไปเป็นที่ระลึก

               วัดส่วนมากในไทยนั้นเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ค่อยได้พิมพ์หนังสือประวัติและรูปภาพสิ่งสวยๆ งามๆ ในวัดออกมาจำหน่าย ที่วัดสวนดอกนี่ก็เช่นกัน ถึงแม้จะมีศาลาสำหรับขายดอกไม้ วัตถุมงคล และแผงหนังสือ แต่ไม่มีหนังสือประวัติวัดสวนดอกจำหน่าย ถ้ามีจำหน่ายก็จะเป็นเรื่องดีเพราะเท่ากับเป็นการประชาสัมพันธ์วัดไปด้วยในตัว นักท่องเที่ยวจะได้รู้จักประวัติ ได้ชื่นชมภาพของศิลปวัตถุ ภาพสถาปัตยกรรม และได้รู้เกร็ดต่างๆ มากขึ้น ผมเข้าใจดีครับว่าพระสงฆ์ในวัดท่านคงจะไม่มีทุนทรัพย์สำหรับพิมพ์หรอกครับ ต้องอาศัยเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา และเงินบริจาคนั้นก็ไม่พอเพียงที่จะทำนุบำรุงวัดอยู่แล้ว แต่ผมก็ต้องกล่าวถึงเรื่องนี้เพื่อจะได้พูดกันต่อๆ ไป และช่วยกันหาทุนทรัพย์มาพิมพ์เผยแพร่ให้กับวัดต่างๆ อันที่จริงแล้วผมคิดว่าการท่องเที่ยวนั่นแหละครับที่ควรจะทำเรื่องนี้ แทนที่จะนำเงินไปใช้อิลุ่ยฉุยแฉกด้านอื่น

               ในเมื่อผมเดินมาเที่ยวโดยปราศจากคู่มือ ดังนั้นผมก็ต้องอธิบายแบบผู้ที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงเบื้องหลังสิ่งที่เห็น หากมีอะไรผิดพลาดไปก็ต้องขออภัยด้วย

               เริ่มจากทางเข้าวัดเลยดีไหมครับ หน้าทางเข้าริมถนนสุเทพนั้นทางวัดทำป้ายชื่อวัดขนาดใหญ่เอาไว้ ดูสวยงามครับ อักษรบนป้ายมีทั้งอักษรไทย อักษรล้านนา และอักษรอังกฤษ อักษรล้านนานั้นเริ่มมีผู้เรียนมากขึ้นครับ สถานที่ราชการบางแห่งก็เริ่มใช้อักษรล้านนาทำป้ายชื่อด้วย อย่างเช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

               เมื่อเดินตามถนนเข้าไปถึงบริเวณวัด ผมก็เห็นว่าศาลาด้านหน้าทางเข้าของวัดกำลังมีการสาธิตวิธีประหยัดพลังงานแบบต่างๆ มีทั้งโปสเตอร์แนะนำ และอุปกรณ์ที่ผลิตสำเร็จแล้ว น่าเสียดายที่มีคนมาชมกันน้อยเกินไป หากผู้จัดประชาสัมพันธ์ให้คนทราบมากๆ และจัดทำเอกสารแนะนำแสดงวิธีทำหรือใช้ผลิตภัณฑ์ช่วยประหยัดพลังงานออกมาแจกแล้ว คงจะเป็นประโยชน์มากทีเดียว

               มองจากด้านหน้าของวัดแล้วผมรู้สึกว่าวัดสวนดอกค่อนข้างจะแห้งแล้งไปหน่อย เพราะมีต้นโพใหญ่อยู่ด้านหน้าแต่เพียงต้นเดียว และสำหรับคนกรุงเทพอย่างผมก็รู้สึกแปลกหน่อย เพราะเขาเอาไม้ค้ำจำนวนมากไปตั้งฝากไว้กับโคนต้น ใกล้กับต้นโพก่อเป็นรั้วคอนกรีตขนาดเตี้ยๆ กั้นบ่อน้ำที่มีขอบซิเมนต์ และมีฝาปิด ผมไม่ได้ชะโงกลงไปดูเงาหัวตัวเองหรอกครับ เพราะกลัวจะมองไม่เห็น แล้วจะใจเสียเปล่าๆ นอกจากต้นโพและบ่อน้ำแล้ว ก็มีลานขนาดใหญ่สำหรับจอดรถบัสและรถเก๋งได้หลายคัน น่าเสียดายที่ยอมให้รถใหญ่ไปจอดเสียชิดพระวิหารหลวง ทำให้ผมกลัวว่ารถบัสใหญ่จะทำให้โครงสร้างของพระวิหารหลวงสะเทือน หรืออาจจะถูกชน ส่วนควันไอเสียก็อาจจะทำให้พระวิหารหลวงเสียหายได้เหมือนกัน เลยจากลานจอดรถก็เป็นสนามหญ้าที่แผ่ไปถึงกลุ่มของกู่ที่ทาสีขาวโพลน

               เดินไปชมพระวิหารใหญ่กันก่อน พระวิหารนี้เป็นอาคารเปิดโล่งทั้งสี่ด้าน ที่ว่าโล่งนั้นคือใช้เหล็กขึงเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเพื่อไม่ให้คนปีนเข้าไปได้ โดยขึงระหว่างกำแพงขนาดไม่สูงนักขึ้นไปถึงขอบหลังคา กำแพงนี้ก่อโดยรอบพระวิหารยกเว้นส่วนทางขึ้นที่เป็นบันไดกว้าง และส่วนนี้ทำรั้วเหล็กเลื่อนได้เพื่อปิดกันไม่ให้สุนัขขึ้นไปเพ่นพ่านในพระวิหาร หน้าบันของพระวิหารปั้นเป็นลวดลายละเอียดสวยงาม มีทั้งรูปเทพนม รูปเทวดา และรูปเสือ เสาของพระวิหารเป็นเสากลมทำลายปูนปั้นรอบเสาที่ตั้งสูงขึ้นไปรองรับหลังคา ภายในพระวิหารไม่ได้ทำเพดานปิด แต่เปิดโล่งให้เห็นกระเบื้องข้างบน ยกเว้นแต่บริเวณสี่เหลี่ยมเหนือองค์พระประธานที่มีเพดานติดดาวแกะสลักสวยงาม ด้านหน้าองค์พระประธานมีรูปหล่อของครูบาศรีวิชัย และ รูปหล่อของพระครูศรีปริยัตยานุรักษ์ เลยไปทางด้านขวาขององค์พระประธานมีป้ายแสดงบทสวดนมัสการพระบรมสารีริกธาต (พระเกสาธาตุ) และมีธรรมาสน์เทศน์แกะสลักให้ชมด้วย ส่วนด้านหลังขององค์พระประธานนั้นประดิษฐานพระยืน และแบบจำลองของพระเจดีย์ของวัดที่กำลังปิดทองอยู่ ผมได้แต่ชมภาพแบบจำลองเท่านั้น เพราะพระเจดีย์นั้นทางวัดใช้พลาสติกหุ้มระหว่างการปิดทอง

                ผมมาเที่ยวชมวัดนี้ในช่วงที่แดดกำลังร้อนเปรี้ยง ดังนั้นจึงไม่ได้เดินเข้าไปชมภายในบริเวณกู่ คงเดินไปชมและถวายคำนับที่กู่ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเท่านั้น กู่ทั้งหมดมีหลายองค์ด้วยกัน ทั้งหมดทาสีขาวเมื่อต้องแสงแดดจึงค่อนข้างแสบตา

               ความจริงแล้ววัดนี้มีอาณาเขตกว้างขวาง เมื่อมองไปไกลๆ ก็เห็นหมู่กุฏิซ่อนอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่หลายต้น และอีกด้านหนึ่งก็มีพระอุโบสถที่สวยงาม แต่ผมไม่มีเวลาจะเดินไปนมัสการพระเจ้าเก้าตื้อในพระอุโบสถเสียแล้ว จึงขอนำภาพมาให้ชมเท่าที่กล่าวถึงข้างต้น


Home | Back