Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

Home
IT Idea for Spiritization

การเปิดเผยเวชระเบียน

ดร. ครรชิต มาลัยวงศ์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารราชการ

16 กุมภาพันธ์ 2549

 

               เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 49 นี้ ผมได้ไปร่วมสัมมนาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปิดเผยเวชระเบียน ซึ่งจัดโดยสำนักงานข้อมูลข่าวสารราชการ และมีผู้แพทย์และผู้สนใจจำนวนมากมาร่วมรับฟังและให้ความเห็น การประชุมครั้งนี้น่าสนใจมากจึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังประดับความรู้

               แรกสุดหลายคนอาจสงสัยว่า ผมไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับเวชระเบียนซึ่งเป็นเรื่องของแพทย์เขาด้วย คำตอบก็คือ ผมไปร่วมในฐานะเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารราชการครับ และงานของคณะกรรมการชุดนี้ก็คือพยายามให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลต่างๆ โดยสมัครใจเพื่อความโปร่งใสของการดำเนินงาน อย่างไรก็ตามมีปัญหาที่ต้องพิจารณาในด้านการเปิดเผยอีกสองประเด็น ประเด็นแรกก็คือพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารราชการ กำหนดว่าไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นความเห็นส่วนตัว และประเด็นที่สองก็คือเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกฎหมายฉบับนี้บัญญัติว่าจะเปิดเผยได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล แต่การเปิดเผยนั้นจะต้องไม่กระทบกระเทือนผู้อื่น

               เราทราบกันว่า เวชระเบียน เป็นบันทึกของแพทย์ที่ใช้ประกอบการรักษาผู้ป่วย เมื่อเราไปหาหมอเราเห็นแพทย์เขียนอะไรต่อมิอะไรลงไปบนเวชระเบียนมากมายที่เกี่ยวกับตัวเรา แต่เราอาจจะไม่ทราบว่าเวชระเบียนประกอบด้วยข้อมูลข่าวสารสองส่วนด้วยกัน ส่วนแรกก็ยังมีอีกสองส่วนย่อย คือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ป่วย และเป็นข้อมูลส่วนบุคคลแท้ๆ เช่น ชื่อ วันเกิด เพศ สถานภาพสมรส ชื่อคู่สมรส และข้อเท็จจริงที่ได้จากการสังเกตของแพทย์ เช่น อาการ และค่าที่ได้จากการวัดต่างๆ เกี่ยวกับอาการของผู้ป่วย และส่วนที่สองก็คือความเห็นที่แพทย์มีต่อผู้ป่วย ซึ่งส่วนนี้แพทย์อาจจะแปลความหมายอาการของผู้ป่วย อาจจะสอบถามความเห็นของแพทย์ผู้อื่นแล้วนำมาบันทึกจดไว้ด้วยเพื่อกันลืม

               สาเหตุที่ต้องมีการประชุมสัมมนาเรื่องนี้ก็เพราะ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ได้เกิดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างญาติผู้ป่วยและแพทย์หลายคดีด้วยกัน และทางสำนักงานข้อมูลข่าวสารราชการได้รับคำร้องเรียนว่าโรงพยาบาลของรัฐบางแห่งไม่ยอมเปิดเผยเวชระเบียน เมื่อสำนักงานพิจารณาแล้วก็พบว่าเรื่องนี้มีความซับซ้อนมาก เพราะเวชระเบียนมีเนื้อหาสองส่วนดังกล่าวขั้นต้น และโดยที่การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยก็ได้มีการกล่าวถึงในมาตราหลายมาตราในกฎหมายฉบับนี้แต่ยังไม่ได้มีการพิจารณาตีความเกี่ยวกับขอบเขตการเปิดเผยให้ชัดเจน ดังนั้นสำนักงานจึงได้เรียนเชิญ ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ซึ่งท่านเป็นกรรมการวินิจฉัยทางด้านข้อมูลการแพทย์ตามพระราชบัญญัตินี้มาเป็นผู้นำการสัมมนา และเชิญท่านผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ คือ นายมานิต สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโสของ นสพ. ไทยรัฐ ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์นายแพทย์ อาวุธ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ คุณชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานข้อมูลข่าวสารราชการมาเป็นผู้อภิปราย

               ท่านอาจารย์หมอจรัส อธิบายในตอนต้นว่า การสัมมนาครั้งนี้ต้องการรับฟังความเห็นเท่านั้น คงจะยังไม่มีข้อสรุปเพราะคงจะต้องช่วยกันพิจารณารายละเอียดกันต่อไปอีกหลายครั้ง แต่วันนี้ต้องการให้ผู้ทรงคุณวุฒิมาอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติและเชิญท่านผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แสดงความเห็นต่างๆ ประกอบด้วย

               ผมจะไม่เล่าให้ฟังว่าเนื้อหาในรายละเอียดของการสัมมนาเป็นอย่างไร แต่จะกล่าวถึงบารงประเด็น นั่นคือ ผู้ฟังสัมมนาซึ่งเป็นผู้แทนของเครือข่ายผู้ป่วยเล่าให้ที่ประชุมฟังว่า ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยไม่ได้มีอคติต่อแพทย์ แต่เมื่อเกิดความเดือดร้อนขึ้นจากการไปรักษาพยาบาลและคิดว่าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็ต้องการให้แพทย์รับผิดชอบ แต่การฟ้องร้องนั้นจำเป็นต้องได้เวชระเบียนไปประกอบสำนวนคดี แต่มักจะไม่ได้รับความร่วมมือจากแพทย์ และโรงพยาบาล ถึงแม้จะไปร้องที่แพทย์สภา ก็ยังไม่ได้เวชระเบียน ดังนั้นจึงอยากให้แพทย์รับฟังและยินยอมให้ผู้ป่วยถ่ายสำเนาเวชระเบียนไปให้นายแพทย์อื่นศึกษา แต่ไม่ต้องการได้ความเห็นแพทย์แบบสรุปเพราะเห็นว่า การสรุปของแพทย์ไม่ใช่บันทึกที่แท้จริงและอาจไม่ตรงกับเวชระเบียน

               นพ. สมศักด์ โล่ห์เลขา จากแพทย์สภาอธิบายว่า ปัจจุบันได้แจ้งให้โรงพยาบาลต่างๆ ยินยอมให้เวชระเบียนแก่ผู้ป่วยที่ต้องการแล้ว แต่การให้นั้นก็ต้องมีการพิจารณาและปิดบังข้อมูลข่าวสารบางอย่าง เพราะอาจเป็นความเห็นและเป็นข้อมูลที่พาดพิงถึงบุคคลอื่นซึ่งไม่สมควรเปิดเผย หากจะให้เปิดก็จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นก่อน

               ที่ประชุมได้กล่าวกันถึงประเด็นที่เวชระเบียนบางชุดหายไปจากโรงพยาบาลด้วย เพราะเคยมีผู้ป่วยมาขอเวชระเบียนแล้วหาไม่พบ มีผู้อภิปรายว่าเรื่องเวชระเบียนหายนี้มีหลายสาเหตุ บางครั้งแพทย์บางท่านขอไปเพื่อใช้ประกอบการทำวิจัยด้านการแพทย์ และไม่ได้ส่งกลับคืนมาเมื่อผู้ป่วยคนนั้นมารักษาพยาบาลใหม่ หรือบางครั้งโรงพยาบาลก็ให้ผู้ป่วยถือเวชระเบียนไปเอง แล้วผู้ป่วยก็ไม่ได้ให้คืนมา ในประเด็นที่เอกสารหายไปนั้น คุณมานิต สุขสมจิตร ชี้แจงว่า โรงพยาบาลต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการว่าด้วยการเก็บรักษาเอกสาร นั่นคือต้องไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผมฟังแล้วก็คิดว่ายังมีประเด็นอีกว่าการที่นายแพทย์นำเวชระเบียนนั้นไปศึกษาอาจจะไม่ถูกกฎหมายหากไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย เห็นไหมครับว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากทีเดียว

               ประเด็นที่น่าสนใจต่อมาก็คือ บทบาทของแพทย์สภา เพราะกฎหมายข้อมูลข่าวสารราชการฉบับนี้บังคับได้แต่โรงพยาบาลของรัฐ แต่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลเอกชน หรือในคลินิก ก็อาจประสบปัญหาแบบเดียวกันได้ ดังนั้นแพทยสภาคงจะต้องทำงานร่วมกับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารราชการ เพื่อกำหนดระเบียบปฏิบัติทางด้านการเปิดเผยเวชระเบียนให้เป็นแบบเดียวกัน

               อีกประเด็นหนึ่งที่ยังไม่ได้พูดกันก็คือ ประเด็นเรื่องการเก็บเวชระเบียนด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และ การใช้งานแบบออนไลน์เพื่อการส่งต่อผู้ป่วย เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่อีกเหมือนกัน แต่ผมคงจะต้องไปศึกษารายละเอียดรวมทั้งวิธีการจัดการก่อนจึงจะนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังในอนาคตได้


Home | Back