Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

Home
IT Idea for Spiritization

ไปเที่ยวเขาคิชฌกูฎ

ดร. ครรชิต มาลัยวงศ์
30 ธันวาคม 2548

 

        ช่วงคริสต์มาสปี 2548 นี้ผมกับภรรยาถือโอกาสขับรถหนีความวุ่นวายสับสนในกทม.ไปเที่ยวจันทบุรี แม้ว่าผมจะเคยมาเที่ยวจันทบุรีหลายหนแล้ว แต่ไม่เคยมีโอกาสเที่ยวชมได้หมดทุกแห่งเพราะจันทบุรีเป็นจังหวัดที่กว้างใหญ่มาก< มีทั้งป่า เขา น้ำตก และชายหาดที่สวยงามมากมาย น้ำตกบางแห่งก็ต้องเดินลุยป่าเข้าไปชมด้วย

        ตอนที่ผมตัดสินใจว่าจะไปเที่ยวที่จันทบุรีนั้น ผมก็อาศัยเปิดคู่มือรีสอร์ตแล้วโทรศัพท์ไปถามรีสอร์ตที่อยู่ใกล้ชายทะเลหลายแห่งว่ามีที่พักว่างในช่วงคริสต์มาสหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มีที่ใดว่างในช่วงนั้นเลยเพราะส่วนมากเป็นรีสอร์ตขนาดเล็ก มีห้องพักไม่กี่สิบห้อง และบางแห่งมีเพียงสิบกว่าห้องเท่านั้น< ผมจึงเปลี่ยนไปหารีสอร์ตที่อยู่ใกล้เขา แล้วก็จองได้ที่ กระทิง คันทรี รีสอร์ต ตอนที่เห็นชื่อก็รู้สึกแปลกๆ ครับ เพราะไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเอาชื่อสัตว์ที่หาชมในเมืองไทยไม่ได้แล้วมาเป็นชื่อ แต่ที่เลือกก็เพราะเป็นรีสอร์ตที่อยู่ใกล้กับเขาคิชฌกูฏซึ่งผมอยากรู้ว่าลักษณะเป็นอย่างไร เพราะได้ยินแต่ชื่อมานานแล้ว

        ผมขับรถออกจากกรุงเทพไปตามถนนมอเตอร์เวย์ แล้วเลี้ยวเข้าถนนหมายเลข 344 ไปทางบ้านบึง ถนนเส้นนี้ขับสบายเพราะเป็น divided highway จนกระทั่งถึงแกลงแล้วถนนนี้จึงไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 3 หรือถนนสุขุมวิท ขับไปอีกพักใหญ่จนถึงสี่แยกเขาไร่ยา จึงเลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตรก็ผ่านที่ว่าการกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ ต่อจากนั้นก็ต้องขับต่อไปอีกสักสองสามกิโลเมตรก็เลี้ยวขวาเข้าไปอีกกิโลเมตรเศษจึงถึงกระทิง คันตรี รีสอร์ต

        รีสอร์ตแห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณเชิงเขาพอดี พื้นที่บางส่วนเป็นเนินเตี้ยๆ และมีร่องรอยของการตัดแบ่งขายเป็นล็อตๆ สำหรับให้ซื้อปลูกบ้าน บางล็อตติดป้ายของสำนักงาน บบส. ประกาศว่าเป็นที่ดินที่ยึดมาขายเมื่อตอนฟองสบู่แตก สำหรับตัวรีสอร์ตนั้นเป็นอาคารเล็กๆ หลายหลัง ช่วงที่ผมมาพักนั้นมีผู้พักเพียงรายเดียวคือผมกับภรรยาเท่านั้น แต่ก็มีเจ้าของบ้านพักที่อยู่ลึกเข้าไปข้างในมาพักในบ้านของตนเองสองสามราย รายหนึ่งพาภรรยาและลูกสาวมานั่งรับประทานอาหารที่ห้องอาหารของรีสอร์ตทั้งเช้าและเย็น

        ห้องพักที่นี่กว้างขวาง มีอุปกรณ์และเฟอร์นิเจอร์ครบครัน ยกเว้นไม่มีภาพติดฝาผนัง โดยทั่วไปต้องบอกว่าพักได้สบาย จะยกเว้นก็แต่เพียงไม่สามารถนอนโดยเปิดมุ้งลวดรับลมหนาวจากภูเขาได้ เพราะมีประตูมุ้งลวดด้านเดียวเท่านั้น เมื่อราวเกือบยี่สิบปีมาแล้ว ผมไปพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในฮานอย >ยังเปิดหน้าต่างในตอนกลางคืนได้ทั้งๆ ที่ไม่มีมุ้งลวด ไม่ใช่เพราะเขาไม่มียุงหรอกครับ แต่เพราะเขามีมุ้งให้ และไม่มีใครจะมาบุกรุก ต่อมาเมื่อปีที่แล้วผมไปพักที่โรงแรมแห่งนี้อีกครั้ง ปรากฏว่าเขาปรับปรุงใหม่กลายเป็นห้องปรับอากาศหมดแล้ว

        วันรุ่งขึ้นผมขับรถพาภรรยาไปเที่ยวน้ำตกที่อยู่ห่างจากรีสอร์ตไปเพียงสามกิโลเมตร น้ำตกนี้ชื่อว่า น้ำตกกระทิงครับ และนั่นก็คือที่มาของชื่อรีสอร์ตที่ผมมาพักนั่นเอง

        น้ำตกกระทิงนั้นอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ดังนั้นจึงต้องเสียค่าเข้าชมสองคนรวมรถยนต์ด้วยเป็นเงิน 70 บาท เจ้าหน้าที่บอกว่าสามารถเข้าชมได้ทุกแห่ง ผมก็ถามว่าทุกแห่งน่ะที่ไหนบ้าง เขาก็บอกว่าจะไปที่ไหนก็ได้ ยังมีน้ำตกคลองไพบูลย์ที่อยู่ห่างไปอีกเล็กน้อย และน้ำตกเขาชะเมาซึ่งอยู่ห่างไปอีกหลายสิบกิโลเมตร หรือจะไปดูน้ำตกพลิ้วก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องไปให้ทันวันนี้ ผมหัวเราะและบอกว่าดี ผมอาจจะไปเที่ยวน้ำตกคลองไพบูลย์ก็ได้ ส่วนอีกสองน้ำตกไม่ไปแน่ๆ เพราะไกลเกินไป

        วันที่ผมมาเที่ยวนั้นก็มีคนมาเที่ยวน้อยครับ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยังบอกผมเลยว่าน้อยกว่าปกติ สงสัยจะรอมาเที่ยวตอนปีใหม่กันหมด น้ำตกกระทิงเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ และมีถึง 13 ชั้น ผมกับภรรยาซื้อหมูปิ้ง ไก่ย่าง ข้าวเหนียว ส้มตำ แล้ว ก็คว้าน้ำขวดจากรถเดินตามถนนไปยังน้ำตกชั้นสามซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานเพียง 150 เมตร จากนั้นเราก็จับจองโต๊ะหินใต้ร่มไม้ใหญ่ นำอาหารที่ซื้อมาออกมาวางเรียงแล้วก็ลงมือกินอย่างมีความสุข ในขณะที่ตาก็มองสายน้ำที่ไหลตกลงมาจากแอ่งด้านบนลงสู่แอ่งด้านล่างเป็นชั้นๆ และหูก็ฟังเสียงน้ำตกกระแทกหินและแอ่งน้ำเบื้องล่าง

        น้ำที่ไหลมายังน้ำตกกระทิงนั้นมาจากเขาคิชฌกูฏซึ่งยังเป็นป่าที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์มาก ป่าผืนนี้ติดต่อกับเทือกเขาสอยดาวซึ่งเป็นเขตอุทยานพิทักษ์สัตว์ป่า ผมยังไม่เคยขับรถไปดูบริเวณนี้จึงไม่อาจบอกได้ว่าผืนป่าดิบชื้นผืนเดียวของประเทศไทยเวลานี้ยังอยู่ดีหรือไม่ เนื่องจากมีพวกมารร้ายจ้องทำลายอยู่ตลอดเวลา

        ความจริงแล้วน้ำที่น้ำตกนี้มีปริมาณน้อยกว่าที่เห็นในรูปถ่ายที่ทางอุทยานติดบอร์ดไว้ให้ดูมากทีเดียวครับ จำได้ว่าปีที่แล้วที่จันทบุรีและราชบุรีค่อนข้างแห้งแล้งมาก ไม้ผลบริเวณรีสอร์ตจึงตายไปหลายต้น และเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าปีที่แล้วไม่สามารถจัดทัวร์ชมสวนผลไม้ได้ เพราะไม่มีผลไม้จะให้ชม ครั้นจะไปซื้อผลไม้มาวางบนโต๊ะให้นักท่องเที่ยวดูก็ใช่ที่

        คิดแล้วน่าเป็นห่วงครับ เพราะน้ำตกเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด หากคนไทยเราช่วยกันดูแลป่าไม้ให้ร่มรื่น ดูแลต้นน้ำให้ดี น้ำในน้ำตกก็จะไม่เหือดแห้ง และน้ำตกก็จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

        เรื่องน้ำตกแห้งเหือดนี้ ความจริงก็มีมานานแล้ว ผมจำได้ว่ามีอยู่คราวหนึ่งผมไปเที่ยวน้ำตกสาริกาขณะที่เป็นวัยรุ่น ปรากฏว่านำตกสาริกากลายเป็นนักหยดไปเสียแล้ว หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้ไปเที่ยวน้ำตกสาริกาหรือน้ำตกนางรองอีกเลย ตอนผมเด็กๆ นั้นพ่อผมพาไปเที่ยวน้ำตกสองแห่งนี้บ่อยครับ นัยว่าไปนัดแนะกับเพื่อนพรานเพื่อจะไปยิงเก้งกัน ปัจจุบันไม่ทราบว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร สงสัยจะต้องกลับไปเที่ยวชมอีกสักครั้งในไม่ช้าครับ

        ย้อนกลับมาที่น้ำตกกระทิงใหม่ ในแอ่งน้ำตกชั้น 3 และชั้นล่างๆ นั้นมีปลาแหวกว่ายอยู่นับร้อยๆ ตัวครับ บางตัวก็ว่ายเพลินไปถึงช่องที่น้ำกำลังไหลรี่ลงไปสู่แอ่งล่าง ครั้นรู้ตัวก็พยายามว่ายทวนน้ำหนี แต่บางตัวก็ว่ายสู้กระแสน้ำไม่ได้จึงถูกกระแสน้ำพัดพาลงไปสู่แอ่งด้านล่าง ไม่รู้ว่าหล่นลงไปเจ็บตัวหรือเปล่า และไม่มีโอกาสถามด้วย

        หลังจากเพลิดเพลินเจริญใจจนบ่ายกว่าแล้ว เราก็ตัดสินใจจะปีนสูงขึ้นไปถึงชั้นบนๆ แต่ผมยังต้องแบกข้าวของพะรุงพะรัง และมีป้ายห้ามไม่ให้นำอาหารและเครื่องดื่มขึ้นสูงไปกว่าน้ำตกชั้นสาม อีกทั้งมองดูแล้วท่าทางจะไม่เห็นน้ำตกเป็นชั้นๆ สวยๆ อีกแล้ว เราก็เลยขับรถออกจากอุทยานน้ำตกกระทิงและมุ่งหน้าไปยังน้ำตกคลองไพบูลย์

        ทางไปน้ำตกคลองไพบูลย์ต้องไปตามถนนใหญ่ ผมพยายามมองหาป้ายเข้าน้ำตก ครั้นพอมองเห็นรถก็เลยทางเข้าไปเสียแล้ว ผมเหลือบมองเห็นว่าถนนยังไม่ค่อยดีนักก็เลยเปลี่ยนใจขับรถต่อไปเรื่อยๆ เพราะเห็นป้ายเชิญชวนไปเที่ยวดูเรือโบราณที่วัดตะเคียนทองซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียงห้ากิโลเมตร

        วัดตะเคียนทองเป็นวัดเล็กๆ เนื้อที่เดิมมีเพียงไม่กี่ไร่ แต่ต่อมาหลวงพ่อเพชรได้ซื้อที่ดินเพิ่มเติมและขยายออกไปจนใหญ่ สำหรับเรือโบราณนั้นมีอยู่สองลำและเป็นเรือไม้ตะเคียนทองขุดอายุหลายร้อยปี ลำหนึ่งมีร่องรอยว่าใช้งานแล้ว แต่อีกลำหนึ่งยังไม่ได้ใช้ ที่ตั้งไว้ใกล้ๆ กันเป็นลำต้นตะเคียนต้นใหญ่ซึ่งทางวัดเพิ่งขนมาไว้ ตะเคียนต้นนี้จมน้ำมานานมาก ใครชักลากก็ไม่ขยับเขยื้อน จนต้องทำพิธีบวงสรวงจึงลากขึ้นมาได้ และต่อมาท่านเจ้าอาวาสได้ไปขอมาไว้ที่นี่

        ระหว่างที่ผมชมสภาพและลักษณะของเรือไม้ตะเคียนอยู่นั้น หลวงตาเจ้าอาวาสก็ออกมาคุยด้วย ท่านเล่าเรื่องของวัดให้ฟัง และเล่าว่าท่านกำลังวิจัยภาษาท้องถิ่นอยู่ ผมแปลกใจมากเพราะไม่เคยได้ยินมาก่อนว่าภาษาของทางจันทบุรีแตกต่างจากภาษาภาคอื่น ผมจึงนมัสการถามท่านว่าภาษาท้องถิ่นนั้นเป็นภาษาอะไร ท่านก็บอกว่าเป็นภาษาฌอน แล้วท่านก็บอกต่อไปว่า ภาษา ฌอน นั้นก็เป็นภาษาตระกูลเดียวกับ เขมร ส่วย และ เจนละ แล้วท่านก็ยกตัวอย่างคำหลายๆ คำที่ชาวฌอนใช้กันอยู่ และเป็นคำที่ต่างไปจากคำภาษาไทย แต่เหมือนคำในภาษาเขมร ผมฟังด้วยความเพลิดเพลินแต่ไม่มีเวลาจดบันทึก ขณะเขียนเรื่องนี้จึงนึกไม่ออกจริงๆ ว่าท่านยกคำใดขึ้นมาเล่าให้ผมฟังบ้าง จำได้แต่ว่าท่านบอกว่าท่านเองก็เป็นคนฌอน และใกล้ ๆ นี้ทางท้องถิ่นก็ได้จัดตั้งหมู่บ้านฌอนขึ้น อย่างไรก็ตามคนฌอนรุ่นใหม่ก็ใช้ภาษาฌอนไม่ได้แล้ว

        ความจริงหลวงตาเล่าเรื่องอื่นๆ ให้ผมฟังอีกมาก ทำให้ผมนึกเสียดายที่ไม่ได้เอาเครื่องอัดเสียงไปด้วย และ เมื่อคิดว่าท่านก็ชราภาพมากแล้ว ไม่ช้าเรื่องเหล่านี้ก็จะถูกลืมเลือนไปหมด หากไม่มีใครไปขอให้ท่านเล่าไว้

        หลังจากนมัสการลาหลวงตาแห่งวัดตะเคียนทองแล้ว ผมก็ขับรถกลับมายังรีสอร์ต ลมหนาวจากประเทศจีนเริ่มอ่อนกำลัง ท้องฟ้าที่มีเมฆเกลื่อนในช่วงหัวค่ำเริ่มเห็นแสงดาวส่องสว่างไสว นี่ถ้าหากรีสอร์ตปิดไฟมืดหมด เราก็คงจะเห็นท้องฟ้าสว่างด้วยแสงดาวในขณะที่รอบตัวเรามืดมิดแน่ๆ

        วันรุ่งขึ้น ผมตัดสินใจขับรถไปคุ้งกระเบนเพื่อเที่ยวชมป่าชายเลน ผมต้องขับรถไปถึงถนนสุขุมวิทแล้วเลี้ยวขวาไปยังอำเภอท่าใหม่ ก่อนจับเส้นทางหลวงชนบทไปยังเขตศึกษาพัฒนาป่าชายเลนตามพระราชดำริ

        เขตศึกษาแห่งนี้ได้รับรางวัลจากการท่องเที่ยวฯ ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ดีเยี่ยมแห่งหนึ่ง แต่ผมว่ายังขาดสิ่งสำคัญไปอย่างหนึ่งคือ ห้องสุขา ผมต้องใช้เวลาขับรถในราวชั่วโมงเศษจากรีสอร์ตมายังเขตศึกษาฯแห่งนี้ ผมรู้สึกว่าจำเป็นต้องกำจัดน้ำในตัวทิ้งบ้าง แต่ไม่มีที่ให้กำจัดครับ ไหนๆ ก็มาถึงแล้ว ผมกับภรรยาซึ่งก็ต้องการเข้าห้องสุขาเหมือนกัน จึงต้องรีบเดินชมพันธุ์ไม้ต่างๆ ในป่าชายเลนในศูนย์ศึกษาแล้วก็ต้องรีบขึ้นรถไปหาห้องสุขาใช้

        ความจริงแล้วในแง่ของการศึกษานั้น ผมคิดว่ายังมีเรื่องที่อาจปรับปรุงได้หลายอย่าง เรื่องแรกก็คือแผนที่ของเส้นทางเดินซึ่งมีอยู่ที่ต้นทางเข้าเพียงแห่งเดียว ผมคิดว่าไม่พอครับ น่าจะมีแผนที่ตั้งไว้อีกหลายๆ แห่งโดยเฉพาะจุดที่เป็นทางแยก ป้ายอธิบายชื่อพันธุ์ไม้ทำได้ดีมากครับ แต่ผมเสียดายที่ทำดีไป คือใช้แผ่นพลาสติกใสปิดหน้าคำอธิบาย ทำให้ไม่สามารถจะใช้กล้องดิจิทัลถ่ายภาพคำอธิบายได้เนื่องจากแผ่นพลาสติกสะท้อนแสงมาเข้าหน้ากล้อง คำอธิบายเรื่องต้นไม้ในป่าชายเลนทำได้ดีครับ แต่ส่วนที่อธิบายสัตว์ในป่าชายเลนไม่มีเลย ผมเห็นปูสีสวยๆ หลายตัว แต่ไม่ทราบว่าเป็นปูอะไร สำหรับเรื่องนี้ถ้าหากมีแล้วผมไม่เห็นเองก็ต้องขออภัยนะครับ เพราะผมรีบๆ เดินจะไปหาห้องน้ำน่ะครับ

        ออกจากศูนย์ศึกษาแล้ว ผมก็แวะไปรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารที่ตั้งม้าหินและเพิงหลังคามุงจากที่ชายทะเลแหลมสิงห์บริเวณใกล้ๆ กับวัดแหลมสิงห์นั่นแหละครับ นักท่องเที่ยวมีน้อยมากจนกระทั่งผมกลางเป็นลูกค้าโต๊ะที่สามบนชายหาดที่ยาวห้าสิบเมตร แต่ก็ดีเหมือนกันเพราะไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครมาคอยรอให้เรารีบลุกไปเร็วๆ ทำให้ผมกับภรรยามีเวลานั่งเพลิดเพลินเจริญใจกับผืนน้ำทะเลสีครามที่ราบเรียบสวยงามได้นานหลายชั่วโมง ชายหาดที่นี่ไม่กว้างนัก ทรายเป็นสีน้ำตาลทองเหมือนทรายแม่น้ำซึ่งแปลกไปกว่าชายหาดอื่นๆ ทางใต้

        พอใกล้เย็นผมก็อำลาจากแหลมสิงห์ ใกล้กันนั้นมีอาควาเรียมของกรมประมงอยู่ แต่ผมไม่ได้แวะเข้าไปชม เพราะส่วนใหญ่นึกสงสารที่ไปจับปลามาขังไว้ในตู้ปลา เหมือนกับเราเอาคนไปขังคุกอย่างไงอย่างงั้น ผมขับรถไปตามชายหาดผ่านรีสอร์ตเล็กๆ หลายแห่ง แล้ววกออกไปทางแหลม จนไปถึงสะพานกรมโยธาฯ ที่ข้ามไปยังเกาะเล็กๆ ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่วัดตะกาดซึ่งกำลังก่อสร้างพระอุโบสถขนาดใหญ่ แลดูเด่นเห็นแต่ไกล นอกจากนั้นหน้าบันก็ยังมีลวดลายปูนปั้นที่สวยงามด้วย ผมมองดูแล้วเห็นว่าไม่สามารถจะขับรถต่อไปได้ก็เลยขับรถมุ่งหน้ากลับเส้นทางเดิม แต่ความที่ถนนในชนบททุกวันนี้มีมากเส้น ขับไปขับมาก็เลยไม่ได้มาทางเก่าเนื่องจากมัวดูแต่ป้ายที่บอกเส้นทางไปถนนพหลโยธิน แล้วก็มาออกสู่ถนนพหลโยธิน ณ จุดที่ไกลจากจุดที่แรกเข้าไปหลายกิโลเมตรอยู่

        การขับรถไปต่างจังหวัดทุกวันนี้ไม่ยุ่งยากครับ ถึงจะไปอำเภอรอบนอกที่ไม่ค่อยมีใครไปเที่ยวบ่อยนักก็ไม่หลงหากมีหนังสือคู่มือทางหลวงติดรถ ช่วงนี้สโมสรกรมทางหลวงพิมพ์คู่มือออกมาสองเล่มครับ ราคาก็ไม่แพง ลองพลิกดูก็แล้วกันใครชอบใจเล่มไหนก็ซื้อไว้ใช้ สำหรับคู่มือถนนในกทม. ที่มีรายละเอียดยิบถึงกับบอกชื่อร้านหรือสถานที่สำคัญต่างๆ นั้นผมเองก็อยากได้มาไว้สักเล่มหนึ่ง เพราะขับรถเข้าไปในย่านสุขุมวิท รัชดาภิเษก บางกรวย หรือย่านอื่นๆ ที่มีถนนซับซ้อนนั้น ขับแล้วหลงทุกทีเพราะไม่ชำนาญทาง ไม่ทราบว่ามีใครจัดทำแล้วหรือยัง แต่แผนที่สำหรับใส่ใน PDA น่ะผมรู้ว่ามีแล้ว เพียงแต่ PDA ของผมไม่มี GPS ด้วย ก็เลยใช้ประโยชน์ไม่ได้

        ก็เป็นอันว่า ผมกลับรีสอร์ตด้วยความสวัสดิภาพ และวันรุ่งขึ้นผมก็กลับกรุงเทพฯ ครับ เรื่องเล่าวันนี้ก็ไม่มีสาระนัก เพียงแต่อยากจะเชิญชวนเพื่อนฝูงไปเที่ยวเมืองจันท์กันมากๆ เพราะมีสถานที่เที่ยวที่สวยงามและน่าสนใจหลายแห่ง ส่วนค่าใช้จ่ายก็ไม่แพงครับ


Home | Back