Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

Home
IT Idea for Spiritization

CIO กับโลกยุคข่าวสาร

ดร. ครรชิต มาลัยวงศ์, ราชบัณฑิต

(ปรับปรุง 11 ตุลาคม 2548 นำลงเว็บ พย. 48)

        เมื่อสามสิบปีก่อนนี้ผู้ร่วมงานของผมคนหนึ่งได้ตัดข่าวมาให้ผมอ่านมีเนื้อความว่า โลกกำลังจะขาดแคลนข้อมูลข่าวสาร เพราะขณะนั้นได้มีผู้นำข้อมูลต่างๆ ลงบรรจุไว้ในคอมพิวเตอร์เป็นจำนวนมากแล้ว รายชื่อและที่อยู่ของผู้เช่าโทรศัพท์ก็อยู่ในคอมพิวเตอร์แล้ว รายชื่อบริษัทและผลประกอบการก็อยู่ในคอมพิวเตอร์แล้ว ข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับโลกก็อยู่ในรูปแบบที่ค้นคืนได้ด้วยคอมพิวเตอร์แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีอะไรจะให้คอมพิวเตอร์บันทึกเก็บอีก

        นับจากวันนั้นซึ่งฮาร์ดดิสก์ขนาดใหญ่ของไอบีเอ็มมีความจุเพียงไม่กี่สิบเมกะไบต์ มาจนถึงปัจจุบันซึ่งเฉพาะฮาร์ดดิสก์ในเครื่องโน้ตบุ๊กยังมีความจุมากมายหลายสิบกิกะไบต์ เราพบว่าข้อความที่มีคนวิจารณ์จนเป็นข่าวนั้นไม่ถูกต้องเสียแล้ว โลกปัจจุบันกำลังถูกท่วมด้วยข้อมูลข่าวสาร และความรู้มากมายมหาศาล และนับวันปริมาณก็จะเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ

        ปัญหาจึงไม่ใช่ว่าจะหาข้อมูลอะไรมาเก็บ แต่คือทำอย่างไรเราจึงจะจัดการกับข้อมูล ข่าวสาร และ ความรู้อันมหาศาลนี้ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่อภิปรายกันได้อีกนาน แต่ในคราวนี้ เราจะเริ่มด้วยเรื่องสำคัญคือ เราจะทำตัวอย่างไรในยุคที่ข่าวสารและความรู้กำลังเพิ่มมากเป็นทวีคูณ

        เมื่อพวกเราเริ่มเบื่อหน่ายและหยุดสนใจกับเรื่องเหล่านี้เพียงไม่นานนัก ไม่ใช่ว่าเราจะเพียงแต่ล้าสมัยตามไม่ทันเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เราจะหลุดจากวงการไปทันที และแทนที่เราจะเป็น Chief Information Officer เราก็อาจจะกลายเป็น Chief Information Outsider

        ต้องยอมรับกันว่า CIO ในภาครัฐจำนวนมากไม่ใช่นักไอทีหรือไอซีทีมาก่อนดังนั้นลำพังการที่จะต้องรับรู้เรื่องงานไอซีทีในหน่วยงานของตนเองก็หนักหนาสาหัสแล้ว การที่จะต้องให้คอยติดตามข่าวสารและความรู้เรื่องนี้อีกจึงเป็นเรื่องที่ทั้งหนักใจและหนักสมอง

        ผมจึงขอเสนอให้ CIO ในหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทดลองดำเนินการตามแนวคิดต่อไปนี้

        เริ่มแรกสุดเราจะต้องสำรวจดูว่าในหน่วยงาน ICT ของเรานั้นมีมุมหนังสือสำหรับให้พนักงานได้มีโอกาสมานั่งอ่านหรือไม่ เวลานี้แม้ว่าหลายหน่วยงานจะเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตและพนักงานสามารถเปิดอ่านบทความต่างๆ ผ่านเว็บได้อย่างสบาย แต่พนักงานจำนวนหนึ่งซึ่งภาษาอังกฤษยังไม่แตกฉานก็ยังคงต้องพึ่งพาอาศัยบทความในนิตยสารด้านไอซีทีของไทยอยู่ รวมทั้งต้องอ่านหนังสือภาษาไทยด้วย หากหน่วยงานจะกรุณาเจียดงบประมาณส่วนหนึ่งมาจัดหานิตยสารและหนังสือด้านไอซีทีมาไว้ในมุมหนังสือให้พนักงานอ่านก็จะเป็นบันได้ขั้นแรกไปสู่การรับทราบว่าเกิดอะไรในโลกของไอซีทีบ้าง และการใช้ไอซีทีในหน่วยงานต่างๆ กำลังก้าวไปทางไหน

        แม้จะจัดมุมหนังสืออย่างน CIO เองก็อาจจะไม่มีเวลามานั่งอ่าน ดังนั้นเราจึงควรจัดให้พนักงานคนหนึ่งทำหน้าที่รวบรวมเนื้อหาที่เกี่ยวกับงาน หรือเทคโนโลยีที่หน่วยงานกำลังใจมาสรุปเป็นเอกสารฉบับย่อส่งให้เราอ่านเป็นประจำทุกสัปดาห์เพื่อให้เราได้รับทราบเรื่องที่น่าสนใจต่างๆ เช่น ไมโครซอฟต์หรือไอบีเอ็มกำลังทำอะไรอยู่และเกี่ยวข้องอะไรกับเราบ้าง นอกจากนั้นเราควรจัดให้มีการประชุมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นหรือการ update พวกเรากันเองเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และผลกระทบต่อหน่วยงานเป็นประจำทุกเดือน

        หน่วยงานหลายแห่งมีงานล้นมือจนกระทั่งไม่มีเวลาที่จะพัฒนาบุคลากรของตน เรื่องนี้อันตราย เพราะความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีไม่ใช่แต่จะมีเครื่องพีซีที่เร็วกว่าเดิม หรือ มีฮาร์ดดิสก์ที่มีความจุมากกว่าเดิม แต่ยังมีความเปลี่ยนแปลงในกระบวนทัศน์ และ กระบวนการทำงานด้วย ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงเทคนิคการวิเคราะห์และออกแบบระบบจากวิธีแบบโครงสร้างมาเป็นวิธีเชิงวัตถุ เปลี่ยนแปลงการเขียนไดอะแกรมโครสร้างมาเป็นการใช้ UML ในการจำลองแบบกระบวนการทำงาน ดังนั้นหากเราไม่มีบุคลากรที่รู้เรื่องใหม่ๆ และเริ่มคิดนำกระบวนการใหม่ๆ มาทดลองใช้แล้ว ไม่ช้าระดับการใช้ไอซีทีของเราก็จะตกโลกเช่นกัน

        CIO จำเป็นที่จะต้องจัดสรรงบประมาณสำหรับพัฒนาบุคลากรให้มากพอ โดยทั่วไปพนักงานด้านไอซีทีควรมีโอกาสได้เข้าฟังสัมมนาวิชาการเรื่องใหม่ๆ หรือเข้ารับการฝึกอบรมเนื้อหาใหม่ๆ ปีละประมาณ 10 วันเป็นอย่างต่ำ การรับรู้เรื่องใหม่จะทำให้พนักงานเหล่านี้มีความรู้ความสามารถเพิ่มมากขึ้น

        CIO หลายคนเป็นห่วงว่ายิ่งพนักงานของตนมีความรู้มากขึ้นเท่าใดก็มีโอกาสที่จะถูกคนอื่นแย่งตัวไปมากขึ้นเท่านั้น ตรงนี้ก็มีส่วนจริง แต่ถ้าหากคนของเราคิดจะไปแล้วละก็ ไม่ว่าเราจะให้เขาได้เรียนรู้หรือไม่เขาก็จะไปทั้งนั้น แต่ถ้าเขาไม่ไปและเราไม่ได้พัฒนาเขา เรานั่นแหละที่จะเสียโอกาสที่จะได้ใช้คนเก่งๆ

        ปัญหาของการฝึกอบรมของหน่วยงานหลายแห่งก็คือ ไม่มีการนำความรู้ที่ได้ทราบมาเผยแพร่แบ่งปันให้คนอื่นทราบ ดังนั้นเราจึงต้องกำหนดให้ผู้ที่มีโอกาสไปเรียนรู้ข้างนอกนั้นมาบรรยายเนื้อหาที่ได้เรียนรู้มาให้คนอื่นทราบบ้าง

        น่าเสียดายที่เวลานี้สิ่งแวดล้อมของคนไทยไม่ค่อยจะเอื้ออำนวยให้พวกเราใช้ชีวิตกันอย่างมีความสุข ตอนเช้าก็ต้องรีบฝ่าจราจรไปทำงาน ตอนเย็นก็ต้องรีบกลับบ้านเพราะต้องเดินทางอีกหลายชั่วโมง ดังนั้นการที่เราจะสังสรรค์สมาคมกันก็ยาก ในต่างประเทศมีการตั้งกลุ่มผู้ใช้ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์กันมากมาย แต่ละเดือนมีการมาสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นกันในเรื่องเกี่ยวกับอุปกรณ์และเทคโนโลยีเหล่านั้น ใครมีปัญหาอะไร ใครค้นพบวิธีแก้ปัญหาอะไร ก็นำมาแลกเปลี่ยนกัน ทำให้การใช้เทคโนโลยีไม่ติดขัด แต่บ้านเรานั้น User Group ไม่ค่อยจะเกิด เห็นทางซอฟต์แวร์พาร์กพยายามจัดให้มี Java User Group มาระยะหนึ่งแล้ว แรกๆก็มีคนมาสนทนากันมาก แต่ระยะหลังก็เริ่มหายๆ ไป

        CIO ควรส่งเสริมเรื่องกลุ่มผู้ใช้นี้ โดยสนับสนุนให้พนักงานของเราไปร่วมกลุ่มและไปแลกเปลี่ยนความคิดกัน การร่วมกลุ่มนั้นต้องมีค่าใช้จ่ายอยู่บ้าง หน่วยงานควรสนับสนุนเพราะจะได้ประโยชน์โดยตรง

        CIO เองก็ควรจะมีกลุ่มหรือชมรม CIO ด้วยกัน จะได้มาคุยกันบ่อยๆ เวลานี้บริษัทหลายแห่งก็พยายามจัดรายการให แต่เน้นที่การไปฟังสินค้าใหม่เสียมาก CIO ตัวจริงก็เลยไม่ไป ส่งแต่ผู้แทนไปฟัง ดังนั้น CIO ก็เลยไม่รู้อะไรเหมือนเดิม

        ถึงเวลาแล้วครับที่ CIO จะต้องสนใจในเรื่องข่าวสารและความรู้ในด้านไอซีทีให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ลองเจียดงบประมาณมาให้ทางด้านนี้สักเล็กน้อยแล้วท่านจะสบายไปตลอดเวลาที่นั่งอยู่บนเก้าอี้นี้


Home | Back