Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

Home
IT Idea for Spiritization

การพัฒนาศูนย์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ครรชิต มาลัยวงศ์

26 กันยายน 48

          เมื่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีดำริที่จะนำประเทศไทยก้าวไปสู่ยุคความรู้ บรรดารัฐมนตรี และหน่วยงานราชการต่างขานรับเป็นอย่างดี จนเกิดโครงการต่างๆ เป็นจำนวนมาก ที่เกี่ยวข้องกับความรู้และศูนย์ความรู้
โครงการเหล่านี้จำนวนหนึ่งคิดขึ้นโดยคนที่ไม่มีความเข้าใจพอเพียง อีกจำนวนหนึ่งคิดขึ้นโดยคนที่เห็นเป็นโอกาสที่จะตักตวงผลประโยชน์จากรัฐอย่างง่ายๆ โดยไม่ได้สนใจว่าจะเกิดผลลัพธ์อะไรบ้าง แต่ยังมีบางโครงการที่ผู้เกี่ยวข้องพยายามศึกษาหาความรู้ และหาทางพัฒนาผลงานที่เป็นประโยชน์จริงๆ โครงการหนึ่งที่น่าสนใจก็คือโครงการ STKC หรือ Science and Technology Knowledge Center ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลย

          โครงการนี้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี ได้แต่งตั้งให้ ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท CIO ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) เป็นประธาน ร่วมกับกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ อีกหลายคน รวมทั้งเชิญผมไปเป็นที่ปรึกษาด้วย แต่ความที่ผมมีกิจธุระค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงยังไม่มีโอกาสเข้าไปร่วมประชุมกรรมการชุดนี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม คุณพรสวรรค์ มาลัยกรอง แห่งสำนักงานปลัดกระทรวง ซึ่งรับหน้าที่เป็นเลขานุการกรรมการชุดนี้ได้ขอนัดมาคุยกับผมเกี่ยวกับโครงการนี้เมื่อปลายเดือนเมษายน ผมจึงเก็บใจความที่เราสนทนากันมาเผยแพร่ และขยายความบางส่วน เพื่อจะได้ให้ผู้สนใจท่านอื่น ๆ
ช่วยกันอภิปรายให้กว้างขวางต่อไป

พรสวรรค์ สวัสดีค่ะอาจารย์ อาจารย์คงทราบแล้วนะคะว่าได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของ STKC
ครรชิต ทราบครับ แต่ไม่สามารถไปร่วมประชุมได้ ครั้งที่แล้วก็เหมือนกัน ผมต้องไปราชการต่างจังหวัดเลยไม่ได้มาประชุม
พรสวรรค์ ค่ะ ก็เพราะอย่างนี้แหละดิฉันจึงต้องมาขอความเห็นจากอาจารย์ว่า STKC ของเราควรดำเนินการอย่างไร อาจารย์พอจะทราบแนวคิดกว้างๆ ที่เราได้คิดขึ้นแล้วหรือยังค่ะ
ครรชิต ยังเลยครับ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยสิครับ
พรสวรรค์ งานของ STKC เรานี้กะว่าจะใช้ Internet เป็นโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างให้เกิดกิจกรรมหลายอย่าง คือ
  1. Virtual Library งานนี้ก็คล้ายกับ Technical Information Access Center ที่อาจารย์เคยดูแล คือจะทำห้องสมุดเสมือน และจัดให้มี search engine เพื่อค้นหาเอกสารต่างๆ
  2. Web links เราจะจัดทำตัวเชื่อมโยงไปยังเว็บต่างๆ ที่มีประโยชน์ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  3. E-Education เราจะจัดทำหลักสูตรออนไลน์ให้คนมาศึกษา ตอนนี้ทางเราได้ให้ อ.สุรสิทธิ์ วรรณไกรโรจน์ ที่อยู่ สวทช. จัดทำวิชาขึ้น 6 วิชา สำหรับให้ผู้สนใจเปิดผ่านเว็บไปศึกษาได้
  4. E-Services เป็นบริการให้ผู้สนใจเข้ามาขอบริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น การขอบริการด้านการตรวจสอบ หรือทำการทดลอง
  5. E-Forum เป็นการจัดทำกระทู้โต้ตอบโดยให้ผู้สนใจถามเข้ามาแล้วเราจะตอบให้ทราบ
  6. E-Museum เป็นพิพิธภัณฑ์แบบเสมือน ซึ่งเราคิดว่าจะจัดเพิ่มให้เห็นเครื่องมือเครื่องใช้ทางด้านวิทยาศาสตร์
ครรชิต ผมฟังที่อธิบายมานี้ก็ดูน่าสนใจดีครับ แต่การพัฒนา STKC นี้เราต้องพิจารณาลงลึกไปกว่านี้ ประการแรกผมเห็นว่า STKC คงจะเป็นกลุ่มงานที่ต้องทำหน้าที่ 3 อย่าง คือ 1. เก็บรวบรวมความรู้ 2.เผยแพร่ความรู้ และ 3. พัฒนาความรู้ในส่วนที่ยังไม่มี ถึงคราวนี้คิดว่า ผมคงไม่ต้องนิยามว่า ความรู้คืออะไรนะครับ เอาเป็นว่า เป็นความรู้ในความหมายกว้างๆ ก็แล้วกัน คราวนี้ในการพัฒนา STKC นั้น เราคงต้องเริ่มต้นที่กลุ่มเป้าหมายก่อน
พรสวรรค์ เราได้จัดทำแผ่นพับอธิบาย STKC แล้วค่ะ กลุ่มเป้าหมายแรกคือ นักเรียน นักศึกษา กลุ่มที่สองคือ นักวิจัย นักวิชาการ กลุ่มที่สาม คือ ผู้ประกอบการ และ กลุ่มที่สี่คือ ประชาชน ผู้สนใจทั่วไป
ครรชิต ดีครับ แต่มันกว้างเกินไป ผมอยากให้ลงลึกกว่านี้ เพราะกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มที่คุณพรสวรรค์พูดถึงนั้นมีความต้องการไม่ตรงกันหรอกครับ เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ตรงกับที่ทุกกลุ่มต้องการ เพราะทำแล้วผลงานจะเฝือไปหมด ทำเสร็จแล้วแต่ละกลุ่มก็จะร้องยี้ว่าไม่ได้เรื่อง ผมอยากเสนอให้คิดอย่างนี้เพิ่มเติมว่ายังมีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งยังไม่ได้ปรากฏในเป้าหมาย นั่นก็คือ กลุ่มผู้ที่เป็นข้าราชการ และ พนักงานของกระทรวงวิทย์ฯเอง เรื่องของเรื่องก็คือ เวลานี้ สำนักงานปลัดกระทรวง กรม และสำนักงานต่างๆ ล้วนมีความรู้ที่เก็บไว้ในรูปแบบต่างๆ มากมาย เช่น เมื่อทำโครงการสำคัญเสร็จ ก็เกิดความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการทำโครงการนั้น ข้าราชการไปดูงานต่างประเทศก็ต้องทำรายงานการดูงานว่าไปเห็นอะไรมาบ้าง ได้อะไรที่เป็นประโยชน์บ้าง เรื่องเหล่านี้หากเขียนให้ดีก็เป็นความรู้ หรือข้าราชการที่เราส่งไปศึกษาต่อต่างประเทศ หรือในประเทศ ก็ต้องทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งเป็นความรู้สุดยอดอีกเหมือนกัน หรือที่รัฐมนตรี ปลัดกระทรวงอธิบดีต้องไปกล่าวเปิดงาน สาส์นที่อ่านก็เป็นความรู้ ของอย่างนี้อยู่ในมือของเราแล้ว หรือถ้ายังไม่มีก็ค้นออกมาได้ไม่ยาก เราก็เริ่มเก็บสิ่งเหล่านี้ไว้ใน Virtual Library ของเราก่อน เพราะทำได้ง่าย สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้ในส่วนที่เป็นขององค์กร
คราวนี้ในส่วนที่เป็นของบุคคลในองค์กร ก็ยังมีอีก เช่น นักวิจัยเขียนรายงาน หรือบทความวิชาการตามหน้าที่ หรือตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่ง อย่างนี้ก็ต้องถือว่าเป็นผลงานที่เป็นของราชการ สามารถกำหนดให้นำมาเก็บไว้ใน Virtual Library ได้ แต่ถ้าเป็นบทความที่เขียนเอง เช่นเขียนเป็นเรื่องสั้น หรือนิยายวิทยาศาสตร์ แบบนี้ไม่นับ เพราะเขาใช้เวลาว่างของเขาเองเขียน แบบนี้เราก็ไม่ต้องเอามาลง
ลองสำรวจดูนะครับ เอกสารขององค์กร และของคนในองค์กรมีมากมายหลายแบบ และมีเป็นจำนวนมาก แค่นี้ก็เป็นองค์ความรู้มหาศาล และเป็นความรู้สำหรับคนในองค์กรเอง หากเราตั้งเป้าหมายง่ายๆ แค่นี้ เราก็พัฒนา STKC เบื้องต้นได้ง่าย แล้วเราก็กำหนดให้คนของเราต้องเรียนรู้จาก STKC เอง เช่น การเขียนโครงการ ก็มีตัวอย่างให้ดู การประเมินวิเคราะห์โครงการก็มีตัวอย่างให้ดู แบบนี้ก็จะทำให้ศูนย์ความรู้ของเราเป็นประโยชน์โดยตรงได้ทันที
พรสวรรค์ เก็บอย่างนี้ ก็เหมือนที่ TIAC รวบรวมบทคัดย่อวิทยานิพนธ์ใช่ไหมค่ะ
ครรชิต ไม่เชิง เพราะ TIAC ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ บทคัดย่อต้องขอมาจากสถาบันต่างๆ แต่กระทรวงวิทย์ฯ เป็นเจ้าของเอกสาร รายงานต่างๆ อยู่แล้ว เราก็เอาของเราเองนี่แหละมาจัดเก็บ จะสแกนเก็บก็ได้ หรือเก็บเป็นแฟ้มอิเล็กทรอนิกส์เลยก็ได้
พรสวรรค์ ส่วนเอกสารที่เป็นของข้าราชการหรือพนักงานล่ะคะ
ครรชิต เราก็ทำในแบบเดียวกัน แล้วเอกสารต่างๆ ที่เก็บไว้นี้ควรเขียนข้อมูลกำกับให้ชัด เช่นใครเขียน เขียนเมื่อใด ภาษาอะไร มีคำสำคัญอะไรบ้าง
พรสวรรค์ แล้วหนังสือล่ะคะ สแกนเก็บได้ไหม
ครรชิต ถ้าเป็นหนังสือที่กระทรวงพิมพ์เอง และมีลิขสิทธิ์ ก็ควรสแกนเก็บไว้ถ้าเป็นหนังสือเก่า แต่ถ้าเป็นหนังสือใหม่ที่จะจัดพิมพ์ต่อไป ก็ควรกำหนดให้เก็บแฟ้มอิเล็กทรอนิคส์ได้เลย อย่างไรก็ตามหนังสือของสำนักพิมพ์อื่นๆ นี่เราเอามาสแกนเก็บไม่ได้ครับ ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์
พรสวรรค์ แล้ว เอกสารหรือหนังสือของหน่วยงานอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยซึ่งมีเอกสาร ผลงานวิจัย หรือวิทยานิพนธ์ที่เราสนใจล่ะคะ
ครรชิต อะไรที่เป็นของสถาบันอื่น หรือหน่วยงานอื่น เราก็อย่าไปยุ่งกับเขาเลยครับ เราอาจแนะนำให้เขาทำ หรือหากเป็นหน่วยงานในสังกัดก็ไปผลักดันให้เขาทำ หรือสร้างเป็นเครือข่ายขึ้น แต่มันมีปัญหาอีกอย่างหนึ่งว่าระบบที่ต่างคนต่างทำมันไม่เข้ากัน ทำงานร่วมกันไม่ได้ แบบนี้เราก็ควรใช้ภาษามาตรฐาน เช่น Dubin Core เพื่อกำหนดหัวข้อประจำเอกสารให้เป็นแบบเดียวกัน เรื่อง Dublin Core นื้ทาง TIAC เขาได้ริเริ่มไว้นานแล้วครับ ต่อจากนั้น เราก็อาจทำ Web Links เชื่อมโยงไปที่หน่วยงานเหล่านั้น
พรสวรรค์ Web Links นี้เราควรจัดทำอย่างไรคะ
ครรชิต เราควรทำอย่างสมบูรณ์หน่อย คือในทุกสาขาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์, Biotech, หรือ Nanotechnology เราควรจัดให้มีคนเขียนบทความแนะนำเรื่องนี้อย่างสั้นๆ อธิบายประวัติ ความเป็นมา ความหมาย หลักการ ความสำคัญ ประโยชน์ ตามด้วยชื่อเว็บของหน่วยงาน องค์กร หรือมหาวิทยาลัยที่ชำนาญด้านนั้น ต่อจากนั้นก็เป็นเว็บที่เชื่อมไปเปิดเอกสาร รายงาน หนังสือ หรือเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับเนื้อหานั้น
พรสวรรค์ แบบนี้ดีจังค่ะ เพราะในเว็บที่มี Web Links อื่นๆ ก็มักแต่จะมีชื่อเว็บให้คลิกเท่านั้น ถ้าทำอย่างที่อาจารย์ว่าจะทราบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องอะไร มีความสำคัญอย่างไรบ้าง
ครรชิต ใช่ครับ ผมถือว่าการทำอย่างนี้ สำคัญมาก เพราะเป็นผลงานที่ต้องใช้ความรู้จริงๆ ไม่ใช่จับเอาเว็บต่างๆ มาเรียงไว้เฉยๆ
พรสวรรค์ แล้วเรื่องทำบทเรียนเก็บลงเว็บให้คนเขามาอ่านล่ะคะ อาจารย์เห็นด้วยหรือเปล่า ทางดิฉันที่คิดไว้ 2 แบบ แบบแรกคือนำเอาบทเรียนที่เขาพัฒนาไว้มาเก็บลงเว็บ แบบที่ 2 คือเราจะไปดูว่ามีผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ทรงความรู้อยู่ที่ไหนบ้าง หากท่านทำบทเรียนไม่เป็น เราก็จะส่งคนไปคุย เพื่อทำบทเรียนให้
ครรชิต เรื่องทำบทเรียนนี้ผมก็เห็นว่าดีครับ แต่ถ้าหากเป็นเว็บ STKC เองนี่ ผมคิดว่าเราต้องมีรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน เวลานี้มีคนทำบทเรียนออกมามากมาย ผมคิดว่าบางทีเราไม่จำเป็นต้องเอาบทเรียนทุกเรื่องมาเก็บ หากจะนำมาเก็บก็ควรเป็นเรื่องใหม่ๆ หรือเรื่องที่มีคนทำเป็นบทเรียนค่อนข้างน้อย เช่น บทเรียนเกี่ยวกับด้านนาโนเทคโนโลยี หรือ Bioinformatics ส่วนบทเรียนง่ายๆ เราอย่าไปเก็บเลย ไม่ทราบว่าคุณคิดจะมีเจ้าหน้าที่ทำงานด้านนี้หรือเปล่า
พรสวรรค์ มีค่ะ เราไปขออัตราไว้แล้ว
ครรชิต ดีครับ แต่ผมมีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า ไม่ควรทำเป็นตัวบทเรียน หรือ Courseware อย่างเดียว แต่ควรทำเครื่องมือขึ้นมาสำหรับสร้างบทเรียนด้วย ผมคิดว่าทำไม่ยากหรอก แล้วจริงๆ นี่ไม่ต้องไปทำให้เลิศเลออะไรมากนัก
พรสวรรค์ ค่ะ คราวนี้อาจารย์ช่วยวิจารณ์เรื่อง E-Services หน่อย ดิฉันกะว่าจะใช้ส่วนนี้ให้บริการคนที่ต้องการคำแนะนำ หรือต้องการส่งตัวอย่างไปทดลองอะไรนี่แหละ
ครรชิต เรื่อง E-Services แบบนี้ผมไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเหมือนกับเราไปแย่งงานคนอื่นทำ ผมคิดว่าการไปขอบริการแบบนี้ ควรผ่าน Web links มากกว่า หรือไม่เราก็แนะนำให้เจ้าของหน่วยงานของเขาทำบริการรับคำสั่งจากลูกค้าขึ้น แล้วเราก็ทำ link เชื่อมโยงไปที่เขา ตัวเราเองนั้นน่าจะพัฒนา E-Commerce ไปเลย ผมว่าเวลานี้หน่วยงานหลายแห่งพิมพ์หนังสือสวยๆ ดีๆ มีรูปมากๆ ออกมาหลายเล่ม แล้วก็แจกให้ผู้หลักผู้ใหญ่ของหน่วยงาน แต่ไม่วางตลาด ไปหาซื้อก็ไม่ได้ ที่เจ็บปวดก็คือผู้ใหญ่ได้ไปแล้วก็ไม่อ่าน เอาไปเก็บไว้จนเก่า ไม่เกิดประโยชน์อะไร เราน่าจะเอาหนังสือเหล่านี้มาขายในเว็บของเรา อาจขอบริจาคมาจากคนที่เขาเอาไปดองไว้เฉยๆ ก็ได้ อย่างเช่น หนังสืองานศพของ ดร. สง่า สรรพศรี อดีตปลัดกระทรวงวิทย์ฯ นั้นก็มีคุณค่ามาก แต่หาอ่านไม่ได้หรอก ส่วนพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ของกระทรวงวิทย์ฯ ก็น่าจะทำผลิตภัณฑ์จำลองเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างเช่น ตัวอย่างแร่ หรือ ฟอสซิล ขายทางเว็บนี่แหละ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่ต่างประเทศ เขามีของเหล่านี้ขายมากมายหลายรายการ ที่น่าทำอีกอย่างหนึ่งก็คือ พิมพ์เขียวสำหรับสร้างอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เอง เช่น ทำกล้องจุลทัศน์เอง กล้องโทรทรรศน์เอง แผ่นวงจรต่างๆ แบบนี้จะทำให้เด็กที่ซื้อไปสามารถฝึกปฏิบัติ ทำชิ้นงานด้วยตัวเองได้ ใช้เครื่องมือเป็นได้
พรสวรรค์ ตอนนี้ทางพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ก็เริ่มคิดบ้างแล้วค่ะ แต่อาจจะยังไม่ครบหมด
ครรชิต ดีครับ ผมเชื่อว่า E-Commerce นี่สำคัญมาก เพราะจะช่วยให้คนที่อยู่ห่างไกล ความรู้ได้ เรื่องนี้ผมอยากให้รีบทำเร็วๆ ด้วย
พรสวรรค์ แล้วเรื่อง E-Forum สำหรับการตอบคำถามล่ะคะ
ครรชิต เรื่องนี้ดีครับ เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนทั่วไปกับทางเรา และเป็นการกระตุ้นความคิดทางวิทยาศาสตร์ด้วย เวลานี้คนไทยคิดอะไรเองน้อยลง และไม่ค่อยนึกสงสัยอะไร นักเรียนนักศึกษาก็ตั้งคำถามไม่เป็น ทำให้ไม่เกิดแรงผลักดันที่จะคิดค้นหาคำตอบใหม่ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น คุณทราบไหมว่า ทำไมจึงเรียกชมพู่ว่า Rose Apple
พรสวรรค์ ไม่ทราบค่ะ
ครรชิต แล้วน่าสงสัยไหม ว่าทำไมเขาตั้งชื่ออย่างนั้น
พรสวรรค์ เมื่อลองกลับมาคิดดู ก็น่าสงสัยเหมือนกันค่ะ
ครรชิต นี่เป็นตัวอย่างข้อสงสัยเกี่ยวกับ "คำพูด" หรือ "คำศัพท์" ที่เราเห็นโดยทั่วไปครับ เรื่อง Rose Apple นี่ผมก็สงสัยมาตั้งแต่เด็กแล้ว พอดีที่บ้านปลูกชมพู่ม่าเหมี่ยว เมื่อผลโตผมก็ไปเก็บเอามาดมปุ๊บก็ทราบคำตอบทันที เพราะมันหอมเหมือนกุหลาบครับ หอมจริงๆ ดังนั้นคนที่ตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นใครนั้น ก็คงจะเอากลิ่นนี่แหละครับมาตั้งชื่อ แต่ชมพู่อื่นๆ ไม่ได้มีกลิ่นแบบกุหลาบอย่างนี้นะ นอกจากคำแล้วก็ยังมีปรากฏการณ์ และเรื่องอื่นๆ อีก ยกตัวอย่างเช่น รถไฟของเราที่วิ่งไปต่างจังหวัดนั้น เมื่อพ้นบางสถานีไปแล้วก็เป็นรางเดี่ยว - ไม่ได้หมายความว่ามีตัวรางเส้นเดียวนะครับ แต่หมายถึงว่าหลีกกันไม่ได้ หากมีรถไฟ 2 ขบวน วิ่งเข้าหากันก็ต้องชนกันแน่ คำถามคือ เขาจัดระบบอย่างไรไม่ให้รถชนกันนี่เป็นคำถามเกี่ยวกับการออกแบบระบบครับ หนุ่มๆ อาจจะต้องคิดพลิกแพลงไปใช้ไม่ให้ชนกันเหมือนกัน คำถามต่อมาคือ เวลานี้นักดาราศาสตร์บอกว่าเขาค้นพบ ดาวเคราะห์ในจักรวาลอื่นๆ แล้วหลายดวง ก็ในเมื่อดาวเคราะห์ไม่มีแสงในตัว แล้วจักรวาลอื่นๆ ก็อยู่ไกลมาก ส่องกล้องมองหาก็ไม่เห็นง่ายๆ แล้วนักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ได้อย่างไรกัน เรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรามีอีกมากทีเดียวที่เราไม่รู้ เช่น การที่เราตื่นหรือรู้สึกตัวน่ะเป็นอย่างไร แล้วคนที่หลับไม่ตื่นกลายเป็นผักไปเลยนี่เป็นอย่างไร เรารู้ว่าเกิดที่สมอง แต่จริงๆ แล้วคืออะไรกันแน่
พรสวรรค์ จริงค่ะ มีเรื่องราวอีกมากจริงๆ ที่เราไม่ทราบ แต่การตอบคำถามพวกนี้ เราก็คงต้องมีคนที่รู้เรื่องเหล่านี้ที่ยินดีจะเปิดเผย และให้ความรู้เหล่านี้เป็นวิทยาทาน มีคนที่พร้อมจะช่วยนำความรู้เหล่านี้มาเรียบเรียงออกเผยแพร่ และหาคนที่อาสาเป็นคนกลางดำเนินการเผยแพร่ เช่น สำนักพิมพ์ หรือ เจ้าของเว็บไซต์ต่างๆ
ครรชิต ใช่แล้วครับ ดังนั้นการที่กระทรวงวิทย์ฯ คิดจะเป็นผู้ที่ช่วยในการเผยแพร่ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง และมาถูกทางแล้ว แต่ขั้นต่อไปก็คือ ต้องหาคนมีฝีมือในกลุ่มที่ 2 มาช่วย หรือถ้าหาไม่ได้ก็ต้องลงทุนจ้างคนทำ เหลือก็เพียงกลุ่มที่ 1 นี่แหละที่ยากหน่อย
พรสวรรค์ ความจริงผู้รู้ในเรื่องเหล่านี้มีมากนะคะ
ครรชิต ครับ เพื่อนรุ่นเดียวกับผมที่เกษียณไปแล้ว มีหลายคนที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานสำคัญ แต่น่าเสียดายที่เราไม่สามารถไปดึงความรู้ และประสบการณ์จากท่านเหล่านี้ออกมาใช้ประโยชน์ได้
พรสวรรค์ ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะคะ
ครรชิต มีหลายสาเหตุต่างกันครับ บางคนก็ไปเข้าวัด เพื่อศึกษาปฏิบัติธรรมะอย่างจริงจัง ซึ่งคงไม่มีเวลาจะมาถ่ายทอดความรู้ให้ไว้ บางคนอยากถ่ายทอดเหมือนกัน แต่ไม่มีทักษะในการถ่ายทอด คือทำงานเป็นแต่ถ่ายทอดไม่เป็น บางคนก็อยู่บ้านเลี้ยงหลาน บางคนก็เริ่มเจ็บป่วย และบางคนก็ตายไปเสียแล้ว
พรสวรรค์ นั่นสิคะ แล้วเราจะทำอย่างไรดี จึงจะได้ความรู้จากท่านเหล่านี้ล่ะคะ
ครรชิต เราต้องพัฒนาคนอีกกลุ่มหนึ่งครับ คือคนที่สนใจด้านความรู้ และที่ทักษะในการแสวงหาความรู้ คนกลุ่มที่สองนี้ ไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาจริงๆ เช่นไม่เป็นวิศวกร แต่สนใจงานวิศวกรรม และไปสนทนากับผู้รู้ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำงานวิศวกรรมออกมา หากเราพัฒนาคนกลุ่มนี้ออกมาได้มากๆ แล้วส่งคนเหล่านี้ไปสนทนากับผู้รู้ในด้านต่างๆ แล้วนำสิ่งที่ได้มาถ่ายทอดให้คนที่จะนำมาเรียบเรียงต่ออีกขั้นหนึ่งก็น่าจะได้
พรสวรรค์ น่าสนใจมากค่ะ ดิฉันจะลองนำไปคิดดู
ครรชิต แต่ไม่ว่าจะคิดหาทางสร้างองค์ความรู้ หรือฐานความรู้ด้วยวิธีใด สิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องไม่มองข้ามยังมีอีกอย่างหนึ่ง
พรสวรรค์ คืออะไรคะ
ครรชิต คือคนที่สนใจอยากเรียนรู้น่ะซีครับ ถ้าหากปราศจากคนที่อยากจะเรียนรู้เสียแล้ว สิ่งที่พวกคุณทำไปก็ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร
พรสวรรค์ แต่ก็ไม่สูญเปล่านะคะ อย่างน้อยก็เก็บเอาไว้ในระยะยาว หากมีคนเห็นประโยชน์ในอนาคต แล้วมานำความรู้นั้นไปแก้ปัญหาได้ ก็คงเป็นสิ่งที่ดีนะคะ
ครรชิต ใช่ครับ.....ขอให้เป็นเช่นนั้นเถิด ความจริงเรื่องศูนย์ความรู้นี้มีประเด็นที่เราต้องคุยกันอีกมาก แต่วันนี้ผมบังเอิญต้องไปประชุมแล้ว เอาไว้คุยต่อทีหลังนะครับ
พรสวรรค์ ได้ค่ะ แล้วพวกเราจะมารบกวนอาจารย์อีก


Home | Back