Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

Home
IT Idea for Spiritization

ENERGY เรื่องของพลังงานที่ต้องร่วมมือกันอนุรักษ์

ครรชิต มาลัยวงศ์

1 กันยายน 2548

     คำว่า energy นั้นเราใช้คำแปลว่า "พลังงาน" ซึ่งนับว่าถูกต้องมาก เพราะคำนี้มาจากคำสองคำรวมกันคือ en แปลว่า "ที่" หรือ "ณ" และ ergon แปลว่า "งาน" เมื่อเอาคำสองคำนี้มารวมกันตรงๆ ก็ได้เป็นภาษากรีกว่า energos ซึ่งต่อมาก็กลายเป็น energy ในภาษาอังกฤษ

     ถ้าแปลคำนี้โดยตรงจากรากศัพท์จะเข้าใจยากหน่อย เพราะน่าจะหมายถึง "ทำงานอยู่"ซึ่งก็ไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร แต่ถ้าลองเปลี่ยนให้เป็นคำคุณศัพท์ คือ energetic ก็มีความหมายโดยปริยายว่า "กระตือรือร้นในการทำงาน" หรือขยันทำงาน อย่างเช่นในประโยคว่า "Boonchu is an energetic man." ก็แปลว่า "บุญชูเป็นคนขยันขันแข็ง"

     ต่อมาทางวิชาฟิสิกส์ ได้นำคำว่า energy มาใช้ในความหมายว่าเป็น "พลังงาน" และทางราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติความหมายว่าเป็น "ความสามารถซึ่งมีอยู่ในตัวของสิ่งที่อาจให้แรงงานได้" อ่านแล้วก็เข้าใจยากอีกเหมือนกัน จึงต้องยกตัวอย่าง เช่น แสงแดดเป็นพลังงานอย่างหนึ่ง เพราะในแสงแดดมีความสามารถที่จะให้แรงงานได้ หรือ น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นพลังงานเพราะสามารถนำน้ำมันไปใช้กับเครื่องยนต์และก่อให้เกิดแรงงานต่างๆ ได้

     ปัญหาก็คือ พลังงานของโลกมีจำกัด แสงแดดก็มีจำกัด นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าเมื่อหกสิบล้านกว่าปีมาแล้วมีอุกกาบาตตกบนโลกทำให้เกิดฝุ่นธุลีลอยบดบังแสงแดดอยู่นาน เมื่อไม่มีแสงแดดให้ความอบอุ่น สัตว์จำนวนมากเช่นไดโนเสาร์ก็สูญพันธุ์ไปหมดในช่วงนั้นเอง เวลานี้น้ำมันปิโตรเลียมที่มีมากมายแถบประเทศอาหรับนั้น ไม่ช้าก็จะหมดไปอย่างแน่นอนเพราะวันหนึ่งๆ สูบออกมาใช้มากเหลือเกิน ประเทศไทยของเราเองก็ประสบปัญหาเรื่องพลังงานมาก เพราะเราไม่มีแหล่งน้ำมันดิบมากพอให้สูบขึ้นมาใช้ แก๊สธรรมชาติในอ่าวไทยก็มีไม่มากนัก และอีกไม่กี่ปีก็หมดเหมือนกัน >แต่เรามีรถยนต์จำนวนมากที่จะต้องใช้น้ำมัน เราต้องใช้แก็สหุงต้มเพิ่มมากขึ้นเพราะประชากรเพิ่ม และประเทศไทยเราไม่มีต้นไม้มากพอที่จะนำมาใช้เผาเป็นถ่าน มิหนำซ้ำภูมิอากาศของเราก็ร้อนมาก จนต้องมีเครื่องปรับอากาศตามบ้านเรือนและสำนักงาน การใช้รถยนต์และไฟฟ้ากันมากๆ ก็เท่ากับต้องไปซื้อน้ำมันจากต่างประเทศมาใช้มากๆ ประเทศไทยจะผลิตสินค้าส่งออกได้เงินมาเท่าไร ก็ต้องเอาไปซื้อน้ำมันหมด แถมยังต้องขุดทรัพยากรของเรามาใช้อีก แบบนี้ไม่ช้าประเทศไทยก็จะหมดตัว

     ด้วยเหตุนี้เองเราจึงต้องลงมือทำ energy conservation หรือ อนุรักษ์พลังงาน คำว่า conservation นี้ก็มาจากคำว่า con + serve คำว่า con แปลว่า "ร่วม" ก็ได้ หรือ "เข้มข้น" ก็ได้ และ serve แปลว่า "ป้องกัน" จริงๆ แล้วเมื่อแปลตรงๆ ก็จะหมายถึง "การป้องกันรักษาอย่างเข้มข้น" หรือ อีกนัยหนึ่งคือการป้องกันไม่ให้หมดไปนั่นเอง

     ด้วยเหตุนี้เอง energy conservation จึงแปลว่า "การป้องกันรักษาพลังงานไม้ให้หมดไป" ในทางปฏิบัติก็เป็นไปไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเราต้องใช้พลังงานอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะน้ำมันปิโตรเลียมซึ่งทั้งโลกมีจำกัด เมื่อสูบมาใช้มากๆ ไม่ช้าก็คงจะหมดไป ดังนั้นจึงมีผู้ให้ความหมายของคำว่า energy conservation โดยอ้อมว่า"ใช้พลังงานแต่พอควร หรือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น"

     พลังงานที่มีมากที่สุดบนโลก และคงยังไม่หมดไปง่ายๆ คือ พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar energy) คำว่า solar นั้นแปลว่า สุริยะ หรือ ดวงอาทิตย์ โดยที่พลังงานนี้เป็นพลังงานร้อน การที่จะนำพลังงานนี้มาใช้แบบง่ายๆ ก็จะต้องใช้ในเรื่องที่เกี่ยวกับความร้อน เช่นใช้ตากเสื้อผ้าที่ซักแล้ว หรือ ใช้ตากอาหาร ซึ่งพวกเราก็รู้จักใช้มานานแล้ว ปัจจุบันนี้มีผู้พยายามคิดค้นให้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ประโยชน์มากขึ้น เช่นทำเป็นตู้อบแสงอาทิตย์ (Solar oven) สำหรับอบอาหารโดยไม่ให้แมลงวันหรือสัตว์อื่นรบกวน นำแผ่นอะลูมิเนียมมาดัดให้โค้งเพื่อทำเป็นจานรับแสงแดดให้รวมแสงเข้าสู่จุดเดียวสำหรับใช้ต้มน้ำ ในประเทศแถบหนาวนั้นเขาเริ่มนิยมนำแสงอาทิตย์มาใช้ทำน้ำร้อนสำหรับเป็นน้ำกินน้ำใช้ในบ้าน อุปกรณ์ทำน้ำร้อนนี้เรียกว่า เครื่องทำความร้อนพลังแสงอาทิตย์ หรือ Solar heater (คำว่า heater มาจากคำว่า heat แปลว่าความร้อน เมื่อเติม er เข้าไป ก็กลายเป็น เครื่องทำความร้อน) กล่าวกันว่า การใช้อุปกรณ์แบบนี้ทำให้ประหยัดพลังงานค่าต้มน้ำร้อนไปได้กว่า 70% ทีเดียว บางแห่งเขาเอาเครื่องทำความร้อนนี้ไปใช้กับสระว่ายน้ำด้วย เพราะถ้าน้ำเย็นเกินไปก็ว่ายไม่ไหว

     บ้านเราลำบากหน่อยในเรื่องนี้ เพราะเราต้องการให้บ้านและสำนักงานของเราเย็น และอาคารบ้านเรือนของเราก็ตากแดดจนร้อนแทบลุกเป็นไฟในช่วงกลางวันอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการก็คือเครื่องปรับอากาศพลังแสงอาทิตย์ หรือ Solar Air Conditioner ที่จะทำให้ห้องในบ้านและสำนักงานของเราเย็นลงจนเราอยู่ได้สบาย และแน่นอนที่สุดที่ขาดไม่ได้ก็คือตู้เย็นพลังแสงอาทิตย์ หรือ Solar Refrigerator คำว่า refrigerator มาจากคำว่า re + frigerare + er คำว่า re แปลว่า ทำอีกครั้ง หรือ ทำให้ใหม่ คำว่า frigerare เป็นคำภาษาลาติน แปลว่า เย็น เติม er เข้าไปก็เลยกลายเป็น ตู้เย็น (คำว่า frigerare นี้ยังกร่อนมาเป็น frigid ซึ่งมีความหมายว่า เย็นมาก หากใช้กับคน เช่น Somwang is frigid. ก็หมายความว่า สมหวังเป็นคน เย็นชา หรือ แข็งกระด้าง) เวลานี้มีผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นแสงอาทิตย์ออกมาจำหน่ายแล้ว แต่ราคายังแพงอยู่ และผู้ต้องการใช้จะต้องมีแผงรับแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่พอสมควร หลักการเปลี่ยนความร้อนมาเป็นความเย็นนั้นเข้าใจยากสักหน่อย แต่วิศวกรและนักวิทยาศาสตร์เขาก็ช่วยกันคิดค้นจนพบสารที่สามารถถ่ายเทความร้อนแลกเปลี่ยนกันไปมาจนกลายเป็นความเย็นได้ในที่สุด

     เมื่อยี่สิบปีก่อน มีนักวิจัยไทยคนหนึ่งคร่ำเคร่งกับการพัฒนาตู้เย็นแสงอาทิตย์อยู่ที่ AIT จนกระทั่งประสบความสำเร็จแล้ว แต่นักวิจัยผู้นี้เห็นว่าเป็นนักวิจัยใน AIT ไปเรื่อยๆ ก็อย่างงั้นๆ ก็เลยลาออกไปประกอบอาชีพขายสินค้ากับ  ลงท้ายก็ได้เป็นผู้บริหารระดับเพชร นักวิจัยผู้นี้ก็คือ คุณสมหมาย ครสาคู

     พลังงานเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง คนเราจำเป็นต้องใช้พลังงานในการดำรงชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบาย และจำเป็นต้องรีบเร่งคิดค้นหาวิธีที่จะนำพลังงานรอบๆ ตัวเรามาใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ในขณะที่เรายังไม่มีช่องทางในการผลิตพลังงานราคาถูกจากสิ่งต่างๆ รอบตัวเรานั้น เราก็ควรจะใช้พลังงานอย่างระมัดระวังมากที่สุด ไม่ปล่อยให้เกิดความสูญเสียพลังงานไปโดยไม่จำเป็น เพราะหากพลังงานที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันหมดไปเสียแล้ว เราก็จะประสบกับความลำบากแสนสาหัสอย่างแน่นอน


Home | Back