วัดพระบาทห้วยต้ม อ. ลี้ จ. ลำพูน
ผมได้ยินชื่อและอ่านเรื่องของท่านครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
แห่งวัดพระบาทห้วยต้มมานานแล้ว
แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสมานมัสการท่านสักครั้ง
จนกระทั่งท่านมรณภาพล่วงลับไปแล้วจึงได้โอกาสเมื่อ ดร.
สันทัด โรจนสุนทร
หัวหน้าฝ่ายวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวง
ได้กำหนดให้มีการประชุมปรับทิศทางและบูรณาการแผนงานวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวง
ณ โรงแรมนอร์ทเทอร์น เฮอริเทจ รีสอร์ท แอนด์ สปา
อ.สันกำแพง ในวันที่
26 กรกฏาคม 2547
ผมจึงขอมาก่อนล่วงหน้าหนึ่งวันเพื่อจะได้เดินทางไปยังวัดพระบาทห้วยต้ม
คำขอของผมได้รับการตอบสนองด้วยดี
เพราะวัดนี้ก็อยู่ติดกับศูนย์วิจัยโครงการหลวงที่วัดพระบาทห้วยต้มในระยะเดินสักสิบนาที
ดังนั้น ดร. สันทัดจึงอนุญาตให้ ดร. ปาริสา
และเจ้าหน้าที่อีกสองคน พาผมมาที่วัดนี้ และเมื่อดร.วรทัศร์
ขจิตวิทยานุกูล
ทราบเรื่องนี้ก็ได้แสดงความประสงค์ที่จะมาด้วย
ตกลงคณะของเราที่เดินทางไปเยี่ยมชมวัดพระบาทห้วยต้มจึงมีด้วยกัน
6 คน รวมคนขับรถด้วย
ดร. ปาริสา
พาพวกเราออกจากสนามบินเชียงใหม่เมื่อประมาณเกือบสิบนาฬิกา
และเดินทางโดยถนนซูเปอร์ไฮเวย์ไปทางลำปาง
แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนไปลำพูนก่อนจะเลี้ยวซ้ายไปทางป่าซางและมุ่งหน้าไปยังอำเภอลี้
ถนนช่วงนี้เป็นถนนลาดยางอย่างดี
แต่ค่อนข้างแคบเหมือนถนนขึ้นเชียงใหม่ในสมัยก่อน
ประมาณ11.45
เราก็ไปแวะรับประทานข้าวซอยที่ถนนข้างทาง
ก่อนจะเดินทางต่อไปอีกราวยี่สิบนาทีก็ถึงสำนักงานโครงการ
สำนักงานแห่งนี่ค่อนข้างเล็ก
และเท่าที่ได้รับทราบจากคุณลักษณพร
เจ้าหน้าที่ที่มาต้อนรับนั้น
รู้สึกว่าจะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
เพราะเมื่อดูจากสถิติรายได้ของประชากรในเขตรับผิดชอบแล้ว
พบว่าพวกเขามีรายได้จากการทำเครื่องเงินถึง
190 ล้านบาท
ในขณะที่มีรายได้จากการเกษตรเพียงสองแสนกว่าบาทเท่านั้น
คุณลักษณพรอธิบายว่าคนในหมู่บ้านที่อยู่ในเขตมาสมัครเป็นสมาชิกเพียง
10 รายเท่านั้น
แต่คนนอกเขตมาสมัครเป็นสมาชิกจำนวนมากซึ่งทางศูนย์ก็ไม่ต้องการรับเข้ามาเป็นสมาชิก
เหตุผลก็คือแต่ละปีศูนย์จะต้องจัดทำแผนงานเพื่อของบประมาณมาใช้
และแผนงานนั้นจะต้องเน้นเรื่องพืชเมืองหนาวที่ทางโครงการหลวงกำหนดไว้เป็นกลยุทธ์
แผนงานนี้จะเน้นคนในเขตที่ศูนย์รับผิดชอบมากกว่า
หากรับคนนอกศูนย์มาก็จะมีปัญหาเรื่องการที่จะทำให้ผลผลิตของสมาชิกได้คุณภาพถึงระดับที่ต้องการ
ซึ่งจะต้องมีการใช้จ่ายงบประมาณสนับสนุนอีกมาก
สำหรับเครื่องเงินนั้นในสองปีก่อนนี้มีผู้ทำกันมาก
ขายส่งให้แก่พ่อค้าในเมืองได้มากจนกระทั่งคนในหมู่บ้านมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
มีการสร้างบ้านใหม่ที่โอ่อ่าหรูหราดีขึ้นกว่าเดิมมาก
คุณลักษณพรได้เล่าต่อไปว่า
บริเวณที่เป็นวัดพระบาทห้วยต้มนี้ตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้านในสมัยที่ท่านครูบาชัยยะวงศาเดินทางมาสร้างวัด
และท่านเป็นที่นับถือของชาวกะเหรี่ยงมาก
จึงมีชาวกะเหรี่ยงติดตามท่านมาอยู่ที่นี่ในตอนแรกราว
80 คน ท่านครูบาฯ
เป็นนักก่อสร้างที่มีความคิดหลักแหลมและเห็นการณ์ไกล
ท่านได้วางผังหมู่บ้านให้มีถนนเป็นตาหมากรุก
มีวัดพระบาทห้วยต้มอยู่ด้านหนึ่ง
และมีอาคารที่เป็นศูนย์กลางของหมู่บ้านอีกอาคารหนึ่งอยู่ใกล้
ๆ อาคารนี้เรียกว่า ใจบ้าน
มีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตสองชั้นทาสีขาว
ด้านบนมีเจดีย์สีทองเล็ก ๆ
ด้านหน้ามีถนนตรงเข้าไปหาอาคารและวกเลียบอาคารไปทั้งซ้ายและขวา
นอกจากนั้นยังขุดสระน้ำขนาดใหญ่ไว้ด้านหน้าตรงสองข้างทางของถนนที่วิ่งเข้ามาสู่อาคารนี้
วัดพระบาทห้วยต้ม
มีเนื้อที่กว้างขวางมาก คุณลักษณพรให้คนขับรถนำรถไปเข้าประตูทางด้านหลังของวัด
แล้วนำไปจอดไว้ทางขวามือใต้ต้นไม้ใหญ่ใกล้กับอาคารหลังหนึ่งซึ่งมีลักษณะเหมือนวิหารแต่ปิดประตูมิดชิด
ด้านบนหลังคาทำยอดเป็นเจดีย์สูงขึ้นไป
ส่วนทางซ้ายมือของพวกเรามีอาคารยาวมีหลังคาลักษณะเหมือนทางเดิน
พ้นอาคารนี้ไปเป็นพระธาตุองค์ใหญ่สวยงาม
ส่วนทางขวามือเป็นพระวิหารพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานร่างของท่านครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
พระวิหารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีขนาดกว้างใหญ่
ด้านหน้าเป็นบันไดพญานาค
พื้นเป็นหินแกรนิตสีแดงอ่อน
แต่ปูพรมสีแดงเกือบตลอดทั้งอาคาร
ฝาปูหินแกรนิตถึงบริเวณกรอบหน้าต่าง
ด้านซ้ายมือของอาคารทำยกพื้นเป็นที่นั่งสำหรับให้พระสงฆ์นั่งสวดมนต์หรือทำพิธีกรรมได้ราว
10 รูป
ขณะผมมานมัสการหลวงปู่นั้นมีพระสงฆ์นั่งรับสังฆทานและพรมน้ำมนต์ให้ญาติโยมอยู่หนึ่งรูป
ใกล้ ๆ
กับที่นั่งพระสงฆ์มีตู้เก็บพระพุทธรูปบูชาซึ่งส่วนมากเป็นพระพุทธชินราชจำลอง
เลยต่อไปเป็นโต๊ะหมู่แกะสลักปิดทอง
ตรงกลางของพิพิธภัณฑ์ประดิษฐานหีบมุกซึ่งด้านข้างเป็นกระจกใสบรรจุร่างของท่านครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
ร่างของท่านนอนสงบนิ่งอยู่ข้างใน
กายของท่านนั้นทางศิษย์ได้ปิดทองจนเหลืองอร่าม
มีหมอนทองหนุนศีรษะหนึ่งใบ
มือทั้งสองพาดอยู่บนหน้าอก
สงบสิ้นแล้วจากความสับสนยุ่งเหยิงทั้งปวงของโลก
ด้านหน้าของหีบมุกตั้งเครื่องใช้ของครูบา
รวมทั้งใบประกาศแต่งตั้ง รถเข็นของท่าน
ส่วนเครื่องบูชาก็มีงาช้างที่สวยงามตั้งอยู่ด้วยสองคู่
นอกจากนั้นยังมีรูปหล่อในท่ายืนธุดงค์อยู่ที่ด้านหนึ่งด้วย
ผมนมัสการท่านพร้อมกับรำลึกถึงคุณงามความดีของท่านที่ผมได้ทราบมา
ผมเองไม่เคยมานมัสการท่านเมื่อครั้งมีชิวิตอยู่
เคยแต่ได้ยินกิตติศัพท์ของท่าน
และได้อ่านประวัติที่น่าประทับใจของท่าน
การได้มากราบท่านในวันนี้จึงถือว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง
เพราะแม้ว่าผมจะเป็นวิศวกรโครงสร้างโดยการศึกษา
แต่เมื่อมาเห็นหมู่บ้านที่ท่านกำหนดบริเวณให้ชาวกะเหรี่ยงอยู่กันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย
อีกทั้งได้เห็นวัดอันสง่างามของท่านแล้ว
ก็รู้สึกชื่นชมความสามารถของท่านมากทีเดียว
ย้อนกลับมาที่พิพิธภัณฑ์หลังนี้อีกครั้ง
ด้านขวาของอาคารเยื้องออกมาด้านหน้า
เป็นรูปหุ่นขี้ผึ้งของท่านครูบาตั้งอยู่ในตู้กระจก
องค์ท่านห้อยสายประคำเส้นยาวแบบตุ๊เจ้าทางเหนือ
พิพิธภัณฑ์หลังนี้ทำหลังคาแบบลดสามชั้นทางด้านบันได
และส่วนกลางทำซ้อนสองชั้น
ภายในเหนือหน้าต่างวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพพุทธประวัติฝีมือแบบใหม่
บานประตูแกะสลักเป็นรูปนารายณ์ขี่ครุฑ ฝีมือพอใช้
ลายเส้นสายละเอียดพอควร
สำหรับด้านนอกนั้นอาคารหลังนี้มีซุ้มหน้าต่างที่ค่อนข้างหนา
ทำลวดลายแบบล้านนา
เสาซุ้มประตูประดับลายทั้งส่วนโคนเสาและหัวเสา
ส่วนกลางเสายังมีลายประจำยามอีกด้วย
บานหน้าต่างแกะสลักเป็นภาพสัตว์
ส่วนราวบันไดสำหรับขึ้นไปสู่พิพิธภัณฑ์นั้นทำเป็นนาคตัวสีเขียวเศียรเดียว
และมีรูปปั้นวัวอยู่ข้าง ๆ นาคด้วย
เมื่อออกจากพิพิธภัณฑ์แล้ว
ผมเดินข้ามถนนไปยังศาลารายยาวที่คั่นระหว่างส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์กับพระธาตุองค์ใหญ่สวยงาม
บอกไม่ถูกว่าทรวดทรงเหมือนอะไร
ถ้าจะให้เดาก็ต้องบอกว่าเหมือนดอกบัวตูม
แต่ไม่ใช่ดอกบัวที่มีสัณฐานกลม
หากเป็นรูปเหลี่ยมเรียวขึ้นไปสู่ยอดซึ่งมีลักษณะเป็นห้องเหลี่ยม
และเหนือขึ้นไปอีกจึงมียอดและฉัตร
องค์พระธาตุตั้งอยู่บนอาคารที่มีลักษณะกลม
เหนือหลังคาอาคารเห็นซุ้มหลังคาเชื่อมต่อกับองค์ธาตุสลับกับพระเจดีย์เล็ก
ๆ ที่ฐานเจดีย์ประดิษฐาน พระพุทธรูป
ส่วนที่เป็นซุ้มเหนือหลังคานี้
ทำเป็นหลังคาซ้อนสองชั้น มีหางหงส์
ใบระกา
แต่ส่วนที่เป็นช่อฟ้านั้นทำเป็นไม้แหลมชูขึ้นไป
หน้าบันและส่วนที่เป็นผนังด้านนอก
ทำเป็นลวดลายสวยงาม แต่ความที่ตั้งอยู่สูง และ
อากาศวันนี้ร้อนจัดมาก
ผมจึงไม่ได้สังเกตว่าเป็นภาพอะไร
โดยรอบอาคารมีระเบียงแก้ว
ซึ่งมีช่องเปิดหลายช่อง
ทุกช่องประดับรูปเทพนมนั่งคุกเข่าอยู่บนหัวเสาของกำแพงแก้ว
ผมเดินผ่านประตูอาคารชั้นล่างที่เป็นอัลลอยด์ทำเป็นรูปลวดลาย
ด้านในเป็นระเบียงเดินเป็นวงกลมได้
ฝาผนังระเบียงส่วนนอกเป็นรูปวาดเรื่องเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรหลายรูป
ต้องยอมรับว่าไม่ได้เดินดูโดยรอบเพราะเกรงจะไม่มีเวลา
เมื่อเดินผ่านเข้าไปชั้นในก็พบว่า
ตรงกลางได้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์หนึ่ง
มีขนาดใหญ่พอประมาณ
องค์ท่านกั้นกลดหรือฉัตรชั้นเดียวมีลวดลายสวยงาม
เสาภายในพระธาตุที่รองรับอาคารส่วนบนและพระธาตุนั้นประดับด้วยกระจกเงา
ทำให้เกิดความรู้สึกว่าภายในมีความลึกและกว้าง
ซึ่งความจริงก็กว้างขวางอยู่แล้ว
หัวเสาส่วนบนที่ล้อมบริเวณส่วนกลางของอาคารนั้น
ทำเป็นรูปชายชาวเหนือนุ่งกางเกงขาสั้นทูนแท่นประดิษฐานพระแก้วมรกตทรงเครื่องฤดูกาลต่าง
ๆ
เท่าที่พาเดินชมอาคารสำคัญสองแห่งมาแล้วนี้ยังไม่ได้ถึงอาคารที่ประดิษฐานรอยพระบาทเลย
แต่การที่จะไปนมัสการรอยพระพุทธบาทนั้นจะต้องเดินไปยังส่วนในของวัด
เราเลือกวิธีนั่งรถออกไปก่อนแล้วเลี้ยวกลับเข้ามาใสส่วนที่เป็นลานกว้างขวาง
ลานนี้โรยกรวดทั้งบริเวณ
มองเห็นอาคารพระพุทธบาทตั้งเด่นอยู่
และเห็นองค์พระธาตุอีกสององค์ตั้งอยู่ใกล้ ๆ
ก่อนจะเดินไปถึงอาคารพระพุทธบาทได้สังเกตเห็นต้นโพธิ์ใหญ่เก่าแก่มาก
แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปกว้างขวาง
จนต้องนำเอาเสาไม้มาค้ำเพื่อไม่ให้กิ่งใหญ่ที่ยื่นออกมานั้นล้มลงกับพื้น
บริเวณเดียวกันนี้มีศาลไม้ขนาดใหญ่
โคนเสาทั้งสี่ของศาลอยู่ในบ่อซีเมนต์เล็ก ๆ
คล้ายกับต้องการหล่อน้ำเสาไม่ให้มดเดินขึ้นไปอย่างนั้นแหละ
ใกล้กับศาลไม้มีรูปปั้นฤาษีอยู่องค์หนึ่ง
อาคารพระพุทธบาท
เป็นมณฑปที่สวยงามมาก
ภายในมีแท่นพระพุทธบาทตั้งอยู่ตรงกลาง
แต่มองเห็นไม่ค่อยชัดเพราะได้ทำครอบไว้แล้ว
บนแท่นนี้มีคนนำไม้วัดวามาวางไว้หนึ่งอัน
ไม้วัดวานี้เป็นไม้รวกยาวราวสองเมตรเศษ
รัดหนังยางยืดไว้ตรงริมส่วนหนึ่ง
ที่นี่เขาเอาไว้ใช้เสี่ยงทาย
นั่นคือให้เราอธิษฐานกับพระพุทธบาทว่า
สิ่งที่เราปรารถนานั้นจะสมใจหรือไม่
แล้วก็อธิษฐานว่าหากเป็นจริงขอให้ไม้ส่วนที่กำหนดด้วยหนังยางยืดนั้นยาวออกไปจนเอื้อมไม่ถึง
วิธีอธิษฐานแบบนี้ดูแปลกกว่าการยกองค์พระเสี่ยงทายเหมือนที่เห็นกันในที่อื่น
และรู้สึกว่าจะไม่ค่อยเป็นวิทยาศาสตร์เท่าใดนัก
ภายในมณฑปนี้มีธรรมาศน์เทศน์อยู่หลังหนึ่ง
แกะสลักเป็นลวดลายสวยงาม แต่เป็นของใหม่
ผนังด้านในของมณฑปวาดภาพจิตรกรรมเรื่องพระเวสสันดรชาดก
ออกจากมณฑป
เดินต่อเข้าไปข้างในก็เห็นพระเจดีย์
84,000 พระธรรมขันธ์
และต่อไปอีกเป็นหอพระไตรปิฎก
เป็นอาคารไม้ยกพื้นสูงลักษณะสี่เหลี่ยมปิดหมด
เสาอาคารตั้งอยู่ในบ่อซีเมนต์ซึ่งน่าจะมีน้ำแต่ไม่มี
อาคารด้านนอกวาดภาพลายรดน้ำเป็นรูปเทพนม
และใช้แผ่นพลาสติกปิดทับลายอีกต่อหนึ่ง
ต่อจากหอพระไตรปิฎกก็เป็นพระอุโบสถ
ซึ่งมีลักษณะสวยงามไม่แพ้มณฑป
ผมไม่ได้เดินชมละเอียดนักเพราะเริ่มจะเย็นแล้วและเราจะต้องเดินทางกลับเชียงใหม่
จึงเดินไปที่ด้านข้างของลานซึ่งมีประตูเปิดไปสู่บ่อน้ำทิพย์
เมื่อออกไปนอกกำแพงแก้วแล้วมีบันไดเดินลงไปสัก
6 ขั้น
ก็เห็นช่องประตูเปิดไปสู่บ่อน้ำทิพย์
ช่องประตูนี้ปิดป้ายว่าห้ามสุภาพสตรีเข้า และมีท่อเอ็สล่อนต่อน้ำทิพย์ออกมาสู่ก๊อกน้ำให้คนที่มาเที่ยวชมรองไปล้างหน้าล้างตา
เรื่องน้ำทิพย์ หรือ น้ำศักดิ์สิทธิ์
นั้นคนสมัยใหม่อาจจะไม่เชื่อ
แต่นักวิทยาศาสตร์รัสเซียได้ค้นพบวิธีการทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาแล้วครับ
ชื่อว่าน้ำ
MRET
คือเขาพบว่าน้ำธรรมชาติบริเวณเทือกเขาคอเคซัสมีคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้ชนพื้นเมืองแถบนั้นแข็งแรงมาก
แม้แต่คนที่ถูกสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลก็ยังหายได้เพียงเพราะดื่มน้ำนี้
ดังนั้นจึงมีการวิจัยพบว่าน้ำที่นี่มีการเปลี่ยนแปลงการเรียงตัวของโมเลกุลไปจากน้ำธรรมดา
ดังนั้นเขาจึงคิดประดิษฐ์เครื่องมือผลิตน้ำลักษณะนั้นออกมาบ้าง
เครื่องมือนี้ได้รับสิทธิบัตรจากประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว
เมื่อมีผู้ค้นพบอย่างนี้
ผมจึงสันนิษฐานว่าน้ำทิพย์หรือน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในตำบลต่าง
ๆ รวมทั้งน้ำมนต์ด้วย
ก็อาจจะเป็นน้ำที่มีการจัดเรียงโมเลกุลใหม่ด้วยพลังของธรรมชาติหรือพลังของท่านเกจิอาจารย์นั่นเอง
กล่าวโดยสรุป
วัดพระพุทธบาทห้วยต้มนี้เป็นวัดที่สวยงาม
และมีประวัติที่น่าสนใจมาก แม้ตัววัดจะใหม่
แต่มีตำนานย้อนไปสู่อดีตกาลโน่น
ตำนานนี้ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เรื่องที่น่าสนใจที่สุดก็คือปฏิปทาของท่านครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา
แม้ท่านจะละสังขารไปแล้ว
แต่เราก็ยังอาจศึกษาคำสอนของท่านได้
และยึดท่านเป็นแบบอย่างในการพัฒนาชุมชนได้
ส่วนเรื่องอื่น ๆ เป็นเรื่องประกอบ
แม้แต่ความงามของสิ่งก่อสร้างที่ท่านริเริ่มไว้
ก็เป็นเพียงสิ่งสมมติเท่านั้น
๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘ |