เล่าเรื่องสมมติในอดีต
อำนวย วีรวรรณ
สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ มีนาคม 2547, 300 หน้า 250 บาท
ในระยะหลังนี้เริ่มมีผู้บริหารระดับสูงของไทยที่เขียนประวัติการทำงานของตนเองออกมาเผยแพร่ให้คนอื่นทราบกันมากขึ้น แต่ก็ยังมีจำนวนน้อยเกินไป การนำเรื่องของตนเองมาเขียนเล่านั้นหากไม่ใช่เรื่องแก้ตัว หรือเพราะต้องการอาศัยโอกาสที่ตนเองกำลังเกิดปัญหานั้น ย่อมเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมาก หากผู้เขียนเคยเป็นผู้บริหารประเทศก็จะทำให้คนไทยได้ทราบเหตุการณ์ต่าง ๆ ของประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้บทเรียนที่จะเป็นประโยชน์ต่อการที่จะช่วยกันประคับ ประคองให้ประเทศไทยดำรงคงอยู่ต่อไปได้อย่างมีศักดิ์ศรี รวมทั้งอาจทำให้ช่วยกันสร้างประเทศของเราให้เจริญมากยิ่งขึ้นไปได้อีก
ผมเคยนึกเสียดายที่ผู้บริหารไทยจำนวนมากไม่ได้ทิ้งผลงานส่วนนี้ไว้ให้ศึกษา ความสามารถและประสบการณ์อันเป็นประโยชน์ของท่านจึงสูญหายสลายไปตามกาลเวลา หากจะมีผู้นำมาเขียนถึงทีหลังก็ไม่แน่ว่าจะเข้าถึงความจริงได้ครบถ้วนหรือไม่ ทำให้การยกย่องชมเชยหรือการตำหนิติเตียนที่เกิดขึ้นในภายหลังอาจจะไม่ถูกต้อง แต่เมื่อผมอายุมากขึ้นผมก็เริ่มเข้าใจปัญหาและเหตุผลที่ทำให้เป็นเช่นนี้มากขึ้น
ปัญหาแรก ก็คือ สังคมไทยไม่ค่อยยกย่องคนที่ทำอะไรเด่นเกินเลยไปมากนัก เพราะสังคมไทยเป็นสังคมเรียบ ๆ ว่าอะไรว่าตามกัน หากใครเด่นมากเกินไปก็อาจจะถูกคนอื่นฉุดยั้งให้เท่า ๆ กับผู้อื่น ดังนั้นคนที่มีความสามารถอีกจำนวนมากจึงไม่อยากทำตนเป็นเป้าให้คนอื่นเพ่งเล็งหรือหมั่นไส้ จะมียกเว้นก็แต่คนที่รู้จักฉวยโอกาสสร้างให้ตนเองเด่นดังและได้ประโยชน์ซึ่งก็มีเป็นจำนวนน้อย
ปัญหาที่สอง ก็คือ คนไทยทั่วไปไม่ต้องการที่จะกล่าวให้ร้ายใคร แม้ผู้นั้นจะเป็นผู้ที่รู้กันว่าทุจริต หรือประพฤติตนไม่เหมาะสม แน่นอนว่ามีเสียงซุบซิบนินทากันในวงแคบ หรือวิพากษ์กันในอินเทอร์เน็ตในแบบไม่รู้ว่าใครเขียน แต่ก็ไม่มีใครอยากเจ็บตัวเพราะออกมากล่าวถึงความจริงที่จะทำให้ต้องเอ่ยถึงชื่อคนใดคนหนึ่งอย่างเปิดเผยโจ่งแจ้ง เมื่อเป็นเช่นนี้การเขียนจึงไม่สมบูรณ์ และ เนื้อหาบางเรื่องจึงแตะต้องไม่ได้
ปัญหาที่สามก็คือ คนไทยไม่นิยมจดบันทึกการทำงานเอาไว้เป็นหลักฐาน หรือถึงแม้จะจดบันทึก แต่ก็ไม่ได้บันทึกเหตุผลที่ทำให้ตนต้องคิดทำเช่นนั้นเอาไว้ด้วย ยิ่งมาปัจจุบันนี้ มีการท้าทายให้หา "ใบเสร็จมาแสดง อยู่เสมอ ยิ่งทำให้มีการสั่งงานด้วยวาจามากขึ้น เมื่อเกิดปัญหาทุจริตขึ้นแล้วจึงยากที่จะสาวไปถึงนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังได้ เหตุนี้เองการนำเรื่องในอดีตมาเขียนจึงหาหลักฐานยืนยันไม่ใคร่ได้ และทำให้เรื่องบางเรื่องที่มีผู้เขียนถึงนั้นอึมครึม ไม่รู้ที่มาที่ไปอย่างชัดเจน
ปัญหาที่สี่ก็คือ ผู้บริหารระดับสูงหลายคนนั้นแม้จะเกษียณไปแล้ว แต่ก็ยังต้องวนเวียนเป็นกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ดังนั้นจึงไม่มีเวลาที่จะนำประสบการณ์ของตนเองมาเขียน ครั้นพออายุมากยิ่งขึ้นก็ประสบความร่วงโรยทั้งร่างกายและสมองจนไม่สามารถเขียนอะไรได้อีก
ที่พูดมาทั้งหมดนี้ยังไม่เกี่ยวอะไรกับหนังสือ เล่าเรื่องสมมติในอดีต เล่มนี้เลยครับ เพียงแต่บ่นว่าเหตุใดจึงไม่มีคนเขียนเรื่องที่เป็นประโยชน์อย่างนี้ให้มาก ๆ เท่านั้น
เราท่านคงรู้จักแล้วว่า คุณอำนวย วีรวรรณ เป็นนักบริหารที่มีความสามารถมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศ เคยบริหารทั้งงานราชการจนเป็นถึงปลัดกระทรวง เคยบริหารงานอุตสาหกรรม บริหารงานธนาคาร และ เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้วย ดังนั้นการที่ท่านเขียนเรื่องนี้ขึ้นในวาระที่ท่านมีอายุครบ 72 ปี จึงเป็นหนังสือที่เราต้องอ่าน
ท่านได้กล่าวไว้ในบทนำว่าชีวิตของท่านนั้น ต้องตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ อยู่เสมอ หรือมีส่วนร่วมในการเสนอแนะข้อคิดเห็นเพื่อการตัดสินใจของผู้นำประเทศในเรื่องสำคัญ ๆ แต่ละเรื่องมักมีเบื้องหน้าเบื้องหลังนาสนใจและน่าศึกษา สิ่งเหล่านี้เป็นเกร็ดในชีวิตของผมที่ใคร่จะนำออกแจ้งไขให้ผู้อื่นทราบด้วยบนหลักการยึดมั่นอยู่ว่า จะไม่ระบุชื่อบุคคลถ้ากรณีใดนำมาซึ่งความเสียหายแก่ผู้เกี่ยวข้องและจะไม่เป็นการลบหลู่ผู้อื่น สำหรับผม บุญคุณเป็นสิ่งที่พึงจดจำและหาทางตอบแทน การใส่ร้ายทำลายศัตรูเป็นสิ่งที่พึงลืม ไม่นำมาเป็นความเคียดแค้น นั่นเป็นแนวคิดแบบเดียวกันกับที่เจ้าสัวชิน โสภณพนิช ได้เคยกล่าวไว้ดังที่ผมเคยอ่านมาว่า บุญคุณต้องทดแทน แค้นไม่ต้องชำระ
ส่วนเหตุผลที่ท่านตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า เล่าเรื่องสมมติในอดีต นั้น ท่านเล่าว่า คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เองบอกว่าชื่อนี้ดีแล้ว โดยยกคำอธิบายจากคำสอนของหลวงปู่พุทธอิสระ วัดอ้อน้อย นครปฐม ที่ว่า
ลูกรัก
จงใช้สมมติ
ยอมรับสมมติ
เคารพสมมติ
ให้เกียรติในสมมติ
สุดท้ายจงอย่ายึดติด
ในสิ่งที่เป็นสมมติ
นี่คือวิมุตติธรรม...
หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็นสี่ภาค ภาคที่ 1 สมมติว่าเป็น...วีรวรรณ กล่าวถึงประวัติของตัวท่านเองตั้งแต่เกิดจนกระทั่งจบปริญญาเอก ภาคที่ 2 สมมติว่าเป็น...ข้าแผ่นดิน กล่าวถึงการเริ่มทำงานรับราชการเป็นข้าราชการกระทรวงการคลัง เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ และไต่เต้าไปเป็นปลัดกระทรวงการคลังจนต้องเข้าพงหนามในสมัยรัฐบาลหอย ภาคที่ 3 สมมติว่าเป็น...มืออาชีพ กล่าวถึงงานเมื่อท่านยอมรับเป็นประธานบริษัทสหยูเนียน และ ธนาคารกรุงเทพ ภาคที่ 4 สมมติว่าเป็น...คนการเมือง กล่าวถึงการกลับมารับใช้ประเทศชาติในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และต่อมาในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จนต้องประสบกับพงหนามครั้งที่ 2 กว่าจะสามารถก้าวพ้นพงหนามได้ในที่สุด
หนังสือของคุณอำนวยเล่มนี้มีข้อคิดของท่านที่น่าเก็บมาพิจารณาศึกษามากมายแทบจะทุกหน้า สำหรับเบื้องหน้าเบื้องหลังของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ท่านต้องไปเกี่ยวข้องด้วยนั้นก็เป็นความรู้ที่เราควรศึกษาพิจารณาอีกมากทีเดียว ข้อที่น่าเสียดายก็คือท่านหยิบยกปัญหาทางด้านการบริหารงานบริษัทเอกชนมาเล่าน้อยไปสักหน่อย แต่ก็นั่นแหละ หากท่านจะหยิบทุกเรื่องมาเล่าให้ฟังก็คงได้หนังสือเล่มใหญ่หนาหลายพันหน้าทีเดียว ตรงนี้แหละครับที่ทำให้ต้องคิดกันว่า ทำอย่างไรประเทศไทยจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของท่านที่มีความสามารถอย่างนี้อีกมาก ๆ ไม่ใช่ปล่อยให้ประสบการณ์นั้นต้องมีอันสูญสลายไปในที่สุด
ผมจะไม่นำรายละเอียดของหนังสือมาเล่าในที่นี้หรอกครับ แต่จะขอนำข้อความบางตอนมาให้อ่านแล้วกลับไปคิด
ผมเห็นว่าการนั่งทับปัญหา หรือการไม่ตัดสินใจโดยปล่อยให้เป็นเรื่องของเวลาเป็นการบริหารที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรและส่วนรวม และเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งผู้มีอุดมการณ์ไม่พึงยอมรับ แต่ความกล้าตัดสินใจโดยคำนึงถึงเหตุผล ความถูกต้อง คุณธรรม และ ประโยชน์ส่วนรวม ก็มักจะมีผลอันตรายสู่ผู้บริหารเองได้ เราคงต้องยอมรับว่าศัตรูและความโกรธของคนเป็นภาระอันตรายของอาชีพ (Occupational Hazard) ที่ผู้บริหารพึงต้องยอมรับ (หน้า 293)
สำหรับผม ความหมายของการประชาสัมพันธ์คือการหาเพื่อนก่อนที่เราต้องการความช่วยเหลือจากเขา โดยเฉพาะในยามวิกฤติ ประเด็นสำคัญที่ต้องรับเป็นหลักการก่อนก็คือ การสร้างภาพพจน์ด้วยการประชาสัมพันธ์นั้นเป็นเรื่องที่ใช้เงินซื้อไม่ได้ ภาพพจน์ที่ถาวรต้องมีสาระในตัวเอง หรือต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงนั่นเอง (หน้า 194)
ผมคิดว่า คุณงามความดีของบุคคลเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่ถ้าเป็นคุณงามความดีที่ไม่มีขอบเขต หรือความดีที่ไม่กล้าขัดใจคน ย่อมอาจจะเป็นผลเสียต่อตนเองได้ (หน้า 222)
ปัญหาของคนในองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหาประโยชน์โดยมิชอบหรือเรื่องอื่นใด ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการลงโทษ แต่ต้องแก้ไขด้วยมาตรการป้องกัน แก้ที่ระบบ หรือแก้ที่ต้นเหตุ (หน้า 95)
อำนาจรัฐและอำนาจการเมืองนั้น มีมากมายล้นเหลือ สามารถกล่าวร้าย ป้ายความผิด และลงโทษผู้อื่นใดโดยไม่มีมูลก็ได้ สามารถปกป้องคุ้มครองผู้กระทำความผิดให้ไม่ต้องรับโทษก็ได้ การคานอำนาจรัฐหรืออำนาจการเมือง จึงมีความจำเป็นยิ่งในระบบการปกครอง (หน้า 131)
|