Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive

คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

Home
IT Idea for Spiritization

 

มีกรอบไม่มีเส้น
ชัยวัฒน์  สถาอานันท์
สำนักพิมพ์ สารคดี  พิมพ์ครั้งที่สอง  พ.ศ.
2547  หนา 164 หน้า

                ช่วงวันมาฆะบูชาเมื่อวันที่ 5 มีนาคมนี้  ผมไปหาซื้อหนังสือที่สนามหลวงบริเวณแถบหน้าศาลอาญาเดิม  ช่วงนั้นเขาจัดงานวันมาฆะบูชากัน งานมีขนาดเล็กกว่างานวันวิสาขบูชามาก  แต่กลับมีผู้มาจำหน่ายหนังสือธรรมะกันมากกว่าการจัดงานทุกครั้ง   ผมเลือกซื้อหนังสือพุทธศาสนาได้หลายเล่ม  และเมื่อเดินมาถึงร้านสำนักพิมพ์สารคดีก็ซื้อหนังสือเล่มนี้ติดมือกลับมาอ่านด้วย

                หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือพุทธศาสนา  และที่จริงก็ไม่ใช่หนังสือศาสนาแม้ว่าอาจารย์ ดร. ชัยวัฒน์  สถาอานันท์ จะเป็นชาวมุสลิมและบอกเล่าให้เราฟังถึงพิธีกรรมหลายอย่างเกี่ยวกับชาวมุสลิมไว้ในเล่ม

                ที่ผมต้องนำหนังสือเล่มนี้มาแนะนำ  ก็เพราะวิธีการเขียนของ อ. ชัยวัฒน์มีลักษณะที่พิเศษ หรือจะว่าเป็นเอกลักษณ์ส่วนตัวของ อ. ชัยวัฒน์เองก็ได้   นั่นก็คือเรื่องหลาย ๆ เรื่องในหนังสือเล่มนี้มีลักษณะแบบทวิลักษณ์   นั่นคือมักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนที่มีความแตกต่างในทางตรงกันข้ามกันสองคน  ความแตกต่างนี้มีทั้งทางด้านเชื้อชาติ  ความเป็นอยู่  และความคิด

                ตลอดชีวิตของพวกเราแต่ละคนนั้น  เชื่อว่าเราคงได้เห็น  ได้สัมผัส  ได้พูดคุย  กับคนที่มีลักษณะตรงกันข้ามในด้านใดด้านหนึ่งมาแล้วตลอดเวลา   แต่ความที่เรามีความโน้มเอียงที่จะชอบลักษณะด้านหนึ่งมากกว่าอีกด้านหนึ่งเราจึงอาจจะมองข้ามคนที่มีลักษณะในด้านตรงข้ามไป   ยกตัวอย่างเช่น  เราอาจจะชื่นชอบกับคนที่ก่อร่างสร้างตัวจนประสบความสำเร็จเป็นมหาเศรษฐีระดับโลกอย่างท่านนายกฯ ทักษิณ  เราก็จะฟังท่านพูดและอ่านหนังสือของท่าน (แน่นอนมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ชอบท่าน)   แต่กับคนที่พยายามก่อร่างสร้างตัวแต่ประสบความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าจนในที่สุดก็ต่อสู้กับอุปสรรคชีวิตไม่ไหวนั้น  เราก็มักจะไม่ได้คิดถึง  และไม่สนใจที่จะอ่านหรือฟังเรื่องของเขา   ผมเองก็สงสัยว่าหากคนเช่นนี้นำต้นฉบับหนังสือชื่อ “ชีวิตที่ล้มเหลวตลอดกาลของผม”  ไปเสนอขายสำนักพิมพ์   จะมีใครยอมลงทุนนำไปพิมพ์หรือไม่

                ที่น่าคิดก็คือ  หากสำนักพิมพ์ยอมพิมพ์ขาย  แล้วกลับขายดีมาก  หนังสือชื่อที่กล่าวมานี้ก็ไม่ได้สะท้อนความจริงเสียแล้ว  เพราะกลายเป็นเรื่องโกหกไป

                ย้อนกลับมาที่ อ. ชัยวัฒน์ใหม่อีกครั้ง   ผมได้เห็นพลังความสามารถในการสังเกต และ การนำสิ่งที่สังเกตพบมาเขียนอย่างน่าอ่านมาก  ปกในของหนังสือเล่มนี้ได้โปรยว่า “เพราะถูกสอนให้มองดูโลกด้วยอัศจรรย์ตั้งแต่เล็กในครอบครัวมุสลิม จึงเห็นอะไรต่าง ๆ รอบตัว  ทั้งโลกและผู้คนน่าสนใจ น่าเก็บมาคิด มาเล่าให้เพื่อน ๆ ได้ฟังได้คิดต่อไปด้วย  เชื่อมโยงสิ่งละอันพันละน้อยเข้ากับความหมายของโลกและจักรวาลที่ไพศาล”

                นอกจากจะได้อ่านเรื่องความคิดของ อ.ชัยวัฒน์ ซึ่งท่านได้ตั้งสมญาตัวเองว่าเป็น “นักเดินทาง” แล้ว  เรายังจะได้สัมผัสกับรูปแบบของภาษาที่สละสลวย  เชิญชวนให้คิด  และมีพลังมาก  สมควรเป็นแบบอย่างให้ผู้สนใจอยากเขียนหนังสือนำมาวิเคราะห์และใช้เป็นแบบอย่างได้

 

Back