Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive

คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

 

Home
IT Idea for Spiritization

 

เถระประวัติ พระอรหันต์จี้กง
ทพ. บัญชา สิริไกร แปล
สมาคมเผยแผ่คุณธรรม “ เต๊กก่า” จีจินเกาะ พ.ศ. ๒๕๔๗

      ผมได้หนังสือนี้มาจากงานมาฆบูชา ที่ท้องสนามหลวง ปี ๒๕๔๗ หนังสือนี้ ทพ. บัญชา ได้แปลมาจากหนังสือภาษาจีนที่ลงพิมพ์ในนิตยสารทางธรรมะที่ออกโดยสมาคมเซิ้งเต๋อ เมืองไถจง ไต้หวัน ความพิเศษของหนังสือนี้ก็คือ นอกจากมีประวัติแล้วตอนท้ายของแต่ละตอน ยังมีข้อความซึ่งท่านเจ้าของประวัติได้ประทับทรงและอธิบายรายละเอียดให้ผู้อ่านเข้าใจด้วย ต้นฉบับภาษาจีนนั้นตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๒๕ ส่วนทพ. บัญชา ได้แปลเมื่อปี ๒๕๓๔ แต่ฉบับนี้พิมพ์เมื่อปี ๒๕๔๖ พระอรหันต์จี้กง หรือ พระอาจารย์เต้าจี้ เป็นพระเถระในสมัยราชวงศ์ซ้อง เกิดในปีที่ ๑๘ ของรัชสมัยเสี่ยวซิ่ง ตรงกับ ค.ศ. ๑๑๔๘ ณ อำเภอเทียนไถ จังหวัดหลินอัน มณฑลเจ๋อเจียง เชื่อกันว่าท่านเป็นนิรมาณกายของพระอรหันต์ที่บันดาลให้เกิดความเคลื่อนไหวท่ามกลางความสงบเงียบ ท่านเป็นบุตรของขุนนางตระกูลหลี่ ในวันที่ถือกำเนิดได้มีนิมิตปรากฏเป็นรังสีแสงสีแดงทั่วทั้งบ้าน จึงได้นามว่า ซิวหยวน ท่านเป็นผู้ที่มีลักษณะงาม มีกิริยาอาการสำรวม อีกทั้งยังฉลาดเฉลียวและสุภาพ มีความสามารถในการประพันธ์กาพย์กลอนมาแต่เล็ก เมื่ออายุ ๑๘ ปี ได้บรรพชาอุปสมบท ณ อารามหลิงอิ่นซือ มีพระอาจารย์ ฝอ ไห่ เหยี่ยน เป็นอุปัชฌาย์ ได้รับการถ่ายทอดรหัสนัยแห่งนิกายเซ็น จนบรรลุเข้าสู่ธรรมวิถี นับเป็นอาจารย์เซ็นสำนักหนานเหวี่ยรุ่นที่ ๑๖ หลังจากที่ก้าวพ้นโลกียวิสัย มีปัญญาสะอาดใส แต่แสร้งทำเป็นบ้าใบ้ สวมใส่จีวรปุปะ ชมชอบฉันเหล้าและเนื้อ เดินยิ้มเยาะไปตามถนน ผู้คนต่างรู้จัก ท่านทำตัวเพี้ยนเพื่อช่วยเหลือมนุษย์โลก จวบจนท่านละสังขารเมื่ออายุ ๖๐ ปี

ในหนังสือเล่มนี้ คุณธำรง ปัทมภาส ได้ถอดความโศลกสุดท้ายของท่านไว้ดังนี้

หกสิบปีเปะปะไปตามทาง
ออกสู่ตกก้าวย่างหว่างวิถี
มาบัดนี้หวนคืนกลับจักจรลี
ตามนทีสายเก่าก่อนสู่ฟ้าคราม
ส่วน ทพ. บัญชา ได้ถอดความตอนนี้ว่า
หกสิบปีฝากไว้แต่อีเหละเขะขะ
จากตะวันตกถึงตะวันออกวุ่นวายไป
หากวันนี้จักต้องเก็บกลับคืนไป
คงเหลือไว้น้ำจรดฟ้าสีครามดั่งเดิม

ความจริงแล้วเมื่อปี ๒๕๓๗ คุณชนะ คำมงคล (มงคลคำนวณเขตต์) ได้เคยแปลชีวประวัติของท่านจี้กงเอาไว้ครั้งหนึ่งแล้ว มีชื่อเป็นภาษาไทยว่า นมัสการสักหนึ่งจอก พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ปัจเจกชน โดยแปลจากต้นฉบับชื่อ Drunken Buddha เขียนโดย Ian Fairweather คุณชนะได้แปลข้อความนี้ว่า

ท่องในโลกหกสิบปี
กาลเวลาจาริกจากทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตก
ข้า บัดนี้ กลับคืนสู่การพักผ่อนนิรันดร์
ณ ดินแดนแห่งทะเลสาบและท้องฟ้าสีคราม

ผมไม่มีต้นฉบับของ Ian Fairweather จึงไม่ทราบว่าภาษาอังกฤษเขียนตอนนี้ว่าอย่างไร และ ยิ่งไม่ทราบใหญ่ว่าภาษาจีนเขียนโศลกตอนนี้ว่าอย่างไร

เมื่ออ่านทั้งสองเล่มเทียบกันแล้ว ผมเห็นว่าคำแปลทั้งเล่มของ ทพ. บัญชา นั้นอ่านยากกว่าของคุณชนะ แต่มีรายละเอียดเพิ่มเติมที่ทำให้เข้าใจความคิดของท่านจี้กงได้ดีกว่า เพราะการกระทำทั้งหมดของท่านนั้นมีลักษณะเป็นสัญลักษณ์ทางเซ็นที่จะต้องตีความค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงสุดท้ายของชีวิตท่านนั้น ท่านมีปัญหาเรื่องท้องร่วง ต่อจากนั้น ท่านก็ขอให้ลูกศิษย์โกนผม และขอจีวรใหม่มาสวม ในคำอธิบายตอนประทับทรงนั้น ท่านกล่าวว่า

  • เดินจนเหนื่อยดื่มจนเบื่อ ก็ควรหยุดพักแล้ว ทิ้งร่องรอยอีเหละเขะขะไว้นานถึงหลายสิบปี อวตารเป็นภิกษุ ท่องเที่ยวทั่วแผ่นดิน สรรพวัตถุแม้จะโอบล้อมอาตมา ๆ ก็ไม่ติดยึดในสรรพสิ่ง อาตมาไป อาตมาบริสุทธิ์ รู้สึกเบาสบาย นี่คือ “ การบำเพ็ญอันยิ่งใหญ่” การออกบวชทุกข์มีทุกข์พูดไม่ออก เก็บไว้ในใจมืดมนไปหมด แล้วจะพบตนเองแท้จริงได้อย่างไร ไม่น้อยทีเดียวที่ผู้ออกบวชได้รับโรคชนิดนี้ พวกเขาก็ไม่มีอภิญญา จึงได้แต่จำวัดไปอย่างยากลำบาก หมดชีวิตไป มีหลายคนที่ไม่ชินต่อพฤติกรรมของอาตมา ด่าว่าอาตมาเป็นส่วนน่ารังเกียจของสงฆ์ หารู้ไม่ว่านั้นเป็นหน้าตาที่แท้จริง ดีกว่าปากท่อง นะโม
  • เกลือกกลั้วกับฝุ่นตม ก่อนตายโกนทิ้งให้สะอาด จะได้พบกับบรรพบุรุษแห่งพุทธะ ไม่ต้องรอจนหมดลมหายใจ ศพจึงถูกชำระล้าง ล้างกระดูกที่แข็งทื่อมีประโยชน์อันใด ธรรมะต้องบำเพ็ญก่อนตาย อย่ารอให้ตายแล้วค่อยทำบุญให้ซากศพ ถามมันมันก็ไม่รู้
  • ยืมรองเท้าเจ้าอาวาสไป เมื่อข้ามสะพานสวรรค์แล้ว รองเท้าคู่ที่ข้ามเรือส่งกลับคืนท่านตอนมีชีวิตอยู่ ท้องบรรจุไปด้วยของสกปรก จึงต้องถ่ายเสียให้หมด ส่งคืนให้หมด ตอนมาก็ว่างเปล่าไม่มีสักสิ่ง ตอนไปเรื่องอะไรจะแบกให้เหนื่อย ฝากไฟช่วยเผาให้หมด...”

ชีวประวัติของท่านจี้กงเป็นอย่างไร มีความพิสดารอย่างไรนั้น ผมจะไม่ขอสรุปในที่นี้ แต่อยากจะเชิญชวนให้เพื่อนฝูงลองหาหนังสือประวัติของท่านมาอ่าน แล้วจะเกิดปัญญาทางธรรมมากขึ้น

 

Back