ความก้าวหน้าของระบบอินเทอร์เน็ตและพัฒนาการของเวิลด์ไวด์เว็บในรอบทศวรรษที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่วงการต่าง ๆ อย่างมากมาย บริษัทและหน่วยงานจำนวนมากสามารถใช้ระบบอินเทอร์เน็ตติดต่อสื่อสารและส่งข้อมูลระหว่างสำนักงานย่อยต่าง ๆ ทั่วประเทศหรือทั่วโลกได้อย่างสะดวก และสามารถจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อส่งรายงานให้ผู้บริหารที่อยู่ตามสำนักงานย่อยได้อย่างรวดเร็วด้วย บางบริษัทใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางการขายสินค้าและบริการทั่วโลก อาจารย์ในสถาบันการศึกษาหลายแห่งใช้ระบบอินเทอร์เน็ตในการส่งโจทย์การบ้านให้นักเรียนนักศึกษา และใช้สำหรับนำเสนอวิธีการสอนแบบใหม่ที่เรียกว่า อีเลิรนนิง (e-learning) ซึ่งเป็นวิธีการสอนที่สร้างห้องเรียนเสมือนจริงไว้ในระบบอินเทอร์เน็ต และให้ผู้เรียนเข้ามาศึกษาบทเรียนที่จัดทำไว้จากที่ไหนก็ได้บนโลก และ เรียนเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เรียนยังสามารถติดต่อสื่อสารกับอาจารย์และเพื่อนร่วมเรียนได้เช่นเดียวกับการเรียนในห้องเรียนจริง
ปัจจุบันนี้ระบบอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำวิจัยด้านการศึกษา เราอาจสรุปประโยชน์สำคัญ ๆ ของระบบอินเทอร์เน็ตได้ดังต่อไปนี้
- เป็นแหล่งให้ความรู้เกี่ยวกับการทำวิจัยด้านการศึกษา ปัจจุบันนี้สถาบันและหน่วยงานหลายแห่งได้นำบทความแนะนำการทำวิจัยด้านการศึกษามาจัดเก็บไว้ในรูปแบบเอกสารหลายมิติ (hypertext) สำหรับสืบค้นผ่านเวิลด์ไวด์เว็บได้
- เป็นแหล่งรวมบทความวิจัยด้านการศึกษา การทำวิจัยนั้นจะได้ประโยชน์จริงจังต่อเมื่อนักวิจัยพยายามสร้างผลงานวิจัยต่อจากของคนอื่น หากนักวิจัยทุกคนทำวิจัยเฉพาะเรื่องที่มีคนทำวิจัยเสร็จแล้วก็จะเป็นการเสียเวลาเปล่าและจะไม่ได้รับความรู้เพิ่มเติม แต่ถ้าหากศึกษาผลงานวิจัยของผู้อื่นแล้วพยายามคิดสร้างผลงานวิจัยต่อออกไปก็จะทำให้งานวิจัยมีความกว้างขวางและลึกซึ้งมากขึ้น นักวิจัยจะทำเช่นนี้ได้ดีก็ต่อเมื่อสามารถเข้าถึงหรือรับทราบผลงานวิจัยร่วมสมัยของผู้อื่นได้เสมอ ปัจจุบันสถาบันการศึกษาหลายแห่งได้นำเอาบทคัดย่อวิทยานิพนธ์ วิทยานิพนธ์ และ บทความวิชาการของอาจารย์และนักวิจัยมาจัดเก็บลงในเว็บไซต์เพื่อให้ผู้สนใจอ่าน นักวิจัยควรสนใจสืบค้นบทความเหล่านี้มาอ่านเพื่อให้ความรู้ของตนกว้างขวางขึ้นและเพื่อให้สามารถพิจารณาแนวทางสร้างผลงานวิจัยสืบต่อออกไปจากผลงานเดิมได้ อย่างไรก็ตามพึงทราบด้วยว่าบทความวิจัยที่อยู่ในระบบอินเทอร์เน็ตนั้นมีอยู่สองประเภท ประเภทหนึ่งคือบทความที่เว็บไซต์อนุญาตให้ผู้อ่านทั่วไปอ่านได้โดยไม่คิดเงิน และอีกประเภทหนึ่งคือบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ หรือ จัดเก็บในเว็บไซต์ซึ่งอนุญาตให้อ่านได้เฉพาะสมาชิกที่ชำระเงินแล้วเท่านั้น นอกจากนั้น นักวิจัยควรทราบด้วยว่าบทความที่อยู่ในอินเทอร์เน็ตนั้นอาจจะไม่ได้มีคุณภาพ หรือน่าเชื่อถือได้ทุกเรื่อง เพราะนักวิจัยบางท่านเขียนบทความแล้วก็นำเสนอในเว็บเลย ไม่มีมิตรสหายช่วยอ่านทบทวน (Peer Review) ด้วยเหตุนี้เองเนื้อหาสาระบางตอนจึงอาจจะไม่ถูกต้องได้ (บทความที่ผู้เขียนนำเสนอ อย่างเช่นบทความนี้ก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน) ดังนั้นผู้ใช้บทความจากเว็บต่าง ๆ จะต้องรู้จักพิจารณาเองว่าบทความที่อ่านพบนั้นน่าเชื่อถือ และจะนำมาอ้างอิงได้หรือไม่
- เป็นแหล่งค้นหาข้อมูลพื้นฐานการศึกษาต่าง ๆ ปัจจุบันสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ได้นำข้อมูลพื้นฐานของตนมาจัดเก็บไว้ในเว็บไซต์เพื่อให้ผู้สนใจสืบค้นไปศึกษาหรือใช้งานได้ อาทิ ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กร นโยบาย วิสัยทัศน์ ระเบียบ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ฯลฯ ในอดีตเป็นเรื่องยากมากที่เราจะค้นคว้าหาข้อมูลเหล่านี้มาศึกษา เช่น หากต้องการทราบว่านโยบายว่าด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เป็นอย่างไร เราจะต้องเขียนจดหมายไปขอข้อมูลเหล่านี้จากสถาบันเหล่านั้น ซึ่งก็อาจจะได้รับคำตอบจากสถาบันเพียงบางแห่งเท่านั้น บางแห่งขอไปแล้วเขาก็ไม่ตอบ แต่ปัจจุบันนี้เราอาจค้นหานโยบายดังกล่าวได้ในระบบอินเทอร์เน็ตโดยสะดวกรวดเร็วและประหยัด
- เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารกับนักวิจัยด้วยกัน โดยเฉพาะในการปรึกษาหารือเกี่ยวกับกระบวนการทำวิจัย การร่วมกันทำวิจัย การเขียนผลงานวิจัยร่วมกัน ประโยชน์ส่วนนี้เกิดกับนักวิจัยที่ทำงานร่วมกันใกล้ชิด นักวิจัยที่อยู่วงนอกอาจจะสื่อสารกับนักวิจัยท่านอื่น ๆ ได้เหมือนกัน แต่ควรติดต่อด้วยโทรศัพท์ก่อน เพราะเวลานี้มีผู้ส่งอีเมลมารบกวนหรือที่ติดไวรัสมาให้เป็นจำนวนมาก นักวิจัยบางท่านอาจจะกลั่นกรองและลบอีเมลที่ส่งมาจากผู้ที่ท่านไม่รู้จักออกไป ทำให้เราติดต่อท่านไม่ได้
- เป็นเครื่องมือสำหรับการบันทึกผลการทำวิจัยในขั้นตอนต่าง ๆ โดยการจัดทำเว็บไซต์ส่วนตัวเพื่อจัดเก็บข้อมูล บทความวิชาการ และเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่จะต้องอ้างอิงในการทำวิจัย เว็บไซต์ส่วนตัวจะทำให้นักวิจัยสามารถทำงานได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำหรับสื่อสารผลงานให้ผู้ร่วมงานวิจัยหรือนักวิจัยอื่น ๆ รับทราบหรือวิพากษ์วิจารณ์กลับมาให้
วิธีการสืบค้นข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
หัวใจของการทำวิจัยด้วยระบบอินเทอร์เน็ตก็คือการสืบค้นข้อมูลที่ต้องการซึ่งอาจจัดเก็บอยู่ในเว็บไซต์ของสถาบัน บริษัท หรือหน่วยงาน หรืออาจจะอยู่ในเว็บไซต์ส่วนตัวของนักวิชาการบางคนก็ได้ โดยทั่วไปแล้วการสืบค้นข้อมูลที่จัดเก็บในเว็บไซต์ใด ๆ จะต้องทราบชื่อเว็บไซต์นั้นเพื่อให้โปรแกรมเบราเซอร์ตรงไปนำข้อความหลายมิติในเว็บไซต์นั้นขึ้นมาแสดงบนจอภาพ โดยปกติแล้วนักวิจัยควรสืบเสาะค้นหาชื่อเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาวิชาการที่น่าเชื่อถือทั้งของไทยและต่างประเทศ แล้วนำมาบันทึกเก็บไว้สำหรับค้นหา เว็บไซต์ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ของมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย องค์การของรัฐ และ สมาคมวิชาชีพ หากเราทราบชื่อเว็บไซต์เหล่านี้แล้วเราก็จะตรงเข้าไปค้นหาเนื้อหาวิชาการที่ต้องการได้ทันที
ตัวอย่างเว็บไซต์ที่น่าสนใจได้แก่
www.chula.ac.th เว็บไซต์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
www.ku.ac.th เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
www.onec.go.th เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
ในที่นี้จะยกตัวอย่างเช่นถ้าหากเราต้องการเข้าไปศึกษาเอกสารและข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเว็บไซต์ของสำนักงานนี้คือ www.onec.go.th เมื่อเราป้อนชื่อเว็บไซต์นี้เข้าไปในโปรแกรม Internet Explorer เราจะได้เห็นภาพเว็บหน้าแรกของสำนักงาน เมื่อเราอ่านหัวข้อของข่าวสารต่าง ๆ ที่สำนักงานจัดทำขึ้นและคลิกไปยังหัวข้อการวิจัย ก็จะเห็นภาพหน้าเว็บที่แสดงกรอบสำหรับให้ผู้ใช้ค้นหาเอกสารการวิจัยที่ต้องการได้
ถ้าหากเราไม่ทราบว่าจะค้นหาเอกสารอะไร เราอาจต้องการทราบว่าสำนักงานได้เก็บเอกสารแนะนำการวิจัยอะไรไว้บ้าง ก็อาจขอให้แสดงรายชื่อเอกสารทั้งหมดออกมาได้
หลังจากนั้นหากเราต้องการอ่านเอกสารเรื่องใดก็สามารถเลือกคลิกที่ชื่อเอกสารนั้น คอมพิวเตอร์จะนำเอกสารที่จัดเตรียมไว้มาแสดง
ในกรณีที่เราไม่ทราบชื่อเว็บไซต์ เราอาจจะค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้สองวิธี วิธีหนึ่งคือเข้าไปที่เว็บไซต์ของเสิรช เอนจิน (Search Engine) ที่มีระบบสืบค้นเว็บไซต์ต่าง ๆ ว่าจัดเก็บข้อมูลอะไรบ้าง แล้วนำรายละเอียดมาจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อเพื่อแสดงไว้เป็นหมวดหมู่ เมื่อเราต้องการค้นเรื่องที่ต้องการจากเสิรชเอนจินเหล่านี้ เราจะต้องระบุชื่อเสิรชเอนจินให้โปรแกรมเบราเซอร์เข้าไปที่เว็บไซต์ของเสริชเอนจินก่อน ต่อจากนั้นจึงค่อยตรวจสอบบัญชีรายชื่อเนื้อหาที่ต้องการ แล้วคลิกเลือกค้นต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้เนื้อหาที่ต้องการ เสิรชเอนจินประเภทนี้มีทั้งของไทยและต่างประเทศ ชื่อเสิรช เอนจินที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้
www.yahoo.com
www.altavista.com
www.google.com
www.siamguru.com
วิธีค้นแบบที่สองก็คือ ใช้เสิรชเอนจินสำหรับค้นหาเว็บอื่น ๆ หรือบทความที่น่าสนใจโดยให้ผู้ใช้กำหนดคำสำคัญที่ตรงกับเรื่องที่ต้องการค้นคืน อย่างไรก็ตามคำตอบที่ได้มามักจะมีจำนวนมาก นั่นคือมีเว็บหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับ education หลายล้านแห่ง ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องค้นให้ลึกลงไป โดยกำหนดคำสำคัญที่ละเอียดขึ้น รวมทั้งกำหนดลักษณะของคำตอบเช่นต้องการเอกสารที่เป็นรูปแบบ pdf หรือ ppt โดยวิธีนี้เราก็จะได้รับผลลัพธ์ที่จำนวนลดน้อยลง
ไม่ว่าเราจะต้องการค้นให้ลึกลงไปหรือไม่ หากเราเห็นชื่อเว็บไซต์และรายละเอียด(ย่อ ๆ) ที่เสิรชเอนจินแสดงให้อ่านแล้ว เรามีความสนใจในเรื่องนั้น หรือเว็บนั้น เราก็อาจจะใช้เมาส์คลิกไปที่เว็บนั้นเพื่ออ่านเนื้อหาต่าง ๆ ที่บรรจุอยู่ในเว็บนั้นได้ อย่างไรก็ตามอาจจะเป็นไปได้เหมือนกันที่คลิกไปแล้วไม่สามารถจะเรียกเนื้อหามาอ่านได้เพราะเว็บไซต์นั้นถูกเคลื่อนย้ายไปแล้ว หรือ เจ้าของเว็บไซต์ไม่ได้เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เก็บเว็บไซต์นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลารออ่าน ควรข้ามไปอ่านเนื้อหาในเว็บอื่น ๆ ต่อไปเลย
ความรู้เกี่ยวกับการสืบค้นข้อมูลที่ต้องการจากระบบอินเทอร์เน็ตนั้นมีความสำคัญมาก และนักวิจัยในยุคปัจจุบันต้องรู้จักวิธีที่จะสืบค้น มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากระบบอินเทอร์เน็ตได้มากเท่าที่ควร รายละเอียดที่นำมาเล่าในที่นี้เป็นเพียงขั้นต้นสำหรับใช้งานทั่วไปเท่านั้น นักวิจัยควรพิจารณาว่าตนเองชอบใช้เสิรชเอนจินแบบใดมากที่สุด หรือแบบใดมีเนื้อหาให้มากที่สุด จากนั้นก็ศึกษาการใช้เสิรชเอนจินนั้นให้ชัดเจนและฝึกใช้ให้ชำนาญ เช่นนี้ก็จะทำให้ใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวทางการทำวิจัยโดยใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ
นักวิจัยสาขาต่าง ๆ เวลานี้ได้หันมาใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือช่วยในการทำวิจัยกันมากขึ้น อย่างไรก็ตามการที่จะใช้ระบบอินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ในงานวิจัยได้อย่างเต็มที่นั้น นักวิจัยควรใช้ขั้นตอนต่อไปนี้
ก. ศึกษาหัวข้องานวิจัยให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจน นักวิจัยต้องทราบว่าต้องการจะค้นคว้าหาความรู้อะไร มีสมมุติฐานอะไร จะพิสูจน์สมมุติฐานได้อย่างไร งานวิจัยที่จะทำนั้นมีขั้นตอนในการวิจัย หรือการพิสูจน์สมมุติฐานอย่างไร การทำความเข้าใจนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้นักวิจัยตัดสินใจได้ว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากระบบอินเทอร์เน็ตได้ในทางใดบ้าง
ข. กำหนดกลยุทธ์หรือแนวทางในการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อสนับสนุนการทำวิจัย นั่นคือกำหนดว่าจะใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการค้นหาเอกสารวรรณกรรมวิจัย ใช้ค้นหาข้อมูลที่ต้องนำมาใช้ประกอบการวิจัย ใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารแบบสอบถามงานวิจัย ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการประมวลผล หรือใช้สำหรับการเผยแพร่ผลงานวิจัย
ค. ศึกษาเอกสาร บทความ และวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับหัวข้องานวิจัย ได้กล่าวมาแล้วว่านักวิจัยควรสร้างผลงานวิจัยสืบต่อจากผู้อื่น ดังนั้นงานใช้อินเทอร์เน็ตแรกสุดจึงควรเป็นการค้นหาเอกสารวรรณกรรมต่าง ๆ มาศึกษา โดยนักวิจัยจะต้องรู้วิธีสืบค้นหาเอกสารในระบบอินเทอร์เน็ต จากนั้นจึงนำเอกสารมาศึกษาและเรียบเรียงให้เห็นความคลี่คลายของการวิจัยและผลการวิจัยเป็นลำดับมาจนกระทั่งถึงประเด็นหัวข้อที่กำลังทำวิจัยอยู่
ง. ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือทำวิจัยตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้ เช่น จะใช้ค้นหาข้อมูลที่เป็นวัตถุดิบสำหรับทำวิจัย หรือจะใช้ในการส่งแบบสอบถามและรับคำตอบ หรือจะใช้ในการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง ฯลฯ
จ. ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสื่อสารกับนักวิจัยอื่น ๆ หรือในกรณีที่เป็นนักวิจัยยังเป็นนักศึกษาอยู่ก็อาจต้องการใช้อินเทอร์เน็ตในการสื่อสารกับอาจารย์ที่ปรึกษาผ่านทางระบบไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งใช้อินเทอร์เน็ตในการเผยแพร่ผลงานวิจัยด้วย เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับนักวิจัยหน้าใหม่ก็คือการพิจารณาตรวจสอบวิธีการวิจัย และสรุปผลวิจัย เพราะนักวิจัยอาจจะทำผิดพลาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น กำหนดสมมติฐานผิดพลาด กำหนดวิธีการสอบถาม หรือการทดลองผิดพลาด ไปจนถึงการเขียนข้อสรุปผิดพลาด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ นักวิจัยควรจะผูกมิตรหรือขอความช่วยเหลือจากนักวิจัยอาวุโสเพื่อขอให้ท่านช่วยเหลือผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หากไม่เหลือบ่ากว่าแรงหรือใช้เวลามากนัก ท่านเหล่านี้ก็มักจะยินดีช่วยเหลือ
การทำวิจัยโดยใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสนับสนุนนี้ได้เปิดโอกาสให้นักวิจัยสามารถทำงานวิจัยได้อย่างกว้างขวางมากกว่าในอดีต นักวิจัยที่อยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศสามารถทำวิจัยโดยอาศัยระบบอินเทอร์เน็ตได้ดีเท่าเทียมกับนักวิจัยในกรุงเทพมหานคร หรือแม้แต่เท่ากับนักวิจัยที่อยู่ในนครลอนดอน นิวยอร์ค หรือโตเกียว แต่ที่สำคัญก็คือนักวิจัยที่ใช้อินเทอร์เน็ตนั้นควรจะเชี่ยวชาญในภาษาอังกฤษเพราะบทความวิชาการที่เผยแพร่ในระบบอินเทอร์เน็ตนั้นส่วนมากใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ นอกจากนั้นนักวิจัยควรมีรายชื่อของนักวิชาการ นักวิจัย หรืออาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่ตนต้องการติดต่อด้วยรวมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับติดต่อด้วย จะทำให้การทำวิจัยสะดวกมากขึ้น