A-Z ภาษาวิทยาศาสตร์
ดร. ชัยวัฒน์ คุประตกุล
สำนักพิมพ์สารคดี 2545 หนา 210 หน้า 140 บาท
ดร. ชัยวัฒน์ มีผลงานเขียนและงานพูดทางวิทยาศาสตร์มากจนเป็นที่ยกย่องกันว่าเป็น อสิมอฟของเมืองไทยเลยทีเดียว งานเขียนเรื่องนี้เป็นที่รวมของทฤษฎีและแนวคิดสำคัญ ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่นำมาย่อ ๆ ไว้อย่างน่าอ่าน
ผมชอบหนังสือทำนองนี้เพราะอ่านได้เนื้อความเร็วไม่ยืดยาด ว่างสักสองสามนาทีเมื่อใดก็หยิบมาอ่านได้ทันที แน่นอนครับเนื้อหาแบบนี้เหมาะกับคนที่รู้เรื่องวิทยาศาสตร์มาบ้างแล้วแต่ต้องการรู้จักเรื่องใหม่ ๆ เพิ่มเติมโดยไม่ต้องการอ่านคำอธิบายมากนัก ส่วนคนที่ไม่ใคร่ได้ติดตามวิทยาศาสตร์มาก่อนก็คงจะเข้าใจยากสักหน่อย
คำที่ ดร. ชัยวัฒน์เก็บมาอธิบายนั้นมีอยู่ 46 คำด้วยกัน บางคำเราได้ยินบ่อย ๆ เช่น Atom, Cloning, Dinosaur, Galaxy, Gravity, Uranium แต่ละคำนั้น ดร. ชัยวัฒน์ได้นำคำมาอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ให้เข้าใจละเอียดมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Cloning ซึ่งเราได้อ่านข่าวเกี่ยวกับการวิจัยทางด้านนี้บ่อย ๆ และมักจะทับศัพท์ว่า โคลนนิง โดยบางคนแปลด้วยซ้ำว่าเป็นการก็อปปีสิ่งมีชีวิต แต่ดร.ชัยวัฒน์ให้ความหมายที่ถูกต้องว่าคือ การสืบพันธุ์หรือแพร่พันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ
มีอีกหลายคำที่เราอาจไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย ยกตัวอย่างคำแรกคือ Albedo อัลบีโด หรือค่าการสะท้อนกลับของดาวเคราะห์ หรือดาวที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง Cryogenics ศาสตร์ของความเย็นจัดซึ่งเป็นวิชาการที่มีประโยชน์อย่างมากในแบบที่เราไม่ได้คาดคิดมาก่อน เช่นการใช้ในการสร้างคอมพิวเตอร์ความเร็วสูง หรือในการแช่แข็งอวัยวะมนุษย์ หรือแม้แต่มนุษย์เอง คำนี้ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติศัพท์ว่า อติสีตศาสตร์ หรือวิชาความเย็นยวดยิ่ง แต่ดร. ชัยวัฒน์ไม่ได้นำมากล่าวถึง
คำอื่น ๆ ที่น่าสนใจยังมีอีกมากและบางคำอาจไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยเช่น Oort Cloud, Tachyon, Torino Scale ผู้สนใจโดยเฉพาะอาจารย์วิทยาศาสตร์ทุกระดับควรมีหนังสือเล่มนี้ไว้อ้างอิง หรือจะใช้เป็นตัวอย่างสำหรับการเขียนด้วยก็ได้ เพราะดร.ชัยวัฒน์มีฝีมือการเขียนที่เยี่ยมยอดอยู่แล้ว