Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

Home
IT Idea for Spiritization

เมกะโปรเจ็กต์ด้านบุคลากร

ดร. ครรชิต มาลัยวงศ์

        คนของผมลาออกไปอีกแล้ว

        นั่นไม่ใช่คำร้องของผมหรอกครับ แต่เป็นคำร้องของใครต่อใครหลายคนที่ผมได้ยินได้ฟังอยู่บ่อย ๆ ในระยะนี้ บริษัทหลายแห่งที่ผมให้คำปรึกษาด้านการปรับปรุงคุณภาพของกระบวนการทำงานอยู่ในขณะนี้ ล้วนประสบปัญหานี้แทบทั้งนั้น ผลก็คืองานที่กำลังเดินไปได้ดี ต้องหยุดชะงัก และถอยกลับมาตั้งต้นกันใหม่

        นี่ยังไม่รวมบริษัทที่เกิดปัญหาเพราะพนักงานมีอันเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคภัยไข้เจ็บ และ อุบัติเหตุนะครับ

        เหตุการณ์ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้เป็นเรื่องของความเสี่ยงที่ผู้บริหารจะต้องคาดคะเนไว้ล่วงหน้าแล้ว และต้องพิจารณาหาช่องทางในการลดผลกระทบของปัญหานี้เอาไว้ด้วยเช่นกัน

        ทุกวันนี้เราต้องให้ความสนใจต่อเรื่องความเสี่ยงมากขึ้น เพราะเหตุการณ์ทั่วโลกมีความแปรปรวนมากทั้งทางด้านเศรษฐกิจ, การเมือง, การก่อการร้าย, ราคาน้ำมัน, ไปจนถึง เรื่องของภัยพิบัติธรรมชาติ ถ้าเราไม่ได้เตรียมการไว้ก่อนและเกิดปัญหาขึ้น ผลกระทบจะมีมากจนเรารับมือไม่อยู่ครับ

        ความเสี่ยงเรื่องของคนนั้น แนะนำง่าย แต่ในทางปฏิบัติแล้วเตรียมการรับมือปัญหาต่าง ๆ ได้ยากมากทีเดียวครับ

        คำแนะนำง่าย ๆ แบบกำปั้นทุบดินก็คือ รับพนักงานให้มากเข้าไว้ แต่เมื่อรับเข้ามาหลายคนก็เป็นค่าใช้จ่ายอีกมาก ไหนจะเงินเดือน, ไหนจะต้องมีที่ให้นั่งทำงาน, ไหนจะต้องมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครื่องมือต่าง ๆ รวมแล้วต้องจ่ายเงินเพิ่มมิใช่น้อย

        ที่สำคัญก็คือ ถึงเราอยากจะรับเพิ่ม ก็ใช่ว่าจะหาเพิ่มได้ง่าย ๆ เสียเมื่อไหร่ เพราะเป็นที่รู้ ๆ กันอยู่ว่าบัณฑิตที่มีคุณภาพนั้นหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรเสียอีก

        เรื่องการพัฒนาบัณฑิตไทยให้มีคุณภาพนั้นผมเองก็เป็นห่วงประเทศชาติครับ เพราะถ้าบัณฑิตไทยในภาพรวมมีความสามารถเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้แล้วละก็ อย่าไปหวังแข่งกับประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยกันอย่างฟิลิปปินส์ หรือ อินโดนีเซียเลยครับ และอย่าหวังว่าความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยจะเพิ่มมากขึ้น ผมคิดว่าอันดับความสามารถของเราจะตกลงไปปีละหลายระดับ และไม่ช้าก็คงจะอยู่อันดับสุดท้ายของรายการ

        ผมยังไม่เห็นผู้บริหารประเทศคนไหนเลยที่สนใจพัฒนาคุณภาพของคนไทย ในทางการเมืองการปกครองนั้น เราคงต้องมองไปที่นายกรัฐมนตรี แต่ท่านก็มัวแต่บ่นเรื่องสติปัญญาของนักข่าวที่เขียนข่าวไม่ค่อยถูกใจท่าน ผมจึงอยากเสนอท่านว่าท่านจะต้องหันมาสนใจคุณภาพและสติปัญญาของบัณฑิตโดยรวมมากขึ้น เพราะบัณฑิตที่ท่านไม่เคยสัมผัสนั้นแย่ยิ่งกว่านักข่าวที่ท่านบ่นหลายเท่า

        ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงคิดว่าเราไม่สามารถแก้ปัญหาการสูญเสียพนักงานของเราไปด้วยการพยายามหาบัณฑิตที่มีคุณภาพ เพราะไม่มีทางที่เราจะหาได้

        เมื่อหลายเดือนก่อนมีเจ้าของสถาบันฝึกอบรมในมาเลเซียมาคุยกับผม เขาเล่าว่าบัณฑิตทางด้านไอทีของเขาก็เหมือนกับของเรา คือจบมาแล้วทำงานไม่ได้ ดังนั้นเขาจึงทำโครงการพัฒนาบัณฑิตไอทีเสนอรัฐบาลของเขา โดยจัดฝึกอบรมทักษะการทำงานให้อีกหนึ่งปี หลักสูตรฝึกอบรมก็เน้นความรู้ด้านการปฏิบัติอย่างจริงจัง ผลก็คือบัณฑิตที่ผ่านการฝึกอบรมของเขาสามารถออกไปรับใช้สังคมได้ดี โครงการนี้รัฐบาลมาเลเซียลงทุนครับ

        ผมอยากเสนอรัฐบาลใหม่ว่า เราต้องเปลี่ยนรูปแบบของการศึกษาใหม่ครับ การเรียนเอาปริญญานั้นได้แต่ใบปริญญา ไม่ได้ความรู้ที่จะไปทำงาน แล้วเวลานี้รัฐบาลก็ได้เข็นให้มหาวิทยาลัยของรัฐออกมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับกันมากแล้ว มหาวิทยาลัยเหล่านี้ก็เลยแข่งขันกันเปิดหลักสูตรไร้สาระออกมามากมาย จนผมขอเรียกว่าเป็นพวก ไร้สาระบัณฑิต, ไร้สาระมหาบัณฑิต, และ ดอกเตอร์ไร้สาระ บัณฑิตเหล่านี้ยิ่งจบออกมามาก ประเทศชาติยิ่งแย่ครับ เพราะจบมาแล้วก็ทำอะไรไม่เป็น แถมเรียกร้องเงินเดือนสูง ๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย ทำให้บริษัทและหน่วยงานต้องเสียเงินค่าจ้างแพงขึ้น แต่ทำงานได้ผลเหมือนกับจ้างพนักงานที่มีวุฒิต่ำกว่า

        ผมเสนอให้เปลี่ยนเงินที่จะไปซื้อคอมพิวเตอร์หนึ่งล้านเครื่องมาแจก หรือ เงินที่จะทำเมกะโปรเจกต์ทางการก่อสร้างนั้น มาสร้างเมกะโปรเจ็กต์ทางด้านการฝึกอบรมหลังปริญญาจะดีกว่า

        มีคำถามว่า ทำไมการฝึกอบรมจึงดีกว่าการสอนปริญญาโทและเอก?

        คำตอบก็คือ หลักสูตรปริญญาโทของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นั้น ถ้าไม่ใช่หลักสูตรพื้นฐานแล้วละก็ นอกนั้นล้วนใช้ไม่ได้ การสอนเวลานี้เหมือนกับการเอาตะกั่วมาชุบทองครับ แถมยังชุบไม่ทั่วเสียอีก เพราะคนชุบก็มีจำกัด วิ่งไปชุบให้ที่โน่น ที่นี่ ที่นั่น ผลก็คือชุบได้ไม่ทั่วถึง เมื่อจบออกมาแล้ว เพียงแค่ดูก็รู้ว่าไม่ใช่ทองแท้

        เราต้องเปลี่ยนมาเป็นการฝึกอบรมในส่วนที่ต้องการให้ออกไปทำงานได้ และเวลาสอบก็ไม่ให้คนสอนเป็นคนออกข้อสอบนะครับ ต้องเอาข้อสอบมาตรฐานมาสอบ แต่ก่อนจะยอมรับข้อสอบมาตรฐานก็ต้องดูก่อนว่าข้อสอบของใครได้มาตรฐานจริงบ้าง

        เมื่อสิบปีก่อนโน้น ผมเคยร่วมมือกับทางสถาบันมาตรฐานความรู้ด้านไอทีของญี่ปุ่นจัดสอบข้อสอบความรู้ไอทีพื้นฐาน ปรากฏว่ามีนักไอทีที่ปฏิบัติงานอยู่มาสอบร้อยกว่าคน และมีคนสอบได้เพียงสิบกว่าคนเท่านั้น ถ้าหากเอามหาบัณฑิตไอทีทุกวันนี้มาสอบรับประกันว่าไม่มีทางผ่านได้เลยสักคน

        ก็ในเมื่อข้อสอบนั้นเน้นความรู้ที่จำเป็นสำหรับใช้งานจริง แต่นักไอทีของเรายังตอบไม่ได้ แล้วจะไปมุ่งหวังอะไรจากบัณฑิตรุ่นใหม่ ๆ ล่ะครับ

        ด้วยเหตุนี้เอง รัฐบาลจึงต้องลงทุนด้านการปรับปรุงคุณภาพของบัณฑิตเสียใหม่ โดยหันมาส่งเสริมให้เกิดหลักสูตรฝึกอบรม และกำหนดเงื่อนไขในการรับบุคลากรให้ต้องผ่านหลักสูตรฝึกอบรมเหล่านี้ หรือกำหนดเป็นเงื่อนไขจะต้องสอบผ่านการสอบมาตรฐานความรู้ด้านไอทีเสียก่อน แบบนี้ก็จะทำให้ประเทศของเราเริ่มมีบุคลากรไอทีที่พอจะทำงานเป็นกับเขาบ้าง

        เมื่อมีหลักสูตร และ มีสถาบันฝึกอบรมทำนองนี้แล้ว เราก็ควรเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนส่งพนักงานเข้ามารับการฝึกอบรมในราคาที่ย่อมเยา เพราะบริษัทจะไปลงทุนมากก็เป็นภาระต้นทุนที่หนักหนาสาหัสดังได้กล่าวมาแล้ว

        แนวคิดที่เสนอนี้เป็นงานขนาดเมกะโปรเจ็กต์นะครับ และน่าจะดีกว่าเมกะโปรเจ็กต์ที่นักการเมืองกำลังคิดทำอยู่ในขณะนี้เป็นไหน ๆ

        

        


Home | Back