Current Duties
Courses
ICT Ideas
ICT Education
ICT Management
ICT Principles
ICT Standards
ICT Vocabulary
CMM / CMMI
Case Studies
General Articles
Presentations
Book Reviews
Buddhism
Personal Efficiency
Writing Guides
Research Guides
VIP
Q & A
Contacts
Archive
Seminars
คำแนะนำด้านการเรียน
ข้อสอบสนุก

Home
IT Idea for Spiritization

CMMI กับการปรับปรุงกระบวนการ

ครรชิต มาลัยวงศ์


CMMI เป็นรูปแบบคำแนะนำสำหรับการปรับปรุงกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์และระบบเพื่อให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

        ผมได้รับคำถามมากมายเกี่ยวกับการนำหลักการ CMMI (Capability Maturity Model Integration) มาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการของหน่วยงานและบริษัท ณ เวลานี้ผมได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประเมินการปฏิบัติงานตามหลักการ CMMI และเป็นผู้ที่ผ่านการรับรองให้เป็นผู้สอนหลักการ CMMI แก่ผู้สนใจทั่วไปได้ ดังนั้นจึงขอถือโอกาสนี้แนะนำ CMMI แก่ผู้สนใจอย่างย่อ ๆ

        CMMI เป็นทั้งรูปแบบและคำแนะนำสำหรับให้หน่วยงานสามารถปรับปรุงกระบวนการทำงานต่าง ๆ เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์ การดำเนินการผลิต และ การให้บริการต่าง ๆ ได้อย่างมีคุณภาพ นั่นคือสามารถสร้างผลงานที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าและผู้ใช้ได้อย่างดีเยี่ยม

        CMMI เป็นแบบจำลองที่พัฒนามาจาก SW-CMM จากระบบคุณภาพด้านระบบงาน และจากแบบจำลองสำหรับการจัดหาสินค้าและบริการ แบบจำลองที่กล่าวถึงเหล่านี้ล้วนคิดค้นและพัฒนาโดยสถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering Institute หรือ SEI) ซึ่งเป็นสถาบันที่สังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ในสหรัฐอเมริกา และได้รับการอุดหนุนด้านการเงินจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา เหตุผลที่กระทรวงนี้ต้องผลักดันและลงทุนเรื่องนี้มากก็เพราะสรรพอาวุธยุทโธปกรณ์เวลานี้ล้วนเป็นแบบที่ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมทั้งนั้น หากซอฟต์แวร์ทำงานผิดพลาดคอมพิวเตอร์อาจส่งจรวดออกไปถล่มประเทศต่าง ๆ ได้โดยง่าย และที่จริงก็เคยมีประวัติว่าซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังจรวดจากโซเวียตรัสเซียเคยทำงานผิดพลาดไปจนสร้างความตระหนกตกใจมาหลายครั้งแล้ว

        CMMI มีพื้นฐานความคิดบนหลักการคุณภาพว่า หากกระบวนการทำงานดี ผลลัพธ์ต้องดี แต่ขณะเดียวกันก็ยังขยายขอบเขตต่อไปอีกว่า ในการทำงานตามกระบวนการนั้น มีเรื่องสำคัญที่จะต้องกระทำให้ได้สี่ประการคือ

        หนึ่ง-ผู้บริหารระดับสูงต้องมีพันธกิจที่อยากจะให้การทำงานนั้นมีคุณภาพจริง และจะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ที่จำเป็นครบถ้วน เรื่องนี้สำคัญมากเพราะหากผู้บริหารระดับสูงจ้องจะรับผลงานอย่างเดียวโดยไม่ยอมรับผิดชอบ หรือถือเป็นพันธกิจที่จะให้งานสำเร็จแล้วละก็ งานนั้นก็คงจะเละ

        สอง-ผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดจะต้องมีความรู้และทักษะที่จะปฏิบัติงานนั้น อีกทั้งยังจะต้องมีเครื่องมือและทรัพยากรที่ต้องใช้ในการทำงานนั้นครบถ้วนด้วย ประเด็นนี้แยกเป็นผู้ปฏิบัติงานซึ่งเป็นเรื่องวิกฤติสำหรับสังคมไทย เพราะเรากำลังขาดคนที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง โดยผู้บริหารงานในภาครัฐหลาย ๆ คนที่ทำหน้าที่อยู่เวลานี้ เป็นที่น่าข้องใจว่ามีความรู้ความสามารถจริงหรือไม่ ส่วนใหญ่แล้วสถานการณ์ชี้ไปในทำนองว่าได้ดิบได้ดีเพราะใกล้ชิดผู้มีอำนาจ หรือเพราะผู้มีอำนาจต้องพึ่งพาอาศัย

        สาม-การปฏิบัติงานในกิจกรรมต่าง ๆ ต้องมีการวัดผลว่าดำเนินการแล้วเสร็จตามกำหนดหรือไม่ กิจกรรมที่เสร็จและยังไม่เสร็จนั้นได้ผลดีสมความมุ่งหมายหรือไม่ และใช้งบประมาณหรือทรัพยากรไปมากน้อยเพียงใด กิจกรรมทุกกิจกรรมต้องกำหนดตัววัดผลให้ได้ และจะต้องสื่อสารผลการวัดให้ผู้บริหารระดับสูงทราบ

        สี่-การปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น ข้อมูลที่วัดได้จากผลการทำกิจกรรมได้นั้นจะต้องนำมาพิจารณาใช้ในการปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นเสมอ

        แบบจำลอง CMMI ได้กำหนดกลุ่มกิจกรรมเอาไว้ทั้งหมด 25 กลุ่มซึ่งครอบคลุมงานที่เกี่ยวกับการปรับปรุงกระบวนการและผลผลิตของกระบวนการเอาไว้อย่างครบถ้วน ที่กล่าวว่าครอบคลุมนั้นหมายถึงครอบคลุมในงานส่วนที่เป็นเนื้อหาหลักขององค์กร เช่น ครอบคลุมส่วนที่เป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์หากองค์กรนั้นเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ หรือ แผนกพัฒนาซอฟต์แวร์ ในกรณีที่องค์กรเป็นบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์งานส่วนที่เป็นเนื้อหาหลักก็คือการพัฒนาส่วนที่เป็นตัวหุ่นยนต์ และ ซอฟต์แวร์สำหรับบังคับหุ่นยนต์ หรือในกรณีที่เป็นบริษัทผู้ผลิตยาส่วนที่เป็นเนื้อหาก็คือกระบวนการผลิตยา

        แบบจำลอง CMMI ไม่ได้ครอบคลุมงานที่เป็นกิจกรรมสนับสนุนต่าง ๆ ขององค์กร เช่น ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องของระบบบัญชี ระบบสินค้าคงคลัง หรือ ระบบบุคลากร แต่การไม่ได้ครอบคลุมเรื่องเหล่านี้ยิ่งช่วยให้ผู้ใช้แบบจำลองนี้มุ่งประเด็นไปที่งานหลักขององค์กรได้อย่างชัดเจนขึ้น

        การประเมินว่าองค์กรแต่ละแห่งมีระดับความสามารถตามแบบจำลองมากน้อยเพียงใดนั้น กระทำได้สองแบบ แบบแรกคือแบบดูว่ากลุ่มกิจกรรมแต่ละอย่างที่เลือกมาพิจารณาจากใน 25 กิจกรรมของแบบจำลองนั้น ทางหน่วยงานได้ดำเนินการไปอย่างเข้มข้นหรือมีความสามารถในระดับสูงมากน้อยเพียงใด เราเรียกว่าเป็นการวัดความสามารถในการทำกลุ่มกิจกรรมนั้น

        การประเมินอีกแบบหนึ่งก็คือการเลือกกลุ่มกิจกรรมมาให้ครบตามที่แบบจำลองกำหนด แล้วตรวจสอบประเมินว่าการดำเนินงานของกลุ่มกิจกรรมทุกกลุ่มที่เลือกมานั้นมีระดับความสามารถดีหรือไม่ ดำเนินการครบถ้วนหรือไม่ หากทำครบก็จะมีระดับวุฒิภาวะความสามารถตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปถึงระดับ 5 ซึ่งองค์กรที่ได้ระดับ 5 นั้นหมายถึงองค์กรที่ดำเนินการตามกลุ่มกิจกรรมทั้ง 25 กลุ่มได้อย่างเข้มข้นหรือมีความสามารถสูงครบถ้วน

        เท่าที่ผมได้สัมผัสมา ขอยืนยันว่าการประเมินความสามารถตามแบบจำลอง CMMI นั้นมีประโยชน์มาก และจะทำให้ผู้ที่ใช้ CMMI เป็นแนวทางมีระดับความสามารถสูงได้จริงแท้แน่นอน

(เรื่องนี้เขียนเมื่อ พย. 2547 สำหรับนิตยสาร Business.com)


Home | Back