งานด้านไอซีทีของประเทศเราดำเนินมาค่อนข้างมากแล้ว แต่ผลลัพธ์ที่ดีก็ยังไม่เกิด เช่น เมื่อคิดกันว่างานไอซีทีของหน่วยงานต่าง ๆ จะเดินไปได้ดีต้องมีแผนแม่บท หรือ แผนยุทธศาสตร์ไอซีที ทางเนคเทคก็คิดกรรมวิธีการวางแผนขึ้นมา สำนักงานคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติก็คิดยุทธศาสตร์ไอซีทีในระดับประเทศขึ้นมา แต่จนแล้วจนรอดงานก็ยังไม่เดินไปมากเท่าที่ควร
หรืออย่างเรื่อง ICT City คิดกันมานานเป็นทศวรรษตั้งแต่ภูเก็ตและบริเวณอันดามันยังอยู่ดี จนกระทั่งเกิดสีนามิถล่ม และ มีการกำหนดให้เชียงใหม่ และ ขอนแก่น เป็น ICT City ด้วย แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีอะไรที่พอจะอวดชาวไทยได้ว่า ทั้งสามเมืองนี้เป็น ICT City หรือ พอที่จะบอกได้ว่า ICT City นั้นหมายถึงอะไร
หลายปีมาแล้ว รัฐมนตรีท่านหนึ่งคือ คุณสุวิทย์ คุณกิตติ ได้เสนอให้มี CIO ในหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ และยังอาสาเป็น CIO คนแรกของภาครัฐด้วย แนวคิดเรื่อง CIO นี้มีประโยชน์และประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ทำให้ผู้บริหารไอซีทีของหน่วยงานทุกแห่งต้องนั่งคิดว่า จะใช้คอมพิวเตอร์ในหน่วยงานให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุดได้อย่างไร หรือจะต้องคิดให้ถี่ถ้วนว่าการที่จะจัดหาคอมพิวเตอร์มาใช้นั้นได้ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ นอกจากนั้นก็ยังได้ทราบด้วยว่าจะใช้ไอซีทีเชื่อมต่อและปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่นอย่างไร จะแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างไร จากนั้นก็ไปหาทางทำให้เกิดการปฏิบัติงานด้านไอซีทีร่วมกันได้ เรื่องนี้แหละที่พอจะเป็นประโยชน์สืบมาจนถึงขณะนี้
แต่ถึงขณะนี้ ก็ดูเหมือนว่า งานไอซีทีของประเทศยังไม่ได้ก้าวหน้ามากเหมือนในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ผู้บริหารรัฐบาลเคยคิดกันว่าจะหารายได้เข้าประเทศจากการส่งออกซอฟต์แวร์นั้น ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นไปอย่างที่คิดสักดี ดังนั้นคงจะต้องนั่งคิดกันใหม่ว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างที่เป็นอุปสรรคจนทำให้ไทยไม่ก้าวหน้าด้านไอซีทีเท่าที่ควร
ก่อนอื่น คงจะต้องนิยามกันว่า "ความก้าวหน้าด้านไอซีทีของประเทศ" นั้นคืออย่างไร
คำถามนี้ความจริงแล้วตอบยาก แต่จะลองเสนอความเห็นดู
ความหมายของ "ความก้าวหน้าด้านไอซีทีของประเทศ" นั้น ประการแรกน่าจะเริ่มต้นด้วยการที่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนรู้จักใช้ไอซีทีในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับธุรกรรมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประชาชน เกี่ยวกับธุรกิจเอกชน เกี่ยวกับธุรกิจระหว่างประเทศ เกี่ยวกับกฎหมาย เกี่ยวกับการรักษาความสงบภายใน เกี่ยวกับการป้องกันประเทศ ฯลฯ โดยเป็นการใช้งานในระดับที่ไม่น้อยหน้าไปกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค
ประการที่สอง หน่วยงาน ห้างร้าน และ บ้านพักอาศัย ในเขตเมือง อำเภอ และ ตำบลขนาดใหญ่ สามารถเชื่อมต่อเข้าระบบบรอดแบนด์ได้ โดยการจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีที่ดีเยี่ยม
ประการที่สาม มีสถาบันวิจัย ที่มีความเป็นเลิศด้านไอซีที และสามารถคิดค้นผลงานไอซีทีทั้งด้านพื้นฐาน ด้านประยุกต์ ด้านการออกแบบ ด้านมาตรฐาน และด้านการอนุวัติ (และการผลิต) ได้ปีละเป็นจำนวนมาก ๆ งานวิจัยด้านไอซีทีของเราเวลานี้ทำกันมากที่เนคเทค แต่ดูแล้วก็ยังไม่ประทับใจ เพราะเป็นเรื่องที่ไกลตัวมากไปบ้าง เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้าง แต่ผลงานวิจัยที่จะมีผลกระทบสูงต่อการเป็นผู้นำไอซีทีของประเทศนั้นอาจกล่าวได้ว่ามีน้อยมาก
ประการที่สี่ มีสถาบันการศึกษาเฉพาะด้านไอซีที ที่มีหลักสูตรที่ก้าวหน้า มีบุคลากรประจำที่อยู่ในระดับผู้เชี่ยวชาญ และสามารถผลิตบัณฑิตทุกระดับที่มีความรู้ความชำนาญ ตลอดจนมีอุปนิสัยที่เหมาะสมที่จะทำงานด้านไอซีที โดยเฉพาะทางด้านซอฟต์แวร์ และ การพัฒนาระบบต่าง ๆ ในเรื่องนี้มีประเด็นสำคัญคือ การสอนวิชาการด้านไอซีทีในเวลานี้ไม่ได้เน้นให้ไปประกอบอาชีพด้านไอซีทีเท่าใดนัก หลักสูตรทั้งหลายมีแต่สอนให้บัณฑิตเป็นผู้ใช้และผู้ซื้อเทคโนโลยีและอุปกรณ์ไอซีทีมากกว่าเน้นให้เป็นผู้พัฒนา เรื่องนี้จะโทษสถาบันการศึกษาเสียทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะอาจารย์เองก็สอนไม่เป็น และไม่เคยทำงานการพัฒนาเทคโนโลยีในระดับอุตสาหกรรมด้วย
ประการที่ห้า มีอุตสาหกรรมด้านไอซีทีที่สามารถผลิตสินค้าไอซีทีตั้งแต่ระดับเครื่องมือประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงสินค้าที่มีระดับความก้าวหน้าสูงอย่างเช่นหุ่นยนต์ ที่สำคัญก็คือ เราจะต้องสามารถผลิตสินค้าไอซีทีขึ้นมาทดแทนการนำเข้าให้ได้มากพอและโดยเร็วที่สุด ก่อนที่ประเทศไทยจะตกเป็นทาสไอซีทีของประเทศอื่น อย่างไรก็ตามการที่จะไปถึงจุดนี้ได้ เราต้องแก้อุปนิสัยของคนไทยสองเรื่องก่อน คืออุปนิสัยที่เห็นของต่างประเทศดีกว่าของคนไทย และ อุปนิสัยชอบลอกเลียนของคนไทยด้วยกันมาขาย
ประการที่หก มีบริษัทที่ปรึกษาที่มีจริยธรรม และ ความเชี่ยวชาญไอซีทีเฉพาะด้านเป็นจำนวนมาก และสามารถให้คำปรึกษาทางด้านที่ตนชำนาญแก่ลูกค้าได้ทั่วประเทศ เรื่องนี้น่าเป็นห่วงเหมือนกัน เพราะบริษัทที่เต็มใจจะโกงลูกค้าเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าง่าย ๆ มีมากเหลือเกิน ลองเดินดูสิครับว่า ตามหน่วยงานต่าง ๆ มีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ถูกหลอกให้ซื้อมาใช้โดยไม่เกิดประโยชน์มากเพียงใด
ประการที่เจ็ด มีกฎหมาย ระเบียบ และมาตรฐานต่าง ๆ ที่สนับสนุนการประยุกต์ไอซีทีในด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันก็มีมาตรการในการควบคุมผู้ไม่ประสงค์ดีที่ใช้ไอซีทีเพื่อก่อกวน ล่อลวง เผยแพร่เนื้อหาลามกอนาจาร และ ก่อความไม่สงบ เรื่องหลังนี้เป็นเรื่องหลักการและนโยบาย กล่าวคือ เราจะยอมให้เกิดสิทธิ์แก่คนที่จะหลอกลวงหรือเผยแพร่เนื้อหาลามกอนาจารหรือไม่ ถ้าจำกัดสิทธิ์ในการเผยแพร่ เราจะต้องตอบคำถามได้ว่าเราใช้หลักการอะไร
ประการที่แปด สนับสนุนให้มีการจัดทำเนื้อหาความรู้จากระดับท้องถิ่นไปถึงระดับก้าวหน้าเพื่อให้ประชาชนสามารถเรียนรู้และยกระดับความรู้ของประเทศโดยตรงให้มีขีดความสามารถจนถึงขั้นสร้างองค์ความรู้ให้แก่โลกได้
เนื้อหาแปดประการนี้เป็นเรื่องสำคัญและสามารถประจักษ์ได้ทันทีเวลาเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ